มารู้จัก American Football กันเถอะ
หากมีปัญหาหรือข้องใจเรื่่องอเมริกันฟุตบอลละก็เข้ามาทางนี้เลย
ผู้เข้าชมรวม
628
ผู้เข้าชมเดือนนี้
0
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
เรื่องทั่วไป
- รู้จักลูกฟุตบอล
อเมริกันฟุตบอล (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ฟุตบอล) เป็นกีฬาที่มีวิวัฒนาการมาจากรักบี้ ซึ่งวิวัฒนาการมาจาก ซ็อกเกอร์อีกทอดหนึ่ง ในปีค.ศ. 1875 ลูกบอลที่มีรูปรีคล้ายไข่ ได้ถูกนำมาใช้เล่นรักบี้ และได้กลายเป็นลูกที่ใช้กันเป็นทางการในการเล่นฟุตบอล โดยในยุคแรกนั้น ไม่ได้มีขนาดเป็นมาตรฐานแต่อย่างใด ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาให้ลูกฟุตบอลรีนี้สามารถใช้ขว้างได้ง่ายขึ้น ตามหลักอากาศพลวัต (Aerodynamics) โดยให้ปลายลูกเล็กลงและสามารถปั่นหมุนได้ดีขึ้น
ลูกฟุตบอลที่ใช้แข่งอย่างเป็นทาง การของ NFL นั้น เป็นลูกของ Wilson ที่สูบลมประมาณ 12.5-13.5 ปอนด์ มีความยาว 11-11.25 นิ้ว วัดเส้นรอบวงด้านยาวได้ 28-28.5 นิ้ว และวัดเส้นรอบวงอีกด้านได้ 21-21.5 นิ้ว
- วัตถุประสงค์ของเกม
แน่นอนที่สุด วัตถุประสงค์ของเกมก็คือ ชัยชนะ แต่จะชนะได้ก็ต่อเมื่อ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถทำแต้มได้มากกว่าคู่ต่อสู้ โดยการทำแต้ม ก็คือการนำลูกฟุตบอลเข้าไปในเขตที่เรียกกันว่า End Zone ซึ่งจะเป็นเขตพื้นที่สุดขอบสนามของทั้งสองด้าน
อเมริกันฟุตบอลเป็นเกมที่ประกอบด้วยการเล่น (play) เป็นชุดๆ การเล่นจะเริ่มต้นด้วยการที่ผู้เล่นคนหนึ่ง snap หรือส่งลูกให้กับอีกคนหนึ่ง และจะจบด้วยการที่ผู้ถือลูก หรือที่เรียกว่า Ball carrier ถูกจับ หรือ tackle โดยการถูกจับก็คือ การที่ผู้ถือลูกถูกจับให้ล้มลงกับพื้น หรือ ออกนอกสนาม นอกจากนี้ การเล่นจะจบลงเมื่อมีการขว้างและไม่มีใครรับได้ และการเล่นจะจบลงเมื่อมีการเตะทำคะแนน
- สนามแข่งขัน
สนามฟุตบอลเป็นสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 360 ฟุต กว้าง 160 ฟุต ที่ปลายของทั้งสองด้านมีสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาว 10 หลาที่เรียกกันว่า End Zone โดยเส้น Goal line ซึ่งกว้าง 8 นิ้วเป็นเส้นกำหนดเขตเข้า End Zone บริเวณสนามระหว่าง End Zone จะมีระยะรวม 100 หลา และมีเส้นขนานกับเส้น Goal line เป็นเส้นแสดงระยะทีละ 5 หลาเรียกว่า five-yard marker และทุกๆ 10 หลาจะมีตัวเลขบอกระยะ เส้นกึ่งกลางสนามได้แก่ เส้น 50 หลา เสาโกล์ หรือ Goal Post ประกอบด้วย Crossbar หรือ แกนเสาด้านล่าง(ขนานกับพื้นสนาม)ซึ่งสูงจากพื้น 10 ฟุต และยาว 18 ฟุต 6 นิ้ว และ Upright หรือเสาที่สูงขึ้นไปด้านบนซึ่งมีสองเสา
Red Zone คือบริเวณระหว่างเส้น 20 หลา ถึง End Zone ทีมบุกจะถือว่าอยู่ใน red zone เมื่ออยู่ในแดนคู่แข่งระหว่างเส้น 20 หลา ถึง end zone ซึ่งทีมบุกจะถือว่าเป็นแดนที่สำคัญมาก เนื่องจาก สามารถบุกมาได้ถึงบริเวณนี้ ก็ควรจะต้องใช้โอกาสนี้ ในการทำคะแนน (ทัชดาวน์) ให้ได้ ถ้าคุณสามารถทำได้แค่เตะ field goal ก็เท่ากับให้คู่ต่อสู้ได้กำลังใจขึ้นมาได้
อุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ในการช่วยวัดระยะการเล่น ได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า Chain หรือ โซ่ ที่มีระยะ 10 หลา และไว้วัดระยะ 10 หลาที่ทีมบุกจะต้องทำได้ด้วยการเล่น 4 ครั้ง ซึ่งการเล่นแต่ละครั้งจะเรียกว่า down เพราะการเล่นแต่ละครั้งจะจบด้วยการที่ลูก หรือผู้เล่นอยู่บนพื้น โดย chain จะเริ่มวัดที่จุดเริ่มต้นของการเล่น และอีกปลายอีกด้านหนึ่งเพื่อวัดระยะ 10 หลา นอกจาก chain แล้วก็จะมี stick ซึ่งเป็นเสาที่มีไว้วางตำแหน่งเริ่มเล่น และจะมีเลขบอก down 1-4 ไว้แสดงครั้งของการเล่น บางครั้งเราจะเห็นว่า กรรมการจะใช้ chain นี้ในการเข้ามาวัดในสนาม เพื่อดูว่าได้ระยะ 10 หลาหรือไม่
พื้นสนามที่ใช้กันมีสองอย่าง คือ สนามหญ้าเทียม หรือ Artificial turf และสนามหญ้าจริง หรือ Natural grass ซึ่งสนามหญ้าจริงก็ใช้หญ้าจริงเหมือนที่เราเห็นกัน ส่วนสนามหญ้าเทียมนั้น เหมือนกับพรม ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่วางอยู่บนพื้นลาดยาง (Asphalt) ซึ่งเวลาเล่นก็มักจะทำให้เกิดรอยถลอกตามตัวได้ เป้าหมายแรกในการใช้หญ้าเทียม คือ การใช้ในสนามที่มีหลังคาคลุม หรือ Dome และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ สามารถบำรุงรักษาได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับหญ้าจริง เนื่องจากไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย หรือ ตัดแต่ง นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่นิยมหญ้าเทียม เนื่องจาก ผู้เล่นสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น แต่ในช่วงหลังนี้ ก็มีนักกีฬาที่ไม่นิยมหญ้าเทียม เนื่องจาก อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น เมื่อมีการกระแทกกับพื้น
- การทำคะแนน
Touchdown ได้แก่ การที่ผู้เล่นทีมของคุณ มีการครอบครองลูก ในเขต end zone ของฝ่ายตรงข้าม โดยทีมที่ทำ touchdown ได้จะได้คะแนน 6 คะแนน โดยการทำ touchdown อาจทำได้ด้วยหลายวิธี ตั้งแต่ การวิ่งถือลูกเข้าไปในเขต end zone การรับลูก(จากการขว้าง) ในเขต end zone โดยการครอบครองบอลนั้น เท้าทั้งสองข้างจะต้องอยู่ในสนาม แต่แม้ว่า คุณสามารถครอบครองบอลได้ และลูกลอยอยู่กลางอากาศในเขต end zone ก็ถือว่าได้เช่นกัน เช่น คุณกำลังลอยออกนอกสนาม แต่ยื่นลูกเข้าไปในเขต end zone ก็ถือว่าได้คะแนนเช่นกัน
Extra point ได้แก่ การทำคะแนนหลังได้ touchdown ซึ่งบางครั้งเรียกว่า point after โดยทีมที่ทำ touchdown ได้สามารถเลือกที่จะทำเตะให้ลูกผ่าน crossbar เข้าไปได้ 1 คะแนน หรือเล่นจากเส้น 2 หลา หากสามารถนำลูกเข้าไปในเขต end zone ได้ก็ได้ 2 คะแนน โดยการเล่น 2 แต้มนี้เรียกว่า two-point conversion หรือ เรียกกันง่ายๆว่า go for 2 บรรดาโค้ชจะมีตารางเพื่อทำการตัดสินใจ โดยปัจจัยในการตัดสินใจหลักคือ คะแนนที่มีอยู่
Field goal ได้แก่ คล้ายกับการเตะเพื่อทำ extra points แต่จะได้ 3 แต้ม โดยตัวเตะจะต้องเตะเข้าระหว่างเสาสองข้างเหนือ crossbar ซึ่งทีมอาจจะตัดสินใจใช้การเตะ field goal ในการเล่นครั้งไหนก็ได้ แต่โดยทั่วไปก็จะใช้ในการเล่นครั้งที่ 4 สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงในการเตะ field goal ก็คือ ระยะในการเตะจริงจะเท่ากับประมาณ 17 หลาบวกเข้ากับที่เส้นเตะเสมอ เนื่องจาก เสาโกว์อยู่ห่างเส้น goal line 10 หลา และการตั้งเตะจะห่างจากเส้นที่เริ่มเล่นประมาณ 7 หลา ดังนั้น หากเป็นการเตะจากเส้น 20 หลา ก็เท่ากับเป็นการเตะด้วยระยะรวม 37 หลา โดยทั่วไปแล้ว ตัวเตะจะสามารถเตะได้ในระยะประมาณ 40-45 หลา ดังนั้น จุดที่น่าจะเตะได้จึงเป็นที่เส้น 30 หลา
Safety ได้แก่ การทำคะแนนโดยทีมรับ เมื่อสามารถจับตัวผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม(ซึ่งเป็นผู้ครองบอล) ได้ในเขต end zone ของฝ่ายตรงข้าม ทีมรับจะได้คะแนน 2 คะแนน อีกวิธีหนึ่งที่เกิด safety ก็คือ การที่ผู้เล่นทีมบุก หรือทีมที่รับการเตะลูกวิ่งออกหลังด้านของตนเองพร้อมถือลูก เรียกง่ายๆ ว่า ถ้าถือลูกวิ่งออกด้านหลังเขต end zone ของตนเอง ก็เป็น safety เช่นกัน ที่ดีกว่านั้นก็คือ เมื่อมี safety เกิดขึ้น ทีมบุกจะต้องเตะลูกให้อีกฝ่ายเล่นโดยเตะที่เส้น 20 หลาของฝั่งตน ซึ่งอาจจะเป็นการเตะแบบถือหรือตั้งเตะก็ได้ ดังนั้น การทำ safety ได้ก็เท่ากับว่า สามารถทำคะแนนได้ 2 คะแนน และสามารถนำลูกมาเล่นได้ด้วย
การจับเวลาในการเล่น
Quarters and Halves ได้แก่ การจับเวลาของฟุตบอลนั้นจะจับเป็นควอเตอร์ นั่นคือ 15 นาที ( จะแข่งทั้งหมด 4 ควอเตอร์ ครึ่งละ 2 ควอเตอร์ ) ระหว่างควอเตอร์นั้นจะมีหยุดพัก 2 นาที และระหว่างครึ่งจะพัก 12 นาที แต่ในการเล่นรอบสอง หรือ การแข่งซูเปอร์โบลว์ จะพักครึ่งนานกว่านั้น คราวนี้ที่น่างงยิ่งกว่า คือ การจับเวลา เวลาที่ใช้จับนั้นเป็นการจับเฉพาะเวลาที่เล่นเท่านั้น ทั้งนี้ นาฬิกาของกรรมการจะหยุดเมื่อ
1. มีการเปลี่ยนการครอบครองลูก
2. มีการขว้างลูกและรับไม่ได้
3. มีการทำโทษ
4. ผู้เล่นที่ถือหรือรับลูกออกนอกสนาม
5. มีการขอเวลานอก
6. มีการบาดเจ็บเกิดขึ้น
7. กรรมการขอเวลานอกเพื่อวัดระยะ
8. มีทีมทำคะแนนได้จากทัชดาวน์ ฟิลด์โกล์ หรือ เซฟตี้
Two-minute warning ในควอเตอร์ที่ 2 และ 4 จะมีการกำหนดให้มีสองนาทีสุดท้ายมีการจับเวลาพิเศษ โดยเมื่อมีเวลาเหลือ 2 นาที กรรมการจะหยุดเวลา นอกจากนี้
- ในกรณีที่เป็นการ kickoff นาฬิกาจะเริ่มจับก็ต่อเมื่อลูกถูกจับโดยผู้เล่น ในขณะที่กรณีอื่น ( ฟีลด์โกล์ หรือ พันท์ ) จะจับเวลาตั้งแต่เริ่มเตะ
- ถ้าลูก fumble ( ทำลูกหลุดมือ )ในช่วง 2 นาทีสุดท้าย ผู้เล่นทำ fumble เท่านั้นที่จะสามารถนำลูกขึ้นไปได้ หรือโดยผู้เล่นทีมรับ ผู้เล่นทีมบุกคนอื่นจะนำลูกขึ้นไปไม่ได้
- ถ้ามีผู้เล่นบาดเจ็บในช่วง 2 นาทีสุดท้ายนี้ ทีมจะถูกปรับเวลานอก ในขณะที่ในเวลาอื่น ไม่มีการปรับเวลานอก
Overtime ในการเล่นอาชีพนั้น เมื่อมีการเสมอเมื่อหมดเวลา 4 ควอเตอร์ และจะเป็นการเล่นแบบ sudden death นั่นคือ เล่นจนกว่าจะชนะในเวลา 15 นาทีซึ่งเรียกว่า overtime แต่ถ้าไม่มีใครสามารถชนะได้เมื่อหมด overtime จึงจะถือว่าเสมอกัน ในกรณีที่เป็นการเล่นรอบสอง หรือ superbowl ก็จะเล่นกันจนกว่าจะมีคนชนะ
Play clock ทีมบุกจะต้องเริ่มการเล่นภายในเวลา 40 วินาที หลังจากที่การเล่นครั้งก่อนจบลง แต่หากเป็นการเริ่มเล่นเมื่อมีการหยุดเวลาโดยเหตุผลอื่น ทีมจะต้องเริ่มเล่นภายในเวลา 25 วินาที
Time-outs แต่ละทีมจะมีการขอเวลานอกได้ 3 ครั้งต่อครึ่ง โดยจะต้องเป็นการขอเวลานอกก่อนหรือหลังการเล่น (ไม่ใช่ระหว่างการเล่น)
- การเล่นเกม
การเล่นเกมจะเริ่มด้วยการโยนเหรียญ โดยทีมที่เป็นทีมเยือนจะได้รับเกียรติในการเลือกหัวหรือก้อย ทีมใดที่เสี่ยงทายถูก จะได้เลือกว่าต้องการได้รับลูกไปเล่นก่อน หรือต้องการที่จะเลือกแดน ทั้งนี้ เป็นเพราะสภาพอากาศจะเป็นตัวกำหนดความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาวะลม หรือ ฝน หรือ หิมะ แต่โดยทั่วไปแล้ว ทีมมักจะเลือกที่จะเล่นบอล หรืออาจตัดสินใจที่จะเล่นบอล แต่เลือกเป็นเล่นในครึ่งหลัง (นั่นคือเลือกแดนในครึ่งแรก และให้อีกฝ่ายบุกก่อน)
เมื่อทีมตัดสินใจแล้วว่าจะเล่นรับลูก อีกทีมหนึ่งจะไปตั้งแถวที่เส้น 30 หลา ซึ่งจะวางที่ตั้งลูก (kicking tee) อีกทีมหนึ่ง จะรับลูกที่มาจากการเตะ และวิ่งขึ้นก่อนที่จะถูก tackle หรือออกนอกสนาม หลังจากนั้น ทีมที่รับลูกจะได้สิทธิในการเล่น 4 ครั้ง เริ่มจาก การเล่นครั้งที่หนึ่งและต้องทำระยะให้ได้ 10 หลาที่ที่เรียกกันว่า first and ten สมมติว่าสามารถทำได้ 3 หลา การเล่นครั้งต่อไปก็จะเป็น การเล่นครั้งที่ 2 และเหลืออีก 7 หลา หากทีมบุกไม่สามารถทำ 1st down ได้ในการเล่น 3 ครั้ง ก็มักจะเลือกที่จะเตะ punt เพื่อเปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ลูกไปเล่น โดยการ punt จะมีตัวเตะที่ยืนอยู่หลังแนวประมาณ 15 หลา และเตะบอลออกไป เมื่ออีกทีมหนึ่งรับได้ก็จะพยายามวิ่งขึ้น และเมื่อถูก tackle หรือออกนอกสนาม ทีมนั้นจะได้สิทธิ 1st and ten ในลักษณะเดียวกัน
Play หรือการเล่น นั้น ก็คือ ความพยายามของทีมบุกที่จะนำลูกบอลไปด้านหน้า โดยแต่ละการเล่นก็จะมีแผนการเล่นที่แตกต่างกัน ซึ่งการเล่นแต่ละครั้งจะเริ่มหลังจากที่ผู้เล่นทีมบุกประชุมแผนกันที่เรียกว่า huddle โดยฟังแผนการจากควอเตอร์แบ็ค ในจุดประมาณ 2-3 หลาหลังแนววางลูกซึ่งเป็นจุดที่ลูกตายในการเล่นครั้งก่อน ควอเตอร์แบ็คจะบอกกลยุทธ์ของทีมให้กับลูกทีม และผู้เล่นทีมบุกจะมาที่แนววางลูก และตั้งแถวเผชิญกับผู้เล่นทีมรับ ผู้เล่นทีมบุกจะต้องอยู่ในลักษณะที่พร้อม หรือ set position ซึ่งทุกคนจะต้องหยุดอยู่นิ่งกับที่ (เว้นแต่ผู้เล่น 1 คนที่สามารถขยับได้) ในขณะที่ควอเตอร์แบ็คเรียกแผน และส่งสัญญาณเรียกลูก
holding คือ การ ดึง ดัน เหนี่ยว รั้ง ผู้เล่นอีกฝ่ายไว้
holding ที่เห็นบ่อยๆคือ Offensive holding คือ พวก ไลน์แมนฝ่ายบุก ไปดึงอีกฝ่ายเอาไว้ กรรมการจะดูง่ายเพราะ ไลน์แมนฝ่ายบุก จะบล็อกได้แค่หน้าอกกับไหล่ด้านหน้า ไม่สามารถอ้อมแขนไปจับส่วนด้านหลังหรือด้านข้างได้
การรบกวนปีก, ก็เหมือน holding อย่างหนึ่ง โดยมีกฏว่า ในระยะ 5 หลา จาก line of scrimmage จะใช้มือผลักปีกจากด้านหน้าหรือกระแทกได้เท่านั้น แต่ระยะตั้งแต่ 5 หลา จาก line of scrimmage จะแตะปีกไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้น ว่า ถ้าลูกลอยในอากาศ และตัวคุมปีกกับปีกมองลูกทั้งคู่ ถ้ามีการกระทบกัน จะไม่ถือเป็นการรบกวนปีก จะเป็น incidental contact ไม่ผิดกฏ
- ไม่มีการห้ามว่า QB จะปล่อยลูกอย่างไร การขว้างลูก มี 4 แบบ คือ แบบ ธรรมดาที่จุดปล่อยลูกอยู่เหนือไหล่ ถ้าจุดปล่อยลูกอยู่ต่ำกว่าไหล่เรียกว่า side arm ถ้าใช้แขนดันลูกไปเฉยๆ เรียก shuffle pass 3 กรณีแรก ถ้าปีกรับไม่ได้ จะเป็น incomplete แต่ถ้าขว้างลูกไปข้างหลัง เรียกว่า lateral ถ้าฝ่ายเดียวกันรับไม่ได้ จะเป็น live ball คือ ลูกไม่ตาย เกมจะไม่หยุด
การขว้างบอลไปในตำแหน่งที่ไม่มีตัวรับลูกอยู่จะทำได้ก็ต่อเมื่อ ขว้างลูกเมื่ออยู่นอกแนวระหว่างแทคเกิ้ล (pocket) เท่านั้น
ตามปกติ ไลน์แมนแนวบุกทั้งหมด คือเซนเตอร์ การ์ด และ แทคเกิ้ล จะรับลูกไม่ได้ นอกเสียจากกว่าลูกนั้นจะโดนอีกฝ่ายและกระดอนขึ้นไปไม่ตกพื้น ก็จะเป็น free ball ในกรณีนั้น แต่บางกรณี เขาเพิ่มการ์ดหรือแทคเก้ลไปในแนวบุกไปจากปกติ5คน ตัวที่เพิ่มไปสามารถรับลูกได้ แต่ต้องบอกกรรมการก่อน
============= ทีมบุก ===============
ตำแหน่งการเล่น
( ทีมอเมริกันฟุตบอล 1 ทีมจะประกอบด้วยผู้เล่นทีมบุก ทีมรับ และทีมพิเศษ รวมกันประมาณ 50 คน )
ทีมบุกประกอบด้วยผู้เล่นจำนวน 11 คน ซึ่งเป็นผู้มีการครอบครองบอลในระหว่างนั้น หน้าที่ของทีมบุกก็คือการทำระยะเพื่อเข้าไปทำคะแนน โดยทีมบุกจะต้องพยายามทำระยะให้ได้ 10 หลาด้วยสิทธิการเล่น 4 ครั้ง เพื่อที่จะให้ได้สิทธิการเล่นครั้งที่ 1 อีกครั้ง และครอบครองบอลต่อไป โดยทั่วไปแล้ว ทีมบุกจะประกอบด้วย
แนวบุก (Offensive lineman) จำนวน 5 คน
ควอเตอร์แบ็ค 1 คน
ตัววิ่ง (Running back) จำนวน 2 คน
ปีกใน (Tight end) 1 คน
ปีก (Wide receiver) จำนวน 2 คน
อย่างไรก็ตาม ในการเล่นจริงนั้น นอกจากตำแหน่งควอเตอร์แบ็ค และบรรดาผู้เล่นแนวบุกแล้ว ตำแหน่งต่าง ๆ สามารถมีการปรับเปลี่ยนได้ตามแผนการเล่น ยกตัวอย่างเช่น ในการเล่นบางแผนการ จะไม่มีการใช้ปีกใน และมีตัววิ่งเพียงตัวเดียว แต่ใช้ปีกถึง 4 ตัว แต่กฎหนึ่งที่ต้องรักษาไว้ก็คือ ในการเล่นทุกครั้งจะต้องมีผู้เล่นที่อยู่ที่แนววางลูกอย่างน้อย 7 คน นั่นคือ ห้ามมีผู้เล่นหลังแนวเกิน 4 คน
สรุปหน้าที่ของผู้เล่นในแต่ละตำแหน่ง
ผู้เล่นแนวบุก ได้แก่ผู้เล่นที่อยู่หน้าควอเตอร์แบ็ค ประกอบด้วย Center ซึ่งเป็นผู้ส่งลูกลอดขา (snap) ลูกให้กับควอเตอร์แบ็ค มีผู้เล่นตำแหน่ง Guard สองตำแหน่งอยู่ด้านซ้ายและขวาของ Center ถัดจาก Guard จะเป็นผู้เล่นตำแหน่ง Tackle ทั้งด้านซ้ายและขวา ผู้เล่น 5 คนนี้ มีหน้าที่หลักในการป้องกันไม่ให้ผู้เล่นทีมรับเข้ามาถึงตัวผู้เล่นที่ถือลูก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแนวให้ตัววิ่งวิ่งได้ หรือ สร้างแนวการขว้างลูกสำหรับควอเตอร์แบ็ค
ควอเตอร์แบ็ค [QB] มีหน้าที่เรียกแผน และรับลูกจาก Center หลังจากนั้นก็ยื่นบอลให้ตัววิ่ง หรือ ขว้างลูกให้ปีก นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำของทีมบุกด้วย
ตัววิ่ง [RB,FB] มักจะอยู่ในตำแหน่งด้านหลังของควอเตอร์แบ็ค มีหน้าที่หลักในการรับลูกจากควอเตอร์แบ็ค และวิ่งไปด้านหน้าให้ได้ระยะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ปีกใน [TE]อยู่ในตำแหน่งถัดจาก Offensive Tackle มีหน้าที่หลักสองลักษณะ อาจเป็นการป้องกันในลักษณะคล้าย Offensive lineman หรือ ขึ้นไปรับลูกคล้ายกับปีก
ปีก [WR]อยู่ในตำแหน่งที่แนววางลูก ด้านซ้าย หรือ ขวา หรือบางครั้งหลังแนว มีหน้าที่วิ่งขึ้นไปรับลูกจากควอเตอร์แบ็ค แต่บางครั้งก็ถูกใช้ในการเป็นแนวป้องกัน หรือ วิ่งก็ได้
ควอเตอร์แบ็ค
ควอเตอร์แบ็คเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงมาก ซึ่งเมื่อสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็จะได้รางวัล นั่นเป็นสาเหตุที่ควอเตอร์แบ็ค เป็นตำแหน่งที่มีรายได้ดีที่สุดในอเมริกันฟุตบอล ในการเล่นนั้น ควอเตอร์แบ็คจะเริ่มงานตั้งแต่การประชุมแผนใน huddle เดินไปที่แนววางลูก ซึ่งควอเตอร์แบ็คจะตะโกนเรียกแผน และเมื่อลูกถูก snap มาก็จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คุณสมบัติสำคัญของควอเตอร์แบ็คที่จำเป็นมีดังนี้
1. ความสามารถในการขว้างลูก ซึ่งเป็นทักษะที่แยกแยะควอเตอร์แบ็คจากผู้เล่นตำแหน่งอื่น
2. มันสมอง เพราะควอเตอร์แบ็คจะต้องจดจำและเข้าใจแผนการเล่นจำนวนมาก และต้องเข้าใจรูปแบบการตั้งรับด้วย
3. ทักษะทางกีฬา เพราะจำเป็นต้องหลีกหนีการเข้าจับ และวิ่งในกรณีที่จำเป็น
4. ต้องมีความมั่นใจในความสามารถของตน เพราะต้องเรียกความมั่นใจให้กับตนเอง และจากเพื่อนร่วมทีมด้วย
5. ต้องรู้จักวิเคราะห์ตนเอง เพื่อที่จะสามารถรับรู้ผลงานของตนเอง
Pocket คืออะไร
Pocket คือบริเวณซึ่งแนวบุก (Offensive line) จะจัดตั้งเพื่อเป็นเขตป้องกันการเข้าจับของผู้เล่นทีมรับที่จะเข้าจับ quarterback ของตน ซึ่งในระหว่างนั้น ควอเตอร์แบ็คก็จะคอยดูการก้าวไปของเกมการเล่น หาปีกที่จะขว้างลูกให้และขว้างลูกออกไป ตามทฤษฎีแล้ว ถ้าควอเตอร์แบ็คมีเวลาใน pocket มากเพียงใด ก็จะสามารถขว้างลูกได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น
การขว้างปั่นลูก หรือ Spiral
การขว้างลูกอเมริกันฟุตบอลจะเป็นแบบ spiral นั่นคือการปั่นให้หมุน โดยการปั่นให้หมุนจะทำให้ลูกสามารถเหิรผ่านอากาศไปได้ โดยไม่แกว่ง และขว้างได้อย่างแม่นยำ ควอเตอร์แบ็คแต่ละคนจะมีรูปแบบการขว้างลูกที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว ควอเตอร์แบ็คจะใช้เส้นเชือกบนลูก (lace) ช่วยในการจับลูก โดยนิ้วกลางจะอยู่ประมาณสายเชือกที่สาม และไล่ไปจนนิ้วก้อยอยู่ที่สายที่ห้า โดยที่นิ้วชี้จะเป็นนิ้วสุดท้ายก่อนที่ลูกจะถูกปล่อยออกจากมือด้วยการปั่น
Touch pass และ bullet pass
การขว้างลูกก็อาจทำได้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน บางครั้งจะเป็นการขว้างที่แรงที่เรียกกันว่า bullet pass แต่บางครั้งก็จะใช้การขว้างที่ตกลงสู่วงแขนของปีกอย่างนุ่มนวลที่เรียกว่า touch pass
การอ่านทีมรับ
หน้าที่หนึ่งที่ควอเตอร์แบ็คต้องสร้างทักษะคือการอ่านทีมรับ ควอเตอร์แบ็คจะต้องฝึกการสังเกตว่าผู้เล่นทีมรับ มีการจัดตำแหน่งกันอย่างไร ตัวคุมปีกยืนอยู่ใกล้หรือไกลแนววางลูก เป็นการคุมปีกแบบตัวต่อตัว หรือ man-to-man หรือไม่ หรือเป็นการตั้งรับแบบโซน สังเกตตัวคุมปีกที่กลางสนามว่าอยู่ในตำแหน่งใด เช่น ผู้เล่น safety อยู่ห่างออกไปหรือเปล่า เมื่อลูกถูก snap แล้ว ควอเตอร์แบ็คจะต้องรู้ว่า Safety ไปอยู่ที่ไหน ภายในเวลาเพียง 0.02 วินาที ควอเตอร์แบ็คจะต้องรู้ว่าจะทำอะไรต่อไป ดังนั้นการอ่านทีมรับจึงเป็นที่สำคัญมาก
การเรียกแผน การเปลี่ยนแผน
ควอเตอร์แบ็คจะต้องรู้ว่า แผนการเล่นที่ถูกคัดเลือกมาใช้นั้น เหมาะสมกับการตั้งรับของทีมรับหรือเปล่า โดยเมื่อ ควอเตอร์แบ็คเข้าสู่แนววางลูก และเริ่มอ่านการตั้งรับ ถ้าแผนการเล่นไม่เหมาะสม ก็จะมีการเรียกแผนใหม่ที่เรียกกันว่า Audible ซึ่งทำโดยการตะโกนเปลี่ยนที่แนววางลูก การเรียก audible นั้นบางครั้งก็เพียงแต่เปลี่ยนแนวที่ลูกจะไป เช่น เปลี่ยนแผนการวิ่งจากซ้ายเป็นขวา หากพบว่าทีมตั้งรับมีแนวโน้มที่จะป้องการด้านซ้าย
ปีก (Receiver)
ปีกมีหน้าที่หลักในการรับลูก ในรูปแบบการบุกมาตรฐาน จะใช้ปีก 3 ตัว คือ Wide receivers สองตำแหน่ง อยู่ที่แต่ละด้านของแนวบุก และปีกตัวที่สามเรียกว่า Tight end หรือ ปีกใน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งถัดจาก offensive tackle โดยทั่วไปแล้ว ปีกมีอยู่สองลักษณะด้วยกัน คือ Speed guy คือปีกที่มีความเร็วสูง และ Possession guy หรือปีกที่มีความสามารถในการหาตำแหน่งว่างและรับลูก รวมถึงวิ่งหลังรับลูกได้ดี ด้วยลักษณะที่แตกต่างกันของปีกทั้งสองรูปแบบ ทำให้การวิ่งเพื่อหาตำแหน่งว่างของปีกแตกต่างกันออกไป
ตามกติกานั้น ที่แนววางลูก (line of scrimmage) จะอนุญาตให้มีผู้เล่นเพียง 7 คนเท่านั้น เมื่อผู้เล่นแนวบุกมี 5 คน ถ้ามีตำแหน่งปีกในหนึ่งคน ก็จะเหลืออีกเพียงหนึ่งคนที่จะอยู่ในแนวได้ ซึ่งจะเรียกปีกคนนั้นว่า split end ซึ่งจะอยู่ที่แนววางลูก อีกด้านหนึ่งของปีกใน ส่วนปีกนอก (WR) อีกคนหนึ่งนั้น จะยืนอยู่ด้านเดียวกับปีกใน เรียกว่า flanker แต่ละยืนอยู่หลังแนววางลูกประมาณ 1 หลา ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ flanker ยืนในแนววางลูก (ซึ่งจะทำให้ไม่ถูกเรียกว่า flanker) ปีกในก็จะไม่มีสิทธิรับลูก เพราะเขาไม่ถูกนับเป็นสองคนที่ยืนด้านนอกของแนววางลูก
Speed Guys
หน้าที่ของปีก คือ การรับลูก และนำไปด้านหน้าให้ใกล้ end zone มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด ก็คือ ด้วยความเร็ว คราวนี้ เวลาที่คุณดูในโทรทัศน์ คุณก็เห็นว่าไม่เห็นมีใครช้าสักคน แต่ใน football นั้น ความเร็ว หมายถึง เร็วจริง ๆ หมายถึงความสามารถที่จะวิ่งด้วยอัตราเร่งสูง หรือหากจะเปรียบเทียบก็คือ การวิ่งเหมือนเสือดาว หรือ เสือชีต้า โดยใน football นั้น การจับความเร็ว จะใช้มาตรฐานในการจับเวลาผู้เล่นเมื่อวิ่งในระยะ 40 หลา ที่เรียกกันว่า 40 time ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้เล่นใน NFL จะวิ่งกันได้ในระยะเวลาประมาณ 4.5 วินาที ในขณะที่ผู้เล่นที่แนวมักจะวิ่งกันที่ 5.2 วินาที
สำหรับการเล่นเกมบุกนั้น ความเร็วนั้นมีประโยชน์มาก เพราะปีกสามารถวิ่งแซงผู้เล่นทีมรับขึ้นไปรับลูกได้ ในขณะที่ผู้เล่นทีมรับ ต้องระวังไม่ให้ปีกความเร็วสูงพวกนี้แซงไปได้ แต่ความเร็วก็ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป เพราะถึงแม้ว่าจะมีปีกที่เร็ว แต่ก็ต้องมีความสามารถในการรับลูกได้เช่นกัน นักกีฬา football บางคนที่เคยเป็นนักวิ่งจึงอาจไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นปีก หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเกมได้ เพราะนอกจากวิ่งเร็วแล้ว ปีกจะต้องรู้จักการหยุด การหักมุม และเทคนิคอื่น ๆ อีกด้วย หน้าที่หลัก ๆ ของปีกแบบ speedy guy ได้แก่
- Go deep หรือ วิ่งไปลึก ๆ เพื่อรับลูกบอมบ์ยาวจากควอเตอร์แบ็ค (ประมาณ 30-50 หลา)
- Go deep หรือ วิ่งไปลึก ๆ เพื่อเป็นนกต่อล่อตัวคุมปีก แต่จริง ๆ แล้ว เป็นแผนวิ่ง หรือ การขว้างระยะสั้น
- วิ่งในแผนสั้น และหักออก
- บล็อก
- ร่วมในการเล่นแผนพิเศษ (trick play)
Possession Guys
ปีกพวกนี้ เป็นปีกที่มีมือที่ดี และยังเล่นการบล็อกได้ดี แต่ความสามารถหลักได้แก่การรับลูก เรียกกันว่า หากคุณเขียนจุดลงบนอกของปีก และวาดวงกลมใหญ่รอบจุดนั้น ให้กว้างเท่ากับระยะอ้าแขนของปีกพวกนี้ นั่นคือระยะที่พวกเขาสามารถรับลูกได้ เมื่อไรก็ตามที่คุณขว้างลูกออกไปในวงกลมนั้น
สำหรับปีกอื่น ๆ คุณจะต้องขว้างลูกให้เข้าไปที่ลำตัว (หรือเลขบนเสื้อ) ของพวกเขาเพื่อจะรับลูกได้ แต่สำหรับปีกพวกนี้ จะสามารถปรับตำแหน่งของตนให้รับลูกได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะขว้างลูกสูง ขว้างต่ำ ขว้างย้อน เพราะฉะนั้น ควอเตอร์แบ็คจะมีความมั่นใจในการขว้างลูกให้ปีกพวกนี้มาก ปีกพวกนี้มีหน้าที่เช่นเดียวกับปีก speed guy แต่มักจะรับลูกอยู่ในบริเวณประมาณ 15 หลาจากแนววางลูก และเรียกได้ว่าเป็นปีกที่ช่วยทำให้ทีมครองบอลต่อได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีความเร็วมาก แต่ปีกพวกนี้ จะมีความสามารถแยกตัวเองออกจากตัวคุมปีกได้ เพื่อหาช่องว่างในการรับลูก
Tight end
ปีกใน ได้แก่ ปีกที่ยืนอยู่ติดกับผู้เล่นแนวบุก ถึงแม้ว่าจะมีรูปร่างไม่เท่ากับผู้เล่นแนวบุก แต่ก็ใกล้เคียง ปีกในส่วนใหญ่ มีความสูง 6 ฟุต 2 นิ้ว หนัก 235 ปอนด์ ไปถึง 6 ฟุต 5 นิ้ว 285 ปอนด์ ปีกในมีหน้าที่คล้ายกับปีกนอก แต่อาจจะตรงกันข้ามเท่านั้น เริ่มจาก ปีกนอก มีหน้าที่ในการรับลูกเป็นหลัก บล็อกเป็นรอง แต่ปีกในจะมีหน้าที่ในการบล็อกเป็นหลัก แต่บางครั้งจะขึ้นไปรับลูก แต่ละทีมจะมีวิธีการใช้ปีกในที่แตกต่างกัน ทำให้มีลักษณะของปีกในที่แตกต่างกัน ขึ้นกับปรัชญาของแต่ละทีม บางทีมจะใช้เฉพาะปีกในขนาดใหญ่ เพื่อใช้บล็อกเป็นหลัก แต่บางทีมอาจต้องการปีกในที่มีความสามารถในการรับลูกมากกว่า บางทีมใช้ปีกในสองตัวยืนแต่ละข้างของแนวบุก โดยปีกในตัวที่สองนั้น จะทำหน้าที่แทนตัววิ่งตัวที่สอง
Patterns
Pattern หรือเส้นทางการวิ่ง หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า route คือการที่ปีกวิ่งไปตามแนวที่ตกลงกันไว้ โดยปีกจะต้องจำว่าจะวิ่งไปอย่างไรในแผนการต่าง ๆ และควอเตอร์แบ็คก็จะต้องระลึกว่าปีกจะอยู่ในตำแหน่งใด เพื่อที่จะขว้างลูกได้อย่างถูกต้อง
การส่งปีกวิ่งไปในตำแหน่งต่าง ๆ กัน ก็เพื่อให้ตัวคุมปีกออกจากตำแหน่งที่เราต้องการขว้างลูกออกไป ปีกแต่ละตัวจะมี route แตกต่างกัน สถานการณ์ที่ทีมบุกต้องการให้เป็น คือ การที่ปีกวิ่งออกไปแล้ว ไม่มีตัวคุมปีกอยู่ในทิศทางที่จะตัดลูกที่ขว้างออกไปได้ ซึ่งก็คงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ทฤษฏีหนึ่งที่ใช้กันก็คือ การที่ทีมบุกพยายามให้ปีกคนหนึ่งดึงตัวคุมปีกไป และให้ปีกอีกตัวว่าง
ตัววิ่ง (Running backs)
ความสำคัญของเกมวิ่ง
ทีมที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ทีมที่มีเกมวิ่งที่ดี เพราะทีมที่เล่นเกมวิ่งได้ดีนั้น เท่ากับเป็นการทำโทษทีมรับด้วยการเล่นเกมบุก พร้อมกับครอบครองบอล (ball control offense) เพราะการเล่นเกมวิ่ง เป็นการเล่นที่ฆ่าเวลาไปได้เรื่อย ๆ ก่อนการเล่นครั้งต่อไปจะเริ่มขึ้น เมื่อไรที่การครอบครองบอลอยู่ในสนาม นาฬิกาจะไม่หยุด ไม่เหมือนกับเกมขว้าง ซึ่งเมื่อมีการขว้างที่รับไม่ได้ (incomplete pass) นาฬิกาจะหยุดลง การเล่นแบบ ball control นี้ จะทำให้ทีมรับล้า เพราะต้องอยู่ในสนามนานเกินไป
ในเกมวิ่งนั้น ถ้าคุณสามารถวิ่งได้ 4 หลาต่อการเล่น ก็เท่ากับว่าคุณวิ่งได้ 12 หลาในการเล่นสามครั้ง เพราะฉะนั้น การวิ่งที่ดีจะทั้งทำให้ทีมได้ครอบครองบอลต่อ และในเวลาเดียวกันฆ่าเวลาได้เป็นอย่างดี
Fullbacks
หน้าที่หลักของตัววิ่งในตำแหน่ง fullback ได้แก่ การเปิดแนววิ่ง เป็นตัวบล็อกนำ ถึงแม้ว่า fullback จะสามารถวิ่ง หรือ รับลูกได้ดี ซึ่งการวิ่งของ fullback นั้นจะเป็นการวิ่งในลักษณะตรงไปข้างหน้า ท้าทายการหยุดของทีมรับ
Halfbacks
ตัววิ่งในตำแหน่ง halfback คือตัววิ่งหลักที่มีหน้าที่รับลูกและวิ่งทำระยะ ผู้เล่นในตำแหน่งตัววิ่งนั้นเปรียบเสมือนเป้าเคลื่อนที่ เพราะผู้เล่นทีมรับจะเข้าหา และอัดในทันที ผู้เล่นในตำแหน่งนี้จึงต้องเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งและอดทน รูปร่างของ halfback มักจะมีลักษณะเล็กกว่าผู้เล่น fullback เล็กน้อย ในแผนการเล่นมาตรฐานนั้น halfback จะเป็นผู้ถือลูก และ fullback บล็อกเปิดทางวิ่งให้ halfback ยังทำหน้าที่รับลูกและบล็อกในบางกรณี
North-South Runners และ East-West Runners
ตัววิ่งอาจแบ่งออกเป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ คือ North-South runners ได้แก่ตัววิ่งที่ถนัดการวิ่งแบบเหนือใต้ หรือ วิ่งขึ้นไปตรง ๆ ตัวอย่างหนึ่งอาจได้แก่ Emmitt Smith ของ Cowboys ซึ่งจะพุ่งไปข้างหน้าโดยโยกซ้ายขวาเพียงเล็กน้อย ทำให้ทีมรับไม่สามารถจับได้ง่าย ๆ ส่วน East-West runners นั้น ได้แก่ตัววิ่งที่ชอบโยกออกด้านข้าง
การรับลูก
ตัววิ่งยังมีหน้าที่ในการขึ้นไปรับลูก หรือบางครั้งถือว่าเป็น Safety valve ซึ่งหมายถึง ทางออกของควอเตอร์แบ็คที่จะขว้างลูก เพราะควอเตอร์แบ็คจะมองไปที่ปีกก่อน และหากไม่ว่างก็จะมองหาตัววิ่ง ที่เรียกกันว่า safety valve นั้นเป็นการเปรียบเทียบกับการต้มน้ำ ซึ่งเมื่อแรงดันหรือความร้อนสูงเกิน ก็จะมี safety valve ไว้ระบายแรงดันออก แต่ตัววิ่งไม่ได้เป็นเพียง safety valve แต่ยังสามารถเป็นปีกหลักได้ด้วย เส้นทางการวิ่งไปรับลูกของตัววิ่งได้แก่
รูปแบบการยืนของตัววิ่ง
Split "T"
เป็นรูปแบบการเล่นที่ตัววิ่งสองตัว ยืนหลังควอเตอร์แบ็ค แต่ไม่มีตัวใดยืนหลังควอเตอร์แบ็คโดยตรง และทั้งสองคนยืนห่างกัน ส่วนใหญ่ การตั้งแบบนี้มักจะใช้ในแผนการขว้าง
"I" formation
เป็นรูปแบบที่ตัววิ่งทั้งสองตัว ยืนในแนวตั้ง ต่อจากควอเตอร์แบ็ค เปรียบเสมือนตัว "I" โดย fullback จะยืนหลังแนวประมาณ 5 หลา และ halfback ยืนหลังแนวประมาณ 7 หลา โดย fullback จะอยู่ในตำแหน่งจรดสามตำแหน่ง (ก้มลงใช้มือหนึ่งจรดที่พื้น) เพราะต้องการให้ตัววิ่งซึ่งยืนสามารถมองเห็นด้านหน้าได้ชัดเจน
Offset "I" formation
คล้ายกับรูปแบบ "I" แต่ fullback จะอยู่เยื้องออกด้านข้างเล็กน้อย คือ ยืนหลังผู้เล่นตำแหน่ง tackle แต่ halfback ยังอยู่หลังควอเตอร์แบ็คเช่นเดิม
Two Tight Ends with an R Back (Ace Formation)
เป็นการใช้ปีกในสองตัวยืนสองข้างของแนวบุก และมี halfback ยืนหลังควอเตอร์แบ็ค
------------------------------------------------------------------------------------------------------
วิธีคิด tiebreaker หรือ การจัดอันดับกรณีที่ตั้งแต่สองทีมขึ้นไปมีสถิติแพ้ชนะเท่ากัน
ในกรณีที่อยู่ในดิวิชั่นเดียวกันให้ดูตามลำดับดังนี้ครับ
- สถิติที่ทั้งสองทีมพบกันเอง (head-to-head)
- สถิติในดิวิชั่นตัวเอง
- สถิติที่แข่งกับคู่แข่งเดียวกัน (common opponents) เพราะในระบบใหม่นี้ทีมในดิวิชั่นเดียวกันต้องเจอกันเอง 2 เกม, เจอทีมเดียวกันในดิวิชั่นตัวเองอีก 4 เกม, จับคู่กับดิวิชั่นอื่นใน Conference เดียวกันอีก 4 เกม, จับคู่กับดิวิชั่นอื่นใน Conference ตรงข้ามอีก 4 เกม แต่สรุปว่าถ้าอยู่ในดิวิชั่นเดียวกันจะต้องเจอกันเองสองเกมเหย้าเยือนและเล่นกับทีมอื่นๆที่เหมือนกันอีก 12 เกม
- สถิติใน Conference ของตัวเอง
ฯลฯ
ส่วนถ้าอยู่ต่างดิวิชั่นกันให้ดูตามลำดับดังนี้แทน
- สถิติที่ทั้งสองทีมพบกันเอง (head-to-head)
- สถิติใน Conference ของตัวเอง
- สถิติที่แข่งกับคู่แข่งเดียวกันอื่นๆ (อย่างน้อย 4 เกม)
ผลงานอื่นๆ ของ American Za ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ American Za
ความคิดเห็น