ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #109 : สงครามเก้าทัพ (ต่อ)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 701
      0
      10 เม.ย. 53

     ในครั้งนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องเสด็จออกทำสงครามศึกเก้าทัพแทบทุกพระองค์ ซึ่งแต่ละพระองค์ส่วนมากล้วนทรงชำนาญการสงครามกรำศึกกันมาแล้วแต่ครั้งกรุงธนบุรี คือ

                ๑. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขณะนั้นพระชนมายุ ๔๒ พรรษา

                ๒. กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า

    กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระชันษาขณะนั้น ๓๙ พรรษา

                ๓. พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทร์รณเรศ พระอนุชาองค์เล็กของ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)

    ภาพในการแสดงยุทธกีฬาทหารบก พ.ศ.๒๔๖๕ แสดงการจัดกองทัพหน้าไปตีทะวายเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ แม่ทัพขี่ช้างอยู่ตรงกลาง นายทัพ ๑๐ คน ขี่ม้ากั้นสัปทนอยู่ข้างหน้า (กองทัพหน้าในครั้งนั้นมี ๓ กองทัพ)

                กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ เป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ ยังมีพระองค์กลางอีกพระองค์หนึ่ง คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อนใน พ.ศ.๒๓๒๘ นั้นเอง พระชันษาเพียง ๓๒ เมื่อประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวง พร้อมกันทั้ง ๓ พระองค์ พระนามกรมคล้องจองกัน คือ อนุรักษ์เทเวศร์ ธิเบศร์บดินทร์ นรินทร์รณเรศ

                ๔. พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา สมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีในรัชกาลที่ ๑ ขณะนั้นพระชันษา ๒๕ พรรษา

                ๕. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าขุนเณร เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข สันนิษฐานว่า พระชันษาคงจะแก่กว่ากรมพระราชวังบวร พระองค์นี้มิได้เป็นเชื้อสายในพระปฐมวงศ์ ทว่าเมื่อประดิษฐานพระบรมวงศ์ โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าขุนเณร

                ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น ทรงเตรียมทัพหลวงอยู่พระนคร เตรียมเป็นกำลังหนุน หากกองทัพกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ด้านกาญจนบุรี ราชบุรี หรือกองทัพพระเจ้าหลานเธอ (กรมพระราชวังหลัง) ที่ยกไปขัดตาทัพนครสวรรค์เพลี่ยงพล้ำ

                ไหนๆ เล่าถึงศึกด้านกาญจนบุรี ราชบุรี ที่พม่ายกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และศึกด้านเหนือที่เข้ามาทางเชียงแสน (ขณะนั้นเป็นของพม่า) แล้ว

                เลยเล่าถึงทางด้านใต้บ้าง

                เพราะศึกครั้งนี้มีวีรสตรีได้รับพระราชทานยศ ท้าวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คือ ท้าวเทพสตรีและ ท้าวศรีสุนทร

                เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ชัยชนะทางด้านกาญจนบุรี ราชบุรีแล้ว ก็เสด็จกลับไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และทรงจัดกองทัพใหม่ ยกกองทัพเรือไปปักษ์ใต้

                ขณะนั้นกองทัพบกของพม่า ตีได้กระบุรี ระนอง ชุมพร แล้ว เพราะฝ่ายเมืองกำลังน้อย บรรดาเจ้าเมืองต้องหาผู้คนอพยพหนีเข้าป่า ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยานครฯ พยายามรักษาเมืองเอาไว้ ทว่าพม่าจับคนไทยได้ บังคับให้ร้องบอกว่า กรุงเทพฯเมืองหลวงเสียแก่พม่าแล้ว เจ้าพระยานครก็ตกใจ เห็นว่าจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ จึงพาผู้คนอพยพหนีข้ามเขาบรรทัดไปซ่อนนอกอำเภอฉวาง

                ส่วนกองทัพเรือของพม่าเข้าล้อมโจมตีเกาะถลาง (ภูเก็ต) บังเอิญเวลานั้นพระยาถวาง เพิ่งจะถึงอนิจกรรม คุณหญิงจันทร์ภริยากับคุณมุกน้องสาว จึงเป็นหัวหน้าพร้อมกรมการเมือง กะเกณฑ์ไพร่พล ต่อสู้รักษาเมือง พม่าล้อมอยู่ถึงเดือนเศษ เอาชนะไม่ได้ ขัดสนสะเบียงอาหาร จึงต้องเลิกทัพกลับ

                กองทัพวังหน้านั้น ยกมาถึงชุมพร ทั้งทัพบก ทัพเรือ สรุปแล้วในที่สุดก็ปะทะกับพม่า สามารถตีกองทัพพม่าแตกหนีกลับไปได้หมด

                ครั้งนี้ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งทรงเป็นนักรบที่ทุกคนเกรงกลัวในความดุเด็ดขาดของพระองค์ หาได้ทรงเอาโทษพวกเจ้าเมืองกรมการเมืองทั้งหลายที่ทิ้งเมืองหนีพม่าไม่ เพราะทรงเห็นว่าเหลือบ่ากว่าแรงจะต่อสู้จริงๆ  จึงโปรดให้อยู่ในตำแหน่งเดิมทุกคน

                ฝ่ายขุนนางเสนาบดีระดับแม่ทัพนายกองที่ออกศึกเก้าทัพในครั้งนั้นมี

                ๑. เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) ในแผ่นดินกรุงธนบุรี เป็นพระยาธรรมา ท่านเป็นบุตรพระยามณเฑียรบาลครั้งกรุงเก่า ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชในรัชกาลที่ ๑ นั้น ท่านเป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาสี (หรือศรี) ในรัชกาลที่ ๒ (เจ้าจอมมารดาสี ต่อมาเรียกกันว่า เจ้าคุณพี มีพระองค์เจ้า ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงจักรจั่น และพระองค์เจ้าหญิงบุบผา) และเป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาแก้วในรัชกาลที่ ๓ (เจ้าจอมมารดาแก้วมีพระองค์เจ้า ๑ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าอมฤตย์ กรมหมื่นภูบดีราชฤทัย) ไม่ปรากฏว่ามีผู้สืบสายในกรมหมื่นภูบดีราชฤทัย ผู้ใด ขอพระราชทานนามสกุล ส่วนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช นั้น เป็นต้นสกุล บุณยรัตพันธุ์

                ๒. เจ้าพระยายมราช (ทองอิน) ท่านผู้นี้ ในแผ่นดินกรุงธนบุรีจดหมายเหตุจดไว้ว่าเป็นหลวงราชรองเมือง ไม่ปรากฏว่ามีบุตรหลาน

                ๓. เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ประวัติของท่านผู้นี้คงจะมีผู้รู้จักกันมากแล้ว เพราะท่านเป็นผู้ให้แปลและเรียบเรียงเรื่อง สามก๊ก กับเรื่อง ราชาธิราช ในแผ่นดินกรุงธนบุรี เป็นหลวงสรชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี เคยโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในราชการสงครามสมัยกรุงธนบุรีหลายครั้ง ทรงนับว่าเป็นข้าหลวงเดิม เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ท่านผู้นี้มิได้เป็นต้นสกุล บุญ-หลงแต่เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ผู้ต้นสกุล บุญ-หลง

                เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดานิ่ม เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ มีพระองค์เจ้าพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้ามั่ง-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร ต้นราชสกุล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา

                ๔. เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ในแผ่นดินกรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระกรมการเมืองพระพิษณุโลก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯตั้งเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหม ท่านผู้นี้ เมื่อตามเสด็จพระราชดำเนิน ทรงยกทัพหลวงไปตีทวายใน พ.ศ.๒๓๓๐ ได้ศูนย์หายไปในการสงคราม สันนิษฐานว่าคงจะสิ้นชีวิต ไม่ปรากฏว่ามีบุตรหลานสืบสายสกุล

                ๕. พระยาอุไทยธรรม หรืออุทัยธรรม (บุนนาค) ท่านผู้นี้ ในแผ่นดินกรุงธนบุรีมิได้รับราชการ ประวัติของท่านที่ว่าเคยเป็นสหายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คงจะทราบกันดีอยู่แล้วในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาอุไทยธรรม และเมื่อเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) หายไปในสงครามตีทะวาย จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) เป็นเจ้าพระยามหาเสนา เป็นต้นสกุล บุนนาคบุตรชายหญิงเกิดแต่เอกภรรยาผู้เป็นน้องนางในสมเด็จพระบรมราชินี รัชกาลที่ ๑ ยกย่องเรียกกันว่า เจ้าคุณทุกท่าน

                แต่ธิดาคนใหญ่นั้น เกิดแต่ท่านลิ้มภริยาเดิม ซึ่งเสียชีวิตไปก่อน เรียกกันว่า เจ้าคุณวังเป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๑ มีพระองค์เจ้าสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงจงกล และพระองค์เจ้าชายฉัตร-กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา

                ๖. พระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นมอญ เมื่อเชียงแสนยังเป็นของพม่า ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงแสนอยู่คราวหนึ่ง มีเชื้อสายสืบกันมาอยู่นครลำปาง แล้วย้ายไปเป็นเจ้าเมืองเตรินในสมัยกรุงธนบุรี โดนพม่ากดขี่ จึงชวนพรรคพวกเป็นกบฏ สู้พม่าไม่ได้หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในแผ่นดินกรุงธนบุรี เรียกกันแต่ว่า พระยาเจ่ง ไม่ปรากฏตำแหน่งราชการ ถึงรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระยามหาโยธา ก่อนต่อมาจึงเลื่อนเป็นเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เจ่งแปลว่าช้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงทรงพระราชทานนามสกุลแก่ลูกหลานผู้สืบสายสกุลว่า คชเสนี

                ๗. พระยากลาโหมราชเสนา ที่ไปทัพวังหน้าในสงครามเก้าทัพนั้น ปรากฏว่า มิใช่พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) หากเป็นพระยากลาโหมราชเสนาคนเก่า พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ขณะนั้นเป็นพระยาเสนหาภูธร จางวางมหาดเล็ก พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๓๔๕

                ๘. พระยาจ่าแสนยากร ในพระราชพงศาวดาร ว่าเป็นข้าราชการเมืองพระพิษณุโลก ครั้งกรุงธนบุรี

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×