วัด
.....
ผู้เข้าชมรวม
917
ผู้เข้าชมเดือนนี้
1
ผู้เข้าชมรวม
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ภาคกลาง
กรุงเทพ
วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัดกัลยา) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติม สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร และทรงสร้างพระราชทานทั้งพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวง คือ หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง กรุงเก่า หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง ภายในพระอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพระวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พุทธประวัติที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคมอย่างยิ่งอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมี หอมณเฑียรธรรมเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บประไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ ๔ หน้าพระวิหารหลวงยังมีหอระฆังฝีมือคนรุ่นใหม่ สำหรับไว้ระฆังยักษ์ มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทางเข้าวัดมีเจดีย์หิน ทำมาจากเมืองจีน เรียกว่า ถะ เป็นศิลปะจีนที่งดงามมาก
วัดเครือวัลย์ วรวิหาร
เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระยาอภัยภูธรและเจ้าจอมเครือวัลย์ในรัชกาลที่ ๓ ผู้เป็นธิดาได้ปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า วัดเครือวัลย์
พระอุโบสถ์ หน้าประดับลายปูนปั้นลายเครือเถาบานประตูและหน้าต่างมีลายปูนปั้น
บนแผ่นไม้ลงรักปิดทองจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๓
เรื่องพระพุทธเจ้า ๕๐๐ ชาติ ซึ่งเขียนแบ่งเป็น ๑ เรื่องต่อ ๑ ช่อง
พระประธานมีลักษณะเหมือนพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่หน้าพระปฐมเจดีย์
พระวิหาร ตั้งอยู่ด้านขวาของพระอุโบสถ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบเดียวกับพระอุโบสถ เสาเดิมเป็นแบบเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองภายหลังซ่อมแซมเปลี่ยนเป็นเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบ
วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร
วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม) ตั้งอยู่ริมถนนจักรวรรดิและตรอกวานิช (สำเพ็ง) เป็นวัดโบราณ มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อว่า วัดนางปลื้ม ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดสามปลื้ม
'พระประธานพระอุโบสถ' |
ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๒ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่ของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เริ่มสร้างวัดสามปลื้มขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ในรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานนามใหม่ดังที่ใช้ในปัจจุบัน
ในวัดมีสิ่งน่าชมหลายอย่าง เช่น พระปรางค์ใหญ่ มณฑปพระพุทธบาท สระจระเข้ เขาพระพุทธฉาย
พระวิหารเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง เป็นพระพุทธรูปสำคัญอาราธนามาจากนครเวียงจันทร์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องจากรัชกาลที่ ๔ พระราชทาน คืน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙
นอกจากสิ่งก่อสร้างที่มีตามธรรมเนียมของพระอาราม เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ซึ่งมีถึง ๓ หลัง หอไตร มณฑปพระพุทธบาทแล้ว วัดจักรวรรดิราชาวาส ยังมีศาลบรรจุรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ผู้สถาปนาวัด และในสระเยื้องหน้าพระอุโบสถยังเป็นที่เลี้ยงจระเข้ ทำให้ " จระเข้วัดสามปลื้ม " มีชื่อเสียงเป็นที่โจษขานกันไปทั่วอีกด้วย
วัดชิโนรสาราม วรวิหาร
วัดชิโนรสารามวรวิหาร (วัดชิโนรส) ตั้งอยู่ริมคลองมอญ ติดถนนอิสรภาพ ตรงข้ามกับกรมอู่ทหารเรือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโรรส เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๗๙
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปั้นและเขียนรูปนาคไว้ทั่วไปเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพระนามเดิม ของสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส คือ พระองค์เจ้าวาสุกรี และให้ปั้นรูปพระมหามงกุฎ ลงรักปิดทองไว้เหนือเรือนแก้วหลังพระประธานในพระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดชิโนรสารามวรวิหาร มีศิลปะผสมแบบสมัยรัชกาลที่ ๓ คือ หลังคามุงกระเบื้องประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับปูนปั้นเป็นรูปกิ่งไม้ ดอกไม้ มีเทพพนมครึ่งองค์อยู่ตรงกลาง ปิดทองประดับกระจก บานประตูหน้าต่างภายในเขียนลายฮ่อ หรือลายโต๊ะจีน ภายนอกเขียนลายรดน้ำรูปนาคดั้นเมฆ บานประตูกลางด้านนอกเขียนรูปเซี่ยวกางเหยียบนาคถือพัดแฉก เพดานสีแดงเขียนรูปนาคลายฉลุปิดทอง
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่นับว่าแปลกกว่าที่อื่น คือ ช่วงหน้าพระประธานระดับหน้าต่างเขียนภาพแผนที่วัดชิโนรส แผนที่คลอง แม่น้ำ และแผนที่พระบรมมหาราชวัง นอกนั้นเขียนเป็นภาพวัดต่าง ๆ เป็นที่น่าเสียดายว่าลวดลายและภาพวาดเหล่านี้ของเดิมลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว
วัดดุสิดาราม วรวิหาร
วัดดุสิดารามวรวิหาร (วัดดุสิต) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองบางกอกน้อย เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดเสาประโคน สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาใหม่ทั้งวัด กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่าวัดดุสิดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยให้รวมวัดภุมรินราชปักษีซึ่งเป็นวัดร้างขนาดเล็ก ที่อยู่ติดกันเข้าไว้ด้วย
ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ รอบผนังทั้งสี่ด้านเป็นเรื่องพุทธประวัติ เบื้องหน้าพระประธานเป็นภาพมารผจญ ที่ได้รับยกย่องมากคือ ภาพนรกภูมิในไตรภูมิที่วาดอยู่บนผนังด้านหลังพระประธาน กล่าวกันว่าเขียนได้งามราวกับมีชีวิตจริง
สิ่งที่น่าประทับใจอื่น ๆ ได้แก่ พระระเบียงรอบพระอุโบสถ ซึ่งเจาะเป็นซุ้มจระนำเข้าไปผนัง ๖๔ ช่อง มีพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร ประดิษฐานอยู่ทุกช่อง เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนังบนพระระเบียงนี้ด้วย แต่ปัจจุบันลบเลือนไปหมดแล้ว นอกกำแพงพระระเบียงออกไปเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ที่ฐานมีปูนปั้นรูปปลา เงือกและช้างน้ำติดประดับโดยรอบ เรียกกันว่า พระเจดีย์ปลา ปัจจุบันทรุดโทรมมาก นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถเก่าของวัดภุมรินราชปักษี ที่แม้มีขนาดเล็กแต่ก็มีรูปทรงงดงาม หน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑและมยุรารำแพนปิดกระจกสี กับมีพระวิหารเก่าเป็นวิหารขนาดเล็กฐานโค้งเป็นทรงสำเภาสวยงามอีกหลังหนึ่ง
วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร
วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่าวัดสามจีน เข้าใจกันว่า จีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ (มีความตำนานใกล้เคียงกับวัดนางปลื้ม (วัดสามปลื้ม) หรือวัดจักรวรรดิฯ ทำนองเดียวกัน)
ในปีพุทธศักราช 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปีพุทธศักราช 2482 พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ วัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน 3 คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนระดับมัธยมของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณของวัด
- พระสุโขทัยไตรมิตร -
สิ่งสำคัญของวัด คือ พระสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือกินเนสบุ๊คออฟเรคคอดร์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40 %พระพักตร์มีเนื้อทอง 80 % ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ 99.99 %
สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอันเชิญ พระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ พระพุทธรูปที่เชิญมามีจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง จนได้อันเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม) ต่อมาบริษัทอิสท์เอเซียติกได้ขอเช่าที่วัด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างแล้ว) เป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อันเชิญไว้ที่ข้างพระเจดีย์และปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้ อย่างหยาบ ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จ จึงได้อัญเชิญชั้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกะเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498
วัดทองธรรมชาติวรวิหาร ถ.เชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
วิหารวัดทองธรรมชาติ เป็นอาคารสถาปัตยกรรม ที่มีอายุการก่อสร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ อันเป็นอาคารแบบ ที่เรียกกันว่าแบบ พระราชนิยม ที่มีอิทธิพลศิลปจีน ที่นิยมก่อสร้างอาคาร ทรงตึกที่ปราศจากช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยเป็นต้น ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรม ก่ออิฐถือปูนที่นิยมมาก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากเป็นพระราชนิยม ของพระองค์และ ชนชั้นสูงในยุคนั้น เป็นช่วงเวลาที่อิทธิพล จากศิลปจีนเฟื่องฟูที่สุด
ภายในวิหารนอกจาก พระพุทธรูปต่างๆ แล้ว ฝาผนังทั้ง ๔ ด้านโดยเฉพาะ เหนือขอบหน้าต่าง ยังปรากฎจิตรกรรมตกแต่ง อยู่บนฝาผนังอีกหลายร้อยตารางเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณที่อยู่เหนือกว่าขอบหน้าต่างขึ้นไป เป็นงานจิตรกรรมที่เขียนลวดลาย เครือเถาดอกไม้ ใบไม้เรียงซ้ำๆ กันในลักษณะเดียวกับ การออกแบบลายผ้า บนพื้นสีดำ โดยมีลักษณะที่พิเศษคือ ปรากฏอิทธิพลของ ลวดลายเครือเถาแบบตะวันตกด้วย แสดงให้เราเห็นถึงรูปแบบ การออกแบบลวดลาย ที่มีความก้าวหน้า เพราะลวดแบบตะวันตกนี้ จะพบเพียงจำนวนน้อย ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่จะนิยมแพร่หลาย ในรัชกาลถัดมา ที่อิทธิพลศิลปตะวันตก เข้ามามีอิทธิพลแทนที่ ศิลปจีนมากขึ้นตามลำดับ
นอกจากนั้นแล้ว ในบริเวณเพดานพระวิหาร ก็มีลวดลายฉลุกระดาษปิดทอง บนพื้นสีแดงเป็นลายดาวเพดาน และลายตกแต่งคานของวิหารด้วย โดยใช้การออกแบบลาย ในลักษณะใช้เส้นสาน ถักไขว้กันไปมา แทนการใช้ลายไทย ตามปกติที่พบเห็นกันทั่วไป ซึ่งมีรูปแบบพิเศษ ที่พบเพียงที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น
วัดทองธรรมชาติ มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ แสดงการเล่นหุ่นหลวงในงานปลงพระศพพระพุทธบิดา
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
ประวัติและที่ตั้ง ของวัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร บางลำภู กรุงเทพฯ แต่เดิมวัดนี้เป็นวัดใหม่อยุ่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส ต่อมาได้รวมเข้าเป็น วัดเดียวกัน โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขั้นใหม่ วัดนี้ ได้รับการทะนุบำรุง และสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้นจนเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง โดยเฉพาะในสมัย ปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนา สมเด็จพระ อนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุ อยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เสด็จมาครอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕ ทำให้วัดนี้ได้รับการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ และเสริมสร้างสิ่งต่างๆขึ้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชาคณะเสด็จประทับที่วัดนี้แล้วทรง บูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุต่างๆเพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง พร้อมทั้งได้รับพระราชทาน ตำหนักจากรัชกาลที่ ๓ ด้วย ในสมัยต่อมาวัดนี้ เป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรง ผนวชหลายพระองค์ เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน จึงทำให้วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุงให้คงสภาพดีอยู่เสมอ ในปัจจุบัน นี้ ศิลปกรรมโบราณวัตถุ และ ศิลปวัตถุ หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในสภาพดีพอที่จะชม และ ศึกษาได้ เป็นจำนวนไม่น้อย
ศิลปกรรมที่ควรชมภายในวัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหารนี้มีศิลปกรรม และถาวรวัตถุที่มีค่าควรแก่การศึกษาไม่น้อย แบ่งออกเป็น ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสและศิลปกรรมในเขตสังฆวาส เขตทั้งสองนี้ถูกแบ่งโดย กำแพง และ คูน้ำมีสะพานเชื่อมถึงกันเดินข้ามไปมาได้สะดวก ศิลปกรรมที่สำคัญ ของวัดนี้ที่น่า สนใจ มีดังนี้
ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาส
ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสที่สำคัญเริ่มจากพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สร้างวัดในรัชกาลที่ ๓ แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมต่อมาอีกหลายครั้ง รูปแบบของพระอุโบสถ ที่สร้างตามแบบ พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีมุขหน้ายื่นออกมา เป็นพระอุโบสถและมีปีกยื่นออก ซ้ายขวา เป็นวิหารมุขหน้าที่เป็นพระอุโบสถมีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประต?หน้าต่าง และ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะในสมัย รัชกาลที่ ๔ โดย โปรดฯ ให้มุงกระเบื้องเคลือบลูกฟูก ประดับ ลายหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบสี และโปรดฯให้ ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถ ส่วนภายนอกได้รับการบูรณะ บุผนัง ด้วยหินอ่อนทั้งหมด เสาด้านหน้าเป็นเสาเหลื่ยมมีบัวหัวเสาเป็นลายฝรั่ง ซุ้มประตูหน้าต่างปิด ทองประดับกระจก ด้านหน้ามีใบเสมารุ่นเก่าสมัยอู่ทองทำด้วยหินทรายแดงนำมาจากวัดวังเก่า เพชรบุรี ส่วนใบเสมาอื่นทำแปลกคือติดไว้กับผนังพระอุโบสถแทน การตั้งไว้บนลานรอบ พระอุโบสถ หลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์กลทสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมาได้หุ้มกระเบื้องสีทอง ใน รัชกาลปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้มีรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากพระอุโบสถทั่วไป เพราะเป็นการผสมกันระหว่างศิลปะแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งกระเดียดไปทาง ศิลปะจึนและศิลปะแบบรัชกาล ที่ ๔ ซึ่งเป็นศิลปะที่มีอิทธิพลฝรั่ง จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้ีมีลักษณะผสมของอิทธิพลศิลปะต่างชาติทั้งสองแบบ แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของศิลปะ ไทย เมื่อโดยรวมแล้วพระอุโบสถหลังนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่งดงามแปลกตาไม่น้อยทีเดียว ศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ นอกเหนือไปจากพระพุทธรูปแล้วก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ขรัวอินโข่งเขียนขึ้น เป็นงานจิตรกรรม ฝาผนัง ที่มีค่ายิ่ง เพราะเป็นรูปแบบของ จิตรกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อของการรับอิทธิพลยุโรป หรือ ฝรั่งเข้า มาผสมผสานกับแนวคิดตามขนบนิยมของไทย ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ สันนิษฐานว่าเขียน ตั้งแต่สมัยที่ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯเข้าครองวัด โดยเขียนบนผนังเหนือ ประตูหน้าต่าง ขึ้นไป มีอยู่ ๑๖ ตอน เริ่มต้นจากทางหลังของผนังด้านซ้ายทางทิศตะวันตก นับเป็น ผนังที่ ๑ วนทักษิณาวัตพระพุทธรูปในพระอุโบสถตามลำดับ มีคำจารึก พรรณาเขียน ไว้ที่ช่องประตู หน้าต่างรวม ๑๖ บาน
นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วที่เสาพระอุโบสถเขียนภาพแสดงปริศนาธรรมเปรียบด้วย น้ำใจคน ๖ ประเภทเรียกว่า ฉฬาภิชาติ ด้วย ภายในพระอุโบสถนี้ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อ โลหะขนาดใหญ่หน้าพระเพลากว้าง ๙ ศอก ๑๒ นิ้ว กรมพระราชวังบวรฯ ผู้สร้างวัดได้ทรง อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน เพชรบุรี โดยรื้อออกเป็น ท่อนๆ แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระทวาราวดี พระศกเดิมโต พระยาชำนิหัตถการ นายช่างกรม พระราชวังบวรฯ เลาะออกทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง ลงรักปิดทองมีพระสาวกใหญ่ นั่งคู่หนึ่งเป็นพระปั้นหน้าตัก ๒ ศอก
ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งคือ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตน มหาธาตุ พิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์เมื่อฤดูน้ำปี พ.ศ.๒๓๗๓ และ ในปีต่อมาได้ปิดทอง กาไหล่ พระรัศมี ฝังพระเนตรใหม่ และตัดพระอุณาโลม พระพุทธรูปองค์ นี้ เป็นพระพุทธรูป ที่งดงามอย่างยิ่ง องค์หนึ่ง ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นเจดีย์กลม ขนาดใหญ่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๔ หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน หลังเจดีย์ออกไปเป็นวิหารเก๋งจีน ข้างในมีภาพเขียน ฝีมือช่างจีน เทคนิค และฝีมืออยู่ในเกณฑ์ดี
ถัดเก๋งจีนเป็น วิหารพระศาสดา เป็นวิหารใหญ่แบ่งเป็น ๒ ห้อง ด้านหลัง เป็นพระพุทธไสยาสน์ สมัยสุโขทัย ฝาผนังมีจิตรกรรมเรื่องพระพุทธประวัติและชาดก ด้านหน้าประดิษฐานพระศาสดา รัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้อัญเชิญมาจากวัดสุทัศน์เทพวราราม
ในบริเวณพุทธาวาสนั้นมีศิลปกรรมน่าสนใจอีกหลายอย่างเช่น พระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็น พระ พุทธบาทโบราณสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในศาลาข้าง พระอุโบสถพลับพลา เปลื้อง เครื่อง สร้างเป็นเครื่องแสดงว่าวัด นี้รับพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตรา ที่พระเจ้าแผ่นดิน เสด็จ เปลื้องเครื่องทรงในศาลานี้ก่อนเสด็จเข้าวัด
นอกจากนี้ที่ซุ้มประตูด้านหน้าพระอุโบสถบานประตูมีรูปเซี่ยวกาง แกะสลักปิดทอง เป็นฝีมือ ช่างงดงามทีเดียว
ศิลปกรรมในเขตสังฆวาส
ศิลปกรรมในเขตสังฆวาสส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เพื่อเป็น ตำหนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่ผนวชในวัดนี้ เริ่มจากตำหนักปั้นหยา ซึ่งเป็นตึกฝรั่ง ๓ ชั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทานพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ เมื่อทรง อาราธนาให้เสด็จมาประทับที่วัดนี้ และประทับอยู่ที่ตำหนักปั้นหยาตลอดเวลาผนวช ต่อมา ตำหนักนี้ได้เป็นที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ที่ผนวชและประทับอยู่ที่วัดนี้ รูปทรงของ ตำหนักเป็นตึกก่ออิฐถือปูนหน้าจั่วประดับด้วยกระเบื้องเคลือบอยู่ซ้ายมือของกลุ่ม ตำหนัก ต่างๆ
ถัดจากตำหนักปั้นหยาคือ ตำหนักจันทร์ เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจันทราสรัทธาวาส กรมขุน พิจิตเจษฐฃฏาจันทร์ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ในบริเวณตำหนักจันทร์ด้าน ทิศตะวันออกติดกับรั้วเหล็กมีศาลาเล็กๆ มีพาไล ๒ ด้าน ฝาล่องถุนก่ออิฐถือปูนโถงเป็นเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ศาลาหลังนี้เดิมเป็นพลับพลา ที่ ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง สร้างไว้ในสวนพระราชวังเดิม โปรดให้ย้ายมาปลูกไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ ในกลุ่มพระตำหนัก นี้ ยังมี พระตำหนักเพชร อีกตำหนักหนึ่งอยู่ขวามือเมื่อเข้าจากหน้าวัด เป็นตำหนัก สองชั้นแบบ ฝรั่ง มุขหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุงดงาม ตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างถวายเป็นท้องพระโรง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส อย่างไรก็ตามศิลปกรรมและถาวรวัตถุของวัดบวรนิเวศวิหารยังมีอีกหลายอย่างส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ ในสภาพดี
มหามกุฏราชวิทยาลัย
ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2436 โดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามดำริพระสมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาพระวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้ทรงประกาศตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาขึ้นเมื่อวันที 30 ธันวาคม 2488 และมหาเถรสมาคมได้รับรองสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2517 เป็นการศึกษาที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน
การศึกษาระดับปริญญาตรีแบ่งเป็น 4 คณะคือ คณะศิลปศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา คณะสังคมศาสตร์ และคณะ ศึกษาศาสตร์ พระภิกษุสามเณรที่จะเข้ารับศึกษาในระดับปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจะต้องมีความรู้เปรียญ 4 ประโยค นักธรรมเอก หรือเทียบเท่า ม.ศ.5 หรือ ม.6 สายปรยัติ กำหนดเวลาเรียน 7 ปี แบ่งเป็นชั้นบุรพศึกษา 1 ปี เตรียมปี 1 และ เตรียมปี 2 รวม 3 ปี ทั้งนี้เฉพาะผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิเทียบเท่า ม.ศ.5 หรือ ม.6 ส่วนชั้นนักศึกษา 4 ปี และต้องออกปฏิบัติงาน 1 ปี รวมเป็น 8 ปี จึงจะจบหลักสูตร และต้องสอบได้เป็นเปรียญ 5 ประโยคด้วยจึงจะได้รับปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต
ส่วนการศึกษาระดับปริญญาโทศาสนศาสตรมหาบัณฑิตเริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 เป็นต้นมา
วัดบุปผาราม วรวิหาร
วัดบุปผาราม เดิมเป็นวัดโบราณซึ่งสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า วัดดอกไม้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาเป็นวัดร้าง ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ท่านผู้หญิงจันทร์ ภรรยาเอกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเป็นมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ทำการปฏิสังขรณ์เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านของท่าน ต่อมาปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๙๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นไวยวรนาถ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นราชามาตย์ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงช่วยในการบูรณะปฏิสังขรณ์ด้วย แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดบุปผาราม ดังมีปรากฏในทำเนียบพระอารามหลวงว่า วัดบุปผาราม พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร อยู่ริมคลองวัดบุปผาราม กิ่งอำเภอบุปผาราม จังหวัดธนบุรี เดิมชื่อว่าวัดดอกไม้ เป็นวัดโบราณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ช่วยกันสร้างเป็นสามส่วน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่าวัดบุปผาราม ต่อมาเจ้าพระยาภานุวงศ์ได้ปฏิสังขรณ์ เมื่อปฏิสังขรณ์เรียบร้อยแล้ว สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ได้กราบทูลของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งยังทรงผนวชอยู่) ไปครองวัด แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานครั้งนั้น มีพระอมรโมลี (นพ พุทธิสัณหเถระ) เป็นประธานสงฆ์ จากนั้นเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) และกุลทายาทสกุลบุนนาค ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อมา สำหรับการประกอบพิธีผูกพัทธสีมานั้น สันนิษฐานว่าคงจะมีในปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ปฏิสังขรณ์วัดนี้นั้นปรากฏหลักฐานว่า ท่านได้สร้างถาวรวัตถุสำคัญ ๆ ของวัดขึ้น คือพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฎีตึกโบราณ ๒ ชั้นและชั้นเดียว รวมทั้งกำแพงวัดด้วย เมื่อพิจารณาจากถาวรวัตถุที่สร้างขึ้น จะเห็นได้ว่าวัดนี้สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะของเก่าทรุดโทรมมากจนเกินที่จะปฏิสังขรณ์ของเก่าได้ เนื่องจากร้างมานาน วัดนี้ท่านผู้ใหญ่ในราชการเป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์ จึงมีกำลังในการทะนุบำรุงวัดเป็นอย่างดี ในช่วงมหาสงคราโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ วัดบุปผารามถูกระเบิดทำลาย ทำให้พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎีตึกโบราณ และกำแพงวัด ได้รับความเสียหายยากแก่การซ่อมแซม พระธรรมวราลังการ (กล่อม อนุภาสเถระ) ซึ่งดำรงเจ้าอาวาสในขณะนั้น ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎี และกำแพงวัดขึ้นมาใหม่ ที่เห็นได้ชัดเจนคือหน้าบันพระอุโบสถ เป็นรูปตรามหาสุริยมณฑล ซุ้มและบานประตูหน้าต่าง เป็นรูปทรงมหาพิชัยมงกุฎ และตราบัวแก้ว เมื่อก่อสร้างพระอุโบสถใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางวัดได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เนื่องจากย้ายสถานที่ก่อสร้างจากที่เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ถาวรวัตถุที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์นั้น ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนี้คือ พระวิหาร
วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร
วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร (วัดสระปทุม) อยู่บนถนนพระรามที่ ๑ ระหว่างศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์กับสยามสแควร์ สร้างเมื่อรัชกาลที่ ๔ คู่กับพระราชอุทยานสำหรับพักผ่อนพระราชอริยบทนอกพระนคร ที่เรียกกันว่า สระปทุม วัดนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงนิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาครองวัด ในครั้งกระนั้นทรงโปรดให้พระภิกษุพายเรือรอบสระบัวภายในวัด เพื่อรับบิณฑบาตจากพระองค์เองและเจ้าจอมหม่อมห้ามเป็นครั้งคราว
พระอุโบสถมีบานประตูและหน้าต่างที่ประดับลายปูนปั้นเป็นรูปชาวนากำลังไถนา ตกปลา มีสระบัวแวดล้อม อันเป็นสภาพชีวิตคนในพื้นที่บริเวณที่สร้างวัดครั้งกระนั้น
พระวิหารวัดปทุมวนารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่อันเญมาจากกรุงเวียงจันทร์ คือ พระเสิมและพระแสน นับว่าสอดคล้องกับจิตรกรรมฝาผนังเรื่องศรีธนญชัย หรือ เชียงเมี่ยง ซึ่งเป็นนิทานตลกขบขันแบบทวีปัญญาที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยและชาวลาว จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารเป็นตัวอย่างภาพเขียนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่แสดงการรับอิทธิพลฝรั่งอย่างชัดเจนอีกแห่งหนึ่ง ภาพที่น่าสนใจได้แก่ ภาพสะพานเหล็กซึ่งมีลูกล้อสำหรับชักลากเพื่อเปิดเรือผ่านไปมาได้และเป็นสะพานแบบที่ถูกรื้อไปหมดแล้ว
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ต่อมาๆ ได้บรรจุพระบรมสรีรังคารสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกไว้ในมุขของโรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งนี้
วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (วัดประยูร , วัดรั้วเหล็ก ) ตั้งอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดรั้วเหล็ก เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สั่งรั้วเหล็ก มาจากอังกฤษเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๓ ใช้เป็นกำแพงในพระบรมมหาราชวัง แต่ไม่โปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้เป็นกำแพงวัดแทน โดยเอาน้ำตาลทรายน้ำหนักเท่าน้ำหนักเหล็กไปแลก
พระอุโบสถเป็นแบบไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนาคน้อย ซึ่งนัยว่าอัญเชิญมาจากสุโขทัยและมีสิ่งก่อสร้างที่น่าชมอีกหลายอย่าง เช่น รั้วเหล็กรูปหอก ดาบและขวาน ซึ่งสั่งมาจากอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิคนในตระกูลบุนนาค ภูเขาจำลองหรือเขาเต่าก่อด้วยหินอยู่ข้างประตูทางเข้าวัด มีโบสถ์และเจดีย์ขนาดเล็กบนยอด บริเวณข้างล่างมีสระน้ำเป็นที่อาศัยของเต่าจำนวนมาก ข้างสระน้ำมีอนุสาวรีย์รูปปืนใหญ่ เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์คราวฉลองวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ ครั้งนั้นพระรูปหนึ่งเอาปืนชำรุดไปทำไฟพะเนียง ปืนแตกระเบิดทำให้พระและชาวบ้านตายถึง ๘ คน
วัดมกุฎกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร (วัดมกุฏ) ตั้งอยู่ริมถนนและคลองผดุงกรุงเกษม ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก หลังจากขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอกแล้ว พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริที่จะให้มีวัดเรียงรายอยู่ตามชายคลองเหมือนที่กรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นเคียงคู่กับวัดโสมนัสวิหาร การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๑๑ ในขั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า วัดนามบัญญัติ ไปพลางก่อน เมื่อสิ้นรัชกาลจึงค่อยเรียกนามพระราชทานว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นนามตามพระปรมาภิไธย
วัดมกุฏกษัตริยารามและวัดโสมนัสวิหาร เป็นวัดในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีเสมา ๒ ชั้น ชั้นแรกเรียกว่า มหาสีมา อยู่ในซุ้มที่มุมกำแพงรอบวัด และยังมีเสมารอบพระอุโบสถอีกเรียกว่า ขัณฑสีมา ในวัดที่มีเสมา ๒ ชั้นเช่นนี้ พระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งพระอุโบสถและพระวิหาร
อาคารสำคัญในวัดได้แก่ พระวิหาร และพระอุโบสถ มีลายพระมหามงกุฏอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ ๔ ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่างเช่นเดียวกัน ผนังด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมอันหลากหลายแตกต่างจากวัดอื่น เช่น เรื่องพระสาวกในบาลีและอรรถกถา พระอัครสาวก ๑๑ พระองค์ อัครสาวิกา ๘ องค์ ภาพการบำเพ็ญกรรมฐาน สิ่งที่พึ่งปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย ธุดงควัตร บนบานหน้าต่างและบานประตูด้านในเขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรบรรจง เป็นต้น
วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง) ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้สังคยาพระไตรปิฏกที่นี่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด ประชาชนจึงเรียกว่า วัดระฆังตั้งแต่นั้นมา แต่ตัวระฆังซึ่งมีเสียงดี รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สิ่งสำคัญในวัดได้แก่ ตำหนักทอง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและสมเด็จพระสงฆราช (ศรี) พระอุโบสถกับหอพระไตรปิฏกที่รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับทั้งสองหลัง
สถาปัตยกรรมไทยในวัดที่มีชื่อเสียงเลื่อลือว่างามยิ่ง คือ หอพระไตรปิฏก เดิมอยู่กลางสระที่ขุดขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ สร้างเป็นเรือนแฝด ๓ หลัง ด้วยไม้ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งยังทรงรับราชกาลอยู่กรุงธนบุรี ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง ด้านในเขียนภาพฝีมืออาจารย์นาค เป็นภาพแสดงวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น บานประตูตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำและแกะสลักอย่างงดงาม นอกจากนั้นยังมี ตู้พระไตรปิฏก ลายรดน้ำขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้
ผลงานอื่นๆ ของ สายลมแห่งความเศร้า ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ สายลมแห่งความเศร้า
ความคิดเห็น