1. ความรู้ในภาษา (Competence) และการใช้ภาษา(Performance)
ความรู้ในภาษานี้หมายถึงการที่เจ้าของภาษาหนึ่งๆจะรู้อย่างเป็นอัตโนมัติในไวยกรณ์ภาษาของตัวเองโดยไม่ได้ผ่านการเรียนอย่างเป็นทางการ โดยความรู้นี้คือความสามารถในการตัดสินความถูกผิดของภาษาในประโยคถึงแม้ว่าจะไม่เคยได้ยินประโยคนั้นมาก่อนก็ตาม เช่นคนไทยเรารู้ได้ทันทีว่า “เขาพวกเห็นควายอันหนึ่ง” เป็นประโยคที่ผิด หรือคนอังกฤษจะรู้ได้ทันทีว่า “I want to see him”นั้นถูกต้อง แต่ประโยคที่ว่า “I want to seeing him” นั้นผิดถึงแม้ว่าทุกคำที่ใช้ในประโยคนี้จะเป็นคำที่มีใช้ในภาษาอังกฤษก็ตาม
ในทางกลับกัน การใช้ภาษานั้นคือความสามารถจริงๆของเจ้าของภาษาในการถ่ายทอดความให้เกิดความหมายเข้าใจได้ โดยทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ภาษาจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นถึงแม้เจ้าของภาษาจะรู้กฎทางภาษาที่ถูกหรือผิดก็ตาม เพราะความผิดพลาดนี้อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การพูดผิด หรือพูดไม่จบประโยคเพราะ เหนื่อย ตื่นเต้น ตกใจ เบื่อไม่สนใจ เป็นต้น ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าการใช้ภาษาเป็นรูปธรรมที่เราเห็นได้ และความรู้ความเช้าใจภาษาเป็นนามธรรมที่อยู่ในตัวผู้ใช้ภาษาที่มองไม่เห็นนั้นเอง
2. โครงสร้างลึก(Deep structure) และโครงสร้างผิว(Surface structure)
โครงสร้างลึกคือความคิดหรือความหมายจริงๆที่อยู่ในหัวสมองของผู้พูดภาษา ส่วนโครงสร้างผิวนั้นคือสิ่งที่ผู้พูดพูดหรือเขียนออกมาซึ่งมีรูปเดียวกัน ถึงแม้ความหมายจากโครงสร้างลึกมีมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น การที่เจ้าของภาษาพูดว่า “The parents of John and Marry are waiting” ประโยคนี้มีโครงสร้างผิวที่เหมือนกัน (ตามรูปประโยค) แต่จริงๆแล้วประโยคนี้อาจมีสองความหมาย คือ พ่อแม่ทั้งของจอห์นและแมรี่กำลังคอย หรืออาจหมายถึงว่าพ่อแม่ของจอห์นและตัวแมรี่เองกำลังคอย โดยเราจะเห็นได้ว่าความหมายที่เราเห็นเป็นสองอย่างนี้มาจากโครงสร้างลึกในภาษานั้นเอง
ความคิดหลักๆเหล่านี้ได้ชี้ให้เราได้เห็นภาพของทฤษฎีไวยากรณ์ปริวรรตเพิ่มพูนซึ่งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบและกระบวนการความสามารถของมนุษย์ในการผลิดและเข้าใจภาษาที่ใช้เพื่อการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ทฤษฏีไวยากรณ์เพิ่มพูนนี้หาได้เป็นสิ่งเดียวที่อธิบายปรากฎการณ์ทางการรู้และใช้ภาษาของมนุษย์ไม่ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่ชอมสกี้ได้นำเสนอก็คือ ความมหัศจรรย์ของสมองที่ให้ความรู้ภาษาติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด นั้นคือ การที่คนเราเมื่อแรกเกิดเป็นทารกนั้นได้มีคลังความรู้ทางไวยกรณ์ในภาษารอพร้อมอยู่แล้ว สิ่งที่มนุษย์ต้องการเป็นสิ่งรองก็คือ การได้มีโอกาสในการได้ยิน และมีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นๆในสังคมเดียวกันเพื่อให้ความสามารถทางภาษาที่ติดตัวมานี้ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทฤษฎีการรู้ภาษาของชอมสกี้นี้เกิดขึ้นหลังจากยุคทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์หลักๆแล้วเกิดจากการที่มนุษย์เมื่อแรกรู้ความได้ฟังและพูดตามแบบภาษาซ้ำๆกัน (จากการกระตุ้นและเลียนแบบ) แล้วจึงเกิดความจำในตัวภาษาและนำไปใช้ได้ในที่สุด ซึ้งชอมสกี้ได้โต้แย้งว่าแค่ความสามารถที่ติดตัวมาข้างต้นเพียงพอสำหรับการได้มาซึ่งภาษาแล้ว การเลียนแบบและทำซ้ำเป็นเพียงปัจจัยย่อยที่ส่งเสริมการใช้ภาษาในสถานการณ์จริงเท่านั้น
ทฤษฎีของชอมสกี้นี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง และเป็นทฤษฎีหลักในการเป็นแม่แบบในการศึกษาทฤษฎีอื่นๆที่เชื่อมโยง ซึ่งได้แก่การศึกษาเรื่องของสมองมนุษย์ และการศึกษาภาษาศาสตร์ปริชาน(Cognitive Linguistics) ซึ่งเปรียบเทียบสมองมนุษย์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก ในแง่ที่ว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตราบใดที่มันได้ถูกวางโปรแกรมไว้อย่างมีระบบตั้งแต่เริ่มแรก เช่นเดียวกับสมองของมนุษย์ที่มีการวางโปรแกรมทางภาษามาตั้งแต่แรกเกิด ซึ้งอาจเรียกโปรแกมที่อยู่ในสมองมนุษย์นี้ว่า LAD (Language Acquisition Device)
ชอมสกี้ได้เสนอความคิดอีกอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวว่า มนุษย์สามารถเรียนรู้ภาษาได้ด้วยไม่จำเป็นต้องเรียนกฎอย่างเป็นทางการใดๆในภาษาแม้แต่น้อย ในความจริงแล้วทุกๆภาษามีกฎหรือรูปแบบที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันแทบทั้งสิ้น แต่ผลของกฎที่เป็นไปในรูปของการแสดงออกทางภาษาในระหว่างมีปฎิสัมพันธ์นั้นอาจแตกต่างแต่งกันอย่างมากมายโดยขึ้นอยู่กับข้อจำกัดเฉพาะบางประการของภาษาต่างๆที่ไม่สามารถให้เห็นรูปทางภาษาที่เหมือนกันได้
แนวคิดเรื่องไวยากรณ์สากล (Universal Grammar) ของชอมสกี้นี้ พยายามจะอธิบายการได้มาซึ่งภาษาของมนุษย์โดยทั่วไป มิได้อ้างถึงว่าภาษามีความเหมือนกันทุกประการในเรื่องไวยากรณ์หรือโครงสร้างผิวที่ใช้ในการพูด ฟัง อ่าน หรือ เขียน แต่อย่างใด หากแต่ไวยากรณ์สากลนี้ได้พยายามกล่าวถึงการได้มาซึ่งภาษาของมนุษย์ตั้งแต่เด็กที่พยายามจะสื่อสารโดยใช้ข้อความตามความรู้สึกที่ต้องการสื่อโดยใช้รูปแบบภาษาที่เข้าใจได้ในภาษานั้นๆ (ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันอยู่ในทุกภาษา) และแนวคิดนี้นี้เองที่ทำให้ แนวคิดทางภาษศาสตร์ของชอมสกี้โดดเด่นแตกต่างจากแนวคิดของนักภาษาศาสตร์คนอื่นๆและได้รับการยกย่องให้เป็นทฤษฏีแม่บทอีกบทหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาภาษาจนถึงปัจจุบัน
บทความนี้ผู้เขียนแปลและเรียบเรียงจาก
1. Bursky,Robert F.1997. Noam Chomsky: A Life of Dissent. Cambridge: The MIT Press.
2. Lyons,John.1978. Noam Chomsky. New York: Penguin Books.
3. Richards,Jack C& Platt,John& Platt,Heidi.1998. Longman Dictionary of Language & Applied Linguistics. English-Chinese edition.Addison Longman China Ltd.
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น