"กิโยติน" (Guillotine) เป็นชื่อเรียกของอุปกรณ์การประหารชีวิตของชาวฝรั่งเศสที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อใช้ตัดคอนักโทษในอดีตแต่กลับมาเป็นที่รู้จักในปัจจุบันอีกครั้ง เมื่ออดีตเจ้าอาวาสใช้กิโยตินตัดคอตัวเองเสียชีวิตสนองตามความเชื่อเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแเด่พระพุทธเจ้าจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางว่าแท้จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นและสิ่งใดที่เป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้อดีดพระสงฆ์ที่ลาสิกขาก่อนแล้วตัดสินใจทำการอัตวินิบาตกรรมตนเอง ทั้งนี้ไม่มีใครรู้เท่ากับตัวของผู้ที่จากไปตามความเชื่อและศรัทธานั้น

Buddha          1. หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

              พุทธศาสนาถือว่าการฆ่าตัวตายไม่เป็นปาณาติบาตเพราะมิได้กระทำการฆ่าชีวิตอื่น อย่างไรก็ตามผู้ที่ฆ่าตัวตายด้วยความโกรธหรือด้วยกิเลสตัณหาราคะย่อมไปเกิดในอบายภูมิหรือนรกภูมิเพราะความรู้สึกที่ผิดนั้นอยู่ดี ทั้งนี้ในอดีตสมัยพุทธกาลเมื่อพระองค์ทรงทราบความจริงต่อกรณีพระภิกษุที่ฆ่าผู้อื่นและพระภิกษุที่ฆ่าตัวตายจึงได้ทรงตําหนิว่าการกระทํานี้ไม่สมควรแก่สมณเพศและได้ปรับอาบัติปาราชิกแก่พระภิกษุที่ฆ่ารูปอื่นตายแต่ไม่ได้ปรับอาบัติแก่พระภิกษุที่ฆ่าตัวตายแต่อย่างใด เนื่องจากว่าภาวะสมณะของพระภิกษุรูปนั้นได้ขาดสิ้นลงพร้อมกับความตายไปแล้ว ซึ่งกรรมใดที่กระทำไปเพราะโลภะโทสะและโมหะเป็นเหตุ กรรมนั้นย่อมเป็นอกุศลกรรมอันมีโทษโดยมีทุกข์เป็นผลและเกิดกรรมสืบต่อเนื่องไปอีก ส่วนกรรมใดที่กระทำไปด้วยอโลภะอโทสะและอโมหะเป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นย่อมเป็นกุศลกรรมอันไม่มีโทษโดยมีสุขเป็นผลและกรรมนั้นย่อมดับไป การปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำแต่หากปฏิบัติแบบผิดทางผิดจากหลักคำสอนก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวไม่น้อย

Pray          2. ลัทธิความเชื่อและแรงศรัทธา

              ผู้ตายได้เขียนจดหมายไว้ก่อนตายโดยระบุว่ามีความตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่เมื่อห้าปีก่อนแล้วว่าอีกห้าปีต่อมาจะดำเนินการสักการะบูชาพระพุทธเจ้าโดยการตัดศีรษะของตนเองเพื่อที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าตามความเชื่อส่วนตัว ซึ่งความเชื่อนี้จะถูกหรือผิดก็ตามทีเพราะในความจริงแล้วไม่เป็นประเด็นสำคัญต่อผู้ที่มีความเชื่อนั้น เหตุว่าได้ยึดถือในสิ่งที่ตนคิดและตัดสินใจเชื่อไปแล้วด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธา ซึ่งหากเป็นความเชื่อที่ผิดแล้วก็จะส่งผลให้เกิดแต่สิ่งลบหรือเกิดสิ่งไม่ดีต่อผู้ที่มีความเชื่อเองและสร้างปัญหาให้กับสังคมโดยรวมในเวลาต่อมา ดั่งที่เคยมีลัทธิความเชื่อต่าง ๆ นานาที่ผ่านมาหลายลัทธิที่ปลูกฝังความเชื่อที่ผิด ๆ ให้แก่ประชาชนจนเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายต่อสังคมตามมาในที่สุด แม้ว่าบางศาสนาจะมีการต่อต้านการฆ่าตัวตายในหลักคำสอนแต่ว่าก็ยังมีบางส่วนในหลักคำสอนที่ยอมรับต่อคนที่ยอมพลีชีพตนเองด้วยศรัทธาที่เข้มแข็งเพื่อผลประโยชน์โดยรวมต่อศาสนาแล้วจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งควรค่าแก่การกระทำซึ่งยังมีความย้อนแย้งกันในตัวอยู่

 

Sad          3. ความผิดปกติทางจิต

              การฆ่าตัวตายหรืออัตวินิบาตกรรมเป็นการกระทำให้ตนเองถึงแก่ความตายโดยตั้งใจที่มักเกิดจากภาวะซึมเศร้าซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางจิตที่อาจเป็นโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น หรืออาจเกิดจากการดื่มสุราและเสพสารเสพติดอย่างหนักและต่อเนื่องทำให้สารเคมีในสมองทำงานบกพร่องหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินไปจนทำให้บุคคลนั้นรู้สึกเศร้ามากขึ้นจนรู้สึกผิดที่มีชีวิตอยู่และไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ในบางเหตุการณ์แรงจูงใจก็มีทั้งความตั้งใจหรืออาจเกิดจากความกดดันจากครอบครัวและสังคมรอบข้างที่ต้องการทำไปเพื่อหนีจากความทุกข์ที่เผชิญอยู่ บ้างก็ต้องการประชดผู้อื่นที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อตนเอง รวมทั้งการแสดงความเด็ดเดี่ยวต่อความคิดความเชื่อของตนให้สังคมได้รับรู้ในความจริงจังนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สื่อต่าง ๆ และอินเทอร์เน็ตนั้นมีอิทธิพลอย่างมากจากการเสพข้อมูลที่ง่ายดาย รวดเร็วและซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อย่างมีความตลกร้ายซ่อนอยู่ในความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำมากขึ้นนั้น เพราะกลับมีกลุ่มที่มีความเชื่อในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงจนใกล้เคียงกับความเชื่อที่เป็นลัทธิค่อนข้างมากอย่างไม่น่าเชื่อจนอาจเกิดความเชื่อที่ผิดสืบต่อมาจนกลายเป็นการลอกเลียนแบบการฆ่าตัวตายขึ้นมาได้

            พระพุทธองค์ทรงติเตียนในเรื่องของการทำอัตวินิบาตกรรมหาได้ให้การสนับสนุนแต่อย่างใดไม่ ซึ่งในความจริงแล้วจะเห็นได้ว่าทุกคนนั้นรับรู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างแตกต่างตามความคิดของแต่ละคนจึงส่งผลให้การกระทำของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป แต่ตามหลักสัจธรรมแล้ว "ทุกคนย่อมมีกรรมเป็นของตน" ถึงแม้กรรมนั้นจะแตกต่างกันไปก็ตาม แท้จริงแล้วนั้นวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งผลบุญก็คือ "การเจริญสติและการเจริญสมาธิภาวนา" และกระทำในสิ่งที่ปราศจากโลภะโทสะและโมหะเป็นดีที่สุด ทั้งนี้หากเห็นคนอื่นทำผิดพลาดไปแล้วก็ไม่ควรให้อกุศลต่าง ๆ เกิดขึ้นในใจ แต่ควรไตร่ตรองพิจารณาชี้ทางที่ควรกระทำอย่างถูกต้องให้แก่ตนเองจะดีกว่าเพราะวันหนึ่งข้างหน้าก็อาจจะกระทำผิดพลาดไปได้เช่นกันและที่สำคัญก็ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า "การดับชีวิตตนเองมิใช่วิถีทางแห่งการตัดกิเลสหรือดับทุกข์!"

          เรื่องโดย  นรชนไท

          เครดิตภาพ

          ภาพปก  โดย kalhh จาก Pixabay

          ภาพที่ 1  โดย sasint จาก Pixabay

          ภาพที่ 2  โดย geralt จาก Pixabay 

          ภาพที่ 3  โดย geralt จาก Pixabay