การย่อความ เมื่อครั้งวัยประถม
ความทรงจำเก่าๆบางทีมักจะแล่นเข้ามาให้นึกถึง และทำให้เราอดยิ้มคนเดียวไม่ได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็เรื่องนี้เรื่องนึงล่ะที่ผมนึกขึ้นได้และอยากบอกบอกต่อ..
ผู้เข้าชมรวม
145
ผู้เข้าชมเดือนนี้
0
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
นั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบเพลินๆ ใจมันก็เผลอย้อนกลับไปคิดถึงความทรงจำวัยเรียนตอนประถมที่ผมไม่ได้นึกถึงมันมานานแล้ว เป็นเรื่องราวความสนุก ธรรมชาติของวัยเด็กที่เราต้องตื่นนอนไปเรียนเข้าแถวตอน 8.oo น. ทำความเคารพธงชาติ และเลิกเรียนตอน 15.30 น.เป็นประจำทุกวัน
หนึ่งความทรงจำที่น่าขันก็คงเมื่อครั้งประถม4เห็นจะใช่ จำได้ว่าคาบนั้นเป็นวิชาภาษาไทย และอาจารย์หญิงสุดดุได้เคี่ยวเข็ญให้เราทำความรู้จักกับคำว่า “ย่อความ” ซึ่งจะด้วยอาจารย์ท่านนั้นไม่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เค้าต้องการ หรืออาจเป็นเพราะด้วยสติปัญญาของผมที่มันไม่ค่อยจะพัฒนาตามทันเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ แต่คิดว่าคงไม่ใช่ เพราะหลังจากที่อาจารย์สอนเสร็จเด็กๆหลายคนยังทำหน้ามึนงงกันอยู่ และทันใดนั้นท่านก็สั่งงานให้เราเริ่มลงมือทำการย่อความ ....
ผมจับดินสอไม้และจ้องบนกระดาษสีขาวอยู่นาน กับจิตใจที่มึนงง ไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอย่างไร?? เหลือบหันไปมองเพื่อนที่นั่งข้าง หันไปถามเค้าว่า ทำยังไงวะ เขียนเป็นหรือเปล่าย่อความที่ว่าเนี่ย?? เพื่อนมันก็ทำหน้างงๆ พร้อมกับส่ายหัว (พลางนึกขรึมในใจ ไม่ใช่เราคนเดียวนี่หว่าที่โง่) หันไปมองเพื่อนคนอื่นๆ ก็ยังไม่มีใครเริ่มทำเหมือนกัน สอบถาม ปรึกษาไปมาในกลุ่มอยู่พักใหญ่ เลยทำให้รู้ว่า ไม่มีใครเข้าใจซักคน...
ทันใดนั้นไอ้ความคิดผมที่ชอบจินตนาการไปเรื่อยก็เกิดไอเดีย เลยบอกกับเพื่อนว่า เห้ย เราว่าย่อความมันก็คงคล้ายกับ คำย่อน่ะล่ะ เพื่อนถาม ยังไงวะคำย่อ?? ผมก็ตอบไปว่า ก็อย่างเช่นพุทธศักราช ก็ย่อเป็น พ.ศ. เหมือนคำว่า ส.ค.ส ก็มาจากส่งความสุขไง เพื่อนมันทำหน้าประมาณว่าถึงบางอ้อ เท่านั้นล่ะเสียงเห็นด้วยก็ตามมากันจ้าละหวั่น ทุกคนไม่รอช้า เริ่มลงมือปฏิบัติการย่อความ กับต้นฉบับในบทเรียนความยาวประมาณหนึ่งหน้า นั่งทำกันอยู่พักใหญ่ ก็ได้เวลาอาจารย์เรียกให้ไปส่งที่โต๊ะของเค้า
อาจารย์เริ่มตรวจไปได้สักพักหนึ่งผมก็ต้องสะดุ้งสุดเฮือกเมื่ออาจารย์ตะโกนด่าลั่น เหมือนกับว่าพวกผมไปฆ่าชิงทรัพย์ไครอย่างนั้นแหล่ะ และก็ตามมาด้วยคำอะไรสารพัดนานาที่จำไม่ค่อยได้ละ รู้แต่ว่ามันยาวมาก แต่ที่จำได้อยู่ประโยคนึง เวลาแกจะลงท้ายต้องใช้คำว่า“สั่งเหมือนสั่งขี้มูก พูดเหมือนพูดให้หัวตอฟัง” เป็นประโยคที่ทุกวันนี้ถ้าเราพูดถึงอาจารย์ท่านนี้ทุกคนก็ยังคงจำได้ดี
สมุดที่ผมบรรจงทำการย่อความในสไตล์ของผมวันนั้นเต็มไปด้วยตัวอักษรภาษาไทยหนึ่งอักษรแล้วก็ตามด้วยจุด เขียนแบบนี้จนกระทั่งสุดหน้ากระดาษ กลับมานั่งคิดดูวันนี้แล้วนึกขำ ทำแบบนั้นแล้วคนอื่นที่มาอ่านเค้าจะเข้าใจได้อย่างไร?? ก็คงเช่นเดียวกันล่ะเมื่ออาจารย์สอนไม่เข้าใจแล้วจะให้เด็กๆทำตามอย่างไรกันเล่า?? นึกถึงตรงนี้ผมก็อดยิ้มในใจ ถ้าจะนึกให้เป็นเรื่องขำขัน อย่างน้อย ผมก็ได้แก้เผ็ดอาจารย์ผ่านสมุดเล่มนั้นแล้วล่ะ... แต่มองอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ได้คำตอบที่ว่า
“ความเข้าใจที่ต่างกัน ย่อมมิอาจขับเคลื่อนเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันอย่างแน่นอน”.........
ผลงานอื่นๆ ของ อัสดง ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ อัสดง
ความคิดเห็น