ภูตหมอกควัน - นิยาย ภูตหมอกควัน : Dek-D.com - Writer
×

ภูตหมอกควัน

ภูตหมอกควันมีแค้นต้องชำระ ทว่าโชคชะตากลับชักพาเข้าสู่วังวนการชิงอำนาจของสองสำนักใหญ่ในพระนคร ภายใต้อุดมการณ์ต่างขั้ว พัวพันไปถึงราชสำนักและราษฎรในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ศึกนี้จะจบลงอย่างไร

ผู้เข้าชมรวม

6,557

ผู้เข้าชมเดือนนี้

118

ผู้เข้าชมรวม


6.55K

ความคิดเห็น


49

คนติดตาม


145
จำนวนตอน : 51 ตอน (จบแล้ว)
อัปเดตล่าสุด :  15 ก.พ. 67 / 20:10 น.

อีบุ๊กจากนิยาย ดูทั้งหมด

loading
กำลังโหลด...
ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ

เมฆ หมอก และควัน สามสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไร?

ขนาด? กลิ่น? สี? โดยเนื้อแท้อาจไม่แตกต่างกันนัก มนุษย์มักเปรียบเปรยสิ่งเหล่านี้กับมายาการ สิ่งที่มองเห็นอยู่ตรงหน้าแต่ไขว่คว้าไม่ได้ เพราะธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้นเอง!

ตัวละครในนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ บ้างแสวงหาอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง อุดมการณ์ ความปรารถนาทุกอย่างกระจ่างชัดในใจ แต่ความเป็นจริงอาจไม่มีวันได้มา

ได้มาแล้วจะเป็นไร?

ก่อกำเนิดความปรารถนาใหม่ต่อไปไม่สิ้นสุด มนุษย์ล้วนเกิดมาพร้อมความพร่องและความอ้างว้างที่ไม่มีวันเติมเต็ม

หรือชีวิตเป็นเช่นนี้เอง!

 

ค.ศ. 1633 ต้นรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง พระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในมหานครที่รุ่งเรืองที่สุดในโลกตะวันออก และเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นร่วมสามแสนคน

ทว่าภายในพระนครแห่งนี้เต็มไปด้วยการชิงอำนาจของสองสำนักใหญ่ในวงพวกนักเลง ได้แก่ คุ้มพระพรหม ที่ยืนยงมาหลายศตวรรษ เป็นตัวแทนราชสำนักควบคุมการค้าทางทิศเหนือกับทิศตะวันออก และหมู่ตึกอิสรา ซึ่งควบคุมการค้าทางทิศใต้และชายทะเล มีสายสัมพันธ์กับประชาคมต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และฮอลันดา

ในขณะเดียวกัน กรมท่าขวาของออกพระจุฬามีอำนาจควบคุมชาวเปอร์เซีย อินเดีย โปรตุเกส ชวา และมลายู คอยเป็นหูเป็นตาให้กับราชสำนัก พยายามควบคุมชนชาวนักเลงให้อยู่ในกรอบ แต่ก็ไม่พ้นการติดสินบน ฉ้อโกง และอื่น ๆ อีกนานัปการ

เมฆ ลูกผู้ดีตกอับ มีปัญญาความรู้แต่ไร้ทรัพย์ สี่ปีก่อนมันหายสาบสูญไปในสงคราม ทุกคนคิดว่ามันตายไปแล้ว สี่ปีต่อมา มันกลับสู่พระนครพร้อมพลังฝีมือพิสดารเพื่อสืบหาฆาตกรที่สังหารอาจารย์

ทว่าคนผู้นี้ไปมาลึกลับและได้รับการคุ้มครองจากค่ายสำนักใหญ่ ไม่อาจเข้าถึงตัว จนเมฆมีเรื่องบาดหมางกับคุ้มพระพรหมและหมู่ตึกอิสรา วีรกรรมของมันกลายเป็นที่โจษขานของชาวบ้านที่ถูกกดขี่โดยค่ายสำนักทั้งสอง

เรื่องราวกลับพัวพันซับซ้อนกว่าที่มันคาดคิด หมู่ตึกอิสราไม่เพียงต้องการเป็นใหญ่ในพระนคร ยังต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองอันเหลวแหลกในพระราชอาณาจักรแห่งนี้อีกด้วย ในขณะที่คุ้มพระพรหมพยายามรักษาโครงสร้างดังกล่าวไว้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ

คนตัวเล็กหัวเดียวกระเทียมลีบอย่างเมฆจะมีบทบาทอย่างไรในเกมนี้ โปรดติดตามอ่านได้ใน ภูตหมอกควัน หรือ เอียนกุ่ยอิงสงจ้วน (煙鬼英雄傳) ในภาษาจีนกลาง หรือ Smoking Hero ในภาษาอังกฤษ


 

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ผู้เขียนมีความคลั่งไคล้หลงใหลนิยายกำลังภายในมาตั้งแต่เด็ก จึงมีความใฝ่ฝันมานานปีที่จะสร้างสรรค์ผลงานแนวนี้ขึ้นมาบ้าง และด้วยความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมไม่ลองย้ายศูนย์กลางจักรวาลจากตงง้วน[1]มายังน่ำเอี๋ยง[2]บ้าง

 

“ยุทธภาพกว้างใหญ่ ไยต้องจำกัดเพียงแค่ตงง้วน”

 

คำว่า นิยายกำลังภายใน ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่กำลังภายใน (เน่ยกง 內功) เช่น การเดินลมปราณ (ชี่กง 氣功) และ วิชาตัวเบา (ชิงกง 輕功) แต่ยังมีกำลังภายนอก (ไว่กง 外功) แบบโคถึกอยู่ด้วย โดยรวมก็คือวิชาบู๊ หรือ อู่ซู่ (武術) ในภาษาจีนจึงเรียกว่า บู๊เฮียบเสี่ยวซัว (武俠小說 ก. อู่เสียเสี่ยวซัว) แปลตรงตัวได้ว่า นิยายวีรยุทธ์[3]อาจฟังดูเหมือนชื่อเพื่อนเราสักคน แต่ผู้เขียนสนับสนุนให้ใช้คำนี้มากกว่า

นักเขียนยุคบุกเบิกได้บัญญัติกฎการเขียนนิยายวีรยุทธ์ไว้อย่างเรียบง่ายคือ ต้องมีบู๊ (武 การต่อสู้) และต้องมีเฮียบ (俠 วีรชน) ที่เหลือละเลงกันตามสบาย จะเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ได้ แต่ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เรื่องอิงประวัติศาสตร์เริ่มมีมากจนไอเดียซ้ำกันได้ง่าย นักเขียนรุ่นใหม่จึงหาทางออกด้วยการสร้างสรรค์โลกสมมติขึ้นมา โดยมากมีอภินิหารตระการตาตามจินตนาการมนุษย์ยุค CG จนออกเป็นแนวแฟนตาซี หรือ เซียนเฮียบ (仙俠 ก. เซียนเสีย) มากกว่า

คำถามสำคัญคือ หากไม่ใช่เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินจีน จะสามารถเรียกว่านิยายวีรยุทธ์ได้หรือไม่ คำตอบก็ตามที่กล่าวไว้เบื้องต้น ผู้อ่านบางท่านอาจรู้สึกไม่คุ้นเคย ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยมีอะไรแบบนี้ด้วยหรือ แต่หากเป็นผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาโบราณ จะเข้าใจได้ว่าวิชาบู๊ของจีน นอกจากรากฐานจากลัทธิเต๋า ยังมีจุดร่วมหรือได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดียทั้งทางพุทธและฮินดู ซึ่งเผยแพร่มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเป็นการเดินลมปราณ (ปราณนี่ก็ภาษาสันสกฤต) การโคจรจักรทั้ง 7 ในร่างกาย การเจริญสมาธิ เข้าฌาน นั่งกรรมฐาน ศิลปะการต่อสู้ทุกแขนงในโลก ไม่ว่าจะเป็นมวย และเหว่ (Lethwei) สิลัต (Silat) ฯลฯ ล้วนสามารถเรียกว่าเป็นวิชาบู๊ได้ทั้งสิ้น

นิยายวีรยุทธ์ที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในประเทศไทยอาจไม่ใช่แนวใหม่เสียทีเดียว ก่อนหน้านี้มีนิยายอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่องพยายามเขียนออกมาแนวนี้ ได้แก่ ขุนศึก ของ ไม้ เมืองเดิม บุหงาปารี ของ วินทร์ เลียววาริณ คนจรดาบ ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง รวมทั้ง เสภาขุนช้างขุนแผน ก็จัดว่าเป็นแนววีรยุทธ์ได้เช่นกัน แต่ผลงานแนวนี้ยังมีจำนวนน้อยเกินไป เวลาจัดหมวดหมู่จึงมีความก้ำกึ่ง จีนกำลังภายในก็ไม่ใช่ ไทยพีเรียดก็ไม่เชิง หากมีผลงานมากกว่านี้ย่อมดีไม่น้อย

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่นิยายเรื่องนี้จะมีกลิ่นอายของบู๊เฮียบแบบตงง้วนอยู่บ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชาวจีนได้เข้ามาตั้งรกรากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนกลมกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นมานานหลายร้อยจนถึงพันปีแล้ว แม้แต่อยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคทองของชาวดัตช์ พงศาวดารฉบับวันวลิตยังกล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นชาวจีน (ไม่รู้ไปฟังมาจากใคร) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนต่อบ้านเมืองแถบนี้อย่างฝังรากลึก

แม่ไม้มวยไทยหรือเพลงกระบี่กระบองที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ โดยมากเป็นการรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ (ไม่ถึงกับประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด) ในสมัยรัตนโกสินทร์ประมาณ 150 ปีที่ผ่านมานี่เอง ดังนั้นนิยายเรื่องนี้จึงไม่อิงตามทำเนียบแม่ไม้ 385 ท่ามากนัก วิชา กระบวนท่า ค่ายสำนัก ที่ปรากฏในเรื่องโดยมากแต่งขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียน ไม่มีอยู่จริง แต่หากมีข้อมูลอ้างอิงที่มาจะแนบเชิงอรรถ (footnote) ไว้ให้ผู้อ่านได้พิจารณาเสมอ

ผู้เขียนเป็นมนุษย์น่าเบื่อผู้ยึดมั่นใน realistic & scientific รสนิยมในการเขียนก็เป็นเช่นเดียวกัน นิยายเรื่องนี้จึง ไม่มี ฉากอภินิหารยิงแสงเลเซอร์กันเฟี้ยวฟ้าว พึมพำบริกรรมคาถาทั้งที่ไม่เข้าใจเพื่อเสกหนังควายเข้าท้อง ไม่มีโหงพราย กุมารทอง หรือการเหาะเหินเดินอากาศ แต่ความเหนือจริงยังคงมีอยู่บ้างเป็นอรรถรส และระบุวันเดือนปีด้วยคริสต์ศักราชเป็นหลัก โดยเทียบเคียงจากเอกสารหลายแหล่งให้แม่นยำที่สุดเท่าที่ได้ แต่ในส่วนของการบรรยายจะใช้ปฏิทินจันทรคติของไทยหรือจีน แล้วแต่บริบท

สำนวนภาษาของผู้เขียนได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก ว. ณ เมืองลุง และ น. นพรัตน์ ถอดเสียงภาษาจีนเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว เน้นความกระชับและเข้าใจง่าย อาจไม่ตรงกับภาษาที่ใช้จริงในยุคสมัยนั้น (ถ้าเคยอ่านเอกสารร่วมสมัยจะเข้าใจ) แต่พยายามคงกลิ่นอายให้สมจริงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ในส่วนของเนื้อเรื่อง ผู้อ่านบางท่านอาจสัมผัสได้ถึงอิทธิพลจากผลงานของยอดนักเขียนสี่ท่านที่ผู้เขียนยึดถือเป็นแรงบันดาลใจ ได้แก่ กิมย้ง โกวเล้ง อุนสุยอัน และเนี่ยอู้เซ็ง จุดไหนมีส่วนคล้ายก็คือจงใจให้คล้าย ไม่ได้คิดปิดบังอะไร เชื่อว่าผู้อ่านส่วนมากมีวิจารณญาณ สามารถแยกแยะได้ว่านิยามของคำว่า ลอกเลียนแบบ คืออะไร

นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของผู้เขียน หวังว่าจะสร้างความสุขสนุกสนานให้กับผู้อ่านทุกท่าน หากมีข้อผิดพลาดประการใด ยินดีรับคำติชม และขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านวรรณกรรมเพื่อมนุษยชาติ(ไหน)เรื่องนี้ครับ

  • ตอนที่ 1-10 อ่านฟรี
  • ตอนที่ 11 เป็นต้นไป อ่านฟรี 48 ชั่วโมงก่อนติดเหรียญ


สำหรับผู้อ่านที่สนใจฉบับรูปเล่ม (เล่ม 1)

สามารถสั่งซื้อได้ที่เพจ Nanyangxie 南洋邪 www.facebook.com/Nanyangxie

หรือฉบับ e-book ได้ที่ https://novel.dek-d.com/ebook/4939/


[1] 中原 (ก. จงหยวน) ที่ราบตอนกลาง ศูนย์กลางอารยธรรมจีน

[2] 南洋 (ก. หนานหยาง) หรือทะเลใต้ เป็นชื่อเรียกทางภูมิศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[3] 武 = ยุทธ 俠 = ผู้กล้า, วีร- (ไม่ใช่ วร- ซึ่งแปลตรงตัวว่า พร, ประเสริฐ)

นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

loading
กำลังโหลด...

อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

loading
กำลังโหลด...

คำนิยม Top

ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

คำนิยมล่าสุด

ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

ความคิดเห็น