เราสามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ - เราสามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ นิยาย เราสามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ : Dek-D.com - Writer

    เราสามารถใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ

    ....

    ผู้เข้าชมรวม

    1,054

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    5

    ผู้เข้าชมรวม


    1.05K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  13 ม.ค. 50 / 11:34 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ประเทศไทยมีสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศที่น่าจะใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ของประชาชนได้มาก เช่น มีเครือข่ายวิทยุทั่วประเทศ 523 สถานี, โทรทัศน์ (ทั่วทั้งประเทศ) สิบกว่าสถานี ไม่รวมโทรทัศน์บอกรับสมาชิกอีกหลายสิบสถานี สถานศึกษาและเยาวชนมีคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีเครื่องฉายสไลด์ เครื่องเล่นวิดีโอ, ซีวีดี, ดีวีดี ฯลฯ จำนวนมากพอสมควร แต่ คนไทยยังใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความบันเทิงและการค้ามากกว่าเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม แถมสื่อยังเผยแพร่ค่านิยมเห็นแก่ตัว เห็นแก่การบริโภคและค่านิยมที่งมงายอื่นๆ ซึ่งทำให้ประชาชนตกเป็นทาสของระบบธนาธิปไตยคือเงินเป็นใหญ่มากขึ้น ยากจนขาดแคลนภูมิปัญญาและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมมากขึ้น

      สภาพปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ
      1. โครงสร้างการผลิต การใช้สื่อในระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจเอกชนที่มุ่งเพื่อการค้าและการหาค่าเช่าเข้าสถานีแบบมองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนตัวระยะสั้น มากกว่ามองประโยชน์ของประชาชนในด้านการพัฒนาการเรียนรู้ทุกด้าน ยกตัวอย่างแม้แต่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ที่เตรียมจะถูกแปรรูปขายออกไป ก็ถูกรัฐบาลมองว่าเป็นธุรกิจที่ต้องหานักการตลาดมาช่วยทำกำไร และใช้เพื่อการโฆษณาสร้างภาพเพื่อขายการท่องเที่ยวและขายอย่างอื่นๆ ให้ต่างชาติ โดยไม่ได้มองว่านี่คือ สถาบันสื่อมวลชนที่สำคัญๆ ถ้าปฏิรูปให้ดีจะช่วยพัฒนาให้คนไทย 62 ล้านคน ได้ฉลาดขึ้น มีค่านิยมรสนิยมดีขึ้น ซึ่งเป็นคุณค่ามหาศาลกว่ากำไรทางเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ

      2. การขาดความรู้ความเข้าใจ และความไม่สนใจติดตามศักยภาพในการพัฒนาของสื่อเทคโนโลยีของครู บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่สนใจผลักดันให้รัฐบาลและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องสนใจพัฒนาสื่อให้มีเนื้อหาสาระที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกอย่างจริงจัง
      เรื่องสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้ ถ้ามีการทุ่มเทผลักดันกันอย่างจริงจัง โดยแก้ไขสภาพปัญหาที่สำคัญเหล่านี้ให้ได้
      1. ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่กระจาย และใช้เพื่อประโยชน์การศึกษาต่ำ กิจการด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศมีน้อย กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ในปี 2541 กรุงเทพฯ มีโทรศัพท์พื้นฐาน 32.06 เลขหมาย ต่อประชากร 100 คน ส่วนภูมิภาคมี 4.10 เลขหมายต่อประชากร 100 คน คนไทยมีคอมพิวเตอร์ใช้ 3% และมีอินเตอร์เน็ตใช้ 1% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งต่ำกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกค่อนข้างมาก
        เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ใช้กันมากในหมู่คนชั้นกลางที่มีการศึกษา ในภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานขนาดใหญ่ และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และโรงเรียนบางส่วน ยังไม่ได้กระจายไปสู่คนทั่วไปอย่างทั่วถึง เช่น อินเตอร์เน็ตมีใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศที่มีอยู่
        ส่วนโรงเรียนประถม ยิ่งมีใช้กันน้อยกว่าโรงเรียนมัธยม ยกเว้นโรงเรียนที่ทันสมัยอยู่ในเมืองใหญ่การสำรวจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในปี พ.ศ.2543 พบว่า โรงเรียนทั้งประถมและมัธยมที่ต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีทั้งสิ้น 1,723 โรงเรียน หรือ 4.62% ของโรงเรียนทั้งหมดในประเทศ 4 หมื่นโรงเรียน โรงเรียนในต่างจังหวัดขาดแคลนองค์ประกอบทุกอย่างของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, โปรแกรมใช้งาน และผู้แนะนำวิธีใช้งาน ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้อินเตอร์เน็ตในต่างจังหวัดยังแพงเกินไป
        ปัญหาถัดมาคือ การใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ในหมู่คนหนุ่มสาวและเยาวชนยังใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจ และเพื่อความบันเทิง มากกว่าการพัฒนาการเรียนรู้ของตน หากเราส่งเสริมพัฒนาเว็บไซต์ภาษาไทยในด้านความรู้และสาระบันเทิงที่น่าสนใจให้มากขึ้น ลงทุนที่จะกระจายอินเตอร์เน็ตสาธารณะไปตามห้องสมุดประชาชน, องค์การบริหารส่วนตำบล และร้านกาแฟ และส่งเสริมให้คนใช้อินเตอร์เน็ตในด้านการหาความรู้ ก็จะช่วยให้คนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก แต่ต้องกระตุ้นให้คนรักการอ่าน รักการใฝ่เรียนรู้ด้วย ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็จะใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้ประโยชน์คุ้มอยู่ดี
        ส่วน วิทยุและโทรทัศน์ เป็นสื่อที่ ให้บริการอย่างแพร่หลาย ประมาณร้อยละ 80-90 ของครัวเรือนทั้งประเทศ เพราะว่าเป็นสื่อที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่ำที่สุดสำหรับประชาชน เพียงแต่ว่าผู้ผลิตเผยแพร่รายการใช้เพื่อความบันเทิงและโฆษณาสินค้ามากกว่าเพื่อความรู้ ส่วนโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก ซึ่งมีทางเลือกมากกว่า คือมีทั้งข่าวสาร, สารคดีด้วย ก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนค่อนข้างสูงสถาบันการศึกษาและห้องสมุดอาจจะลงทุนติดดาวเทียม หรือรัฐช่วยเจรจาเป็นสมาชิกเฉพาะช่องข่าว สารคดี โดยขอฟรีหรือเสียค่าใช้จ่ายต่ำ
        หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ มีความหลากหลาย ทั้งส่วนที่มีเนื้อหาสาระและส่วนที่เน้นความบันเทิง แต่หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์เผยแพร่ได้จำกัด เพราะราคายังสูง เทียบกับรายได้ของคนส่วนใหญ่ห้องสมุดทั่วประเทศก็มีน้อย ไม่ได้กระจายทั่วถึง และเด็กไทยไม่ได้ถูกกล่อมเกลาให้รักการอ่าน คนไทยโดยทั่วไปจึงอ่านหนังสือกันน้อยมาก
        สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจการอ่านหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2538 พบว่ามีประชาชนเพียง 6.1 ล้านครัวเรือนหรือร้อยละ 41.1 ของครัวเรือนทั้งประเทศเท่านั้นที่อ่านหนังสือพิมพ์ และประชาชนอ่านหนังสืออื่นๆ นอกเหนือจากหนังสือพิมพ์เพียงร้อยละ 39.1 ของครัวเรือนทั้งประเทศ เหตุผลที่ประชาชนไม่อ่านหนังสือคือ ไม่สนใจอยากอ่าน (ร้อยละ 59.68) เหตุผลลำดับรองลงมาคือการอยู่ในที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงสิ่งพิมพ์ได้ (ร้อยละ 17.4) นอกจากนี้คือเหตุผลอื่นๆ เช่น อ่านไม่ออก ไม่มีเงินซื้อและไม่มีเวลา
        ผู้บริหารภาครัฐ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงยังขาดความเข้าใจ หรือสนใจแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า ส่วนใหญ่เน้นการวางระบบและการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่มีการเตรียมการพัฒนาและการส่งเสริมด้านโปรแกรมการใช้ และบุคลากรน้อยมาก สถานศึกษาบางแห่งลงทุนสร้างห้องสมุดใหญ่โต แต่ลงทุนซื้อหนังสือน้อย และไม่มีการส่งเสริมการอ่านที่ดีพอ

      2. ปัญหาด้าน ครู และบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่มีความรู้ ทักษะด้านสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษามีน้อย และขาดความสนใจที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง
        ครู อาจารย์ ยังอ่านค้นคว้าวิจัย เขียน ผลิตสื่อเพื่อการศึกษาน้อย ถึงราชการส่วนกลางจะซื้อคอมพิวเตอร์แจกไปตามโรงเรียน พยายามสร้างเครือข่ายสารสนเทศ โครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม แต่ในภาคปฏิบัติก็ยังมีการใช้ประโยชน์กันน้อย เพราะครู อาจารย์ยังชินกับการสอนแบบบรรยายตามตำรา มากกว่าที่จะเตรียมการสอนชนิดที่ต้องใช้สื่อ ทั้งๆ ที่วิธีการบรรยายเป็นวิธีการสอนที่น่าเบื่อและนักเรียนจะลืมได้ง่ายที่สุด

      3. ปัญหาด้านการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน มีลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองและใช้งานไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ที่ใช้งานไม่คุ้ม ส่วนหนึ่งเพราะการทำงานแบบงานประจำในระบบราชการ มีการทำงานประชาสัมพันธ์เผยแพร่กระตุ้นให้คนสนใจใช้น้อย รวมทั้งมีการจัดฝึกอบรมน้อย ตัวอย่างเช่น การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของการศึกษานอกโรงเรียน ไปยังจุดติดตั้งตามโรงเรียนและหน่วยการจัดการศึกษาต่างๆ 15,590 จุดทั่วประเทศนั้น การสำรวจพบว่า มีโรงเรียนและหน่วยการจัดการศึกษาที่เป็นจุดรับเพียงร้อยละ 60 ที่เปิดใช้บริการเป็นประจำ และครูผู้สอนเพียงร้อยละ 41 ที่รายงานว่าใช้บริการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเป็นประจำ ด้านพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษา มีเพียงร้อยละ 11 ของนักเรียนในเครือข่ายเท่านั้นที่ชมรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทุกวัน
        ปัญหาที่มีคนใช้การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมน้อย มีปัจจัยหลายอย่างประกอบกันเช่น การจัดตารางสอนตามหลักสูตรมีลักษณะตายตัวไม่ยืดหยุ่น ครูผู้สอนไม่ทราบไม่ค่อยให้ความสนใจรายการที่นำเสนอไม่น่าสนใจ ไม่ดึงดูดมากพอ เช่น ถ่ายโทรทัศน์แบบให้อาจารย์มายืนบรรยายทั้งชั่วโมง โดยไม่มีภาพเคลื่อนไหวประกอบ ฯลฯ ปัญหาทั้งหมดนี้ควรได้มีการวิจัย สัมมนาแลกเปลี่ยน เพื่อหาทางปรับปรุงคุณภาพของรายการและการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่ได้แต่บ่นกันว่า ขาดครู ครูทำงานหนัก ฯลฯ เพราะถ้าหากทำสื่อให้มีคุณภาพและน่าสนใจแล้ว จะช่วยให้ครูทำงานซ้ำซากน้อยลง และมีเวลาค้นคว้าเพิ่มเติมมากขึ้น นักเรียนก็จะเรียนรู้ได้สนุกมากขึ้น

      4. ปัญหาทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครองไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยการใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังสอนแบบดั้งเดิม คือให้ครูบรรยาย ไม่ได้ปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนรู้จักการอ่านการค้นคว้าด้วยตัวเอง รู้จักใช้คอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษแบบใช้งานได้ การผลิตและการพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพยังมีน้อย สื่อที่หน่วยงานบางสถาบันผลิตมาบ้างแล้วก็เป็นที่รู้จักหรือใช้อยู่ในวงจำกัดไม่มีการกระจายออกไปอย่างทั่วถึง ครูอาจารย์ไม่สนใจที่จะเรียนรู้และใช้สื่อ พลอยทำให้นักเรียนนักศึกษาขาดความสนใจ หรือนักเรียนนักศึกษาบางแห่งสนใจแต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะปัญหาด้านการบริหารจัดการ เช่น บางโรงเรียนไม่อยากให้นักเรียนใช้คอมพิวเตอร์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์บ่อยนัก เพราะกลัวว่าถ้าเสียแล้วจะไม่มีงบฯซ่อม บางแห่งก็เสียแล้วทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ซ่อม บางครั้งก็เป็นเรื่องไม่มีงบประมาณซ่อมแซมดูแลแต่บางครั้งเป็นปัญหาความไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยเอาใจใส่ของผู้บริหารมากกว่า ผู้บริหารที่เอาใจใส่และบริหารเป็นจะต้องหาวิธีขอหรือโยกย้ายงบฯส่วนอื่นมาซ่อมแซมดูแลอุปกรณ์การเรียนรู้ที่สำคัญจนได้

      ปัญหาที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อ เป็นเรื่องต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง แนวคิดของฝ่ายปฏิรูปการศึกษาที่เสนอให้จัดตั้ง สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ เป็นแนวทางแก้ทางหนึ่ง แต่ต้องทำให้เป็นองค์กรอิสระที่ทำงานเข้มแข็งคล่องแคล่วมากกว่าการทำงานแบบระบบราชการ การพัฒนาให้นักเรียนศึกษาประชาชนรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้เต็มที่ จะเป็นช่องทางที่จะช่วยประหยัดงบประมาณการลงทุนเพื่อการศึกษาในระยะยาวได้มาก สถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่เรามีอยู่แล้วจำนวนมาก

      หากมีการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่เป็นกลาง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าธุรกิจภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ มาจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่ ให้สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนเข้าไปทำรายการเพิ่มมากขึ้นหรือบังคับให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ต้องทำรายการเพื่อการศึกษาศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง และรัฐบาลและภาคเอกชนสนับสนุนการลงทุนผลิตรายการดีๆ ที่จะใช้กับคนจำนวนมากทั่วประเทศได้ ก็จะเป็นการลงทุนน้อยที่ได้ประโยชน์แก่สังคมมาก

      เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและสื่อมัลติมีเดีย อื่นๆ ก็เช่นกัน อยู่ในวิสัยที่จะพัฒนาให้เป็นประโยชน์ทางการเรียนรู้ได้อีกมาก ถ้าหากมีการจัดการที่ดี มีงบประมาณรองรับสรรหาคนมีฝีมือมาช่วยกันวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับสร้างเว็บไซต์และสื่อที่ดีๆ ผลงานดีๆ อาจต้องลงทุนสูง (เช่น รายการสารคดีของ Disxovery, BBC พานาโรมาของไทย แต่จะเผยแพร่ได้กว้างขวางคุ้มค่ามากในระยะยาว เมื่อเราทำสื่อเหล่านี้ให้มีคุณภาพมากขึ้น ฝึกให้นักเรียนสนใจใคร่เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ค้นคว้าเป็น เรียนรู้วิธีเรียนเป็น เราก็จะสามารถลดการจ้างครู บุคลากรลงได้ เราควรเลือกจ้างเฉพาะครูที่เก่งๆ นิสัยเหมาะเป็นครู และให้เงินเดือนสูงไปเลย จะคุ้มค่ากว่าจ้างครูจำนวนมากที่คุณภาพปานกลางและต่ำ และให้เงินเดือนต่ำอย่างปัจจุบัน

      ที่เราสามารถส่งผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกลงทุนต่ำ ทางโรงเรียนก็จะลดค่าใช้จ่ายทางด้านการซื้ออุปกรณ์การสอนและค่ากระดาษแบบดั้งเดิมลงไปได้จำนวนหนึ่งและนักเรียนก็จะเรียนรู้อย่างสนุกและได้ความรู้เพิ่มขึ้น

      วิทยากร เชียงกูล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

      ที่มา : นสพ.มติชน 6 ก.ค.45

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×