“โอยย ทำไมเลขมันเยอะแบบนี้วะเนี่ย”
“เรียนอะไรฟระเนี่ย แมร่ง ไม่มีภาษามนุษย์เลย ปวดหัววว”
“เห้อ
..มีแต่ทฤษฎีเต็มไปหมด เรียนไปก็เอาไปใช้ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีประโยชน์เลย”
ข้อความในเครื่องหมายคำพูดไม่ใช่คำที่ผู้เขียนอุปโลกขึ้นมา แต่เป็นคำพูดที่เคยได้ยินออกมาจากปากบรรดาเพื่อนๆ พี่ๆ หรือน้องๆ  ที่เรียนร่วมสาขาเดียวกัน  ในความเห็นของผู้เขียน ที่มาของบรรดาเสียงบ่นเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็คงมาจากการที่ขาดความเข้าใจในลักษณะและเป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์  ซึ่งการขาดข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการเลือกคณะ และนำไปสู่ความเบื่อหน่ายในการเรียน  ดังนั้นบทความนี้จึงต้องการที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์โดยพยายามให้ครอบคลุมที่สุด
เศรษฐศาสตร์คืออะไร??
ถ้าจะว่ากันตามตำราแบบเป๊ะๆ เศรษฐศาสตร์ก็คือวิชาที่ว่าด้วยการหาหนทางจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อมาตอบสนองความต้องการของคนในสังคม
.แต่สำหรับตัวพี่เอง อยากจะนิยามเศรษฐศาสตร์อย่างสั้นๆว่า
เศรษฐศาสตร์ก็คือวิชาที่ว่า “ปากท้อง” ของคนในสังคม
เมื่อเป็นวิชาที่ว่าด้วยปากท้อง เศรษฐศาสตร์จึงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ก็คือ การผลิต การบริโภค และการแลกเปลี่ยน ฯลฯ ซึ่งหน้าที่อันสำคัญของเศรษฐศาสตร์ก็คือ การที่จะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ หาชุดคำอธิบายอย่างมีเหตุและผล เพราะการทำความเข้าใจพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์หนึ่งๆ ย่อมที่จะทำให้เราสามารถเฟ้นหานโยบายที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์หนึ่งๆได้
ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงมีฐานะที่เป็น “ศาสตร์เชิงนโยบาย (Policy Science)” เป็นวิชาที่พยายามหาหนทางที่จะนำพาสังคมไปในทางที่ดีขึ้น คนในสังคมมีปากท้องที่ดีขึ้น และต่างก็อยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
แล้วเรียนอะไรบ้าง??
ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ก็คือ ค่อนข้างจะมีลักษณะที่เป็นศาสตร์เชิงวิชาการ ดังนั้นผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์จะต้องเรียนทฤษฎี ทฤษฎี และทฤษฎี เพื่อที่จะทำให้ผู้ที่เรียนสามารถเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้  และสามารถที่จะหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในแต่ละเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสม
ดูๆไปแล้วที่เขียนมามันช่างดูไกลตัวเหลือ
แต่จริงๆแล้วเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าทึ่คิด เพราะเราเองทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่อยู่ในสังคม ดังนั้นการที่เราเข้าใจสังคมที่เราอยู่ดีขึ้นก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแน่นอน
และที่ขาดไม่ได้ก็คือเครื่องมือในการวิเคราะห์ เศรษฐศาสตร์ได้ชื่อว่าเป็น “ศาสตร์ที่แข็ง(Hard Science)” กล่าวคือเป็นวิชาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกเลยที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จะเต็มไปด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์  และวิธีการทางสถิติยั้วเยี้ยเต็มไปหมด ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นเครื่องมือของนักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการสร้างทฤษฎี รวมถึงการประมาณแบบจำลอง เพื่อใช้ในการคาดการณ์ผลกระทบของปัจจัยต่างๆ
แต่สำหรับน้องๆที่ไม่เก่งคณิตศาสตร์หรือสถิติก็อย่าพึ่งรู้สึกท้อแท้ว่าตนเองไม่สามารถที่จะเรียนเศรษฐศาสตร์ได้  เพราะพี่เองก็เป็นคนหนึ่งที่อ่อนวิชาคณิตศาสตร์มาก ขนาดที่เรียนได้เกรด 1 มาตลอด 6 เทอมในสมัยมัธยม เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีก็ได้เกรด D ในวิชาจำพวกแคลคูลัสและสถิติมาตลอด  แต่พี่เองก็ยังเรียนเศรษฐศาสตร์ได้ตลอดรอดฝั่งจวบจนทุกวันนี้
สิ่งที่พี่ต้องการจะสื่อก็คือ การที่เราเก่งเลขใช่ว่าเราจะประสบความสำเร็จในการเรียนเศรษศาสตร์ เพราะเลขไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เลข เลขเป็นเพียงเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ซึ่งถ้าเราเข้าใจใน concept ของวิชาเศรษฐศาสตร์แล้ว แม้จะเจอเทคนิคทางคณิตศาสตร์บ้าง เราก็จะสามารถแก้ไขมันได้อย่างลุล่วง 
โอเค เราอาจจะเก่งเลขมากๆสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐศาสตร์ที่ใช้เลขได้ แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราขาดความเข้าใจในตัวทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ บางคนถึงแก้ได้คำตอบออกมา ก็ไม่สามารถที่จะระบุถึงนัยยะในเชิงทฤษฎีและนโยบายของข้อนั้นๆได้ ซึ่งเป็นการเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง  อย่าลืมว่าเศรษฐศาสตร์เป็นสังคมศาสตร์ เราจะต้องเรียนมันไปเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมนะครับไม่ใช่ไปตอบประมาณว่าข้อนี้คิดได้ 4 ได้ 5 แล้วจบกัน
สิ่งที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์จะต้องเรียนในเบื้องต้นก็คือวิชาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค มหภาคขั้นพื้นฐาน ก่อนที่จะไปเรียนเศรษฐศาสตร์จุลภาค มหภาคในขั้นกลาง รวมถึงต้องเรียนวิชาพื้นฐานจำพวกสถิติและแคลคูลัส วิชาคณิตเศรษฐศาสตร์  ส่วนในปีหลังๆก็จะเริ่มเรียนแบบเจาะเอกซึ่งตรงนี้ก็จะเรียนแขนงวิชาเฉพาะเพื่อให้ผู้ที่เรียนเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน และในปีสุดท้ายก็จะเรียนวิชาที่ว่าด้วยระเบียบวิธีวิจัยปิดท้าย
วิชาสุดท้ายถือว่าเป็นวิชาสำคัญมาก เพราะนักเรียนเศรษฐศาสตร์จะต้องเป็นผู้ที่สามารถทำวิจัยได้  การวิจัยเนี่ยแหละจะเป็นการประมวลความรู้ที่มีอยู่ของเราและนำมันไปใช้จริง ซึ่งการทำวิจัยที่ดีสามารถทำให้เราเข้าใจเรื่องราวต่างๆในสังคมได้มากขึ้น รวมถึงสามารถที่จะเสนอแนะทางออกให้แก่ปัญหาที่กำลังพิจารณาอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร??
เป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คือการฝึกฝนผู้ที่เรียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า เรียนเศรษฐศาสตร์แล้วจะไปเป็นอะไร พี่ก็อยากจะตอบว่าก็ต้องไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์สิครับ  แต่ใช่ว่าทุกคนที่เรียนจะต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์เสมอไป และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ก็ยังมีประโยชน์กับเราแน่นอน
อย่างที่บอกไปแล้วว่าเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์เชิงวิชาการ ไม่เหมือนบางสาขาที่มีลักษณะเป็นวิชาชีพ ดังนั้นคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มักจะบ่นว่าวิชาตัวเองตลอดว่าเรียนไปก็เอาไปใช้ไม่ได้ เพราะเรียนแต่ทฤษฎีไม่เห็นสอนวิธีหรือทักษะในการทำงานเลย ซึ่งพี่คิดว่าคนที่พูดเช่นนี้คงผิดพลาดในบางประเด็น  เราควรจะต้องตีความคำว่า”เอาไปใช้จริง”ก่อนว่ามันหมายถึงอะไร
สำหรับวิชาเศรษฐศาสตร์การ ”เอาไปใช้จริง” ก็คือการนำความรู้และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ในการวิเคราะห์ วิจัยเรื่องราวและปัญหาต่างๆ  ผลิตผลงานวิจัย หนังสือ หรือบทความต่างๆเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม
แต่ไม่ได้หมายความว่าเรียนเศรษฐศาสตร์มาแล้วจะต้องไปเป็นนักวิจัย อาจารย์หรือนักวิชาการเท่านั้น เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์เองก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายระดับ  สิ่งที่เศรษฐศาสตร์จะสอนเราก็คือ ทำให้เราเป็นคนที่คิดอะไรอย่างเป็นระบบ และมีเหตุผล อีกทั้งทำให้เราเป็นคนที่มีความรอบคอบในการที่จะทำสิ่งต่างๆด้วย
ถึงแม้ว่าในด้านทักษะการทำงานในแบบต่างๆ เศรษฐศาสตร์อาจจะไม่ได้ให้ในจุดนี้มากนัก แต่สิ่งที่เศรษฐศาสตร์จะให้เราก็คือการที่สอนให้เราเป็นนักคิด  เข้าใจและสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเราได้อย่างลุ่มลึก และมีเหตุมีผล ดังนั้นแล้ว การเรียนเศรษฐศาสตร์โดยเปิดใจให้กว้างโดยที่อย่าพึ่งไปบ่นใส่มัน พี่ว่ามันจะต้องเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนครับ 
สำหรับประสบการณ์ของพี่ บรรดาเพื่อนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยกันก็ต่างพากันทำอาชีพที่หลากหลายแตกต่างกันไป  บางคนไปเป็นโบรกเกอร์อยู่ในสถาบันหลักทรัพย์  ทำงานธนาคาร  เป็นเจ้าที่ในองค์กรต่างๆ อยู่ในฝ่ายจำพวก ฝ่ายงบประมาณ ฝ่ายบุคคล  บางคนก็ทำกิจการส่วนตัว ไปทำเวบไซต์ก็ยังมี  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรียนจบเศรษฐศาสตร์ไปสามารถไปทำงานได้หลากหลาย 
มันสำคัญที่ว่า ถ้าเราชอบและรักสิ่งที่เรียนมันต้องมีหนทางสำหรับเราแน่นอนครับ ขอให้น้องเปิดใจให้กว้าง เพราะอย่างไรก็ตามเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีประโยชน์แน่นอนครับ และที่สำคัญคือเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้เรานึกถึงสังคมส่วนรวมอีกด้วยครับ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราชอบเศรษฐศาสตร์หรือไม่??
อันนี้พี่ว่าตอบยากนะเนี่ย  แต่ส่วนหนึ่งก็ลองอ่านบทความอันนี้แล้วลองคิดๆดูซิว่าเราพอจะรับมันได้หรือไม่  และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกพี่ว่าลองไปหาตำราเศรษฐศาสตร์ไปเปิดๆ พลิกๆอ่าน แล้วลองเชคซิว่าเราพอจะรับมันได้มั๊ย ที่จะต้องเรียนแบบนี้  พี่ว่ามันสำคัญนะครับสำหรับการที่เราจะต้องหาข้อมูลของสิ่งต่างๆให้ครบถ้วน ไตร่ตรองมันให้ดีก่อนที่จะเรียนมัน
สำหรับประสบการณ์ของพี่เองถือว่าโชคดีมากๆ เพราะพี่เองก็เป็นคนหนึ่งที่เรียนเศรษฐศาสตร์แบบตาสีตาสา  ซึ่งในตอนปีแรกๆพี่ไม่ได้มีความชอบในวิชาเศรษฐศาสตร์เลย  แต่พอมาช่วงหลังๆพี่ลองเปิดใจและเรียนมันดูพี่ก็พบว่ามันสนุกกว่าที่คิด ทำให้พี่รักและชอบเศรษฐศาสตร์จนมาถึงทุกวันนี้  เราจะไม่รู้ว่าเราชอบอะไรเลยจนกว่าเราจะลองทำมันครับ
ทิ้งท้าย
..แต่ไม่ท้ายสุด
สิ่งที่พี่อยากจะทิ้งไว้ก็คือ การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ดี แต่มันจะดีขึ้นไปอีกถ้าเราได้เรียนในสิ่งที่เรารักและเราชอบ ถ้าเราเรียนในสิ่งที่รักและชอบแล้ว การเรียนของเราก็จะเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และทำให้เราไม่เบื่อหน่ายกับการเรียนเกินไป
เพราะทุกวันนี้พี่ก็รู้สึกเบื่อ กับการที่นักเรียนนิสิต นักศึกษา มาเรียนก็เพื่อมาสอบ สอบให้ผ่านๆ เรียนให้จบ เอ็นท์ให้ติด เรียนให้ได้เกรดงามๆ จบมาหางานเงินเดือนดีๆ ใช้ชีวิตไปมาตรฐานที่สังคมกำหนดโดยที่ไม่ได้คิดอะไร ดังนั้นสิ่งที่พี่อยากจะเห็นก็คือ ขอทุกคนได้เรียนในสิ่งที่ชอบ มีความฝันและพยายามไขว้คว้ามันให้ได้ 
พี่เชื่อว่าทุกคนทำได้ครับ!!!
ป.ล.
1)ตอนนี้งานเขียนส่วนใหญ่ของพี่อยู่ใน blog นะคร้าบ ขอเชิญน้องๆติดตามได้ที่ http://gelgloog.blogspot.com จะให้ดีก็ช่วยโพสต์ช่วย comment ติชมกันหน่อยนะคร้าบ)
2)เศรษฐศาสตร์ : มุมมองจากพี่แก่ๆ(ภาคซีรี่ส์) มาแล้วนะครับ คราวนี้มาเป็นตอนๆ ไม่มีกำหนดจบ และไม่มีกำหนด update ด้วย 555 ขอเชิญน้องๆติดตามได้ที่ http://www.dek-d.com/entertain/view.php?id=113453 ได้เลย
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น