ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #122 : "ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 668
      0
      11 เม.ย. 53

    - ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนาจบไปแล้ว แต่ยังมีผู้ถามถึงตัวละครบ้าง ถามว่าทำไมนางจินตะหราจึงได้เป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา แต่บุษบากลับเป็นฝ่ายซ้ายบ้าง บางครั้งก็ยังมีผู้ถกถึงเรื่องราวอยู่ว่าละครโทรทัศน์เล่นยังไม่จบดี

                ผู้หนึ่งถามว่า ปะตาระกาหลา ที่คุณสมบัติเล่นนั้น คือ พระอินทร์ของไทยใช่ไหม -

    พระวิหารวัดโสมนัสราชวรวิหาร เข้าประตูกลางไปแล้ว ก็จะเห็นภาพช่องที่ ๑ บนฝาผนัง เรียงตามกันเรื่อย อ้อมด้านหลังจนบรรจบภาพที่ ๑๙ ข้างขวาประตู

                ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา จบลงอย่างที่ควรจะจบ คือ เมื่ออิเหนาตัวพระเอกตามหาบุษบานางเอกพบแล้ว จนอภิเษกสมรส และราชาภิเษกขึ้นครองกรุงกุเรปันแล้ว ก็จบลงเพียงนั้น ส่วนในพระราชนิพนธ์ ยังมีต่อไปอีกเล็กน้อย เพื่อให้เรื่องสมบูรณ์ คือ ง้อนางจินตะหรา และกษัตริย์สามกรุงเทวาที่มารวมกันอยู่ในกรุงกาหลัง เพื่ออภิเษกราชโอรส ราชธิดา พร้อมๆ กัน ต่างลากลับกรุง คือ ท้าวกุเรปัน (ซึ่งยกราชสมบัติให้อิเหนาแล้ว ท้าวกุเรปันจึงเป็นพระเจ้าหลวงกรุงกุเรปัน พระเจ้าหลวงหมายถึงกษัตริย์ซึ่งยกราชสมบัติให้ลูก ทำนองเกษียณตนเองออกมาพักผ่อน) กับอิเหนาเจ้ากรุงกุเรปันและมเหสีทั้ง ๑๐ ลากลับกรุงกุเรปัน ท้าวดาหา (พระเจ้าหลวงกรุงดาหา) กับสียะตรา เจ้ากรุงดาหา และมเหสีทั้ง ๕ ลากลับกรุงดาหา ท้าวสิงหัดส่าหรี (พระเจ้าหลวงกรุงสิงหัดส่าหรี) กับ สุหรานากร เจ้ากรุงสิงหัดส่าหรี และมเหสีทั้ง ๕ ลากลับกรุงสิงหัดส่าหรี ส่วนกะหรัดตะปาตี พี่ชายอิเหนาที่ประสูติแต่มเหสีลำดับที่ ๔ (ลิกู) นั้น อยู่ครองกรุงกาหลังกับมเหสีทั้ง ๕ ท้ายเรื่องต่อด้วยเรื่องอภิเษกสังคารมาระตา อนุชา (น้องเมีย) คู่ใจอิเหนา กลับไปครองกรุงปักมาหวัน ซึ่งเป็นเมืองของบิดา พร้อมกับมเหสีคือ นางกุสุมา

                (เมืองอื่นๆ มีตำแหน่งมเหสี ได้ตำแหน่งเดียวคือ ตำแหน่ง ประไหมสุหรี)

                ท้ายเรื่องนี้สนุกอยู่บ้างตอนง้อนางจินตะหราที่ต้องง้อ เพราะ

                 เมื่อนั้น             ระเด่นมนตรีเรืองศรี
    ตั้งแต่เสร็จการวิวาห์ในธานี  ภูมีสุขเกษมเปรมใจ
    ด้วยพระมเหสีทั้งเก้าวงศ์     ฝูงอนงค์กำนัลน้อยใหญ่
    แต่ระเด่นจินตะหราทรามวัย นางมิได้มาเฝ้าสักเวลา
    พระแจ้งใจในนางโฉมตรู     ยังเคืองข้องแค้นอยู่นั้นหนักหนา
    จำจะไปไกล่เกลี่ยพูดจา      ให้หายโกรธาเสียสักที

                ธานีที่ไปร่วมวิวาห์ คือ เมืองกาหลัง เมื่ออภิเษกเรียบร้อยแล้ว ก็ยังคงรวมกันอยู่ในกาหลัง

                อิเหนาไปง้อนางจินตะหราเท่าใดๆ นางก็ไม่ยอมคืนดีด้วย อิเหนาก็เลยเลิกไม่ไปเลย

                ร้อนถึงประไหมสุหรีดาหา แม่นางบุษบา ซึ่งเป็นป้าของจินตะหราด้วย เกิด

                 นั่นก็ลูกนี่ก็หลานรำคาญใจ

                จึงไปว่ากล่าวอิเหนา อิเหนาก็แก้ว่าไปหาหลายครั้งแล้ว นางก็ไม่นำพาด้วย

                ประไหมสุหรีดาหา โกรธว่าอิเหนาไม่ง้อจริงจัง เลยแกล้งพานางบุษบาไปอยู่ในตำหนักพระมเหสีด้วยกัน คือกักตัวไว้นั่นเอง ประไหมสุหรีพี่น้องสองคน คือ ประไหมสุหรีกุเรปัน (พี่) และประไหมสุหรีดาหา (น้อง) นั้น มีนิสัยแตกต่างกัน ประไหมสุหรีกุเรปัน เป็นคนอ่อน ใจดี แต่ประไหมสุหรีดาหา นั้น ดุ เด็ดขาด นางบุษบาตลอดจนอิเหนา จึงเกรงนางมาก เมื่อนางนำนางบุษบาไปกักไว้ อิเหนาทรงว่านางบุษบาจะตัดใจหนีไปบวชอีก ก็ทุกข์ระทม ไม่เป็นอันกินอันนอน โศกเศร้าอยู่แต่ในห้อง ร้อนถึงนางวิยะดาน้องสาว คิดแก้ลำประไหมสุหรีดาหา โดยแกล้งหนีสียะตรา (ภัสดา) ไปอยู่เสียกับประไหมสุหรีกุเรปัน สียะตราไปตาม ก็ไม่ยอมกลับ ไม่ยอมบอกเหตุผล ปิดประตูขัดดาลเสีย

                สียะตราก็โศกเศร้า กลับมาป่วยไข้ใจระทมตรมตรอมอยู่แต่ในห้อง

                ประไหมสุหรีดาหามาเยี่ยมลูกชาย สียะตราก็บอกว่านางวิยะดาทิ้งไปเสียเฉยๆ ไปตามก็ไม่ให้เข้าในห้อง ได้ยินแต่เสียงร้องไห้ ทั้งนางวิยะดา และประไหมสุหรีกุเรปัน

                ประไหมสุหรีดาหา ก็รู้ว่าโดนหลานสาวซึ่งเป็นลูกสะใภ้ด้วยแก้ลำเอา จึงไปหาประไหมสุหรีกุเรปันกับนางวิยะดา ขอให้นางวิยะดากลับตำหนัก

                ประไหมสุหรีกุเรปัน ก็ว่า

                 เมื่อนั้น ประไหมสุหรีจึงว่ามันน่าขัน
    ลูกของเจ้าเจ้ารักดังชีวัน      แต่ลูกของข้านั้นแลอาภัพ
    เผอิญให้ได้ทุกข์ฉุกใจ        ชะรอยกรรมทำไว้แต่ต้นกัปป์
    ถึงทำดีก็ไม่มีใครนับ          ตั้งแต่จะยับระยำไป

                ประไหมสุหรีดาหา ตอบว่า

                 เมื่อนั้น ประไหมสุหรีผู้น้องสนองไข
    อันระเด่นมนตรีนี้ไซร้         ก็รักใคร่เหมือนบุตรในอุทร
    แต่ว่าทำผิดอยู่นิดหนึ่ง        ช่างโกรธขึ้งจินตะหราดวงสมร
    ไม่ไปมาหาสู่หลับนอน        ให้เขาค่อนแคะว่านินทากัน
    น้องทำดังนี้ก็เพราะรัก        มิใช่จักรังเกียจเดียดฉันท์
    เพราะสงสารจินตะหราลาวัลย์           ด้วยเป็นวงศ์พงศ์พันธุ์กันมา

                ประไหมสุหรีกุเรปัน แก้ว่า

                 ซึ่งยำเยงเกรงเขาจะนินทา ใช่ว่าไม่เลี้ยงเมื่อไรมี
    อภิเษกก็เป็นเอกอนงค์ใน    เป็นเจ้าจอมหม่อมประไหมสุหรี
     อิเหนาเฝ้าไปง้อจนเต็มที    เขาก็ไม่ดูดีกี่ครั้งมา

                ฝ่ายนางบุษบากับนางวิยะดานั้น นางบุษบาเป็นคนอ่อนโยน อ่อนหวาน ตรงข้ามกับนางวิยะดา ซึ่งเป็นคนแข็ง พูดจาตรงไปตรงมา นางวิยะดาทูลประไหมสุหรีดาหาอย่างเด็ดขาดว่า

                 เมื่อพี่นางบุษบายุพาพักตร์            แกล้งร้างรักเชษฐาให้จาบัลย์
    ลูกจากกะกังมาทั้งนี้           หวังจะให้พระพี่เกษมสันต์
    ถ้าพี่นางเริ่มร้างอยู่อย่างนั้น กระหม่อมฉันมิได้ไยดี

                 กะกังแปลว่า พี่ชาย หมายถึง สียะตรา ส่วน พระพี่คือ อิเหนา

                ประไหมสุหรีดาหา ก็เลยให้นางบุษบากลับไปอยู่กับอิเหนา แม้กระนั้นก็มิวายขู่ทั้งอิเหนาและบุษบา ให้อิเหนาไปง้อนางจินตะหรา

                ข้างฝ่ายอิเหนา เมื่อได้นางบุษบากลับมาแล้ว ก็ลานางบุษบาไปหานางจินตะหรา

                 หวนรำลึกถึงนางจินตะหรา พระมาตุจฉากำชับมาคับขัน
    มิได้ตามความผิดจะติดพัน  จะพรากขวัญเนตรไปเสียในวัง
    แม้นไปง้อก็จะซ้ำร่ำว่า        ที่สัญญาไว้ตามความหลัง
    เคยรู้เห็นเช่นเชื้อเบื่อฟัง      ไม่เหมือนดังบุษบายาใจ

                ครั้งนี้ นางจินตะหรายอมคืนดีด้วย เนื่องจากท้าวหมันหยากับประไหมสุหรีก่อนลาธิดากลับนครหมันหยา ได้ขอร้องลูกสาวไว้ว่า อย่าตระแหน่แง่งอนนัก เพราะได้เป็นถึงประไหมสุหรีฝ่ายขวาแล้ว อิเหนานั้นก็มิใช่เป็นเพียงระตูเอาเมืองธรรมดา เป็นถึงวงศ์เทวา ครองกรุงใหญ่ที่สุดในเมืองเทวาทั้ง ๔

                ในที่สุด เรื่องความรักของอิเหนาก็ลงเอย

                 เมื่อนั้น อิเหนาเฝ้าชมไม่แหห่าง
    ไปมาหาสู่ทั้งสิบนาง           มิได้ว่างเว้นสวาทขาดวัน
    มีพระทัยใส่โสมนัสสา        องค์ระเด่นบุษบาสาวสวรรค์
    ยิ่งกว่านางทั้งเก้าเหล่านั้น    ด้วยร่วมวงศ์เทวัญกันมา
    ทั้งเป็นเพื่อนยากลำบากบน  ต้องซุกซนซอกซอนนอนกลางป่า
    จักแหล่นจะตายวายชีวา      เพราะเที่ยวหาน้องนุชจนสุดฤทธิ์
    ร่วมภิรมย์ชมรสต่างต่าง      ตามอย่างกษัตริย์สุจริต
    เพลิดเพลินเจริญใจอยู่เป็นนิจ           มิได้คิดฉันทาราคี

                ทีนี้ที่ถามมาว่า ปะตาระกาหลาคือพระอินทร์ใช่ไหม

                ตำนานชวาว่า ปะตาระกาหลาเป็นเทวดาผู้ใหญ่ ต้นวงศ์กรุงเทวาทั้ง ๔ คือ แรกเริ่มเดิมที มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งคือเมืองหมันหยา ต่อมาระตูหมันหยา มีธิดานางหนึ่ง ซึ่งเทวดา คือ ปะตาระกาหลา มารับเอาเป็นชายา ประสูติบุตรชาย ๔ องค์ ปะตาระกาหลา จึงสร้างเมืองให้บุตรชายทั้ง ๔ ครององค์ละเมือง คือ กุเรปัน ดาหา กาหลัง สิงหัดส่าหรี

                ระตูหมันหยา ต่อมาอีกช่วง ก็มีธิดาอีก ครั้งนี้มี ๓ นาง ท้าวกุเรปันขอพี่ใหญ่ไปเป็นประไหมสุหรีท้าวดาหา ขอคนรองไปเป็นประไหมสุหรี ส่วนคนน้องคือ แม่นางจินตะหรา บิดาหวง ให้แต่งงานที่เมืองหมันหยา แล้วให้ลูกเขยครองกรุงหมันหยา นางจินตะหราแม้จะมิใช่วงศ์เทวา แต่ก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอิเหนา และนางบุษบา ทั้งเมืองหมันหยาก็เป็นเมืองสำคัญกว่าเมืองอื่นๆ เนื่องจากเป็นเมืองต้นกำเนิด วงศ์เทวัญอสัญแดหวาทั้งหลาย

                เรื่องอิเหนานี้ ไม่ใคร่จะมีผู้ใดทราบว่า ในวิหารวัดโสมนัสราชวรวิหาร มีภาพวาดฝาผนังเรื่องอิเหนาครบทั้งเรื่อง ๑๙ ภาพ ภาพละช่องหรือห้อง เช่นเดียวกับในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีภาพวาดเรื่องรามเกียรติ์ ทว่า น่าเสียดาย ที่ภาพเหล่านี้ลบเลือนเสียหายไปมาก โดยยังมิได้รับการซ่อมแซม ผู้สนใจในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ น่าจะไปชมเพิ่มอรรถรสจากการอ่าน

                วัดโสมนัสราชวรวิหาร หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดโสมนัสนี้ เป็นวัดอนุสรณ์สถานแห่งความรัก ความอาลัยของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ที่ทรงมีต่อพระราชินีของพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

                เรื่องของสมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยเล่าไว้หลายครั้ง ในที่นี้จึงสรุปแต่เพียงว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงดำรงตำแหน่ง พระอัครมเหสีเพียงปีเดียว ก็เสด็จสวรรคตหลังประสูติกาล เจ้าฟ้าพระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระอาลัยใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ เมื่อขุดคลองผดุงกรุงเกษม รอบกรุงชั้น ๒ จึงโปรดฯให้สร้างวัดโสมนัสวรวิหารริมคลอง และสร้างวัดมกุฎกษัตริยาราม (ซึ่งสมัยก่อนเรียกกันว่า วัดพระนามบัญญัติคือโปรดฯให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อวัด ทว่า ยังไม่มีใครกล้าเอ่ยพระนาม พระมหากษัตริย์ จึงเรียกกันว่า วัดพระนามบัญญัติ หมายถึง วัดนี้มีชื่อเป็นพระบรมนามาภิไธย บัญญัติเอาไว้แล้ว) เคียงคู่กับ วัดโสมนัสวรวิหาร เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของพระองค์ทั้งสาม

                เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี ปรากฏว่าโปรดละครเรื่องอิเหนามาก เมื่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (ปู่) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไม่โปรดละคร การละครในวังหลวง จึงเลิกรางดไปตลอดรัชกาลที่ ๓ (๒๗ ปี) ขึ้นรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรงฟื้นฟูละครในขึ้นใหม่ ซึ่งพระบรมราชสวามี ก็ทรงสนับสนุน ดังเช่นเมื่อทรงได้นางละครที่จะเล่นเป็นตัวอิเหนา ก็มีรับสั่งกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า แม่หนู ฉันจะเล่นละครก็ได้แล้ว(ตรัสเรียก สมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า แม่หนู)

                ดังนั้น เมื่อทรงสร้างวัดโสมนัสฯ จึงได้ไปตามให้วาดภาพเรื่องอิเหนา ด้วยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงว่า พระอัครมเหสี โปรดปรานละครเรื่องนี้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×