Intimate Mind ล่าล้างฝัน จิตสังหาร

โดย B. Zeitgeist

"โลกจิตใต้สำนึกจำลอง" คือการทดลองลับระดับโลกที่เป็นความลับมากว่าร้อยปี ถูกปิดบังในชื่อองค์กรวิทยาศาสตร์ธรรมดา ทว่าหนูทดลองที่หายไปห้าคน จะเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของโลกไปตลอดกาล...

อ่านนิยาย

รีวิวจากนักอ่าน

รีวิว

Intimate Mind ส่วนผสมที่ลงตัวของ "ปรัชญา" และ "ไซไฟแฟนตาซี"

รีวิวถึงลำดับตอนที่ 33

เยี่ยมมาก
งืม หลังจากอ่านจบ เราจะจัดละนะเบสนะ 55555 จากที่เคยสัญญากันไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะมาวิจารณ์ยาวๆ

-ตัวละคร > เราได้เห็นพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัวอย่างชัดเจน ชอบตัวละครเรื่องนี้ตรงที่แต่ละตัวมีข้อดี-ข้อเสียเหมือนมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆทั่วไป (ถึงมันสมองจะระดับอัจฉริยะก็เหอะ) มีพลาด มีล้มบ้าง แต่ชอบในวิธีการแก้ปัญหา ชอบในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ใช่ง้องแง้งจะทำตามอุดมการณ์ของตัวเองอย่างเดียวทั้งๆที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย เช่นจากอเล็นเล่ใสๆ แม้ตอนนี้นางจะยังใสอยู่ แต่เหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทำให้นางเข้มแข็งขึ้น มีไหวพริบมากขึ้น ตัวละครแต่ละตัวนั้นปั้นออกมาได้สมจริงในระดับสอง(เอ่อ หมายความว่ามากกว่าระดับหนึ่ง 555) มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนจริงๆ ทำให้เราเชื่อได้ว่ามันมีอยู่จริงในโลกใบนี้

-ภาษาและการบรรยาย > ขอบอกว่าดีกว่าตอนแรกที่เราเข้ามาอ่านเยอะมาก 555 เบสต์ถือเป็นนักเขียนที่มีการพัฒนาตัวเองได้เร็วมาก การบรรยายของเบสต์สั้น กระชับ สนุก อ่านแล้วเข้าใจง่าย (เราอิจฉาเบสต์เรื่องนี้อยู่เลย เรานี่ติดบรรยายทีนึงยาวเป็นหางว่าว T_T) ถ้าเปรียบเป็นหนัง นิยายของเราคงจะเป็นแนวๆสงคราม-ดราม่าดาร์คๆ บรรยากาศขาวดำอึมครึมทั้งเรื่อง มุมกล้องแพนช้าๆเน้นซูมท่าทาง ปฏิกิริยาและภาษากายของตัวละคร ไม่ก็ตั้งแช่ไว้ ในขณะที่ Intimate Mind จะใช้เทคนิคมุมกล้องและแสงเงาหลากหลายกว่าในการสื่อให้ผู้ชมได้ดู ดำเนินเรื่องเร็ว ฉากแอคชั่นตัดฉับไปฉับมาสะใจไม่มีสโลว์โมชั่น แสงจ้าๆกล้องสั่นๆเน้นภาพรวมมากกว่าตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ส่วนฉากที่ดีซีกำลังครุ่นคิดก็ทำได้ดี แสงเงามืดๆกล้องนิ่งๆ ตอนที่วิคเตอร์กำลังจะเดี้ยงก็ให้ภาพแบบฝันๆ หมอกกระจายฟุ้งๆ เศร้าๆ อึนๆ ไม่รู้สิ เวลาอ่านนิยายเราชอบคิดตามเป็นภาพอ่ะ และนิยายของเบสต์มันให้ครบรสจริงๆ เหมือนจ่ายตังแค่สามสิบบาท ได้ราดหน้าทะเลใส่ไข่มาจานใหญ่ไรงี้

-มาพูดถึงข้อเสียกันบ้าง

-ซึ่งก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ติอะ หนึ่งเลยก็คือการใช้คำ สั้น กระชับ คือข้อดี แต่ข้อเสียคือมีคำซ้ำบางประโยค และบางทีการใช้คำมันยังไม่อีปิคพอ คือจะพูดยังไงอะ 5555 บางบรรยากาศแบบระเบิดตูมตามแบบหนังไมเคิลเบย์งี้ เบสต์ยังใช้ภาษาเหมือนบรรยายบรรยากาศธรรมดาอยู่อะ แต่อันนี้โอเคนะ จะไม่แก้ก็ได้เพราะยังไงมันก็ดีอยู่แล้ว แก้อีกนิดเดียวก็ดีมากๆแล้ว

-การบรรยายในบทนี้ แปลกอยู่อย่างนึงคืออาการโคม่าของวิคเตอร์ คือมันจะพูดยังไงอะ บางทีคำพูด การบรรยายบรรยากาศมาคุในตอนนั้นมันยังไม่ถึงอารมณ์ ฉากที่วิคเตอร์กำลังสลบทำได้ดีมากนะ แบบ ผมนี่กลืนน้ำลายลงคอซูฮกให้เลยอ่ะ แต่พอมาตอนที่ชาลีรายงานดีซีเรื่องนี้ มันดูแบบ "อืม วิคเตอร์สาหัส อาการโคม่านะ" มันยังเฉยๆอยู่นิดนึง ปรับแก้ตรงนี้ด้วยนะแจร้

-ตัวละครหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ดี.ซี. เหมือนนางจะมาเป็นหนึ่งในกุญแจของภาคสอง ตอนแรกๆที่ดีซีเข้ามา เราไม่ค่อยชอบนางนะ คือนางบอกว่านางเป็นนักมายากลใช่มะ แต่กลหลายๆอย่าง มันดูเหมือนเวทมนตร์มากกว่า แบบ เฮ้ย อยู่ๆก็มาได้ไงวะ อ่าวเฮ้ย หายไปไหนละ ไรงี้ เราว่าถ้าจะปรับแก้ให้ดีซีเป็นดูนักมายากลจริงๆ น่าจะเติมมุมมองของดีซีในฉากมายากลไปด้วยว่า เออ กรูมาได้ไง กรูหายตัวไปได้ไง กรูเห็นอะไรที่คนอื่นไม่เห็นแล้วนำมาใช้สร้างเป็นกลของตัวเองได้ไง แต่ส่วนใหญ่ฉากที่ดีซีออกมา เบสต์จะใช้มุมกล้องของตัวละครตัวอื่นมากกว่าไง แต่ฉากโดดตึกในบทนี้โอเคมากนะ แบบ อืม เออว่ะ มันเป็นไปได้จริงๆที่กลนี้จะใช้ได้ในสถานการณ์โดดตึก ชอบตรงที่เบสต์สร้างสรรค์มายากลของดี.ซี.แบบนี้ มันไม่ใช่มายากลแบบเกินจริง เหนือธรรมชาติไรงี้เลย มันอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ และเป็นมายากลที่ "ฉลาด" เลยทีเดียว


-เอาตรงๆไหม เราไม่เคยอ่านอะไรที่เป็นปรัชญา วิทยาศาสตร์ แฟนตาซีมาเลยในชีวิต (นอกจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่นั่นมันวรรณกรรมเยาวชนนี่หว่า = =") ไม่ดิ ต้องพูดว่าทั้งชีวิตเรานี่อ่านแต่แนวสงคราม-ประวัติศาสตร์ มาตลอด เราเจอนิยายเรื่องนี้ก็เพราะไปส่องไอดีไรต์เตอร์ดู(ก็ไรต์มาแอดแฟนคลับนิยายเราอ่ะเนอะ >_< ดีไตแปบ) อ่านๆไปแล้วแบบ...เฮ้ย...เขียนดี เขียนโอเค ยังกะนิยายแปลไซไฟของฝรั่งเลยว่ะ เลยลองอ่านไปเรื่อยๆ ซึ่งไรต์เตอร์ก็ไม่ทำให้คนอ่านผิดหวังเลยแม้แต่นิดเดียว ชื่นชมรัวๆค่ะ ณ จุดๆนี้

ปล. จบละ โอ๊ยพิมพ์มาชั่วโมงนึง เมื่อยนิ้วมาก 555555555

**บทวิจารณ์เราอาจจะคล้ายๆ เม้นท์ของคนข้างบนไปบ้าง แต่เราคิดคล้ายๆเค้าอย่างนั้นจริงๆ

สู้โว้ยเบสต์ กรูเป็นกำลังใจให้มรึงเสมอออออออ รักนะจิบิ

โครงการโลกจิตใต้สำนึกจำลอง โครงการล้างฝัน

รีวิวถึงลำดับตอนที่ 32

เยี่ยมมาก

_______เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน หนูทดลองจำนวนห้าคนในโครงการโลกจิตใต้สำนึกจำลอง ได้หลบหนีจากองค์กรเซนจูรี่ ดีพาร์ทเจอร์ คอร์เปอเรชั่น พร้อมกับความทรงจำที่หายไป จนเวลาล่วงเลยมากว่าศตวรรษ ทุกคนดำเนินชีวิตตามปกติ มีชีวิตที่เหมือนกับคนอื่น ๆ แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่าอันตรายกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ และมันจะส่งผลกระทบต่อทั้งโลก เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แปลกจากชีวิตประจำวันของพวกเขาประดังประเดมาเรื่อย ๆ มันอันตรายจนถึงเกือบถึงชีวิต ความจริงทั้งหลายเริ่มปรากฏ พวกเขาต้องหยุดมัน ถลำลึกเข้ามาขนาดนี้แล้ว ถ้าหากถอยกลับ โลกทั้งใบต้องตกอยู่ในกำมือของคนจิตใจอำมหิตแน่!

_______โครงเรื่อง: พล็อตเรื่องนับว่าเป็น Sci-Fi จิตวิทยาที่นับว่าน่าสนใจมากทีเดียว ดังเนื้อเรื่องคร่าว ๆ ข้างต้น มันเกี่ยวกับโครงการหนึ่งที่ใช้หนูทดลองในการจำศีลข้ามเวลา ซึ่งมีโลกจิตใต้สำนึก ความนึกคิด ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริงในปัจจุบันเป็นเสน่ห์ ทำให้น่าติดตามในระดับหนึ่ง การดำเนินเรื่องก็เหมือนจะเน้นที่การเอาชีวิตรอดและหยุดการทำงานขององค์กรไปพร้อม ๆ กัน แต่ยังไม่สามารถเร้าความสนุกได้มากพอ ด้วย “กล้อง” ที่โฟกัสไปแต่เพียงกลุ่มของหนูทดลอง (We Are One) ควรจะมีการ “ส่อง” ให้เห็นอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ว่าตัวร้ายนั้นมีแผนการเดินหน้าโครงการอย่างไรบ้าง หรือจะจัดการกับกลุ่มหนูทดลองอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบันบ้าง ซึ่งจะมีผลดีต่อเนื้อเรื่อง คือเพิ่มรสชาติ ทำให้คนอ่านรู้สึกกดดันและเอาใจช่วยฝ่ายหนูทดลองมากยิ่งขึ้น

_______ในส่วนของลำดับเหตุการณ์และการเปลี่ยนฉากต่าง ๆ ยังมีสับสนอยู่บ้าง อย่างการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ผู้เขียนให้การระบุไปเลยว่าเป็นกี่นาทีที่แล้ว อยากให้ลองใช้การบรรยายมาทดแทน อย่างเช่น สามสิบนาทีก่อนหน้านี้...(บรรยายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น)... ซึ่งควรจะบอกแต่เหตุการณ์ที่สำคัญจริง ๆ และส่งผลต่อเหตุการณ์ปัจจุบันมากที่สุด

_______การใช้จิ๊กซอว์เป็นตัวเชื่อมหรือกุญแจระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกจิตใต้สำนึกนับว่าสร้างสรรค์และแปลกใหม่ดี ส่วนมากที่เคยอ่านเจอมาจากเรื่องอื่นนั้นจะเปลี่ยนฉากในลักษณะที่มีควันลอยมาบดบังแล้วเปลี่ยนสถานที่ แต่การใช้จิ๊กซอว์นอกจากจะไม่ซ้ำใครแล้วยังบ่งบอกว่าเป็นเรื่องราวความทรงจำที่เชื่อมต่อกัน ปะติดปะต่อกัน แต่ยังควรระวังอีกสักนิด ในเรื่องของการสับสนระหว่างฉาก เพราะบางทีก็รวดเร็วและรวบรัดจนเกินไป

_______เท่าที่อ่านเรื่องนี้ไม่ค่อยเห็นการตัดฉาก สังเกตได้ว่าเดินเรื่องไปเรื่อย ๆ และค่อนข้างเชื่องช้า ส่วนมากแล้วจะมีเหตุการณ์ที่ไม่สำคัญเท่าไรนักแทรกมา อย่างเช่นฉากที่วิคเตอร์นำพิซซ่ามาคืนให้ชาลีหนึ่งชิ้น (ในบทต้น ๆ จำไม่ได้แล้วว่าบทไหน) ยังฉงนอยู่เลยว่าจะนำมาแบ่งคืนทำไม มันค่อนข้างขัดกับบุคลิกขรึม ๆ ของวิคเตอร์ และไม่สมเหตุสมผลตรงที่ว่าในขณะที่กำลังสอนนักเรียนอยู่ จะออกมาทำไมให้เสียเวลา แต่ก็ไม่ถือว่าผิดพลาดอะไรมากนัก ถือว่าเป็นการพบกัน (แบบแปลก ๆ) ระหว่างตัวละครสองตัวก็แล้วกัน ทั้งนี้การตัดฉากที่ไม่สำคัญออกไปจะทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปได้เร็วขึ้น

_______ส่วนความขัดแย้งกันของธีมเรื่องคือการเรียนระดับมัธยมของอเล็นเล่ ธีมเรื่องเป็นตะวันตก ควรมีระดับการเรียนเป็น “เกรด” หรือจะเป็นในบทที่สอง ประโยคที่ว่า วิคเตอร์พยายามสับเท้าวิ่งไปให้ถึงหน้าโรงเรียนซึ่งมีคนพลุกพล่าน – เวลานั้นเป็นยามวิกาล ในโรงเรียนไม่น่าจะมีคนพลุกพล่านไม่ว่าจุดไหนก็ตาม

_______หรือจะเป็นความไม่สมเหตุสมผลในตอนที่ 20 ในช่วงที่ชาร์ล็อตเพิ่งคลอดออกมานั้น สถานการณ์ดูไม่สมจริงด้วยว่า "ร่างทารกหัวเราะเอิ๊กสดใส ก่อนจะเอียงคอให้" เด็กเกิดใหม่นั้นควรที่จะร้องไห้แต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถหัวเราะหรือเอียงคอมองได้

_______ตัวละคร: การสร้างตัวละครถือว่าทำได้ดี ตัวละครไม่แบนและมีบุคลิกเฉพาะตัว ทั้งนี้เนื้อเรื่องและบทบาทต่าง ๆ ยังสอดคล้องกับนิสัยและลักษณะของตัวละครอย่างดีอีกด้วย

_______วิคเตอร์ คิงส์ - หนุ่มน้อยอัจฉริยะวัยสิบหกปีผู้เป็นถึงศาสตราจารย์ที่โรงเรียนของอเล็นเล่จ้างมาสอนเสริมสำหรับนักเรียนที่จะไปสอบแข่งขันวิชาการ เขาคือผู้ที่รู้ที่มาที่ไปของทุกอย่างและเป็นผู้ช่วยเหลือหนูทดลองในการหลบหนีการตามล่าคราวนี้ เนื่องด้วยตัวเขาก็อยากต่อต้านองค์กรและมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับองค์กร วิคเตอร์เป็นคนที่คิดแผนการต่าง ๆ ได้ดีเสมอ มีดีที่สมอง มีการตัดสินใจที่เด็ดขาดฉับไวทำให้เอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี เก็บความรู้สึกเก่ง และมีบุคลิกที่นิ่งขรึม หากแต่มีส่วนหนึ่งในจิตใจที่เกิดจากอดีต นั่นคือดาร์กวิคเตอร์ มันคือตัวตนอีกด้านในจิตใต้สำนึกของเขา และมีข้อเสียคือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ – วิคเตอร์เป็นเหมือนตัวควบคุมเนื้อเรื่อง เพราะเขาเป็นคนที่สามารถจัดการและรู้เกี่ยวกับองค์กรมากที่สุดในกลุ่ม นั่นอาจเป็นเพราะเคยทำงานกับองค์กรมาก่อน เท่าที่อ่านมานั้นเป็นตัวละครที่ดึงดูดผู้อ่านได้มากโขเลยทีเดียว ด้วยความอัจฉริยะ และรู้เรื่องของอดีตมากมาย ทำให้คิดว่าถ้าขาดวิคเตอร์ไปเรื่องนี้อาจจะไปต่อไม่ได้

_______อเล็นเล่ แม็คคิด – สาวน้อยวัยสิบแปดปีผู้สดใสร่าเริงและมองโลกในแง่ดีเสมอ โอบอ้อมอารีต่อคนรอบข้าง เธอเป็นหนึ่งในห้าของหนูทดลองในโครงการโลกจิตใต้สำนึกจำลอง มีความสามารถในการเข้าไปในโลกจิตใต้สำนึกของคนอื่น และแม้ว่าเธอจะถูกฝังชิพควบคุมสมอง แต่เธอก็ยังพยายามที่จะต่อต้านมันยามที่ถูกชิพควบคุม แม้ว่าในบางครั้งเธอจะสูญเสียการควบคุมตัวเองก็ตาม – นับว่าเป็นตัวละครที่น่าสนใจตัวหนึ่ง ตัวละครตัวนี้เป็นตัวที่ขับเคลื่อนเรื่องราวและทำให้คนอ่านติดตามมากในระดับหนึ่ง ด้วยความสามารถพิเศษของเธอ การถูกควบคุมสมอง และการเป็นหนูทดลองตัวสำคัญขององค์กรคิดว่าชื่อเรื่องน่าจะเกี่ยวข้องกับเธอด้วย “ล่าล้างฝัน” นั่นคือการตามล่าหนูทดลอง ส่วนความฝันที่จะได้มีชีวิตปกติก็สูญหายไป “จิตสังหาร” นี่คงเป็นอเล็นเล่ ที่ถูกชิพควบคุมและอาจสามารถฆ่าได้ทุกคนแม้กระทั่งเพื่อนร่วมทีม

_______ชาลี แม็คคิด – พี่ชายของอเล็นเล่ ผู้เป็นหนึ่งในหนูทดลองทั้งห้าคน เขาเป็นชายหนุ่มผู้มีอดีตอันซับซ้อนเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว มีบุคลิกที่ค่อนข้างเฮฮาและร่าเริงในแบบของผู้ชายวัยทำงาน เป็นคนที่มีใจสู้ชีวิตและค่อนข้างจะเก็บทัศนคติที่มีต่อวิคเตอร์ได้ดี แม้จะยอมรับวิคเตอร์ในทุกด้านแต่ก็ยังเก็บความรู้สึกเหล่านั้นเอาไว้เพราะคิดว่าไม่ควรเคารพคนที่อายุน้อยกว่า เป็นคนที่รักเพื่อนและน้องสาว มักจะตั้งใจปกป้องคนอื่นอย่างสุดกำลังโดยเฉพาะกับอเล็นเล่

_______หลี่ เดอ เรส์ – ลูกสาวบุญธรรมของประธานองค์กรเซนจูรี่ ดีพาร์ทเจอร์ คอร์เปอเรชั่น ถึงแม้ว่าเธอจะทำงานให้กับพ่อบุญธรรมเกี่ยวกับการตามล่าหนูทดลอง แต่เธอก็ยังมีจิตใจรักเพื่อนของเธออยู่ เหล่าหนูทดลองล้วนเป็นเพื่อนและคนที่เธอรู้จักผูกพันทั้งนั้น ดังนั้นแล้วเธอจึงมีการลังเลในการตัดสินใจที่จะทำอะไรหลาย ๆ อย่าง จนแผนไม่ประสบผลสำเร็จ และบ่อยครั้งที่เธอจะต้องสับสนและเสียใจเพราะต้องเลือกระหว่างเพื่อนกับพ่อ – เป็นตัวละครที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่ง รู้สึกว่าในช่วงปลายเธออาจจะมีบทบาทที่หนักและมากขึ้น ก็ต้องรอดูต่อไป

_______ชาร์ล็อต เฟรย์ – น้องสาวแท้ ๆ ของชาลี ผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ผู้เป็นพี่ชายจำเธอได้เหมือนเช่นร้อยปีที่แล้ว

_______ดี.ซี. – ตัวละครตัวนี้เรียกได้ว่าเป็นตัวละครที่ดีพร้อม โดยเขาเป็นนักมายากลผู้ใช้มายากลได้ขั้นเซียนราวกับมีเวทมนตร์ รวยมากและสามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มหนูทดลองได้ทุกสถานการณ์ นับว่าไม่มีข้อเสียและเป็นคนที่มาพลิกสถานการณ์ร้าย ๆ เสมอขอติติงในบทที่ 13 มีช่วงที่พิมพ์ว่า “เดวี่” นี่คือชื่อของ ดี.ซี. ควรพิมพ์เป็น ดี.ซี. ไปเลย เพราะคาแร็คเตอร์บอกว่าเขาไม่ต้องการบอกนามที่แท้จริง แต่เล่นพิมพ์มาโต้ง ๆ แบบนี้ ไม่มีที่มาที่ไป ก็ทำให้งงและติดขัดเหมือนกัน

_______ยูเลียนา อีวานอฟนา – หนึ่งในกลุ่มหนูทดลอง เธอเป็นสาวห้าวที่สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับไวในสถานการณ์เฉพาะหน้า และถนัดการต่อสู้

_______จิน เหลียง – คนขายก๋วยเตี๋ยวรถเข็นข้างถนน และมีอาชีพเสริมเป็นแฮคเกอร์ หนึ่งในหนูทดลองที่องค์กรตามล่า เป็นคนที่ตัดสินใจไม่ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากมีความคิดว่องไวฉับพลัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย ดูท่าว่าจะเป็นคนที่ไม่ชอบมีเอี่ยวกับเรื่องวุ่นวายใด ๆ ทั้งสิ้น

_______ไอริน อโกสติโน – ตัวร้ายที่ร้ายอย่างเห็นได้ชัดและสมบูรณ์แบบ เธอสามารถฆ่าคน ข่มขู่ ทำทุกอย่างได้เพื่อเงินและเพื่อคนที่จ้างเธอ โดยไม่คิดอะไรมาก แต่ก็เป็นตัวร้ายที่น่ากลัว เพราะเธอดูไม่มีความสงสารในหัวใจ เธอคือนักล่าและนักฆ่าที่สมบูรณ์แบบ

_______แน๊ทซ์ แซนเดอส์ – เช่นเดียวกับไอริน เขาร้ายอย่างไม่คิดอะไร แต่ไม่ค่อยใช้กำลังและโผล่มาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

_______คาร์ลวิน เดอ เรส์ – นับว่าเป็นตัวละครที่อยู่ลึกมากที่สุด เพราะผู้อ่านจะไม่สามารถเดาได้เลยว่าตัวละครตัวนี้ทำกำลังหรือว่ามีแผนจะทำอะไร (จึงแนะนำให้ส่องกล้องมาที่องค์กรบ้าง เพื่อจะได้เห็นความเคลื่อนไหวและความปรารถนาของชายผู้นี้) เขาเป็นประธานองค์กรเซนจูรี่ ดีพาร์ทเจอร์ คอร์เปอเรชั่น และเป็นผู้บังคับบัญชาทุกอย่างแก่ตัวร้ายอื่น ๆ นั่นคือหลี่ ไอริน และแน๊ทซ์ นับว่าเป็นตัวละครที่ควรจะโดดเด่นและทำให้ผู้อ่านหวาดกลัวที่สุด ควรปรับปรุงในส่วนนี้อละดึงความเป็นตัวเขาออกมา

_______การใช้ภาษา (การบรรยาย): การบรรยายโดยส่วนมากใช้สรรพนามบุคคลที่สาม ซึ่งทำให้เห็นและสื่อสารเรื่องราวออกมาได้อย่างทั่วถึง แต่ยังมีช่วงแรก ๆ ในฉากที่มีชาลีอยู่ในนั้น ที่ใช้การบรรยายแบบบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งแนะนำว่าควรเปลี่ยนให้เป็นสรรพนามแบบบุคคลที่สามทั้งหมด เพราะการใช้การบรรยายแบบบุคคลที่หนึ่งเพียงน้อยนิดแค่ช่วงเริ่มต้น (และคั่นตอน – แบบอยู่ในตอนเดียวกันกับบุคคลที่สาม) เป็นวิธีที่ทำให้สับสนได้ง่ายและไม่นิยมใช้ในนิยายส่วนมาก (แทบไม่มีเลยแหละ เพราะส่วนมากจะบรรยายแบบใหม่ก็ต่อเมื่อขึ้นบทใหม่ หรือบรรยายแบบใดแบบหนึ่งทั้งเรื่อง), ภาษาในการบรรยายนับว่าไม่ถึงกับสละสลวยแต่ก็อ่านเข้าใจง่าย นับเป็นภาษาเขียนสามัญที่ทำได้ดี เข้ากับแนวเรื่องและอารมณ์ที่เขียน แต่ก็ยังห้วนสั้นในบางครั้งและไม่ลื่นไหลหรือเข้มข้นมากพอ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำว่า “บรรยากาศมาคุ” เป็นคำญี่ปุ่นที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งญี่ปุ่นก็ไม่มีการใช้คำนี้ (มันมาจากการ์ตูนเรื่องหนึ่ง) แสดงบรรยากาศตึงเครียด ซึ่งมันไม่ได้ทำให้การบรรยายดูดีเลย ควรใช้คำในภาษาไทยดีที่สุด ดังนั้นจึงต้องใช้ประสบการณ์ในการบรรยายเพิ่มมากขึ้น อาจจะด้วยการอ่านแล้วสังเกตวิธีการบรรยาย นำมาปรับใช้กับตัวเอง เป็นต้น, การบรรยายยังสื่ออารมณ์ของตัวละครต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่าใดนัก อย่างในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่คับขัน จะเห็นได้ว่าตัวละครไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นหรือตกใจเท่าที่ควร

_______การใช้ภาษา (บทสนทนา): บทสนทนาเป็นธรรมชาติและเข้ากับคาแร็คเตอร์ของตัวละครดี แต่ว่ามีค่อนข้างมากและบางอย่างดูไม่สำคัญกับสถานการณ์ตอนนั้น ๆ อย่างจริงจังสักเท่าใดนัก

_______การใช้ภาษา (คำผิด): มีคำผิดในแต่ละบทเยอะพอสมควร ซึ่งส่วนมากที่เห็นเป็นประจำคือการใช้ ฎ ชฎา และ ฏ ปฏัก ผิด อย่างเช่นคำว่า ปรากฏ (ที่ถูกคือ ปรากฏ), ปฎิเสธ (ปฏิเสธ) และอีกคำคือ คอร์ปอเรชั่น (คอร์เปอเรชั่น) ส่วนคำอื่น ๆ ดูได้โดยการเซพไฟล์รูปภาพเหล่านี้หรือคลิกที่รูปภาพเพื่อดูขนาดเต็ม

_______การใช้ภาษา (สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในภาษาไทย): ยมก (ๆ) – ไม่ให้ใช้หลายตัวติดกัน เช่น ฮ่าๆๆ ควรเป็น ฮ่าฮ่าฮ่า, การไม่เว้นช่องว่างระหว่างเครื่องหมาย ซึ่งมีทั้งเรื่อง ตัวอย่างเช่น ฮ่าๆเธอหัวเราะขบขัน ควรจะเป็น ฮ่า ๆ เธอหัวเราะขบขัน นั่นคือการเคาะสเปสบาร์ทั้งหน้าและหลังยมก เป็นการใช้ที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย

_______อัศเจรีย์ (!) – การใช้เกินหนึ่งตัวติดกันถือว่าผิดหลัก เช่น เพล้ง!! ที่ถูกคือ เพล้ง!

_______เท่าที่สังเกตได้และผิดพลาดจริง ๆ ก็มีเท่านี้ ซึ่งไม่นับรวมกรณีของปรัศนี (?) เพราะถือว่าใช้กับประโยคคำถามได้ในกรณีที่ต้องการทวนคำพูดแบบถามกลับ เช่น “เอ็มสิบหก?” (เอ็มสิบหกหรือ) แต่ก็ไม่ควรใช้ในกรณีประโยคที่เป็นคำถามอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ใคร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่ (เสริมนิดหนึ่ง – ส่วนมากที่เห็นประโยคคำถามในหนังสือจะใช้ว่า “หรือ” ไม่ค่อยเห็นใช้ หรอ, เหรอ สักเท่าไร ยกเว้นพวกหนังสือการ์ตูนกับนิยายรักวัยรุ่น) ส่วนจุดไข่ปลา (...) ก็ใช้ถูกต้องเช่นเดียวกัน ใช้ในกรณีลากเสียงยาวได้ รำพึงรำพันหรือยกตัวอย่างก็ได้ เช่น ...ข้อมูลที่ต้องการยกตัวอย่าง... แต่ต้องใช้เพียงสามจุดต่อครั้งเท่านั้น หรือจะเป็นอัญประกาศคู่ (“...”) อัญประกาศเดี่ยว (...) ก็ใช้ได้อย่างถูกต้องดี

_______แก่นเรื่องในมุมมองของผู้วิจารณ์: หากมองลึกเข้าไปจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว กอบโกยประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ ความหวาดกลัวและชีวิตทั้งชีวิตของ “ลูกไก่” (ในกำมือ) หากแต่นี่เป็นเพียงไซไฟจิตวิทยากึ่ง ๆ เอาตัวรอด ประเด็นที่กล่าวถึงจึงเป็นประเด็นรองลงไป อันที่จริงแล้วเรื่องนี้สะท้อนอะไรหลายอย่างออกมาได้ดี ทั้งมิตรภาพ นิสัยเบื้องลึกและความหลังของตัวละคร อีกทั้งเรื่องราวอันมีประเด็นชวนขบคิด อย่างเช่น ถ้าเรามองไปยังอนาคตที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาจริง ๆ ถ้ามีคนอย่างคาร์ลวินและมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นจริง หรือถ้าหากโครงการสำเร็จจะเกิดอะไรขึ้น จะมีการบังคับจิตใจของมนุษย์ทำอะไรบ้าง ซึ่งก็ต้องใช้วิจารณญาณของแต่ละคน เพียงแต่ต้องสะท้อนมันออกมาให้เข้มข้นยิ่งกว่านี้ แต่ในขณะเดียวกันก็นับว่าทำได้ดีมากแล้ว เปิดมุมมองของคนอ่านได้ดี นับว่าเป็นเรื่องที่มีคุณค่าอยู่มากทีเดียว

reviewer author
@Rebel.
8 ก.ค. 58 / 10:47 น.

0