ลักษณะการสอนที่มีประสิทธิภาพ |
คอลัมน์ ราชภัฏคิด-เขียน
โดย จันจิรา อินต๊ะยะ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์พิษณุโลก
การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ มีการพัฒนาทางด้านความคิดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะการสอนของครูผู้สอน ด้วยเหตุนี้ในการสอนหนังสือ ครูจะต้องใช้เทคนิคและวิธีการเป็นกลยุทธ์ในการโน้มชักจูงทั้งกายและใจ เพื่อจะทำให้ผู้เรียนนั้นมีความสนใจ กระตือรือร้นที่จะเรียน
จากประสบการณ์ทางด้านการสอนของผู้เขียนแล้ว พอจะสรุปถึงลักษณะการสอนที่จะส่งเสริมให้เด็กนั้นเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ
- มีการเตรียมการสอน โดยการวางแผนการสอนมาล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสอน เพื่อที่จะให้ครบถึงองค์ประกอบต่างๆ ของการสอน ได้แก่จุดประสงค์ของการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อประกอบการสอน ครูจะต้องมีการเตรียมสอนเพื่อที่จะได้รับรู้ถึงจุดมุ่งหมายขององค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดแก่ผู้เรียน
- ครูต้องมีความรอบรู้ในด้านเนื้อหาวิชาที่จะมาสอน และมีการบูรณาการกับองค์ความรู้อื่นๆ ที่มีอยู่ในหลักสูตรการศึกษา พร้อมทั้งสามารถนำความรู้นั้นมาเชื่อมโยงกับในชีวิตของผู้เรียนได้
- มีวิธีการสอนที่หลากหลายและเหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อลดความเบื่อหน่ายในการเรียน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสนใจในเนื้อหาวิชาและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้น สนใจที่จะเรียน เช่น การใช้สื่อการสอนประกอบการบรรยายให้มีความน่าสนใจ การใช้คำถามแก่ผู้เรียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิด และสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียน หรืออาจจะใช้วิธีการแบ่งกลุ่มในห้องเรียนเพื่อให้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีการรู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น
- มีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยครูจะต้องสอนในลักษณะที่ให้ผู้เรียนนั้นเกิดความ "เข้าใจ" มากกว่าการสอนในลักษณะ "ท่องจำ" ดั่งนกแก้วนกขุนทอง วิธีการอาจจะเริ่มจากสอนในสิ่งที่ง่าย ไปหาสิ่งที่ยาก หรืออาจจะใช้การเล่าเรื่องจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว หรืออยู่ใกล้ๆ ตัวที่สามารถมองเห็นภาพชัดเจนแล้วนำมาเชื่อมโยงเข้ากับบทเรียน
- ควรมีอารมณ์พร้อมที่จะสอนและอยากสอน สิ่งที่สำคัญคือบุคลิกของครูที่แสดงออกมาให้ผู้เรียนได้เห็น ลักษณะของครูที่ดีควรจะกระฉับกระเฉง ไม่เฉื่อยชา มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สอดแทรกอารมณ์ขันในการสอน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดในด้านวิชาการมากเกินไป ส่งผลทำให้ผู้เรียนเกิดความสบาย รู้สึกผ่อนคลายในการเรียน ก็จะสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนด้วย
- มีการสื่อสารแบบสองทาง คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างครูกับผู้เรียน เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความเข้าใจ และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้น ช่วยลดช่องว่างระหว่างครูกับผู้เรียน โดยครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนั้นแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ครูได้สอนได้นำเสนอ พร้อมทั้งรับฟังอย่างมีเหตุผล สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าพูดมากขึ้น
- มีความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน พยายามให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน ไม่เคร่งเครียด หรือปล่อยปละละเลยมากจนเกินไป ห้องเรียนที่มีระเบียบวินัย กฎเกณฑ์เยอะ จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกเกร็ง และกลัวครู ไม่กล้าที่จะแสดงความรู้สึกออกมา ขณะเดียวกันถ้าปล่อยให้ห้องเรียนที่ไม่มีระเบียบวินัย จะทำให้ผู้เรียนทำตัวตามสบายเกินไปจนอาจจะไม่เคารพครูได้
หลายคนอาจมองการสอนว่าเป็นเรื่องที่ง่าย ใครๆ ก็สอนได้ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งการสอนจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้ามาช่วยในการสอน ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายสำหรับบุคคลที่มีอาชีพที่เรียกว่า "ครู"
แหล่งที่มา ข่าวสด ฉบับที่ 5199 [หน้าที่ 31 ] ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 |
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น