ปากถือศีล
ผู้เข้าชมรวม
146
ผู้เข้าชมเดือนนี้
1
ผู้เข้าชมรวม
ปากถือศีล
มันเป็นความรู้สึกที่ดีอย่างยิ่ง กับการที่ผมได้รับเกียรติจาก อาจารย์หมอ ธเนศ และกรรมการชมรมฯ บางคน ที่เชิญให้ผมไปร่วมงานกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทครั้งแรก ของชมรมสัตวบาลอาสา ผมยังจำได้ดีว่า ก่อนที่ผมจะได้ไปร่วมทำกิจกรรมของชมรมในครั้งนี้ ทางกรรมการ และสมาชิกชมรม ได้มีการประชุมและถกเถียงเรื่องการให้ ผมไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ อย่างเผ็ดร้อน
“ไอ้ขลุ่ย มันไม่ได้เรียนในสาขาเรามันจึงไม่ควรได้สิทธิในการออกค่ายใน ครั้งนี้” กรรมการ ชมรมบางคนพูด ในที่ประชุม
แต่ในที่สุดผมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยไม่มีใครกล้า คัดค้าน เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาของชมรม และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งชมรมเป็นคนเสนอชื่อ ให้ผมเข้าไปกับการออกค่ายอาสาโดยให้เหตุผลกับทุกคนว่า “ขลุ่ย เป็นคนมีความสามารถ จะช่วยงานด้านมวลชน ประสานกับหน่วยราชการและผู้นำท้องถิ่นได้”
ค่ำของวันที่ 14 ตุลาคม 2523 นักศึกษาคณะเกษตร กว่าร้อยคน ได้เตรียมเสบียงต่างๆ ไว้ อาทิ ข้าวสาร ไข่ เนื้อแห้ง และไก่จำนวนหนึ่ง ทางชมรมได้เหมารถทัวร์ไว้สองคัน ในขณะนั้นผมแทบไม่มีเงินติดกระเป๋าเลยสักบาท จำเป็นต้องยืมเพื่อนๆ ไว้ เผื่อมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและเพื่อซื้อของที่ระลึกและของฝากให้แม่ การที่ผมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการขึ้นรถทัวร์ ในครั้งนี้ ทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจเลยสักนิด
“ผมไม่สบายใจเลย ครับ อาจารย์…” ผมปรารภ กับอาจารย์ หมอ
“อย่าคิดมาก ผมเป็นคนชวนขลุ่ยให้มาร่วมกิจกรรม ครั้งนี้เอง ไม่มีใครกล้าว่าหรอก”
“ยังไง ผมก็ยังคิดอยู่ดี น่ะครับ อาจารย์”
“เอาเถอะ สบายใจได้”
คณะนักศึกษาชาวค่ายชมรมสัตวบาลอาสา ออกเดินทางจากสถาบัน ตรงปากประตูทางเข้า ครั้นเวลาสองทุ่มตรง รถก็มุ่งหน้า ออกมาทางมีนบุรี และมาวิ่งบนถนนมิตรภาพ เพื่อมุ่งหน้ามาจังหวัดร้อยเอ็ด ตลอดเวลาที่ผมนั่งบนรถบัส ต้องนั่งบนกองสัมภาระด้วยรู้สึกละอายใจ ที่การมาในครั้งนี้ ผมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่บาทเดียว รถบัสมาถึงบึงผลาญชัยเวลาห้านาฬิกา พวกเราค่อยๆ นำสัมภาระส่วนตัว และเสบียงอาหารลงจากรถ ทางประธานชมรม ได้ตกลงกับทางเจ้าของรถว่าให้มารับและมาส่ง ที่บึงผลาญชัย ส่วนการขนย้ายและการเดินทางจากนี้ เป็นหน้าที่ของชมรมจะได้ประสานงานกับทางส่วนราชการ คือ กิ่งอำเภอเมืองสรวง ให้มารับพวกเราอีกทอดหนึ่ง
ประมาณ หกนาฬิกา รถกระบะสำหรับบรรทุกดินสภาพเก่ามาก จากกรมชลประทาน ก็ได้มารับพวกเรา สภาพของท้องถนนในปีนั้น... กำลังอยู่ในระยะ เวลาการซ่อมแซมพอดี ระยะทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดมากิ่งอำเภอเมืองสรวง มีระยะทางประมาณยี่สิบห้า กม. ทางลูกรังแคบๆ เพียงแค่วิ่งสวนทางกันได้ ฝุ่นจากลูกรัง คลุ้งทั่วท้องถนน ตลอดที่รถวิ่งจากความเร็วไม่เกินห้าสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง รถบรรทุก ดินจำนวนสามคัน ที่พวกเรานั่ง จึงมาถึงที่ทำการกิ่งเมืองสรวง รถจอดให้พวกเราลง
นายอำเภอ พร้อมข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ได้มารอคอยต้อนรับ…. พวกเราประมาณร้อยคน ยืนเข้าแถว เคารพธงชาติ นายอำเภอ ปลัดอาวุโส สารวัตรใหญ่ กำนัน กล่าวให้การต้อนรับ พวกเราชาวค่าย
“สวัสดี ท่านอาจารย์ และน้องๆ นักศึกษา ที่มาร่วมกิจกรรมชาวค่ายอาสา ที่กิ่งอำเภอเมืองสรวง ผมในนามเจ้าของพื้นที่ ต้องขอต้อนรับทุกๆ คนและใคร่ขอขอบคุณ ทุกๆ คนที่ได้มีจิตอาสา ที่จะมาร่วมใช้วิชาความรู้ ที่ได้ร่ำเรียนมา มาพัฒนาชนบท ทราบว่าการมาทำกิจกรรมในครั้งนี้ มีนักศึกษาทั้งหมดจำนวนร้อยยี่สิบคน อาจารย์ ผู้ดูแลอีกสองคน ขอให้ทุกคนมีความสุข กับการได้ทำกิจกรรม หากมีสิ่งใดที่จะให้ทางอำเภอ ช่วยสนับสนุนอะไร ก็ให้แจ้งมา โดยในครั้งนี้ ผมจะให้ปลัดอาวุโส เป็นพี่เลี้ยง ในการเข้าพื้นที่ไปในตำบลต่างๆ ขอให้ทำตัวตามสบาย หากผมไม่ติดภาระใดๆ ก็จะเข้าไปเยี่ยม ในทุกพื้นที่” นายอำเภอ กล่าวต้อนรับ
ทุกคนปรบมือ… ให้กับเจ้าของพื้นที่ (นายอำเภอ ) ซึ่งมีวัยเพียงสี่สิบต้นๆ ผมมองว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่มีอนาคตไกล ในขณะที่เขาอายุขนาดนี้ ยังได้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอ ซึ่งมีสถานะเทียบเท่านายอำเภอ จากที่ผม เรียนด้านรัฐศาสตร์ควบไปด้วย จึงมีความเห็นว่า เขามีจิตวิทยาเข้าถึงมวลชน (นักศึกษา ) ได้ดียิ่ง ผมแอบชื่นชม.... ว่าที่นายอำเภอ คนหนุ่มไฟแรง ... ครู่ต่อมา เขาได้นำพาพวกเราเข้าที่พักวัดเหล่าฮก
ที่ศาลาการเปรียญที่มีอายุกว่าสี่สิบปี ที่ดูเก่ามาก จนน่าจะมีการบูรณะได้แล้ว พวกเรา ขึ้นไปหาที่พักกันตามความชอบ ทุกคนเก็บสัมภาระไว้ตามมุมฝาห้อง สัมภาระที่ผมใช้ในการออกค่ายอาสาในครั้งนี้ ผมมีกางเกงยีนส์สองตัว เสื้อยืดสามตัว ผ้าขาวม้าหนึ่งผืน แปรงสีฟันหนึ่งอัน พร้อมยาสีฟันชนิดผง หนึ่งห่อ สำหรับสบู่ ไม่ค่อยจำเป็นนัก อาหารมื้อเช้า ทางอำเภอได้ให้แม่บ้านตำรวจ ทำส้มตำ น้ำพริกปลาร้า พร้อมผักเครื่องเคียงต่างๆ ผนวกกับกับข้าวที่ชมรมเตรียมไป คือ เนื้อเค็มสุกแล้ว ทุกคนล้อมวง ปั้นจิ้มกัน คนละหนุบละหนับ…
บรรยากาศ เช่นนี้ มันเข้าถึงวิถีคนอิสาน ที่อยู่กินกันมาช้านาน
“แซ่บหลาย” คนอิสานว่า
สายๆ ของวันแรกที่วัดเหล่าฮก ท่านนายอำเภอ นิมนต์ หลวงพ่อ มาให้ข้อคิด และให้ศีลให้พร พวกเรา หลวงพ่อพูดให้ข้อคิดประมาณหนึ่งชั่วโมง ...ตลอดระยะของการรับฟัง นายอำเภอแต่งชุดขาว พนมมือแต้ต่อหน้านักศึกษา ดูเขาสำรวม ซาบซึ้งในรสพระธรรม ใครเห็นอิริยาบถของนายอำเภอ คงต้องทึ่งและไม่เชื่อสายตา ผมยิ่งศรัทธาในตัวเขามากไปกว่าเดิมอีกหลายเท่า
ยี่สิบกว่าวันที่พวกเรา ออกไปพัฒนาและฉีดวัคซีน รักษาสัตว์ ชนิดต่างๆ ให้ชาวบ้าน อาทิ วัว ควาย สุนัข สุกร ไก่ เป็ด ในทุกๆ หมู่บ้าน ทำให้พวกเราทุกคนได้เรียนรู้สังคมชนบท และรู้จักการนำความรู้ที่ได้เรียนมา มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่แต่ละแห่ง สิ่งที่พวกเราหวั่นวิตกมากที่สุดกับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คือ หมู่บ้านที่มีคนป่วยเป็นโรคเรื้อน เกินกว่าครึ่งหนึ่ง ของประชากรในหมู่บ้าน นายอำเภอได้กำชับนักศึกษาตลอดเวลาว่า หากลดความเสี่ยง ที่จะสัมผัสกับชาวบ้านได้ ก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะใครที่มีบาดแผล ต้องไม่อยู่ใกล้กับคนที่ป่วย ทุกคนระมัดระวังตัว แต่ต้องไม่ทำพิรุธ จนชาวบ้านรู้สึกหวาดระแวง ว่าพวกเรารังเกียจพวกเขา
ผมได้เรียนรู้ การตอนโค กระบือ สุกร โดยตรง กับการออกค่ายอาสาฯ ซึ่งโดยปกติ สมัยที่ผมเรียนในชั้น ปวส. ผมคงแต่ได้ดูเพียงการสาธิต จากอาจารย์ผู้สอนเพียงครั้งเดียว แต่ไม่เคยได้ปฏิบัติจริงๆ ด้วยเพราะ หากนักศึกษา ฝึกตอนสุกรจริงๆ สุกรคงตายยกคอกอย่างแน่นอน น่าชื่นชม.. เพื่อนๆ และน้องๆ ทุกคนทุ่มเท และจริงจังกับการทำงานให้สำเร็จลุล่วง
อาหารทุกมื้อ ตลอดยี่สิบกว่าวัน หนีไม่พ้น กับอาหารพื้นบ้าน คือ ส้มตำ ตำส้ม ปลาแดก แจ่วบอง อาหารดีเลิศ คือ ต้มส้มมะละกอใส่ปลาตัวเล็กๆ ที่หามาได้ เขียดย่าง หนูนา และบางครั้งมีนก ที่ชาวบ้านย่างมาให้ เป็นอาหารมื้อพิเศษ ในอดีตพื้นที่กิ่งเมืองสรวงยังเป็นพื้นที่สีชมพู ที่มีชาวบ้านส่วนหนึ่ง มีความคิดและมีความเห็นต่างทางการ เมือง กับทางราชการและรัฐบาล ดังนั้น ทุกครั้งที่พวกเราเคลื่อนย้าย จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายคุ้มครอง เดินสะพายปืน เพื่อคุ้มครองพวกเรา
ในบางครั้ง… บรรยากาศดูน่าเกรงกลัว เนื่องจาก พวกเรา มีเพียงมือเปล่าๆ จริงๆ บางครั้งบางทีผมมองว่า การใส่สีตีข่าว เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล ดูออกจะเกินความจริงไป เป็นเพราะอเมริกัน ใช้ประเทศไทย เป็นเครื่องมือ ในการที่จะกอบกู้ ไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตย ต้องล้มตึงเหมือนโดมิโน เหมือนกับประเทศ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่ฝ่ายโซเวียต จีน เจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้เข้ามามีอิทธิพลในด้านการปกครองประเทศเหล่านั้น
ผมยังคิดว่า… ประชาชน ที่ฝ่ายราชการ ยัดเยียด ให้เขาไปอยู่ตรงกันข้าม จำนวนไม่น้อย ถูกกดดันเอารัดเอาเปรียบ ถูกกลั่นแกล้งและ ยัดเยียดข้อหา จนทำให้พวกเขาต้องรวมตัวกันเข้าป่าจับ ปืนต่อสู้กับอำนาจรัฐ หลายๆ ครั้ง เราต้องเดินเว้นระยะห่าง เนื่องจากปลัดอาวุโส ได้แนะนำไว้เพราะเกรงการซุ่มโจมตี
“น้องๆ ทุกคน ขณะที่พวกเรา เดินทางไป อีกหมู่บ้านหนึ่ง พวกเราต้องเว้นระยะห่างกันสักสามสิบเมตร เพราะจะได้ป้องกัน ฝ่ายตรงข้ามโจมตีด้วยอาวุธ”
..........................................................................................................
แสงจันทร์ในช่วงวันข้างขึ้น ลอยเหนือท้องฟ้าครึ่งเสี้ยว เมฆเคลื่อนตัวบังแสง เป็นช่วงๆ แต่พอจะเปล่งแสงให้เห็นถนน และป่าข้างทาง ขณะเดินเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ พวกเรา แทบจะไม่ได้ยินเสียงใคร พูดเลยสักคนเดียว ประมาณ สี่สิบนาที พวกเราจึงมาถึงอีกหมู่บ้าน ….
ที่พักของแต่ละหมู่บ้านที่พวกเราจะเข้าพักผ่อน หลับนอน .. คือโรงหมอลำ ป่าช้า และศาลาวัด บางหมู่บ้านไม่มีวัด เราก็ใช้โรงหมอลำ เป็นที่พักผ่อนหลับนอน ชีวิตความเป็นอยู่ ในการเข้าค่ายอาสา ในครั้งนี้ ผม ได้สัมผัสกับ ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้อาวุโส พระภิกษุ และชาวบ้าน อากาศของเดือนตุลาคม ค่อนข้างหนาวเย็นมาก คืนแรกๆ ผมจะนอนที่โรงหมอลำของหมู่บ้าน แต่ต่อมา ผมมองว่า มันยัดเยียดเบียดเสียดเกินไป บางคนนอนดิ้นขลุกขลั่ก ๆ จนเกิดเสียงดัง บางคนนอนกรน.. จนเสียงดัง ผมจึงมองว่า ที่เชิงตะกอนเป็นที่สงบเงียบ อากาศบริสุทธิ์ มีที่ว่าง และพอเหมาะกับที่เราจะนอนทอดตัวได้พอดี
“เฮ้ย แท่นเชิงตะกอน ตรงนี้ พอดีเลยว่ะ แหลม” ผมพูดกับรุ่นน้อง ที่เป็นคนพื้นถิ่นอิสาน แหลม เป็นคนสกลนคร ผมกับเขาคุ้นเคยกันดี เพราะ..เรา มีนิสัยคล้ายกัน คือ ชอบดื่ม ชอบร้องเพลง บ่อยๆ ครั้ง เขาจะด้นเพลง พื้นถิ่นของสกลนคร คือ เพลงภูไท
“พี่ขลุ่ยนอน เชิงตะกอนฝั่งโน้น ผมนอนฝั่งนี้เอง” แหลมว่า
แรกๆ ที่นอนตรงเชิงตะกอน ที่เผาศพชาวบ้าน ผมค่อนข้างอ่อนไหว เกรงว่าช่วงดึกๆ ที่ลุกขึ้นมาถ่ายเบาจะเจอกับ บุคคลที่ไม่พึงประสงค์จะมาหา แม้ว่าทุกๆ ค่ำ ผมจะดวดเหล้า จนเมาแล้วก็ตาม นานๆ วันเข้า ความรู้สึกกลัว ก็กลายเป็นความชิน ก่อนนอนทุกคืน ผมจะขอเอ่ยปากขออนุญาต เจ้าที่เข้าทางเพื่อให้เกิดความสบายใจ
“พี่ขลุ่ย บอกเจ้าที่เจ้าทางซะหน่อยนะ ทางบ้านผม เขาทำกันมา ตั้งแต่โบร่ำโบราณ แล้ว” แหลมแนะนำ
“โอเค พี่ก็ตั้งใจ อยู่แล้ว ล่ะ ไม่ลบหลู่อยู่แล้ว สิ่งที่มองไม่เห็น มันเอาแน่ไม่ได้”
ผมไม่เคยทุกข์ร้อน เรื่องความเป็นอยู่ การกิน ไม่เคยปริปากบ่น ความยากจน ความยากลำบากของตน ที่มีมาแต่เยาว์วัย มันทำให้การออกมาอยู่ในสังคมชนบท มิได้ทำให้ผมระคาย กายและใจ เลยสักนิด แต่ก็มีเพื่อนๆ และน้องๆ บางคนที่ไม่เคยยากลำบากบ่นๆ กับเรื่องอาหารการกินอยู่บ้าง เขาคงเบื่อกับส้มตำ ที่มีทุกมื้อ ข้าวเหนียวที่ชาวบ้านรวมๆ มาให้กิน ที่ช่วงเย็น มันจะแข็ง จนเคี้ยวลำบาก
ทุกๆ ค่ำ หลังเสร็จจากกินข้าว หากหมู่บ้านใดมีวัด นายอำเภอ จะนิมนต์พระให้มาเทศน์ ให้พวกเราฟังเสมอ ตัวของนายอำเภอ จะอยู่ในชุดขาว นั่งฟังธรรม ด้วยอาการสำรวม เสร็จจากนั้น นายอำเภอจะมานั่งกับพวกเราอย่างเป็นกันเอง
//////////////////////////////////////
ณ หมู่บ้าน คูเมือง ตำบลคูเมือง กิ่งเมืองสรวง วันนี้… เรามาถึงหมู่บ้านนี้ ตั้งแต่สิบหกนาฬิกา สามสิบนาที เป็นเพราะว่าวันนี้ งานของพวกเราเสร็จเร็วกว่ากำหนด นาย อำเภอ แจ้งว่าค่ำนี้ จะให้ทุกคนพักค้างในโรงเรียน และมีกิจกรรมเล่นรอบกองไฟ ให้ชาว บ้านชม ผมได้พบกับอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนคูเมือง
“ท่านอาจารย์ใหญ่ อยู่ที่โรงเรียนมานานหรือยังครับ”
“สิบห้าปีแล้ว”
“มีครู มากน้อยแค่ไหน ครับ”
“สี่คน ชายสาม หญิงหนึ่ง”
“อ้อ ครับ”
ผมกับอาจารย์ใหญ่ มีโอกาสนั่งคุย แลกเปลี่ยนพูดคุยกันนานพอสมควร ดูเขามีความคล่องตัวและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
“น้องลองเข้าไปโรงครัว สิ มีครูในโรงเรียน หลายคน จะได้แนะนำให้รู้จัก” อาจารย์พูด
อาจารย์ใหญ่ พาผมเดินเข้าไปหลังโรงเรียน ที่มีห้องเรียนประมาณ หกห้อง ด้านหลังเป็นโรงครัว ภายในโรงครัว.. มีชาวบ้านเกือบสิบคน กำลังสาละวน กับการแบ่งหน้าที่กันทำงาน ดูเหมือนค่ำนี้ ทางโรงเรียนรับเป็นเจ้าภาพ เลี้ยงอาหารมื้อพิเศษ โดยทำลาบ อิสาน ต้มแซ่บ ผสมกับอาหารหลักยืนพื้น คือ ส้มตำ
เมื่ออาจารย์ใหญ่ได้แนะนำให้ผมได้รู้จักครูในโรงเรียน ทุกคนแล้ว ผมค่อนข้างจะสนใจในตัวครูผู้หญิงคนหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะรูปร่างหน้าตาเธอ ไปเหมือน กับคนที่ผมเคยมีความสนิทสนมที่เป็นลูกปลัดเทศบาล ที่ห่างเหิน เพราะโทรศัพท์เป็นเหตุ
“สวย ตาคม และผิวเข้ม เหมือน ต้อยเลย ยังไง มีโอกาส ต้องลองคุณกับเธอดู” ผมนึกในใจ
ในโรงครัว…ชุลมุน พร้อมมีเสียง พูดคุย กันเซ็งแซ่ ผมออกไปด้านนอกเพื่อเตรียม กองไฟ เพื่อจุดให้เกิดความสว่างในการที่จะมีการละเล่น ในช่วงค่ำๆ หลังรับประทานอาหาร แต่ละกลุ่ม ที่มีการแบ่งกันแล้ว ก็ไปพูดคุยกันเพื่อเตรียมชุดการแสดง
ก่อนอาหารมื้อค่ำจะเริ่ม… ผมเห็นเป็นจังหวะที่เหมาะ หลังจากที่ดวด ส.ร.ถ กับเพื่อนๆ และน้องๆ จนมีความกล้าแล้ว จึงเข้าไปพบครูสาว ของโรงเรียนคูเมือง
“ขอโทษครับครู ผมอยากทราบชื่อ ครูหน่อยครับ หากไม่รังเกียจ” ผมพูด
“ดิฉันชื่อ วิไลวรรณ ค่ะ” ครูสาวบอกชื่อให้ทราบ
ขณะเธอตอบ มือก็หยิบชาม พร้อมตักต้มแซ่บ ลงในชาม พร้อมใส่ถาด เพื่อให้ชาวบ้าน เตรียมเสิร์ฟ ให้ พวกเรากิน
“ครู เป็นคนอิสาน หรือปล่าวครับ น้ำเสียง ดูเหมือนจะไม่ใช่คนพื้นถิ่น”
“ค่ะ.. ไม่ใช่คนอิสาน ดิฉัน.. เป็นคนอยุธยา”
“มาบรรจุได้นานหรือยัง ครับ”
“เพิ่งบรรจุได้เข้าปีที่สองเอง รบกวนคุณช่วยยืนคุยอยู่ตรงนี้นานๆ เพราะฉันกลัวท่านนายอำเภอ จะเรียกไปนั่งคุยด้วย ค่อนข้างอึดอัด ที่ได้อยู่กับท่าน”
“ทำไมเหรอครับ นายอำเภอ คนนี้ ดูเป็นคนธรรมะธรรมโมออก”
“อย่าดูคนเพียงเปลือกนอก นะ นายอำเภอคนนี้ ครูสาวๆ ทุกโรงเรียนใน เมืองสรวง กลัวแกจะตายไป”
“อ้าว ทำไมล่ะ”
“เจ้าชู้ จะตายไป แกเคยบังคับให้อาจารย์ใหญ่ บังคับดิฉันให้ไปกินข้าวในตัวจังหวัด ทั้งๆ ที่ดิฉันไม่อยากไป”
“แล้วทำไง”
“ดิฉันอ้างว่าป่วย”
“นะ… ช่วยยืนกัน ไม่ให้นายอำเภอ เรียก ไปพบ”
“ได้..สิ”
ผมยืนคุยกับครูวิไลวรรณ และได้รับทราบถึงพฤติกรรม ของนายอำเภอคนนี้ จากสิ่งที่ผมเคยมองว่า เขาเป็นคนดีคนเก่ง และเคยศรัทธาเขา ต้องกลับตารปัตรเป็นความชิงชัง โกรธแค้นแทน
“ไม่ไหวจริงๆ เลยค่ะ ครูสาวๆ สวยๆ ในอำเภอนี้ ต้องเป็นคนสนองความต้องการของนายอำเภอคนนี้ ดิฉัน..คิดอยากจะลาออกแล้ว”
“ อดทน และรักษาเนื้อรักษาตัว ให้ดีครับ ขอเอาใจช่วย”
ตลอดเวลาที่พูดคุยกัน ผมรู้สึกเห็นใจ ครูวิไลวรรณ มาก เพียงแค่รู้จักกันเพียง ชั่วโมงเศษ ก็ทำให้เราเข้าใจกันและกัน ดูเหมือนเธอ ต้องการกำลังใจ และต้องการเกราะคุ้มกันเธอ ช่วงเล่นรอบกองไฟ เธอจึงมาอยู่ใกล้ๆ กับนักศึกษา
ก่อนเธอจะกลับเข้าจังหวัด ผมได้ขอที่อยู่ เพื่อไว้ติดต่อสื่อสาร …เธอเขียน ชื่อ และที่อยู่ ด้วยลายมือ ด้วยกระดาษขาว แผ่นเล็กๆ ผมเก็บเข้ากระเป๋า อย่างมิดชิด เพื่อนๆ และน้องๆ จ้องมอง ด้วยความอิจฉา..
ค่ำคืนนั้น การเล่นรอบกองไฟ เป็นไปด้วยความสนุกสนาน และจบลงด้วยความประทับใจ สี่สิบสามปีผ่านมา บรรยากาศ และความทรงจำ กับครูสาวคนนั้นผม ยังมิลืมเลือน …จากใจเลยไปสักนิด
๓๐ เมษายน ๒๕๖๔
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ผลงานอื่นๆ ของ ขลุ่ย บ้านข่อย ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ขลุ่ย บ้านข่อย
ความคิดเห็น