ภาษาสื่อมวลชน ไม่กระชับ กลับฟุ่มเฟือย - ภาษาสื่อมวลชน ไม่กระชับ กลับฟุ่มเฟือย นิยาย ภาษาสื่อมวลชน ไม่กระชับ กลับฟุ่มเฟือย : Dek-D.com - Writer

    ภาษาสื่อมวลชน ไม่กระชับ กลับฟุ่มเฟือย

    ภาษาสื่อมวลชน ที่ว่ากระชับ สั้น เป็นดังคำกล่าวอ้างจริงหรือ ?

    ผู้เข้าชมรวม

    10,303

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    15

    ผู้เข้าชมรวม


    10.3K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  3 มิ.ย. 46 / 13:25 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      บ่อยครั้งที่สื่อมวลชนมักโดนตำหนิ ว่าใช้ภาษาผิดพลาด ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ฯลฯ ซึ่งเหล่าหมู่มวลชาวสื่อมวลชน ก็มักจะดาหน้ากันออกมาตอบโต้ว่า “เพราะภาษาของสื่อมวลชน โดยเฉพาะการข่าวนั้น จะต้องรวดเร็ว กระชับ ฉับไว จึงไม่มีเวลาที่จะมาประดิษฐ์ประดอยภาษา ทำให้ภาษาห้วน สั้น ไม่ไพเราะ” เราอาจสรุปง่ายๆ เป็น ๒ ประเด็น คือ ประเด็นแรก “ภาษาไม่ดี เพราะต้องรีบออกข่าวให้ทัน กับเวลาและเหตุการณ์” ประเด็นที่ ๒ “ภาษาไม่ดี เพราะเนื้อที่จำกัด ใช้คำเยิ่นเย้อไม่ได้”
               ข้อที่ว่าภาษาสื่อมวลชนไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะต้องรีบเร่งออกข่าว ให้ทันกับเวลาที่ไม่เคยคอยใคร จึงทำให้ภาษานั้น “ลวกๆ” ไปบ้าง อันนี้ไม่ขอเถียง แต่ข้อที่ว่าภาษาไม่ดี เพราะเนื้อที่จำกัด อันนี้ก็ต้องขอให้พิเคราะห์กันต่อไป ว่าจริงหรือไม่
               จริงหรือไม่ที่ภาษาสื่อมวลชน เป็นภาษาที่สั้น กระชับที่สุด เพราะข้อจำกัดด้านเวลาและเนื้อที่ ?
               ขอให้ลองพิจารณาประโยคเหล่านี้ ซึ่งเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ว่ามักปรากฏตามหนังสือพิมพ์ และตามเสียงเจื้อยแจ้วที่ใสบ้าง ไม่ใสบ้าง ของผู้ประกาศข่าวทั้งชายและหญิง ในสื่อวิทยุโทรทัศน์…
               ตำรวจได้ทำการติดตามผู้ร้ายไปอย่างกระชั้นชิด
               ตำรวจถูกผู้ร้ายยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส
               บ้านเรือนหลายหลังถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย
               กระทรวงกลาโหมได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม
               นายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับอาคันตุกะ
                                       ฯลฯ
               ประโยคเหล่านี้เมื่ออ่านแล้ว รู้สึกไหมว่าเป็นการใช้ภาษาที่ฟุ่มเฟือย เยิ่นเย้อ ???
               อันว่าภาษาฟุ่มเฟือยนั้น หมายถึง คำ วลี สำนวน ที่สามารถตัดออกได้โดยไม่เสียใจความและรสของประโยค แต่ประโยคที่ยกตัวอย่างมานั้น ล้วนแล้วแต่มี คำ วลี สำนวน ที่สามารถตัดออกได้ทั้งนั้น
               ประโยคแรก ไม่จำเป็นต้องมี “ทำการ” ประโยคที่ ๒ , ๓ ไม่จำเป็นต้องมี “ได้รับ” ประโยคที่ ๔ ไม่จำเป็นต้องมี “ให้ความ” ประโยคที่ ๕ ไม่จำเป็นต้องมี “ให้การ” ก็มีใจความถูกต้องสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเราตัดคำฟุ่มเฟือยออกแล้ว ก็จะได้รูปประโยคดังนี้
               ตำรวจได้ติดตามผู้ร้ายไปอย่างกระชั้นชิด
               ตำรวจถูกผู้ร้ายยิงบาดเจ็บสาหัส
               บ้านเรือนหลายหลังถูกน้ำท่วมเสียหาย
               กระทรวงกลาโหมได้ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม
               นายกรัฐมนตรีได้ต้อนรับอาคันตุกะ
              
               สำหรับประโยคแรก “ทำการติดตาม” ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องเอา “ทำการ” ไปวางไว้หน้าคำกริยาสมบูรณ์ด้วย ในเมื่อหากไม่มี “ทำการ” ตำรวจก็ต้องไล่จับผู้ร้ายอยู่ดี
               ประโยคที่ ๒ และ ๓ นั้น แลดูเหมือนกัน “บาดเจ็บ” และ “เสียหาย” เป็นสิ่งของที่ใครจะได้รับหรือไม่ได้รับ ก็แปลกไปอีกแบบ อยู่ดีๆ ก็มีคนโยนบาดเจ็บ กับเสียหายมาให้ ไม่รับเสียก็หมดเรื่อง
               ประโยคที่ ๔ ก็ทำให้ “ร่วมมือ” กลายเป็นสิ่งของอีกเหมือนกัน แล้วก็ใช้ “กับ” เสียด้วย ทั้ง ๆ ที่หาก “ร่วมมือ” เป็นสิ่งของแล้ว เราจะต้องสร้างประโยคว่า “กระทรวงกลาโหมได้ให้ความร่วมมือ แก่กระทรวงยุติธรรม” เพราะถ้าให้ จะต้อง “ให้แก่” ไม่ใช่ “ให้กับ”
               ประโยคที่ ๕ นี่ก็ไปกันใหญ่ การต้อนรับก็เป็นสิ่งของอีกเหมือนกัน ซึ่งใครๆ ก็สามารถให้กันได้ จนลามปามไปถึง “ประชาชนถวายการต้อนรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เหมือนจะฉลาด ? เปลี่ยน “ให้” มาเป็น “ถวาย” เพื่อให้เป็นราชาศัพท์ ลืมคำราชาศัพท์ที่ว่า “รับเสด็จ” กันไปแล้วหรืออย่างไร ?
               หากจะสรุปกันง่ายๆ ก็สามารถสรุปได้ว่า สื่อมวลชนสมัยนี้ ชอบทำหน่วยคำกริยา ให้มาเป็นหน่วยคำนาม (-การติดตาม, -ความเสียหาย, -ความร่วมมือ, -การต้อนรับ) …
               อ้าว !!! คราวนี้ในเมื่อหน่วยกริยา กลายเป็นหน่วยคำนามเสียแล้ว และประโยคใดๆ จะขาดหน่วยกริยาก็ไม่ได้ ก็จำเป็นจะต้องทำหน่วยกริยาให้เกิดขึ้น (เพื่อมาซ้อนกริยา ที่กลายเป็นนามไปแล้ว) อีกทีหนึ่ง กลายเป็น -ทำการ-, -ได้รับความ-, -ให้ความ-, -ให้การ- ฯลฯ คำฟุ่มเฟือยของภาษาสื่อมวลชน ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากแต่เชื่อแน่ว่า ทุกคนคงเคยได้ยินข้อความว่า “ศพผู้เสียชีวิต” (เอ๊ะ.. ศพที่รอดชีวิต มีด้วยหรือ ?) , “จมอยู่ใต้น้ำ” (เอ๊ะ.. จมอยู่เหนือน้ำมีด้วยหรือ ? ในเมื่อ “จม” มันก็ต้อง “ใต้” อยู่แล้ว) ฯลฯ
               นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า คำอ้างของสื่อมวลชน (และผู้เรียนสาขาวิชานิเทศศาสตร์) ที่ว่าภาษาไม่ดี เพราะเนื้อที่จำกัด เห็นทีจะไม่จริงเสียแล้ว เพราะอ่านกี่ครั้งฟังกี่ครั้ง ก็ได้ยินแต่คำฟุ่มเฟือยยุ่บยั่บไปหมดทุกคราวไป
               คำฟุ่มเฟือยเหล่านี้ หากสื่อมวลชน (เช่น หนังสือพิมพ์) สามารถตัดออกไปได้ทั้งหมดแล้ว ก็จะช่วยทำให้หนังสือพิมพ์เล่มนั้นๆ ประหยัดหน้ากระดาษ ไปได้อีกอักโขทีเดียว
               ยังมีเรื่องน่าแปลกอีกเรื่องหนึ่ง ช่วงที่ข่าวน้ำท่วมบ้านน้ำก้อ กำลังเป็นข่าวเด่นประเด็นดังอยู่นั้น ได้ดูข่าวโทรทัศน์ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ ผู้อ่านข่าวได้อ่านว่า “อุทกภัยน้ำท่วม” ทุกทีไป จนเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียน ก็ได้ถามผู้เขียนว่า “ทำไมต้องพูดว่า อุทกภัยน้ำท่วมด้วย” ผู้เขียนก็ได้แต่ชี้แจง ความไม่เข้าใจของเพื่อนผู้นั้นว่า “นักข่าวอ่านถูกแล้ว เพราะอุทกภัยไฟไหม้ก็มี อุทกภัยลมพัดก็มี อุทกภัยแผ่นดินไหวก็มี และยังจะมีอีกหลายอุทกภัย ที่อาจไม่ใช่น้ำท่วมก็ได้”
               เมื่อเห็นคำตอบของผู้เขียนแล้ว ก็อย่าเพิ่งนึกว่าจะเป็นจริงตามนี้ เพราะคำตอบของผู้เขียนนั้น คนที่มีสติปัญญาบริบูรณ์ดี ก็คงเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “อย่างนี้เขาเรียกว่า .......ประชด !!!”

      สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
      ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×