พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี หรือพระนามเดิม พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา ทรงประสูติ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2407 ทรงเป็นพระราชธิดา ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมสำลี ซึ่งทรงได้รับยกย่องให้เป็น "เสด็จอธิบดีหญิง คนแรกของกรุงสยาม"
พระองค์ เจ้าหญิงนภาพรประภา พระเจ้าลูกเธอใน พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และ เจ้าจอมมารดาสำลี (ตระกูลบุนนาค) ประสูติ เมื่อ วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2407 โดยทรงเป็นพระขนิษฐาของ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 7 และพระชนนี ของสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน สุขุมขัติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสิทร์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล บริพัตร ณ อยุธยา) พระองค์ ทรงมีพระพี่นาง และพระน้องนาง ต่างเจ้าจอมมารดา ที่สนิทสนม เป็นกลุ่มเดียวกัน คือ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าแขไขดวง พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เมื่อทรงเจริญวัย ได้รับการศึกษา ตามแบบของเจ้านาย ในราชสำนัก โดยทรงศึกษาขั้นต้น กับครูผู้หญิงและเข้าศึกษา ในระดับสูง กับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูล) เนื่องจาก ทรงมีความฉลาดรอบรู้ เมื่อมีพระชนม์ 29 พรรษา จึงเข้ารับตำแหน่ง อุปนายกหอสมุดพระวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติ) กระทั่งวัย 33 พรรษา ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นผู้ดูแล ภายในพระราชฐาน เกี่ยวกับสตรี ในราชสำนัก โดยต่อมา ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีโขลน ซึ่งเมื่อครั้งที่ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จยุโรป ได้โปรดเกล้าฯให้ พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา เป็นผู้รักษาพระนคร ร่วมกับเสนาบดีคนอื่นๆ ด้วย |
ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดี บัญชาการฝ่ายใน ดูแลทั่วทั้งพระนิเวศน์สถาน และเนื่องจาก ปฏิบัติราชการ ด้วยความจงรักภักดี จึงได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และขณะมีพระชนมายุ 37 พรรษา ก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า
เนื่องจาก ทรงรับราชการ เป็นอธิบดีฝ่ายใน มาตั้งแต่ สมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 อย่างมิเคยขาดตกบกพร่อง ในหน้าที่การงาน จึงทรงได้รับ การสถาปนาเป็น "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพย์รัตน์กิริฏกุลินี" เมื่อปี พ.ศ.2470 นอกจากนี้ ยังทรงมีพระปรีชาสามารถ ในด้านหนังสือ และงานประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พับผ้าเช็ดหน้าเป็นรูปสัตว์ แกะสลักหินอ่อน ถักร้อยลูกปัด ถักไหมพรม สานตะกร้า และดอกไม้กระดาษ เป็นต้น กระทั่ง เกิดการเปลี่ยนแปลง การปกครอง จึงได้เสด็จลี้ภัย ตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (หลาน) ไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศชวา เป็นเวลากว่า 12 ปี เมื่อ พ.ศ.2482 เหตุการณ์สงบ จึงเสด็จกลับเมืองไทย และประทับอยู่ที่ วังสวนผักกาด กระทั่งทรงประชวร ด้วยโรคชรา จึงเข้ารักษาพระองค์ ที่ตึกสุทธาทิพย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนกระทั่ง สิ้นพระชนม์ เมื่อพ.ศ.2501 สิริพระชนมายุ 94 พรรษา |
ความคิดเห็น