แกจะเสียคนเพราะการอ่าน
จากหนังสือ "คนไม่รู้หนังสือ" ที่จะทำให้ทุกคนรักหนังสือ
ผู้เข้าชมรวม
721
ผู้เข้าชมเดือนนี้
3
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
“แกจะเสียคนเพราะการอ่าน”
1.ใครจะรู้สึกรังเกียจการอ่านหนังสือมากกว่าแม่เป็นไม่มีอีกแล้ว เพราะนอกจากมันจะสิ้นเปลือง ไร้สาระ ยังทำให้ลูกที่เริ่มจะโตพอใช้การใช้งานได้ กลับเอาแต่จ่อมจมก้มหน้างุดอยู่กับหนังสือ สายตาจับจ้อง ร่างกายไม่ไหวติง เหมือนวิญญาณทั้งหมดมวลถูกดูดหายเข้าไปในหน้ากระดาษปรู๊ฟสีน้ำตาลเก่า ๆสองหน้านั้น ทุกครั้งที่ตะโกนเรียก ก็มีเพียงเสียง อือ อือ ตอบกลับมาอย่างเลื่อนลอยไร้ชีวิต เหมือนว่าเจ้าเด็กคนนั้นก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ได้ส่งเสียงขานตอบกลับไป...
นี่คงทำให้แม่เกลียดหนังสือ เพราะมันทำให้ลูกคนไหนๆ ก็ไม่ยอมย้ายก้นมาช่วยงานสักที
แม่ไม่ใช่คนไม่รู้หนังสือ แต่การรู้หนังสือของแม่ก็เหมือนคนอื่นๆ ตรงที่มันเป็นเพียงผลพลอยได้จากการศึกษาที่บังคับให้แม่ต้องอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่ใช่อ่านเพื่อกำซาบเข้าใจ หรือเขียนได้เพื่อถ่ายทอดความรู้สึก แม่เป็นคนรู้หนังสือเพราะมาตรฐานการวัดผลความเจริญของประเทศชาติคือการลดจำนวนคนไม่รู้หนังสือ แม่รู้หนังสือเพื่อจะได้ไม่ต้องทำนาทำไร่เหมือนอย่างที่ตากับยายทำ แม่รู้หนังสือเพื่อจะได้พาตัวเองให้พ้นออกมาจากบ้านนอกอันห่างไกลกันดาร และนั่นคือทั้งหมดของที่มาที่ไปในการที่แม่เป็นคนรู้หนังสือ
กระนั้น แม่ก็ไม่ใช่คนอ่านหนังสือ แม่เชื่อเหมือนที่ครูของเราเชื่อว่า หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นจะทำให้เด็กผู้ชายก้าวร้าว และเด็กผู้หญิงใจแตก เชื่อว่านิตยสารหน้าปกอาบมันที่มีรูปดารานางแบบนั้นเป็นเพียงขยะที่ไม่ควรเสียทั้งเงินทั้งเวลาแม้แต่น้อยนิดในการซื้ออ่าน รวมทั้งนิยายเล่มหนาและบางทั้งหลายนั่น ก็เป็นศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้เด็กๆ อย่างเราไม่สนใจการเรียน นำไปสู่ความตกต่ำทางภูมิปัญญาในที่สุด
แม่เชื่อเหมือนครู และครูก็เชื่อสมกับที่เป็นครู โรงเรียนของเราจึงห้ามไม่ให้ใครพกหนังสือการ์ตูนจนถึงนิตยสารทุกประเภทมาที่โรงเรียนให้ครูเห็นเป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นจะถูกยึดถาวร ครูจึงสั่งก่อนเลิกชั้นเรียนว่าให้ขยันอ่านหนังสือเรียนมากๆและอย่ามัวเสียเวลากับหนังสืออื่นๆนอกเหนือจากนั้น และด้วยเหตุนี้ ครูบรรณารักษ์โรงเรียนเราจึงได้บริจาคหนังสือนิยายไปให้ที่อื่นจนเกลี้ยงหมดชั้น พร้อมรอยยิ้มหวานในยามบอกกับนักเรียนถึงหนังสือที่หายไปนี้ว่า...มันเป็นหนังสือที่ไม่มีคุณค่า ครูจึงไม่เห็นความจำเป็นที่พวกเธอต้องอ่านมันเลยจนนิดเดียว
แน่นอนว่าครูทุกคนในโรงเรียนนี้ เป็นคนรู้หนังสือ
2. นิยายเรื่อง “คนไม่รู้หนังสือ” ของ อีวาร์ ลู-ยูฮันส์ซอน แปลโดย บุญส่ง ชะเลธร เล่มนี้ อาจไม่ใช่หนังสือประเภทที่ฉันจะหยิบขึ้นมาอ่านทุกครั้งที่ว่าง หรือต้องพกติดตัวไปอ่านในยามเดินทางไกลชนิดลืมกันไม่ได้ รวมทั้งแม้จะเป็นหนังสือเล่มแรกและเกือบจะเล่มเดียวที่เที่ยวได้แนะนำกึ่งคะยั้นคะยอให้ใครต่อใครได้อ่าน...แต่หากจะต้องติดเกาะแล้วหยิบหนังสือไปได้แค่เพียง 1 เล่ม “คนไม่รู้หนังสือ”กลับจะเป็นหนังสือเล่มท้ายๆ ที่นึกถึงอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะแม้จะเป็นหนังสือขึ้นหิ้งในหัวใจ แต่ความสมจริงที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านสำเนียงเสียดสี เหน็บแนม ร้ายกาจตลอดเล่มนั้น ก็ทำให้ฉันหมั่นไส้ในความเก่งกล้าของมันจนไม่นึกอยากอ่านซ้ำอีก
แต่ทั้งที่ไม่เคยอ่านซ้ำ ก็ยังจดจำเรื่องราวได้แม่น...
การเขียนถึงชีวิตคนชั้นล่าง(ในสวีเดนเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน) ให้คนชั้นกลาง(ในประเทศไทยพ.ศ.ปัจจุบัน)อย่างฉันได้อ่าน...มันทำให้ฉันเริ่มรู้สึกขายหน้า เพราะหลาย ๆครั้งที่ความคิดของตัวละครผู้ใช้แรงงานในหนังสือเล่มนี้ มันช่างเหมือนกับสังคมชนชั้นกลางเล็กๆแต่แสนหยิ่งทนงที่ฉันอาศัยอยู่แทบไม่มีผิดเพี้ยน
“...พ่อกับแม่ปักใจอย่างไม่มีทางแก้ไขใดๆว่า คนบางกลุ่มในสังคมจะต้องอยู่แต่ในกลุ่มของตน ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวให้สมบูรณ์ที่สุด และจะทิ้งกลุ่มออกไปไม่ได้...”
หรือว่า
“...คนเหล่านี้ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งเรื่องของตัว ไม่ต้องการรับรู้ ว่ายังมีคนแบบพวกเขาอยู่อีกมาก ต่างคนต่างต้องการจะเป็นหนึ่งเดียว...
‘เสรี’ เป็นคำที่ฟังเข้าท่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเสรี หรือคนเสรี...”
สองประโยคแห่งความขัดแย้ง ของชนชั้นที่อยากจะเป็น “ปัจเจก” อยากโบยบินให้สูงกว่ายอดเขา แต่ก็รู้สึกเล็กกว่าฟากฟ้าตลอดเวลาจนไม่กล้ากางปีก...
หัวใจหลักของ “คนไม่รู้หนังสือ” สำหรับฉันมันจึงคือการพูดถึงคนที่เชื่อมั่นอยู่อย่างเงียบๆ ว่าชีวิตตัวเองย่อมขึ้นอยู่กับตัวเอง ไม่ใช่เจ้าที่ดิน รัฐ หรือเทวดาองค์ใด คือคนที่เชื่อว่าผืนดินแห้งแล้งแน่นแข็งจะกลับร่วนซุยอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยการลงแรงขุดไถ ด้วยพลั่วด้วยจอบที่อยู่ในมือหยาบกร้าน มากกว่าจะขึ้นอยู่กับฝนฟ้าหรือว่าปาฏิหาริย์ใด ๆ
“คนไม่รู้หนังสือ” พูดถึงการดิ้นรนอย่างสุภาพของคนที่เคยแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่ใต้อำนาจของผู้อื่นมาเกือบตลอดชีวิต
‘แม่’ ของ ‘ผม’ ในเรื่องนี้ คือคนไม่รู้หนังสือที่เฝ้าคร่ำครวญถึงการได้กลับไปเป็นทาสติดที่ดินเป็นผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของนายและนายหญิง
‘พ่อ’ ของ ‘ผม’ คือคนไม่รู้หนังสืออีกคนที่ขยับจากกรรมาชีพมาเป็นคนมีบ้านของตัวเอง และทุ่มเททุกหยาดเหงื่อทุกสายโลหิตเพื่อรักษา ‘บ้าน’ อันมีความหมายของการพ้นจากทาสนี้ไว้
ขณะที่ ‘ผม’ คือคนรู้หนังสือคนเดียวในบ้าน
“...ผมอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่รู้ชัดว่าต้องการอ่านอะไร มันเป็นการอ่านที่ไม่มีแผนการ ไม่มีการจัดระเบียบ พอหมดของที่จะอ่าน ผมก็อ่านแม้กระทั่งใบโฆษณาของการไปรษณีย์ ผมเชื่อแต่ว่า มีแต่การอ่านและอ่านเท่านั้นที่เป็นสิ่งตัดสินในตัวของมันเอง...”
“แกจะเสียคนเพราะการอ่าน”
กระนั้น สำหรับ’แม่’ของ’ผม’ (และอาจจะรวมถึงแม่ของใครอีกหลายคน) การพยายามเปิดหนังสืออ่าน ก็ไม่ต่างจากการพยายามเอื้อมเด็ดผลจากต้นไม้ของพระเจ้า
“มันจะทำให้แกเสียผู้เสียคน”
จะว่าไปแล้ว ประโยคนี้ก็ไม่ผิดนัก
บางที การอ่านก็ได้ทำให้ใครบางคน ‘เสียคน’ ...เสียตัวตนในแบบที่เกิดมา จากผู้ที่ก้มหน้าก้มตาสยบยอมต่ออำนาจที่มองไม่เห็นบางอย่าง กลายเป็นคนหัวรั้น ทะเยอทะยาน มีความใฝ่ฝัน และที่สำคัญกลายเป็นคนที่เชื่อเสียแล้วว่า มนุษย์แม้ว่าจะเกิดในโคลนตม ก็ยังสามารถล้างตัวเองให้หมดคราบไคลและจาระไนให้ตัวเองกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ดีกว่าก้อนหินได้
เหมือน’ผม’ของ’แม่’ที่กลายเป็นคนรู้หนังสือ เขาจึงเชื่อว่า มนุษย์สามารถเป็นในสิ่งที่อยากจะเป็นได้
บางที... การอ่านหนังสืออาจเท่ากับการเอื้อมเด็ดผลจากต้นไม้ของพระเจ้า...อย่างที่แม่ว่าไว้จริง ๆ.
ผลงานอื่นๆ ของ สาวออฟฟิศ ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ สาวออฟฟิศ
ความคิดเห็น