MintCullen
ดู Blog ทั้งหมด

[P] ตรุษจีน 2016

เขียนโดย MintCullen
แทบทุกครั้งที่กลับไปพิจิตร จะกลับวันเสาร์เช้ามืด
แล้วก็มักจะเดินทางกันสามคน พ่อ แม่ ลูก มีแมวที่ไม่เชิงว่าจะเฝ้าบ้านอยู่ตัวหนึ่ง บางครั้งก็จะมีแขกรับเชิญพิเศษมาด้วยคือญาติที่กลับด้วยคน บางครั้งก็พี่สาว บางครั้งก็พี่ชาย แล้วแต่ความสะดวก(ของเขา)

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 เทศกาลตรุษจีน 

ตีห้าครึ่ง ล้อหมุน (ไม่รู้ทำไมต้องล้อหมุน เข้าเกียร์D เหยียบคันเร่ง ปลดเบรกมือ ทำไมไม่ใช้กัน) ก็เอาเป็นว่าล้อหมุน ตอนประมาณตีห้า มั้ง ไม่แน่ใจ

การเดินทางเริ่มต้น

แล้วก็หลับตลอดทาง ก็มันง่วงนี่ ตอนกลางคืนใครๆก็เป็น ง่วงจัง ขอเล่นโทรศัพท์อีกนิดหน่อย เดี๋ยวก็นอน กลายเป็นว่าตาสว่างถึงตีสาม 

แหม ก็ยังดีที่อยู่ในรถด้วยจนถึงบ้านคุณย่าแล้วกัน

ได้ยินว่าร่างกายคนเรามีนาฬิกาชีวิตที่จะตื่นกี่โมงก็ได้ตามที่อยากตื่น ส่วนตัวร่างกายคิดว่ามีจีพีเอสชีวิต ที่พอถึงรูปปั้นจระเข้สองตัวนั้นทีไร เราจะตื่นมาดูมัน ให้รู้ว่าใกล้แล้วนะ แล้วก็หลับต่อ

เดิมทีไม่มีหรอก รูปปั้นจระเข้สองตัวนั้น แต่จู่ๆห้าหกปีที่ผ่านมามันก็มายืนอยู่ที่เกาะกลางถนน หลายตัวเลย ทีนี้ล่ะมีรูปปั้นจระเข้ทั้งจังหวัด จะตัวเล็กตัวใหญ่ตัวปานกลาง มีทุกที่ เหมือนเขาจะกลัวว่าตื่นมาแล้วนักท่องเที่ยวจะเข้าใจผิดคิดว่าอยู่เชียงใหม่ แต่รูปปั้นทุกตัวมีสไตล์แตกต่างกัน ชนิดที่มองปราดเดียวก็รู้ว่า สามสี่ตัวนั้นน่ะ สั่งทำที่เดียวกัน ส่วนอีกโหลนั่นสั่งทำอีกที่ ถ้าทริปไหนตื่นจะถ่ายรูปมา

ที่บ้านเราเป็นครอบครัวคนจีน เรื่องราวก็เหมือนคนจีนทั่วไปที่มากับเสื่อผืนหมอนใบใต้ท้องเรือสำเภา ประวัติค่อนข้างยาวนาน มากจนคุณย่าลืมไปแล้ว แต่สุดท้ายก็มาลงหลักปักฐานที่พิจิตรนี้ 







ดังนั้น พอมีเทศกาลทีไร ก็จะเกิดการรวมญาติขึ้นอย่างยิ่งใหญ่(ในความรู้สึก) ก็มันอุ่นใจดีนี่ เห็นญาติพี่น้องอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ถึงที่นี่จะพูดจาเสียงดังใส่กันไปบ้าง คำพูดเหมือนจะไม่ค่อยเข้าหูไปบ้าง แต่ก็อบอุ่นดี ยิ่งเวลามีปัญหา พวกเราทุกคนไม่เคยมีใครทิ้งกัน อยู่ด้วยกันจนกว่าจะปัญหาจะคลี่คลาย

ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่เรามาไหว้บรรพบุรุษของเรา บ้านเรามีสองบ้าน ต่อจากนี้ขอเรียกว่า บ้านนู้น กับบ้านนี้ 

นี่คือรูปถ่ายหน้าบ้านนี้ นี่ถ้ากลับมาดูต้องหิวแน่ๆ แต่ตอนนี้เพิ่งกลับมาหลังจากกินไม่ยั้ง เลยไม่ค่อยอยากเท่าไหร่ ระยะปลอดภัย 




ถัดไปบ้านข้างๆก็เป็นบ้านเหมือนกัน ประกอบธุรกิจอย่างเดียวกัน (แต่เขามาทีหลังนะ) 
ส่วนใหญ่ลูกค้าของบ้านนี้จะขับมอเตอร์ไซค์มากิน นานๆทีจะขับรถบัสมาเพราะทัวร์ลง แต่ในวันเวลาปกติก็จะดูเวียดนามแบบนี้แหละ นี่ถ่ายตอนสายๆ คนก็น้อยแล้ว คนที่นี่ขยัน ตื่นเช้ากันมาก 






ส่วนนี่คือรูปบ้านนี้ ถ่ายออกไปเห็นบ้านนู้นด้วย ลูกค้าหลายคนแวะสองบ้าน แวะบ้านนี้ก่อนแล้วค่อยไปแวะบ้านนู้นตามประสาของหวานจะมาทีหลัง แต่ป้า(เจ้าของบ้านนี้) เล่าว่า เดี๋ยวนี้วัยรุ่นกินขนมกันมากกว่ากินข้าว เพราะคิดเอาว่าจะอ้วนน้อยลง เลยแวะแต่บ้านนู้น ไม่มาแวะบ้านนี้ ป้า(เจ้าของบ้านนู้น)ก็อื้อซ่าเลยทีนี้ ป้าสองคนก็เลยมีงอนๆกันบ้างอยู่ช่วงหนึ่ง 

กลับมาที่ความเป็นตรุษจีนบ้าง

พอเป็นตรุษจีน สิ่งที่หลายคนจะนึกถึงคืออั่งเปา เราจะได้รับการอิจฉาริษยาจากเพื่อนคนไทยแท้ๆอยู่เสมอว่าไปรับตังค์อีกแล้วล่ะสิ ตอนเด็กๆก็ไม่ได้คิดอะไร แค่กระดาษสองสามใบใส่ซอง พอโตขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนือกว่า เบ้ปากบอกเพื่อนว่าก็ไม่รู้สินะ



จริงๆนะ พอมาถึงตรุษจีนก็มักจะคิดถึงสิ่งนี้ ขนมเทียน กับขนมเข่ง 
ปีนี้เหมือนจะบางตาลงไป คงเพราะเข็ดจากปีที่แล้ว ซื้อมาเยอะแล้วเหลือบานตะไท บวกกับสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่
แต่ว่าก็ว่าเถอะนะ เป็นคำเตือนสำหรับคนกรุงเทพเลย ว่าถ้าเมื่อไหร่ไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะไปบ้านคนรู้จัก อย่าได้เผลอไปพูดเชียวว่า "ชอบอันนั้น" "อันนี้อร่อยมาก" "อยากกินอีก" เพราะนอกจากจะได้กินจนจะกลายร่างเป็นสิ่งนั้นแล้วยังจะมีกลับบ้านเผื่อกินได้อีกสามเดือนเหมือนเขาเห็นเราจะไปจำศีล เป็นความน่ารักของคนต่างจังหวัดที่หาไม่ได้ในกรุงเทพ แดนศิวิไลซ์อะไรๆก็เป็นเงินเป็นทอง

ทีนี้ก็มีเรื่องอีกแหละ ขนมเทียนบ้านนู้น กับขนมเทียนบ้านนี้ ซื้อกันคนละเจ้า ราคาต่างกัน รสชาติต่างกัน เพราะแต่ละบ้านชอบไม่เหมือนกัน เราในฐานะหลานสาวคนเล็กมักจะโดนถามว่าแบบแย็บๆว่าของบ้านไหนอร่อยกว่า เราก็ต้องเอาตัวรอดด้วยการเลือกสถานที่ ถ้าไปกินบ้านนู้น ของบ้านนู้นก็จะ "ห่อสวย รสชาติกลมกล่อม" แต่ถ้ามากินบ้านนี้ก็จะ "อร่อย ไส้รสชาติเข้มข้น แป้งก็นิ่ม"

รูปนี้เป็นขนมเทียนของบ้านนี้ เพราะหาของบ้านนู้นไม่เจอ ไม่รู้ว่าเขากินกันหมดแล้วหรือเอาไปไว้ที่ไหน  

รู้มั้ยว่าขนมพวกนี้ทำยาก วุ่นวายไม่แพ้พวกเบเกอร์รี่ร้านดังๆในห้างหรอก แต่ราคาต่างกันมาก ขนมเทียนของบ้านนี้ซื้อมาจากป้าสักคนในตลาด ในช่วงเทศกาลตรุษจีนขายโลละร้อย แต่เวลาปกติจะทำอันเล็กเท่านิ้วโป้ง ขายอันละบาท 

ส่วนขนมเข่งเหรอ หึ ไม่ชอบอะ เลยไม่ถ่ายมา มันก็แค่ก้อนแป้ง อย่าไปใส่ใจ (แต่ถ้าเอาไปชุบไข่ทอด ค่อยว่ากันอีกที)




ตอนเช้าวันอาทิตย์ คือวันไหว้ ก่อนจะไหว้บรรพบุรุษ ก็จะต้องมาไหว้ท่านทั้งสองนี้ ซึ่งจนป่านนี้เราก็ไม่รู้ว่าท่านเป็นใครมาจากไหน แต่อ่านจากป้ายก็คือเล่าแป๊ะ เล่าอึ๊ม (เล่า ภาษาจีน แปลได้ทำนองว่า แก่สุด เก่าสุด อะไรประมาณนั้น) ท่านทั้งสองก็คงจะเก๋าสุดในซอยนี้ คนจีนมาไหว้กันทุกปีด้วยอาหารแบบที่เห็น หมูเห็ดเป็ดไก่ผลไม้น้ำชาปุยฝ้ายไข่ต้ม ที่เห็นนี่แค่ของสองบ้านเท่านั้น เพราะพอมาไหว้ เราก็จะวางไว้สักพัก ให้เล่าแป๊ะเล่าอึ๊มกินให้อิ่มก่อน สักพักค่อยมาลา มาลาคือ เอาของกลับ ได้เวลาเรากิน ข้างๆนั้นคือป้าของบ้านนี้



ส่วนนี่คือคุณอา ของใครก็ไม่รู้





ดูแบบนี้ก็ว่าเยอะแล้ว แต่นี่แค่ส่วนหนึ่งของที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษที่บ้านนี้เท่านั้น ในส่วนของภาพเต็มนั้น





เออ... ของบ้านนี้ดูน้อยแฮะ

ส่วนอาหารอื่นๆ ก็แล้วแต่ว่าเราอยากจะกินอะไร (หรือในบางรายบรรพบุรุษมาบอกกันในฝันก็มี) ก็ทำอันนั้น แต่นี่เหมือนเห็นหมี่ซั่วทุกปีเลย แล้วก็ไม่กินทุกปีเหมือนกัน มันเหม็นอะ แล้วก็ไม่ได้ถ่ายมาด้วย ไม่ชอบ



อันนี้ของบ้านนู้น (นั่นไง มุมขวาบน หมี่ซั่ว แย่จริงๆ)

แต่คิดดูแล้วกัน ว่านี่แค่ของบ้านนี้เอง ยังมีของบ้านนู้นอีก บางบ้านอาจจะบอกว่าโห แค่นี้เอง แต่คิดสภาพความเป็นจริงตอนเราต้องรับผิดชอบมันทั้งหมดด้วยสิ

ในแต่ละปี นอกเหนือจากอาหารภาคบังคับอย่างหมูเป็ดไก่ไข่เหล้าน้ำชาแล้ว ก็จะมีข้าวเป็นก้อนๆ ตอนเด็กๆคิดว่ามันทำยากมากเลย แต่โตขึ้นมาสนุกดี ใครอยากลองก็ลองทำได้ที่บ้าน เอาถ้วยเล็กๆสองอันขนาดเท่ากัน ใส่ข้าวอัดเข้าไปแล้วโปะลงมาทับอีกอัน เอาตะเกียบปัก แค่นั้น

(แต่พอจะกินจริงๆก็เทแล้วตักใหม่นะเฮ้ย อย่าเอาตะเกียบปัก ตะเกียบปักนั้นของผี) 





ที่มีเจ๊คนนึงกำลังหยิบอยู่นั้นเรียกว่า แฮกึ้น (ที่ก็งงว่าทำไมใช้ไม้โท ทั้งที่เวลาออกเสียงคือ แฮกึ๊น แต่ประเพณีไม่เคยผิด ก็ตามๆเขาไปแล้วกัน) ซื้อมาจากกรุงเทพ มีไส้เผือก กับไส้กุ้ง ก่อนจะกินต้องเอามาทอด ไอ้เนี่ย หมดในพริบตาเลย มันหยิบกินง่ายดีมั้ง  

ไหว้เสร็จ ลาเสร็จ ก็ถึงเวลาสนุกสนานของเด็กๆ คือช่วงเวลาทำลายข้าวของด้วยการจุดไฟเผา




เด็กที่บ้าน

ตอนเราเด็กๆก็ชอบนะ ชอบดูมันไหม้ ไม่รู้ทำไม โตขึ้นมายังคิดอยู่ทุกวันว่าหรือเราจะโรคจิต แต่ให้มาเผาอะไรที่บ้านก็ไม่อยากเผานะ สรุปสภาพจิตใจปกติ






เป็นขั้นตอนสุดท้าย(ก่อนจะได้กิน) ว่า ส่งเงิน ส่งทอง คือการเผาอะไรพวกนี้แหละส่งไปให้บรรพบุรุษได้เอาไปใช้บนสวรรค์ บางอย่างเราเข้าใจนะ เช่นธนบัตรใบละล้านแบบนี้ ปู่ๆย่าๆก็คงได้ใช้กัน แต่ก้อนๆทองๆ กับแผ่นทองนี่สิจะเอาไปทำอะไร เคยถามพ่อ พ่อก็บอกว่าพ่อไม่รู้เหมือนกัน แม้จะเผามานานกว่าเราหลายปีก็ตาม 

เดี๋ยวนี้ตามห้างก็ดูจะสนุกสนานใหญ่ มีรองเท้า มีเสื้อ มีบัตรเครดิต ดูจากลายก็รู้ว่าที่ต้องเผาเพราะเราคงไม่ใส่กัน คุณปู่ของเราจะต้องเฟี้ยวมากแน่ๆ มีแบรนด์ด้วย


พอหมดพิธีการ ก็ถึงเวลากิน พิธีทุกอย่างจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้า และส่วนใหญ่จะจบลงก่อนเที่ยง ตรุษจีนนี้ไม่ค่อยเคร่งเท่าไหร่ เราแอบย็อบๆแย็บๆกินกันก่อนได้ แต่มันมีงานหนึ่ง ของคนจีนเหมือนกัน จำไม่ได้แล้วว่าเทศกาลอะไร แต่หิวไส้กิ่วเลย ต้องรอจนกว่าเทียนจะดับธูปจะหมดถึงลาแล้วกินได้ 

หมดแค่นี้ สำหรับตรุษจีนของปีนี้ ลูกหลานคนจีนขอให้ได้อั่งเปากันเยอะๆ ส่วนลูกหลานคนไทยก็ขอให้อิจฉากันเยอะๆนะ 













ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น