ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ... ขุนโจร ... The Warrior of King Nares

    ลำดับตอนที่ #7 : ศึกเขมรสร้างชื่อ...นามระบือแม่ทัพกล้า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 536
      1
      14 ก.ย. 52

    ::ศึกเขมรสร้างชื่อ...นามระบือแม่ทัพกล้า::

    วันรุ่งขึ้นพระโอรสอินทราธิปเตรียมตัวที่จะเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา 
    พระโอรสพร้อมด้วย พันพิทักษ์พลและหมู่ฤทธิไกรแต่งกายด้วยชุดชาวบ้าน เครื่องราชศาสตราวุธถูกห่อหุ้มไว้ด้วยผ้า บรรดาครัวไทยเตรียมม้าไว้ให้สามนักรบใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง

    พระโอรสอินทราธิปพร้อมด้วยสองทหารกล้าแห่งกรุงศรีอยุธยาร่ำลาชาวบ้านก่อนออกเดินทางกลับเข้าสู่เขตประเทศสยาม

    การเดินทางกลับสู่กรุงศรีอยุธยานั้นต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร และอันตรายอย่างมากตามเส้นทางเมียวดี แม่สอด ฉอด โกสัมพี ชากังราว บรรพตพิสัย นครสวรรค์ พยุหะคีรี ชัยนาท สรรคบุรี หันคา เดิมบางนางบวช สามชุก สามโก้ วิเศษชัยชาญ การเดินทางจึงใช้เพลากว่าเดือนเศษ จึงเข้าสู่เขตกรุงศรีอยุธยา

    <><><><><><><><><>

    เป็นที่โสมนัสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระวิสุทธิกษัตรี พระยาพรหมบุรี และพระเยาวลักษณ์ยิ่งนัก ที่พระโอรสอินทราธิปเสด็จกลับสู่กรุงศรีอยุธยาได้โดยปลอดภัย

    สมเด็จพระมหาธรรมราชาตรัสถามความจึงทรงทราบถึงการเดินทางรอนแรมและความเด็ดเดี่ยวของอินทราธิป ที่เสด็จออกตามหาพระบิดาพระมารดาไปจนถึงเมียวดีกินเพลาหลายเดือน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้เป็น พระอินทราธิปราชนัดดา ถือศักดินา ๙๐๐

    แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งพันพิทักษ์พลเป็น ขุนพิทักษ์ราชกิจ ตำแหน่งที่ราชองครักษ์ในพระอินทราธิปราชนัดดา ถือศักดินา ๖๐๐

    ตั้งหมู่ฤทธิไกรเป็น หมื่นฤทธิณรงค์ ตำแหน่งที่ข้าสนองพระโอษฐ์ในพระอินทราธิปราชนัดดา ถือศักดินา ๔๐๐ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระตำหนักแลไพร่ฟ้าข้าบริวารไว้ให้จำนวนหนึ่ง

    ::พุทธศักราช ๒๑๑๗ ระกาศก::

    พระอินทราธิปราชนัดดาเจริญวัยได้ ๑๗ ชันษา เหตุการณ์บ้านเมืองยังมิสู้สงบดีนัก พระองค์เองก็ฝึกหัดชายฉกรรจ์รุ่นราวคราวเดียวกันให้เป็นนักรบที่เข้มแข็งเพื่อว่าต่อไปในภายหน้าจักได้ร่วมกันต่อสู้ป้องกันพระราชอาณาเขต

    ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพ่ออยู่หัว พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ทหารกล้าในพระอินทราธิปราชนัดดาได้เข้ารับราชการ จัดกำลังได้ ๕๐๐ ทั้งม้าศึกแลเครื่องศัสตราวุธเป็นกองรักษาด่านรบประจำพระนคร แลโปรดเกล้าให้หลวงองอาจสัตยาช่วยราชการในทัพพระอินทราธิป

    ครานั้น...พระเจ้าหงสาวดีมีหมายเกณฑ์ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชายกทัพเสด็จขึ้นไปช่วยรบต่อตีพระเจ้าล้านช้างไชยเชษฐาที่เมืองศรีสัตนาคนหุต สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงตั้งให้พระวิสุทธิกษัตรีชายาขึ้นว่าราชการแทน แลทรงเคลื่อนทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งหน้าสู่พิษณุโลกสองแควเพื่อรวมพลกับกองทัพพระนเรศวร

    ระหว่างนั้นเองพระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชาได้ยกทัพเข้ามารุกรานสยามทางพระประแดงนครเขื่อนขันธ์ ธนบุรี นนทบุรี พระยายโสธรช่วยราชการพระสมุหกลาโหมยกทัพลงไปต่อต้านแต่ก็พ่ายกลับมา ทัพเขมรรุกคืบมาถึงชานพระนคร ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลขนอนบางตะนาว แลส่งกองระวังหน้าลอบเข้ามาใกล้วัดพนัญเชิง


    พระยาพรหมบุรีเสด็จออกช่วยว่าราชการพระวิสุทธิกษัตรี ทรงมีบัญชาให้พระอินทราธิปราชนัดดานำกองรักษาด่านรบออกไปตั้งสกัดทัพเขมร กองรักษาด่านรบของพระอินทราธิปราชนัดดาจึงยกออกไปตั้งมั่น ณ ค่ายตำบลนายก่าย โดยทรงรับสั่งให้สร้างกำแพงค่ายชั่วคราวต่อออกไปทางกว้าง เพื่อลวงให้ข้าศึกคิดว่าค่ายนายก่ายเป็นค่ายใหญ่มีกำลังพลมาก

    เมื่อตกแต่งค่ายมั่นคงแล้ว พระอินทราธิปราชนัดดาก็ทรงประชุมปรึกษาแผนการณ์กับเหล่าแม่ทัพนายกอง

    "ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า หม่อมฉันส่งแมวมองไปซุ่มดูทัพหน้าเขมรที่วัดพนัญเชิง กะเกณฑ์ดูแล้วมีกำลังพลถึงหนึ่งพันพระพุทธเจ้าข้า" หลวงองอาจสัตยาประนมมือกราบทูลพระอินทราธิป

    "ฝ่ายเรามีห้าร้อย ยกเข้าประจัญหน้าคงหามิได้ พวกท่านมีกลศึกประการใด" พระอินทราธิปตรัสถามตรีเสนา อันประกอบด้วย หลวงองอาจสัตยา ขุนพิทักษ์ราชกิจ หมื่นฤทธิณรงค์

    "ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า หม่อมฉันเห็นควรว่าเราจักต้องตั้งมั่นอยู่ในค่ายนี้ ด้วยว่าค่ายนายก่ายมีปืนใหญ่ที่ตั้งมั่นคงอยู่ถึงหกกระบอก หากข้าศึกบุกมาคงจะสามารถตัดทอนกำลังได้จำนวนหนึ่งพระพทุธเจ้าข้า" ขุนพิทักษ์ราชกิจกราบทูล

    "ข้าเห็นควรด้วยกับขุนพิทักษ์ หากแต่ข้าคิดอ่านให้ซุ่มกำลังส่วนหนึ่งไว้รอบนอกพื้นที่การยุทธ์ เมื่อข้าศึกถูกปืนใหญ่ทำลายจนระส่ำระสายแล้วจึงค่อยเข้าตีกระหนาบ เพื่อให้ได้ชัยชำนะอย่างเด็ดขาด พวกท่านเห็นควรเยี่ยงไร" พระอินทราธิปราชนัดดาตรัสต่อเสนาทหารกล้า

    "ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า กลศึกของพระองค์นั้นมุ่งที่จะได้ชัยชำนะอย่างเด็ดขาดก็จริง หากแต่อย่าทรงลืมว่าทัพเขมรที่วัดพนัญเชิงเป็นเพียงทัพหน้าหาใช่ทัพหลวงไม่ ด้วยว่าเราจำเป็นต้องถนอมกำลังรบไว้ต้านทานทัพหลวง หม่อมฉันจึงขอให้พระองค์ทรงตรองดูให้ดีก่อนที่จะนำทหารเข้าตะลุมบอนพระพุทธเจ้าข้า" หลวงองอาจกราบทูลขัด พระอินทราธิปดำริตามคำพูดของหลวงองอาจพลางตรัสต่อว่า

    "หากแต่ถึงเพลานั้นจริง ทัพอื่นคงจักมาช่วย ด้วยว่าอย่างไรเสียเรามีกำลังเพียงห้าร้อยมิอาจยกไปต่อตีทัพหลวงของพระยาละแวกได้ดอก"

    "ถ้าเช่นนั้นก็สุดแล้วแต่พระราชวินิจฉัยเถิดพระพุทธเจ้าข้า" พระอินทราธิปพยักหน้ารับคำกราบทูลของหลวงองอาจ พลันลุกขึ้นตรัสด้วยพระสุรเสียงอันทรงอำนาจต่อหน้านายทัพนายกองในที่ประชุมทัพว่า

    "แม่ทัพนายกองทุกผู้จงฟังเรา ให้ขุนพิทักษ์ราชกิจคุมพลหนึ่งร้อยยกออกไปซุ่มเป็นหน้ากระดานทางปีกขวา หมื่นฤทธิณรงค์คุมพลอีกหนึ่งร้อยยกออกไปซุ่มเป็นหน้ากระดานทางปีกซ้าย ให้พันโยธารักษ์แลพันประจักษ์กมลแบ่งพลคุมปืนใหญ่ฝ่ายละสาม ทแกล้วทหารกล้าที่เหลือให้อยู่ในบัญชาแห่งเรา จงจัดตั้งกระบวนทัพให้แล้วเสร็จก่อนตะวันตกดิน ครั้นเมื่อถึงยามหนึ่งให้ยกออกไปตามตำแหน่ง แม่ทัพนายกองทั้งหลายจงรับเอาบัญชาแห่งเราไป ณ บัดนี้"

    "รับด้วยเกล้าพระพุทธเจ้าข้า" บรรดาขุนพลทั้งหลายประนมมือขึ้นรับพระบัญชาโดยพร้อมเพรียง

    <><><><><><><><><><>

    กองรักษาด่านรบเร่งตระเตรียมกำลังพลเพื่อดำเนินกลยุทธ์ตามแผนการที่พระอินทราธิปราชนัดดาบัญชาไว้ ครั้นเมื่อทุกฝ่ายพร้อม และถึงเพลาตามบัญชาก็เคลื่อนออกจากค่ายไปตั้งมั่น ณ จุดที่กำหนด

    ราตรีต่อมาทัพหน้าของพระยาละแวกเคลื่อนพลเข้ามาหมายจะตีเอาค่ายนายก่าย พระอินทราธิปทอดพระเนตรด้วยกล้องส่องทางไกล ครั้นเมื่อทัพเขมรเคลื่อนเข้ามาถึงระยะปืนใหญ่แล้วก็ทรงสั่งให้พันโยธารักษ์ พันประจักษ์กมลสระดมยิงปืนใหญ่

    สิ้นเสียงปืนใหญ่นัดแรก ทหารเขมรต่างวิ่งกรูเข้าใส่กำแพงค่ายหมายจะให้พ้นระยะวิถีกระสุน

    กระสุนปืนใหญ่ลูกแล้วลูกเล่าตกลงกลางสนามรบ ร่างทหารเขมรจำนวนมากลอยละลิ่วตามแรงระเบิด ขวัญกำลังใจทหารเริ่มตก แต่ยังคงวิ่งเข้าใส่กำแพงค่ายหมายว่าจะใช้กำลังที่มากกว่าบดขยี้กองรักษาด่านรบแห่งกรุงศรีอยุธยา

    "พลธนู!...เตรียมพร้อม!"

    "ยิง!"

    ห่าลูกดอกพุ่งขึ้นท้องฟ้า ฉับพลันพุ่งตกลงตามน้ำหนักของหัวลูกศรเหล็ก ถูกร่างทหารเขมรล้มกลิ้งไปนับร้อย ลูกธนูชุดแล้วชุดเล่ายังพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและตกใส่ร่างอริราชศัตรูผู้รุกรานอย่างไม่ขาดสาย

    พระอินทราธิปเห็นว่ากองทหารเขมรถูกปืนใหญ่และธนูทำลายไปมากแล้ว จึงร้องสั่งให้พลอาณัติสัญญาณตีกลองบอกทัพรองปีกขวาและซ้ายยกเข้าจู่โจม

    ขุนพิทักษ์ราชกิจ หมื่นฤทธิณรงค์ควบม้ากระโจนออกจากราวป่าสองข้างทางของสนามรบ เข้าตีกระหนาบทหารเขมร จนแตกพ่ายถอยกลับไม่เป็นกระบวน

    ประตูค่ายเปิดให้ทัพหลักกรูออกตะลุมบอน

    พระอินทราธิป หลวงองอาจสัตยา ควบม้าออกนำหน้า กองทหารสยามวิ่งออกเข้าต่อรบด้วยกำลังใจฮึกเหิม ขับไล่ทหารเขมรเรื่อยเข้าไปจนถึงค่ายที่วัดพนัญเชิง พระอินทราธิปสั่งการให้หลวงองอาจสัตยาพร้อมกำลัง ๕๐ นายอยู่รักษาค่ายวัดพนัญเชิง

    "บัดนี้ทัพหน้าเขมรเสียขวัญย่อยยับแล้ว เราใคร่จักขับไล่อริราชศัตรูผู้พาลให้พ้นไปจากเขตขัณฑสีมาสุพรรณภูมิประเทศ ทแกล้วทหารกล้าผู้ใดจักไปกับเราบ้าง" สิ้นพระสุรเสียงอันเด็ดเดี่ยว บรรดาแม่ทัพนายกองทหารหาญทั้งหลายต่างชูอาวุธโห่ร้องอย่างฮึกเหิม

    ทันใดนั้นพระอินทราธิปราชนัดดาก็ทรงควบม้าเสด็จออกนำทัพไล่กวดทหารเขมรหนีไปจนถึงที่ตั้งค่ายทัพหลวง ณ ตำบลขนอนบางตะนาว

    เมื่อไล่ตามจวนจะใกล้ถึงค่ายก็ทรงรู้ว่าทัพหลวงนั้นมีรี้พลเรือนหมื่นหากให้ศัตรูเห็นว่ายกมาน้อยจะถูกต่อต้านได้ จึงให้พลปืนนกสับระดมยิงข่มขวัญเสมือนว่ายกมากันมาก แลให้ตั้งกระบวนทัพเป็นรูปปีกกาโห่ร้องให้ดังไม่ขาดสาย เคลื่อนที่รักษาหน้ากระดานอยู่ในแนวป่า ค่อยๆเยื้องย่างสู่ค่ายหลวงของเขมร

    ทหารรักษาการณ์บนกำแพงค่ายทัพหลวงเห็นควันปืน แลได้ยินเสียงโห่ร้องสนั่นหวั่นไหวก็ตกประหม่ามองหน้ากันเลิ่กลั่ก ทั้งทัพหน้าก็แตกพ่ายมาไม่เป็นกระบวน จึงนึกว่ากรุงศรีอยุธยายกทัพหลักออกมาต่อตี พระยาละแวกขึ้นมาบนเชิงเทินเห็นดังนั้นก็เสียขวัญ ร้องสั่งหอกลองให้สัญญาณถอนทัพ

    กองรักษาด่านรบเคลื่อนเข้าทำลายประตูค่ายทัพหลวงยึดเสบียงและศัตราวุธได้จำนวนมาก ก่อนเผาทำลายค่ายคูประตูหอรบที่ตำบลขนอนบางตะนาวจนหมดสิ้น

    พระอินทราธิปให้หมื่นฤทธิณรงค์แต่งแมวมองออกติดตามข่าวทัพเขมร แล้วยกทัพกลับไปรวมกับทัพหลวงองอาจสัตยาที่วัดพนัญเชิง สำรวจค่ายทัพหน้าของเขมร ยึดศัตราวุธแลม้าศึกเขมรไว้

    กองรักษาด่านรบตั้งทัพอยู่ที่วัดพนัญเชิงจนล่วงพ้น ๗ ราตรี หมื่นฤทธิณรงค์ได้กลับมากราบทูลว่ากองทัพเขมรยกออกพ้นเขตชายแดนไปหมดสิ้นแล้ว จึงสั่งให้ยกทัพกลับเข้าพระนคร

    สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จกลับจากทำศึกล้านช้าง ทรงทราบถึงความกล้าหาญของพระราชนัดดาก็ทรงปูนบำเหน็จให้กำลังพลทุกผู้ทุกคนในทัพ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลื่อนฐานะจากกองรักษาด่านรบเป็นกองทหารล้อมเมือง บรรจุกำลังพลเพิ่มเติมอีกกว่า ๕๐๐ นาย ให้พระอินทราธิปมีอำนาจสิทธิ์ขาดสั่งการบนกำแพงเมืองตลอดจนบัญชาการรบตลอดแนวแม่น้ำลพบุรี ป่าสัก เจ้าพระยา อันเป็นคูเมืองตามธรรมชาติของกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้นมวล

    <><><><><><><><><><>

    วันหนึ่งพระอินทราธิปเสด็จไปเข้าเฝ้าพระเยาวลักษณ์ พระมารดาของพระองค์ที่ตำหนัก

    "เสด็จแม่ ลูกมีความในใจจักกราบทูล" พระอินทราธิปก้มกราบพระเยาวลักษณ์พลันกราบทูล

    "มีการใดรึ กุมารน้อย" พระเยาวลักษณ์ตรัสถามอย่างเอ็นดูพระโอรส

    "เสด็จแม่ ลูกมิใช่กุมารแล้วนะพระเจ้าข้า บัดนี้ลูกเป็นแม่ทัพกองทหารล้อมเมืองแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว"

    "โถ..." พระเยาวลักษณ์มองพระโอรสอย่างเอ็นดูดุจเดียวกับเมื่อครั้งกาลก่อน "แม่ก็แค่หยอกเจ้าเล่น ดูเจ้าสิบัดนี้เจริญวัยสง่างาม เป็นถึงคุณหลวงคุณพระรับใช้บ้านเมืองสมชายชาตินักรบยิ่งนัก เอ้า…เจ้ามีการใดก็ว่ามา แม่รอฟังอยู่" พระเยาวลักษณ์ตรัสชมพระโอรส พระโอรสจ้องพระเนตรพลันตรัส

    "เสด็จแม่ เมื่อครั้งที่ลูกเดินทางรอนแรมอยู่นั้น ลูกได้ผ่านไปทางหมู่บ้านจีนที่เขตชานเมืองอุทัยนั้น ลูกได้ตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นขุนนางชั้นพันให้ดูแลการฝึกหัดชายหนุ่มมีฝีมือไว้เป็นทหาร อีกทั้งยังตั้งสหายของลูกให้เป็นผู้ตรวจการณ์ บัดนี้กาลล่วงมาหลายเพลาแล้ว ลูกใคร่จะกลับไปเรียกพลจีนฮ่อเหล่านั้นให้มารับราชการสังกัดอยู่ในทัพของลูกพระเจ้าข้า"

    เมื่อได้ยินดังนั้น พระเยาวลักษณ์ก็ยิ่งปลาบปลื้ม

    "เจ้าเตรียมการณ์เช่นนั้นไว้จริงหรืออินทราธิป แม่ภูมิใจในตัวเจ้ายิ่งนัก เจ้าทำประโยชน์เยี่ยงนี้ ไยแม่จักต้องขัดเจ้า..." สิ้นคำพระมารดา พระอินทราธิปเงยหน้าขึ้นยิ้มแสดงอาการดีใจ

    "...ไปเถิดลูก ไปคัดเอาทหารกล้าเข้ามารับราชการในทัพเจ้าให้ถูกต้องตามพระอัยการเถิด"

    สิ้นคำตรัสของพระเยาวลักษณ์ พระอินทราธิปไม่รอช้ารีบกราบบังคมทูลลา ก่อนจะสั่งทหารม้า ๓๐ นายแต่งพลตามเสด็จ

    พระอินทราธิปตั้งให้หลวงองอาจสัตยาขึ้นรักษาราชการแทนตำแหน่งแม่ทัพล้อมเมือง แลให้ขุนพิทักษ์ราชกิจกับหมื่นฤทธิณรงค์โดยเสด็จตาม

    <><><><><><><><><><><><>

    ::พิษณุโลก::


    เมื่อครั้นเสด็จพระดำเนินไปในการสงครามที่กรุงศรีสัตนาคนหุตกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระนเรศวรทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษเมื่อยกทัพไปถึงหนองบัวลำพู พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงทราบ ด้วยความที่พระองค์ทรงรักพระนเรศวรเสมือนหนึ่งพระโอรส แลทรงเห็นว่าการสงครามจวนจะเสร็จสิ้นแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าให้กองทัพไทยเลิกทัพกลับลงมา

    ครั้นเมื่อทรงหายจากพระอาการประชวรก็เร่งฝึกหัดชายหนุ่มฝีมือดีไว้ใช้ในราชการทัพ โดยหงสาวดีมิได้ระแวงว่าพระองค์ซ่องสุมกำลังพลแต่อย่างใด เนื่องด้วยสยามถูกกองทัพเขมรรุกรานอยู่เนืองๆ

    "พี่ได้ข่าวทางกรุงศรีมาว่ามีแม่ทัพฝีมือดีขับไล่พวกเขมรออกไปจากชานพระนคร เมื่อครั้งสมเด็จพ่อยกทัพไปช่วยพระเจ้าบุเรงนองตีล้านช้าง" พระนเรศวรตรัสกับพระอนุชาธิราชคู่พระบารมี ระหว่างที่ทรงสำราญพระทัยอยู่ในอุทยานท้ายวังจันทร์เกษม พลางตรัสต่อ

    "เขมรสันดานลอบกันมิเคยเปลี่ยนแปลง พอกรุงศรีเพลี่ยงพล้ำหรือว่างทหาร ก็มักจะยกมาต่อตี ดีที่ครั้งนี้มีทหารกล้ารักษาพระนครอยู่ ข่าวว่าเป็นพระโอรสของพระเจ้าอาออกญาพรหมบุรี"

    "ออ...อินทราธิปน่ะหรือพระพุทธเจ้าข้า" พระเอกาทศรถตรัสตอบ พระนเรศทำท่าครุ่นคิดอยู่ชั่วหนึ่งก่อนจะตรัส

    "คงใช่กระมัง แต่เมื่อครั้งที่พี่ยังอยู่หงสาวดีข่าวว่าอินทราธิปสาปสูญไปคราวกรุงแตก มิรู้ว่าไปตามหาตัวกันเจอได้อย่างไร แต่เขาว่ากันว่าพอปรากฏตัวสมเด็จพ่อก็ทรงตั้งให้เป็นที่พระนายกองรักษาด่านรบเลยเชียว ท่าทางจะฝีมือดี" พระนเรศวรตรัสชม

    "จำได้ว่าแต่ก่อนนั้นยังเคยวิ่งเล่นด้วยกันกับพี่หญิงแลหม่อมฉันอยู่ในอุทยานนี้ มิรู้ว่าเจริญชันษาแล้ว จักได้ดีมีฝีมือเป็นถึงขุนพลทแกล้วกล้าแห่งกรุงศรีอยุธยาพระราชธานี" พระเอกาทศรถตรัสพร้อมรอยยิ้มพลางกวาดสายตาไปทั่วบริเวณ

    "แต่เดิมอินทราธิปก็องอาจกล้าหาญอยู่แล้ว ครั้นพอเจริญวัยก็ได้เป็นนายกองรักษาด่านรบ สมเด็จพ่อทรงมีบุญญาธิการที่ได้พระญาติมาเป็นขุนศึกคู่พระบารมี ข่าวว่าการศึกพระยาละแวกนั้น เป็นการทัพครั้งแรกของอินทราธิปเลยมิใช่หรือ" พระนเรศวรตรัสถามพระอนุชา

    "แลยังว่ากลศึกที่ใช้ขับไล่พระยาละแวกนั้น ใช้ทหารเพียงหยิบมือต้านกับกองทัพเรือนหมื่นด้วยพระพุทธเจ้าข้า นับว่านอกจากฝีมือการรบเป็นเอกแล้ว แผนการยุทธ์ก็เลิศชั้นนัก"

    พระนเรศวรได้ยินพระอนุชาตรัสดังนั้นก็นิ่งไปพักหนึ่ง ก่อนจะทรงอุทาน

    "ทหารเพียงหยิบมือต้านกับทหารเรือนหมื่น!? ใช้ยุทธวิธีแบบใดกัน รึจักแต่งทัพเป็นกองโจร"

    "สมเด็จพี่ทรงสนพระทัยเรื่องการยุทธ์แบบกองโจรอยู่แล้วด้วยมิใช่หรือพระพุทธเจ้าข้า นี่อย่างไรคือผลของกองโจร ใช้กำลังเพียงน้อยเข้าต่อรบกำลังมากได้ หากสมเด็จพี่ดำริจักให้ทัพสองแควฝึกยุทธ์ตามแบบกองโจร หม่อมฉันเห็นว่าเป็นการสมควร ด้วยว่าเราเองก็มีกำลังน้อยอยู่นัก" พระเอกาทศรถทูลเสนอความเห็น

    "พี่เองก็ดำริเช่นนั้นมานานแล้วองค์ขาว หากแต่มิกล้าจักฝึกทัพเยี่ยงนั้น ด้วยเกรงว่าจักผิดแบบแผนตามตำราพิชัยสงคราม..."

    "...บัดนี้ได้เห็นผลของการยุทธ์แบบกองโจรแล้ว ก็เห็นทีจักต้องฝึกหัดกองโจรไว้ใช้ในทัพเราบ้าง หงสาวดีมักใช้กองทัพที่มากด้วยกำลังพลเข้าประยุทธ์ หากเราใช้ยุทธวิธีตามแบบกองโจรแล้วไซร้ พี่เชื่อว่าเราจักสามารถแก้ทัพหงสาวดีได้" พระเนรศวรตรัสตอบพระอนุชา

    "นี่สมเด็จพี่หมายจักทำสงครามกับหงสาวดีแต่เพียงผู้เดียวเลยหรือพระเจ้าข้า"

    "หงสามันย่ำยีเรามาช้านานแล้ว เจ้าอย่าลืมว่าบัดนี้พระพี่นางยังอยู่ในหงสาวดีรอให้เราคิดอ่านหาทางช่วยเหลือ"

    พระเอกาหันไปสบพระเนตรพระเชษฐา แล้วทรงผินพระพักตร์ไปมองดอกการเวกในอุทยาน ก่อนจะดำเนินไปเด็ดมาดอกหนึ่ง

    "เห็นดอกไม้นี้ก็นึกถึงพี่หญิง ก่อนเคยวิ่งเล่นด้วยกันฉันท์พี่น้องท้องเดียวอยู่ในอุทยานนี้ มิรู้เลยว่ากรรมอันใดกัน จึ่งทำให้เราพี่น้องต้องพลัดพราก"

    พระนเรศวรนิ่งไป

    "เฮ่อ...สมเด็จพี่" พระเอกาดำเนินเข้าไปใกล้พระเชษฐา "มิรู้ว่าป่านนี้พี่หญิงจักเป็นเยี่ยงไรบ้างนะพระเจ้าข้า ดอกการเวกนี้เดิมทีพี่หญิงชอบเด็ดมาเก็บไว้ในห้องข้ายิ่งนัก แรกข้าก็มิชอบกลิ่นมันดอก แต่ครานี้มิได้พบประสบพระองค์แล้ว ข้าก็อดเด็ดมาดมเสียมิได้ ได้กลิ่นมันทีไรพาให้คิดถึงพระองค์เสียทุกคราไป"

    พระเอกาทศรถพระพักตร์เศร้าหมองปริ่มว่าจะทรงพระกรรแสง พระนเรศวรเห็นเยี่ยงนั้นจึงตรัสปลอบพระอนุชา

    "อย่าเสียใจไปเลยองค์ขาว รอให้สิ้นบุญพระเจ้าบุเรงนองก่อนเถิด พี่มิใคร่จะเนรคุณพระองค์ ด้วยว่าทรงชุบเลี้ยงแลเอาใจพี่มาดั่งพระโอรสเลยกระนั้น สบโอกาสคราใดพี่จักแยกกรุงศรีอยุธยาออกจากหงสาวดีโดนพลัน แลจักนำเสด็จพระพี่นางหญิงกลับคืนสู่มาตุภูมิให้จงได้"

    "หม่อมฉันก็รอวันนั้นพระพุทธเจ้าข้า" พระเอกาทศรถตรัสพร้อมกับเก็บดอกการเวกใส่ไว้กับรัดประคต

    สมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสอง มิรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของสมเด็จพระพี่นาง พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงหลงใหลในพระสุพรรณกัลยายิ่งนัก ด้วยว่าเอ็นดูมิต่างจากพระธิดา แต่ก็รักใคร่มิต่างจากพระชายา เจ้านางสุพรรณกัลยาจึงทรงเป็นที่ริษยาต่อพระมเหสีและนางสนมทั้งปวง คอยหาเรื่องกลั่นแกล้งพระองค์ แต่พระองค์ก็หาได้หวั่นเกรงแต่อย่างใดไม่ หนำซ้ำเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองรู้ว่าใครมาทำร้ายพระนางให้ระคายเคืองพระทัยก็จะทรงคาดโทษผู้นั้นไว้ ไม่เว้นแม้แต่พระอัครมเหสี

    <><><><><><><><><><>

    ::พุทธศักราช ๒๑๑๙ ชวดศก::

    ครานั้น...นักพระสัตถาได้ครองราชย์เป็นพระยาละแวกกษัตริย์เขมรต่อจากพระยาละแวกองค์เดิม พระองค์ให้พระยาอุเทศราชาและพระยาจีนจันตุขุนนางจีนเมืองเขมร ยกทัพเรือเข้ามาโจมตีเมืองเพชรบุรี พระศรีสุรินทราฤาไชยเจ้าเมืองเพชรบุรีสามารถต้านทานและขับไล่เขมรออกไปได้ พระยาจีนจันตุไม่กล้ากลับไปเมืองเขมรด้วยเกรงอาญานักพระสัตถา จึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงพระราชทานที่พักให้


    พระยาจีนจันตุอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แต่ด้วยความที่เป็นขุนนางเขมรเดิม จึงคิดทุรยศแอบลักลอบชมการฝึกทหาร พร้อมทั้งสำรวจภูมิประเทศของกรุงศรีอยุธยาเพื่อที่จะนำความไปเป็นประโยชน์ต่อพระเจ้ากรุงกัมพูชา หวังว่าจะได้ลดโทษให้แก่ตน

    สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในตัวพระยาจีนจันตุนัก จึงให้พันวิกรมโยธาทำหน้าที่นายตรวจ ทำทีว่าคอยสอดส่องดูแลให้ความช่วยเหลือพระยาจีนจันตุ แต่ในขณะเดียวกันก็คอยถวายรายงานความประพฤติที่ผิดปกติของพระยาจีนเขมรให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงทราบ

    พระองค์ทรงวินิจฉัยเห็นว่าสักวันหนึ่งพระยาจีนจันตุจะต้องทุรยศต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ทำทีไม่รู้ไม่เห็นเพื่อให้ตายใจ...



    ...เกิดเป็นชายควรกล้าเมื่อท้ารบ

    รักษ์พิภพแผ่นดินไทยให้สุขี

    ประเทศชาติคลาดแล้วแคล้วไพรี

    ด้วยเดชะบารมีภูวนัย...


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×