โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีที่โลกไม่เคยลืม - โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีที่โลกไม่เคยลืม นิยาย โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีที่โลกไม่เคยลืม : Dek-D.com - Writer

    โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีที่โลกไม่เคยลืม

    ผู้เข้าชมรวม

    877

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    14

    ผู้เข้าชมรวม


    877

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  21 ต.ค. 56 / 03:03 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    แหล่งรวมบทความสารคดีประวัติศาสตร์ บทความสารคดีจักรวาลและดาวเคราะห์ บทความสารคดีสงคราม บทความสารคดีภัยธรรมชาติ บทความสารคดีชีวิตสัตว์ บทความสารคดีอาวุธทางการทหาร บทความสารคดีการจัดอันดับ บทความสารคดีวิทยาศาสตร์ บทความสัมภาษณ์คนดัง บทสนทนาปัญหาเศรษฐกิจ บทสนทนาประเด็นข่าวร้อน เรื่องราวน่ารู้ ความรู้ทั่วไป สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไลฟ์สไตล์ สุขภาพ ผู้หญิง ความงาม แม่และเด็ก สัตว์เลี้ยง อาหาร ร้านอาหาร เกมส์ เทคโนโลยี มาดูกันได้ที่  http://megatopic.blogspot.com
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ



      ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1328 ราชวงศ์กาเปเซียงที่ครองฝรั่งเศสมานานมีอันต้องจบสิ้นลง เมื่อพระโอรสทั้งสามของกษัตริย์ฟิลลิปส์ เลอ เบล ด่วนสิ้นพระชนม์ไปจนหมดตั้งแต่เยาว์วัย เหล่าขุนนางจึงพร้อมใจกันอัญเชิญฟิลิป ดยุคแห่งวาลัวร์ขึ้นครองบัลลังก์แทน เป็นเหตุให้เกิดเรื่องยุ่งขึ้น เพราะในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีเจ้านายอังกฤษกับเจ้านายฝรั่งเศสหลายพระองค์ถูกจับคู่ให้อภิเษกกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อังกฤษจกับฝรั่งเศสจึงมักถือโอกาสอ้างว่าตนมีสิทธิในราชบัลลังก์ของอีกฝ่ายอยู่เสมอ

      ครั้งนี้ก็เช่นกัน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ของอังกฤษทรงอ้างว่าพระองค์เป็นหลานของกษัตริย์ฟิลิป เลอ เบล เป็นสายเลือดใกล้ชิดกว่าดยุคแห้งวาลัวร์ บัลลังก์ของฝรั่งเศสจึงควรเป็นของพระองค์มากกว่า แต่มีหรือที่ขุนนางของฝรั่งเศสจะยอมให้อังกฤษมาฮุบเอาแผ่นดินไปง่ายๆ สงครามการชิงบัลลังก์จึงเริ่มขึ้น และดำเนินไปอย่างยาวนานถึงร้อยปีกว่าที่ฝรั่งเศสจะปราชัยในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 จนต้องยอมตกลงในสนธิสัญญา Pacte de Calais ที่กำหนดให้พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 แห่งอังกฤษอภิเษกกับเจ้าหญิงคาเธอรีน เดอ ฟรองซ์ของฝรั่งเศส และเมื่อทั้งสองมีทายาท บัลลังก์ฝรั่งเศสก็จะต้องตกเป็นของทายาทผู้นี้เพียงผู้เดียว ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานเลย หลังอภิเษกไม่กี่ปีเจ้าหญิงคาเธอรีนก็ตั้งท้องและมีพระประสูติกาลพระโอรส เจ้าชายเฮนรี่ที่ 6 ออกมา จึงเป็นอันแน่นอนว่าบัลลังก์ฝรั่งเศสจะต้องตกเป็นของเจ้าชายเชื้อสายอังกฤษคนนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

      แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 เองก็ทรงมีพระโอรสเช่นกัน เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ลงในปี 1442 ขุนนางฝรั่งเศสเลยทำโมเมแกล้งลืมสัญญากันดื้อๆ และเตรียมการจะยกเจ้าชายชาร์ลส์ พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป เล่นเอาอังกฤษเดือดผาง สงครามการชิงบัลลังก์ครั้งประวัติศาสตร์จึงเริ่มต้นขึ้นและเป็นจุดเริ่มแห่งการเดินทางของวีรสตรีที่ชื่อโจน ออฟ อาร์ค

      ฌานน์ ดาร์ค (ที่ถูกคือ Jehanne Darc เป็นคำสะกดที่มาเปลี่ยนแปลงกันในยุคหลัง) หรือโจน ออฟ อาร์ค ในภาษาอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 6 มกรคม 1421 ที่หมู่บ้านดองเรมี่ ในแคว้นลอร์เรน ประเทศฝรั่งเศส ชีวิตของเธออาภัพตั้งแต่ต้นจนจบฆ เนื่องจากแจ็ค ดาร์ค พ่อของโจนต้องการลูกชายเอาไว้ช่วยทำนา พอได้ลูกสาวเขาจึงหัวฟัดหัวเหวี่ยงเกลียดน้ำหน้าโจนตั้งแต่แรกเห็น ทำให้โจนต้องเตอบโตขึ้นมาอย่างลูกชัง ไม่ว่าเธอจะทำอะไรก็ขวางหูขวางตาแจ็คไปเสียหมด อาจจะด้วยเหตุนี้เธอจึงกลายเป็นเด็กเงียบๆ ชอบเก็บตัวสวดมนต์อยู่ในโบสถ์ ผิดประหลาดไปจากเด็กวัยเดียวกัน

      ความศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระเจ้าของโจนให้ผลตอบแทนเมื่อเธอมีอายุได้ 13 ปี เธอเริ่มได้ยินเสียงทูตสวรรค์ถ่ายทอดพระดำรัสของพระเจ้ามาสู่เธอ พอถึงฤดูร้อนปี 1425 โจนอ้างว่าเธอได้ยินเสียงนักบุญทั้งสี่ อันได้แก่ เซนต์กาเบรียล เซนต์ไมเคิล เซนต์มาเกอริต และเซนต์แคเธอรีน บอกให้เธอช่วยเจ้าชายชาร์ลส์กอบกู้ฝรั่งเศสจากกรงเล็บของอังกฤษ ตามความประสงค์ของพระเจ้า

      โจนลังเลอยู่นานถึง 14 ปี กว่าจะตัดสินใจออกเดินทางไปตามพระบัญชา โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่คฤหาสน์ของเคานท์บาว์ดริคอร์ท ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลเพื่อขอให้ท่านเคานท์พาเธอไปหาเจ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งท่านเคานท์ก็ดีใจหาย ยอมมอบเสื้อผ้าผู้ชาย ม้า และผู้ติดตามให้ 6 คน พาโจนเดินทางไปหาเจ้าชาย ซึ่งประทับอยู่ที่ประสาทจีนองในแคว้นลอร์เรน ขณะนั้นเมืองรอบๆ ลอร์เรนอยู่ในความครอบครองของขุนนางฝรั่งเศสที่สวามิภักดิ์ต่ออังกฤษหมดแล้ว การเดินทางของโจนก็ไม่ต่างอะไรกับการบุกเข้าถ้ำเสือดีๆ นี่เอง เธอต้องปลอมตัวเป็นชายเดินทางลัดเลาะไปในถิ่นของศัตรูไกลถึง 600 กิโลเมตร ใช้เวลาถึง 11 วันกว่าจะบากบั่นไปถึงประสาทจีนองได้สำเร็จ

      ก่อนที่โจนจะเข้าเมือง ผู้ติดตามที่เคานท์ บาว์ดริคอร์ทมอบหมายมา ได้ถือจดหมายขียนโดยลายมือของท่านเคานท์เอง เข้าไปถวายเจ้าชายให้รู้ตัวล่วงหน้าแล้ว แต่เจ้าชายไม่ทรงเชื่อว่าผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่งจะได้ยินเสียงของพระเจ้าจริงๆ พระองค์จึงเตรียมบททดสอบไว้ต้อนรับโจนตั้งแต่นาทีแรกที่ย่างกรายเข้าสู่จีนอง ด้วยการให้คนสนิทแต่งตัวเป็นพระองค์ ส่วนตัวเจ้าชายเองกลับทรงฉลองพระองค์ในชุดข้าราชบริพารยืนปะปนอยู่ในหมู่มหาดเล็ก

      แต่แล้วเหตุมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ทันทีที่โจนเหลือบเห็นเจ้าชายชาร์ลส์ เธอก็ตรงเข้ามาถวายบังคมโดยไม่เหลือบแลเจ้าชายกำมะลอเลย ความอัศจรรย์นี้เองที่ทำให้เจ้าชายหนุ่มยอมให้เธอเข้าเฝ้าในห้องเพียงลำพัง หลังจากคุยกันได้ไม่นานเจ้าชายก็เสด็จออกมาด้วยพระพักตร์ที่แช่มชื่น และประกาศให้ข้าราชบริพารทุกคนต้อนรับ "นางผู้นำสาส์น" ของพระเจ้าเป็นอย่างดี

      โจนในฐานะใหม่กลายเป็นหัวหอกคนสำคัญในการต่อกรกับอังกฤษ เธอขี่ม้าศึกสีขาวปลอด สวมชุดเกราะ ติดกระบี่ที่ได้มาจากพระวิหาร มือข้างหนึ่งถือธงสีขาว มีสัญลักษณ์แห่งสวรรค์จารึกคำสรรเสริญพระเจ้าว่า "เยซู มารีอา" นำทัพฝรั่งเศสเข้าต่อสู้กับทหารอังกฤษอย่างห้าวหาญ ทัพของเธอบุกไปขับไล่ทหารอังกฤษออกจากเมืองออร์ลีน และสามารถปล่อยออร์ลีนเป็นอิสระได้ในอีก 7 เดือนให้หลัง ส่งผลให้ฝรั่งเศสกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ เจ้าชายชาร์ลส์จึงไม่ต้องยอมให้อังกฤษกดหัวอีกต่อไป ทรงประกาศว่าพระองค์พร้อมแล้วที่จะทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ตามสิทธิอันพึงมีโดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหนทั้งสิ้น

      ทว่าก่อนที่พิธีสถาปนาจะเริ่มขึ้น โจนก็ได้ยินสุรเสียงจากเบื้องบนกระซิบบอกว่า พิธีราชาภิเษกของเจ้าชายชาร์ลส์จะต้องจักขึ้นที่เมืองแรงส์เท่านั้น เนื่องจากพระเจ้าคลอวิสที่ 1 ซึ่งเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์ฝรั่งเศสได้รับศีลล้างบาปที่เมืองแรงส์นี้ และกษัตริย์ของฝรั่งเศสก็ประกอบพิธีราชาภิเษกที่นี่กันทุกพระองค์ คำบอกเล่าของโจนได้รับการตอบสนองจากเจ้าชายชาร์ลส์ทันที ถึงแม้ตลอดเส้นทางไปสู่เมืองแรงส์ ขบวนของพระองค์จะต้องปะทะกับกองทัพอังกฤษไปตลอดทางก็ตาม สุดท้ายเจ้าชายชาร์ลส์ก็ทรงขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสในวันที่ 17 กรกฎาคม 1429

      เมื่อชาร์ลส์ได้สิ่งที่ปรารถนาอย่างที่สุดแล้ว ก็ไม่ทรงคิดจะเหนื่อยยากทำสงครามขับไล่อังกฤษอย่างที่เคยตรัสไว้กับโจนอีก แต่กลับมีพระดำริจะประนีประนอมกับอังกฤแทน ชาร์ลส์เชิญดยุคแห่งเบอร์กันดี ข้ารับใช้ของอังกฤษมาเจรจาถึงในวัง โดยไม่สนใจคำแนะนำของโจนที่บอกให้เดินทัพต่อไปยังปารีส เพื่อกวาดล้างอำนาจของอังกฤษให้สิ้นซาก ดยุคแห่งเบอร์กันดีจึงถือโอกาสนี้เกลี้ยกล่อมให้กษัตริย์องค์ใหม่ตีตัวออกห่างจากโจน ซึ่งนับวันก็จะยิ่งเด่นดังเป็นที่รักของประชาชนมากกว่ากษัตริย์ตัวจริงไปแล้ว



      ปรากฏว่าชาร์ลส์ทรงเป็นคนที่ยุขึ้น พระองค์และกลุ่มขุนนางจึงทำเฉไฉไม่ยอมออกรบร่วมกับโจนจนเธอต้องกรีธาทัพไปบุกปารีสเพียงลำพัง แต่มีหรือที่ทัพเล็กๆ ของเธอจะต่อกรกับกองทัพมหึมาของอังกฤษได้ โจนถูกจับและถูกขังไว้ในปราสาทเทรมุย แต่เธอก็อาศัยวามสามารถเหนือชั้นหลบหนีอกมาได้และรีบเดินทางไปสมทบกับกองทัพฝรั่งเศส ที่กำลังรบติดพันกับอังกฤษอยู่ที่กงปิแญ ทว่าขุนนางฝรั่งเศสกลับรวมหัวกันจับโจนส่งไปให้อังกฤษ เพื่อแลกกับเงินรางวัล 10,000 ฟรังก์

      โจนถูกส่งไปอยู่ในความควบคุมของศาสนจักร และถูกจับขึ้นศาลไต่สวนความผิดหลายกระทง ข้อกล่าวหาสำคัญที่สุที่สาสนจักรใช้เล่นงานเธอคือการแอบอ้างตัวเป็นผู้นำสาสน์จากพระเจ้า ซึ่งศาสนจักรถือว่าเป็นการหักหน้ากันอย่างรุนแรง เพื่อสังเวยให้กับความเหิมเกริมนี้ บิชอป (ตำแหน่งทางสงฆ์เทียบเจ้าคณะจังหวัด) แชง ปิแอร์ โคชองและผู้นำกลุ่มสอบสวนจำนวน 60 คน จึงปรับปรำว่าโจนเป็นแม่มดที่มาหลอกลวงผู้คนเพื่อทำลายศาสนา ส่วนการที่โจนสามารถแยกพระเจ้าชาร์ลส์ออกจากกลุ่มผู้ติดตามได้ในทันทีที่เห็นนั้น ท่านบิชอปก็ฟันธงว่าผู้ติดตามของเคานท์บาว์ดริคอร์ท คงจะแอบบอกเธอไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่พระเจ้าทรงชี้นำเธออย่างที่ผู้คนเข้าใจ



      โจนถูกลงโทษด้วยการเผาทั้งเป็น ซึ่งเป็นวิธีจัดการกับแม่มดในยุคนั้น ที่เมืองรูออง ในวันที่ 30 พฤษภาคม 1431 ร่างของเธอถูกเผาถึง 3 ครั้งด้วยกันเพื่อให้เหลือแต่เถ้าถ่านจริงๆ จากนั้นอัฐิก็ถูกนำไปโปรยในแม่น้ำแซน ตรงจุดที่เป็นที่ตั้งของสะพานฌาน ดาร์ก (Jeanne d'Arc) ในปัจจุบัน

      อีก 25 ปีต่อมา ได้มีการพลิกคดีของโจนขึ้นมาวินิจฉัยใหม่ ศาลฝรั่งเศสยอมรับให้คำตัดสินที่รูอองเป็นโมฆะ โจนจึงพ้นมลทินจากการถูกตีตราว่าเป็นแม่มด อีกหลายร้อยปีต่อมา ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1920 พระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ก็ยกเธอขึ้นเป็นนักบุญฌานน์ ดาร์ค เพื่อตอบแทนความกล้าหาญของวีรสตรีฝรั่งเศสคนนี้


      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×