Ep. 28 ลับราตรีกาล
ฉันไม่เสียดายอดีต เพราะมันทำให้ฉันเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง เพียงแต่คิดว่า คำเตือนด้วยความหวังดีของป๊า แม่ที่รักฉันสุดหัวใจ ทำไมวันนั้นฉันไม่ระวังให้มากกว่านี้นะ
ผู้เข้าชมรวม
335
ผู้เข้าชมเดือนนี้
19
ผู้เข้าชมรวม
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
หลังจากความไม่สมหวัง ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
การเจอลูกชายที่รักของฉัน ในยามนั้น
เป็นดั่งน้ำทิพย์โฉลมจิตใจ ในชีวิตของฉัน [0]
ฉันไม่ได้เจอลูกชายที่รักของฉัน มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้ว เราแม่ลูกจากกันตอนเขาอายุ 1.9 ปี ฉันตื่นเต้น ดีใจ กังวล เหนื่อยจากงาน เครียดจากการขับรถหลงทาง และกดดันที่พาป๊า และแม่มาเหนื่อยมาลำบากกับฉัน
อดีตสามี อนุญาติให้ลูกมาเที่ยว มาใช้ชีวิตอยู่กับฉัน เป็นเวลา 10 วัน ฉันนัดกับลูกว่า จะไปรับช่วงเย็นวันศุกร์ หลังฉันเลิกงานเวลา 16.30 น. คงจะถึงบ้านลูกน่าจะช่วงมืดค่ำไปแล้ว
17.00 น. ฉัน ป๊า และแม่ ออกเดินทางจากจังหวัด TT ไปนนทบุรี เพื่อรับลูกชายของฉัน การเจอกันครั้งนี้เป็นเหมือนน้ำทิพย์ ให้ฉันได้มีกำลังใช้ชีวิตต่อ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราแม่ลูก ได้ทำความรู้จักกัน ลูกฉันอาจจะต้องการที่พึ่งพิงสักวันหนึ่งในอนาคตของเขา ฉันคิดแบบนั้น
จิตโดยธรรมชาติมีกลไกปกป้องตัวเองจากความทุกข์ เป็นการหนีบ้าง สู้บ้าง สยบยอมบ้าง ทุกข์ เป็นความจริงของชีวิตที่หลีกหนีไม่ได้ ยิ่งหนี ยิ่งสู้ก็ยิ่งเป็นทุกข์ ผูกรัดเป็นปมในใจซึ่งไม่ได้เกิดจากทุกข์อริยสัจ หรือความจริงแห่งทุกข์ แต่เกิดจากกลไกปกป้องตัวเองของเราทำให้ทุกข์ธรรมชาติเป็นทุกข์ซ้ำซับซ้อน[2]
“ไปไม่ถูก หลงหลายรอบแล้ว มาส่งลูกที่หน้าโรงพยาบาล Xx ได้ไหม เกรงใจป๊า และแม่เขาเหนื่อยแล้ว?” ฉันพูดขอความเห็นใจ และความร่วมมือกับอดีตสามี
23.00 น. ฉันคาดการณ์ความเจริญ การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ละแวกนนทบุรีผิดไป ฉันขับรถวนไปมาวนตามกูเกิลแมพ เป็นรอบที่ 6 ป๊า แม่ยังไม่ได้กินข้าว ยังไม่รู้ว่าคืนนี้เราจะพักกันที่ไหนถนนยกระดับ สะพานใด ๆ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก จนฉันจำที่ทางหรืออะไร ๆ ไม่ได้เลย และฉันสงสารป๊า แม่ที่ต้องทนลำบากกับฉัน
“บ้านเธอมาไม่ถูกเหรอ” อดีตสามีตะคอกตอบกลับฉันทันที อย่างมีอารมณ์โมโห เสียงแข็ง ยืนกรานให้ไปรับลูกที่หน้าบ้านเขาให้ได้
“ที่นั่นไม่เคยเป็นบ้านฉัน” ฉันตอบกลับอย่างเริ่มมีอารมณ์โมโหเช่นกัน ความเจ็บช้ำที่เก็บไว้ตลอด 10 ปี เริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อย
ฉันออกจากบ้านอดีตสามี 10 ปีกว่า และไม่เคยไปเหยียบถนนเส้นนั้น จังหวัดนั้น พื้นที่นั้นอีกเลย แค่ผ่านก็ไม่ อดีตที่ทางแถวนั้นข้างทางค่อนข้างมืด ไม่มีห้างสรรพสินค้า ไม่มีถนนยกระดับไขว้กันไปมา ไม่มีเสาไฟสว่างไสว ไฟจากบ้านเรือนมากมาย ถนนแคบ มีแต่ป่ารก นาน ๆ จะมีบ้านคนสักหลัง หรือมีรถผ่านไปมาสักคัน และตอนนี้ข้างทาง ถนน ร้านรวง บรรยากาศต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ฉันจำอะไรไม่ได้เลย
อดีตสามียังพูดแต่เรื่องเก่า ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกอย่างที่ตั้งคำถามตะคอกมาใส่ฉัน มันคืออดีตไปหมดแล้ว เราทะเลาะตะโกนด่ากันทางโทรศัพท์อยู่สักพัก จนฉันหมดความอดทน
“ฉันไม่ไปแล้ว” ฉันยื่นคำขาด ฉันเตรียมตัวเลี้ยวรถหาร้านอาหาร หาโรงแรมนอนพักเอาแรง พรุ่งนี้จะได้ขับรถกลับสะดวก ฉันตัดสายโทรศัพท์ ฉันไม่สนอะไรแล้ว ฉันหมดอารมณ์
อลิซาเบธ ลอมบาร์โด นักจิตวิทยา อธิบายว่าเมื่อต้องรับมือกับการถูก Gaslighting เป็นเรื่องปกติที่เราจะเผชิญกับอารมณ์หลากหลาย ตั้งแต่โกรธ ไม่สบายใจ กังวล โศกเศร้า กลัว และอื่น ๆ การรู้สึกถึงอารมณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าปล่อยให้อารมณ์ควบคุมตัวเอง ทางแก้คือ การพูดให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่พูดคือ ความเห็นของเขาซึ่งไม่ใช่ความจริง และผู้ฟังจะไม่ปฏิบัติตาม[4]
สักพักมีสายเข้าจากอดีตสามีหลายสาย ฉันไม่อยากรับ แต่เสียงโทรศัพท์ฉันก็ดังอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ป๊าฉันบอกให้รับ ฉันทำอย่างว่าง่าย
“เออ” ฉันกล่าวทักทาย อีกครั้ง
“พ่อให้มารับที่หน้าโรงพยาบาล Xx หรือห้างฯ cc ครับ” เสียงลูกชายของฉัน
“ค่ะ” ฉันตอบลูก
ฉันวนไปรับลูกที่ห้างฯ ติดกับโรงพยาบาล Xx เพราะอดีตสามีเข้าทางห้างฯ cc สะดวกกว่า
ฉันจอดรถเดินไปหาลูกที่รถอดีตสามี ฉันเองก็ไม่รู้ว่าคันไหน แต่ฉันมั่นใจว่าน่าจะเป็นคันที่จอดรถปีนขึ้นไปขวางทางเท้า ทางเดินเข้าห้างฯ cc อย่างแน่นอน แล้วก็ใช่จริงเสียด้วย
ฉันรับลูกขึ้นรถ แล้วเดินออกมาจากครอบครัวอดีตสามีอย่างรวดเร็ว ฉันไหว้พ่อ แม่อดีตสามีแบบเสียไม่ได้ หน้าพวกเขาฉันก็ไม่อยากมอง เสียงพูดเขาฉันก็ไม่อยากได้ยิน แม้เขาจะพยายามชวนทักทาย แต่ฉันอยากตะคอกใส่มากกว่า พวกเขาก็คงรับรู้เพราะฉันตั้งใจแสดงออกอย่างชัดเจน
ปัญหาความสัมพันธ์แม่สามี-ลูกสะใภ้ในสังคมไทย ตามการรับรู้ของลูกสะใภ้ หญิง บัณฑิตตระกูล สำรวจลูกสะใภ้ต่อปัญหาแนว ‘แม่ผัว-ลูกสะใภ้’ ไว้ว่า สาเหตุของปัญหามาจากการที่ลูกสะใภ้ และแม่สามีต้องอยู่ร่วมบ้านกัน มีการก้าวก่ายชีวิตครอบครัว และผู้ชายขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัวจะทำให้ความมั่นใจในการตัดสินใจลดลง ในเชิงวัฒนธรรม ปัญหาระหว่างพ่อแม่กับคู่รักเชื่อมโยงกับสังคมแบบครอบครัวขยาย อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมเอเชีย [5]
สอดคล้องกับ ผู้หญิงต่างชาติคบกับผู้ชายไทย ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมเวลาตัดสินใจอะไรที่สำคัญผู้ชายไทยต้องบอกว่า ขอถามแม่ดูก่อน ทั้งที่เป็นชีวิตตัวเอง แต่ไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้ผู้หญิงไม่เชื่อใจจะฝากชีวิตไว้กับผู้ชายคนนั้น
ขณะเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ (2567) กล่าวว่า ผู้ชายไทยบางส่วนยังมีความคิดชายเป็นใหญ่ ทำให้พอมีเรื่องจะทุบตีทำร้ายผู้หญิง ซึ่งเริ่มจากดุด่าก่อนจะเริ่มลงมือทุบตีทำร้าย โดยเฉพาะในผู้ชายบางคนที่มีลูกแล้ว แต่กล้าทำร้ายผู้หญิงต่อหน้าลูก กลายเป็นภาพที่ฝังใจลูกไปจนโต[5]
“เมื่อคืนนอนกี่โมงคะ” ฉันถามลูก เพราะฉันเห็นเขาขอบตาคล้ำ
“ตีสามครับ” ลูกตอบฉัน ขณะที่แม่ ลูก 2 คนเดินจูงมือฉันเข้าร้านอาหาร ลูกฉันยิ้มตลอดเวลาเลย
“คืนนี้จะนอนกี่โมงคะ” ฉันถาม หลังจากเราสั่งอาหารกันเสร็จ มือฉันเป็นหนวดปลาหมึกมาก ๆ ฉันกอด และหอมลูกตลอดเวลา
“นอนดึกครับ” ลูกฉันตอบ เขาหันมามองหน้า โน้มตัวมาอิงไปมา เอาหน้าซุกอกฉัน แล้วเขาก็ยิ้ม
ลูกวัย 7-12 ปี การนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพ จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ช่วยให้เด็กแจ่มใส อารมณ์ดี มีสมาธิในการเรียนรู้ ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย เพราะช่วงที่หลับสนิท ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนในการเจริญเติบโตออกมา อีกทั้งสมองจะมีการเก็บประสบการณ์ที่ได้ในแต่ละวันไว้เป็นข้อมูลเรียนรู้เพิ่มขึ้น[6]
หลังกินข้าวเสร็จ ฉันพาลูกเข้าร้านสะดวกซื้อ เพื่อซื้อขนม ลูกอยากได้ขนมสัก 2-3 อย่าง ระหว่างที่เลือกขนมเขาหยิบซองขนมขึ้นมาดู แล้วหยิบวางไว้ที่เดิมหลายครั้ง เหมือนกำลังคิดคำนวนราคาว่ากี่บาท จะมีเงินเพียงพอในการจ่ายครั้งนี้หรือไม่ เขาควักเงินจะจ่าย ย่าให้มา 100 บาท สำหรับการอยู่นอกบ้าน 10 วัน ฉันให้ลูกเก็บเงินไว้ ฉันจ่ายได้
“อยากมาอยู่กับม๊าไหมคะ” ฉันถามลูก ขณะที่เราอาบน้ำ แต่งตัวเรียบร้อย กำลังเตรียมจะนอนดู TV ด้วยกัน แล้วลูกกำลังแกะขนม
“สงสารพ่อ” ลูกฉันตอบเสียงแผ่วเบา ทำหน้าลำบากใจเล็กน้อย
“ไม่เป็นไรค่ะ” ฉันยิ้ม ลูบหัว ดึงลูกมากอด เขาเอาแก้มแนบกับแขนฉัน และหอม
ฉันตื่นขึ้นมาด้วยเสียง tv ลูกฉันนอนไม่หลับ เขาบอกว่าตื่นเต้น หรือ “กินชาเขียวก่อนนอน” ฉันพูดเย้า ลูกฉันยิ้มแล้วยกขามาพาดที่สะโพกฉัน เรา 2 แม่ ลูกนอนเล่นกันแบบนั้นสักพักใหญ่
ฉันถามลูกว่า อยากกินอะไร อยากทำอะไรเป็น อยากไปไหนเป็นพิเศษไหมคะ “อยากเห็นทะเลกับอยากกินปู” พ่อของเขาบอกเขาว่า ปูอร่อยมาก และแพงด้วยต้องกินให้ได้ ที่บ้านพ่อไม่ซื้อให้กินบอกแพง ลูกไม่เคยกินเลย อยากกินมาก
ช่วงสายฉันเดินทางออกจากนนทบุรี ไปยังจังหวัดระยอง จองโรงแรมที่มีอาหารเช้าดี ๆ เพื่อป๊า แม่ของฉัน เลือกโรงแรมที่มีสระไหว้น้ำ ใกล้ทะเล อยู่ไม่ไกลมากจากร้านที่มีปู คาเฟ่ และร้านสะดวกซื้อ เพื่อลูกของฉัน ส่วนฉันขอโรงแรมที่มีครบความต้องการของทุกคน สำหรับ 3 คืน 4 วัน เพื่อฉันจะได้ไม่ต้องคิดอะไรมากไปกว่านี้
“ครับ” ลูกชายฉันพูดทักทาย หลังจากกดรับสาย คาดว่าปลายทางน่าจะเป็นฝั่งอดีตสามี
“แหม่ ไปกับแม่ กินดี อยู่ดี นอนแอร์ กลับมาจะนอนพัดลม กินผัดกระเพาได้อยู่ไหม กินไม่เป็นแล้วมั้ง” เสียงพูดดังมากจากโทรศัพท์อีกฝั่งนึง ฉันได้ยินชัดเจนทุกจำเลยทีเดียว
“กินได้ครับ ยังกินได้ครับ” ลูกฉันตอบ สีหน้าดูเหนื่อยหน่าย
“รู้สึกจะกินดี อยู่ดีเหลือเกินนะ ไม่อยากกลับมาที่นี่แล้วล่ะซิ ไม่โทรฯ มาเลยนะ” เสียงพูดดังจากโทรศัพท์อีกฝั่งนึง
“เปล่าครับ ๆ” ลูกฉันตอบเสียงปกติ แต่สีหน้า แววตาดูค่อนข้างเบื่อหน่าย ย้อนแย้งกับน้ำเสียงพอสมควร ฉันยืนมองลูกที่กำลังคุยโทรศัพท์กับพ่อของเขาอย่างเงียบสงบ
พฤติกรรมที่เป็นปัญหา และบ่อนทำลายสุขภาพจิต โดยสำหรับพ่อแม่ที่เป็นพิษ จะมีพฤติกรรมแย่ ๆ ที่ส่งผลกระทบในแง่ลบในระยะยาวต่อจิตใจ และพฤติกรรมของลูก ซึ่งมักจะดำเนินต่อเนื่องไปจนกระทั่งลูกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การเยาะเย้ย เสียดสี หรือถากถางของพ่อแม่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการดูถูก ถึงแม้จะเป็นการเหน็บแนมที่เหมือนจะมีอารมณ์ขัน แต่สำหรับเด็กที่ถูกเหน็บแนม เสียดสี เด็กมักรู้สึกเจ็บปวด อับอาย และความรู้สึกไม่พอใจของตัวเอง [7]
“โดนดุหรือคะ” ฉันถามหลังลูกวางสายสนทนาจากพ่อของเขาเรียบร้อย
“ครับ” ลูกตอบ สีหน้าแบบระอา ส่ายหน้าไปมาแบบไม่สบอารมณ์
“พ่อรู้ได้ไงคะ ว่ากินดีอยู่ดี ถ่ายรูปส่งให้พ่อดูหรือคะ” ฉันถาม เพราะฉันเห็นลูกถ่ายรูปโรงแรม เตียงนอน ห้องน้ำ ระเบียง และอาหารบางจาน เช่น ปูนึ่ง
“ครับ ก็พ่อเป็นคนบอกเองให้ถ่ายรูปให้ดู แล้วทำไมมาว่าล่ะ แล้วรู้ได้ยังไงว่ากินดีอยู่ดี” ลูกระบายให้ฉันฟัง
“อึดอัดไหมคะ” ฉันถามลูก พรางเข้าไปหอม กอด ลูบหัว
“มาก กอไก่ล้านตัวเลยครับ เบื่อ ๆ ๆ ๆ ๆ” ลูกชายตอบ เอาหน้ามาซุกไหล่ฉัน ๆ ไม่ตอบอะไร ฉันยกมือลูบหัวลูกเบา ๆ แล้วก็กอดลูก ฉันทำได้เพียงแค่นั้น
คำพูดเสียดสีประชดประชัน ความจริงเหนือสิ่งอื่นใด คำพูดคือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ คำพูดในเชิงลบที่เราไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนพูดออกไปให้ลูกได้ยิน อาจทำลายความรู้สึกและสร้างบาดแผลในใจเด็กได้มากกว่าที่เราคิด [8]
พวกเราเล่นน้ำในสระน้ำ ทะเล กินอาหารทะเล อาหารญี่ปุ่น พิซซ่า ชาบู ปิ้งย่าง เค้ก ชาเชียว นม ไอศกรีม และอื่น ๆ อีกมากมาย
ตลอดเวลาที่ลูกอยู่กับฉัน เขายิ้ม เล่น วิ่ง หัวเราะ ชวนคุย พูดเล่น กินไปยิ้มไป ฉันและลูกกอดกัน จับมือ ลูบหัว มองหน้า จับแขน มือ หน้ากันและกันตลอดเวลา ฉันถามลูกว่ารำคาญหรือไม่ และ “ไม่ ครับ ชอบ” ลูกตอบ ฉันกับลูกดูสนิทสนมกันมานาน
การกอด เป็นภาษากายที่แสดงออกถึงความรัก การสร้างความผูกพันในครอบครัว ทั้งยังช่วยในการเยียวยาทางความรู้สึก เป็นสัมผัสที่พ่อ แม่เป็นได้ทั้งผู้ให้ และผู้รับ ไม่ว่าตอนนั้นจะมีความรู้สึกดีใจ เสียใจ ตื่นเต้น มีความสุข หรือต้องการการปลอบประโลมใจ ทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เมื่อลูกเติบโตขึ้น [9]
ครบ 10 วัน ก่อนกลับไปส่งลูก ฉันแวะเข้าไปที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต เพื่อซื้อนม ขนมให้ลูกเอาไว้กินเล่น ลูกมีหน้าตาเศร้าลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ยิ้ม นั่งเหม่อ เงียบ ไม่คุยเจื้อยแจ้วแบบเดิม หรือฉันอาจคิดมากไปเองก็ได้
แม้หลังการรอคอย 10 ปี ของฉันจะสิ้นสุดลง แต่ตอนนี้ความคิดถึงลูก และความไม่สมหวังของฉันทั้งหมดที่ผ่านมาประเดประดังถาโถมเข้ามาหาฉันอย่างรวดเร็วอีกครั้ง...ฉันร้องไห้อีกแล้ว
ทรงศรี
อ่านเพิ่มเติม
[0] อ้างอิง Ep. 24 กาลครั้งหนึ่ง > Part 1 อีกแล้ว
[1]จดหมายจากการพลัดพราก
[2]4 รูปแบบของ Gaslighting ที่ต้องระวังในความสัมพันธ์
[3] ‘แฟนก็รัก แม่ก็เคารพ’ เมื่อครอบครัวไม่ยอมรับความสัมพันธ์ เราจะจับมือกันยังไงให้แน่นพอ?
[4]ชายไทยตกเกรด ถกสนั่นโซเชียล วิจารณ์ยับลูกแหง่ ไม่เป็นผู้นำ เทียบแฟนฝรั่ง
[6]พฤติกรรม 'ลูกนอนดึก-ตื่นสาย' ปัญหาที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญFacebook
[7] เมื่อครอบครัวไม่ใช่ Safe zone การเข้าใจและการรับมือกับพฤติกรรม Toxic parents
[8]ผลเสียของการ พูดประชดลูก พ่อแม่ต้องหยุด ถ้าไม่อยากให้ลูกเกลียด!
[9]กอดลูก...อย่างเข้าใจ
ผลงานอื่นๆ ของ Songthumsip ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ Songthumsip
ความคิดเห็น