ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ล้ำโลกโลกาภิวัฒน์

    ลำดับตอนที่ #185 : เปลี่ยนกระจกตาด้วยวิทยาการใหม่

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 261
      0
      12 พ.ค. 57



    เวลาที่เราสบตาใคร เราจะเห็นแววตาของเขาผ่านส่วนใสๆด้านหน้าของตา ซึ่งก็คือกระจกตา หรือที่คนไทยเราเรียกว่าตาดำ นั่นเป็นเพราะเราเห็นตาเป็นสีดำ แต่ในความเป็นจริงสีที่เห็นนั้นเป็นสีของม่านตาคนไทยที่ออกน้ำตาลเข้มต่างหาก

    ปัจจุบันนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตามีทางรักษาเยียวยาได้มากขึ้น ทำได้แม้กระทั่งการเปลี่ยนส่วนที่เป็นปัญหา ทั้งกระจกตาหรือตาดำ ในกรณีที่มีโรคกระจกตาขุ่น บวม หรือ โป่ง และเลนส์ตาหรือแก้วตาซึ่งอยู่ภายในลูกตา ซึ่งจะผ่าตัดเปลี่ยนในกรณีที่เลนส์ตาขุ่นที่เรียกว่าต้อกระจก ส่วนการเปลี่ยนลูกตาทั้งดวงในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้นอกจากการผ่าตัดเอาออกเพื่อใส่ตาปลอมเพื่อความสวยงาม

    ผู้เริ่มต้นจุดประกายเรื่องของการรักษาโดยการผ่าตัดกระจกตาเป็นแนวความคิดของ อิรัสมุส ดาร์วิน (เป็นปู่ของชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1796 ซึ่งเขาเชื่อว่าการตัดเอาแผลเป็นที่ทำให้กระจกตาขุ่นออกจะทำให้กระจกตากลับมาใสหลังแผลสมานได้ ทว่าแนวคิดนี้ไม่เป็นความจริง

    การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาสำเร็จเป็นครั้งแรกนั้นไม่ใช่ตาของคนเรา แต่เป็นตาของสัตว์ โดย James Bigger ผู้ซึ่งถูกชนเผ่าเบดูอินในทะเลทรายจับไป เขาสามารถรักษาโรคกระจกตาให้กับละมั่งของชีค (ผู้นำเผ่า) โดยใช้กระจกตาของละมั่งอีกตัวได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

    ผู้ป่วยรายแรกที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาสำเร็จโดย นพ.เซิร์ม.

     

    การเปลี่ยนกระจกตาในคนได้รับความสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1905 โดยนายแพทย์เซิร์ม (Dr.Eduard Konrad Zirm) ใช้กระจกตาจากเด็กอายุ 11 ขวบที่มองไม่เห็นแล้วเนื่องจากอุบัติเหตุ คุณหมอเซิร์มปั่นกระจกตาเด็กเป็นวงกลมสองชิ้น นำไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยที่กระจกตาขุ่น ผลปรากฏว่ากระจกตาข้างขวายังขุ่น แต่กระจกตาข้างซ้ายกลับใส ต่อมาในช่วงปี ค.ศ.1920-1940 จักษุแพทย์ชาวสเปน Ramon Castroviejo ได้คิดค้นใบมีดผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาโดยตัดกระจกตาเป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื่องจากในสมัยก่อน การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตายังไม่มีไหมสำหรับเย็บที่เล็กและละเอียดพอ การเย็บแผลทำได้แค่เพียงใช้ไหมเส้นใหญ่พาดขึงไว้ ทำให้มีโอกาสแผลรั่วสูง คนไข้ต้องนอนนิ่งๆ นานเป็นเวลาสามสัปดาห์ และยังต้องมีถุงทรายขนาบด้านข้างศีรษะไว้ไม่ให้ขยับ

    สมัยก่อน การเปลี่ยนกระจกตาคนเริ่มต้นจากการใช้ตาจากสัตว์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงใช้กระจกตาจากคนที่มองไม่เห็นแล้ว เมื่อการผ่าตัดมีมากขึ้น กระจกตาจากคนที่มองไม่เห็นมีไม่เพียงพอ ในที่สุดจึงเริ่มมีการใช้กระจกตาจากผู้เสียชีวิต

    ที่สถาบันบาราแคร์ (Barraquer Centro de Oftalmologia) ในเมืองบาเซโลนาประเทศสเปน ได้มีการก่อตั้งธนาคารดวงตาในปี ค.ศ.1962 โดยตาดวงแรกได้รับบริจาคจากนายแพทย์ Ignacio Barraquer จักษุแพทย์รุ่นที่สองของตระกูล ซึ่งเป็นบิดาของนายแพทย์ Joaquin Barraquer โดยนายแพทย์ผู้เป็นลูกทำหน้าที่ผ่าตัดเอาตาของบิดาหลังจากเสียชีวิตได้สองชั่วโมง เพื่อนำกระจกตามาเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย

    แผลผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาในสมัยก่อน.

     

    ในประเทศไทย มีการเปลี่ยนกระจกตาเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดเอากระจกตาตรงกลางที่ขุ่นออกเป็นชิ้นกลมๆทั้งชั้นความหนา และนำกระจกตาปกติที่ใสมาเปลี่ยนและเย็บเข้ากับขอบของกระจกตาเดิม วิธีนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Penetrating Keratoplasty (PKP) แผลที่กระจกตามักเป็นวงกลมขนาด 7.5-8.5 มิลลิเมตร ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่องของความแข็งแรงของแผล เมื่อมีการกระแทกที่ตา โอกาสที่แผลที่เย็บไว้จะแตกมีสูง อีกทั้งการฟื้นตัวของกระจกตาช้ามาก ต้องรอกันเป็นปีๆ เนื่องจากแผลมีขนาดใหญ่เป็นวงกลม ทำให้ไหมไนล่อนที่ใช้เย็บแผลส่งผลให้เกิดสายตาเอียงผิดปกติมาก ไหมที่ขาดหรือหลวมในระยะยาวทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือระคายเคืองได้ ความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกและต้อหินแทรกซ้อนสูง มีโอกาสเกิดการต้านกระจกตาสูง ทำให้กระจกตากลับมาขุ่นซ้ำได้ และระหว่างการผ่าตัดเองก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก

    ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะชั้นที่มีความผิดปกติ ทำให้แผลผ่าตัดเล็กลง แผลแข็งแรงขึ้นมาก และการฟื้นตัวเร็วขึ้นมาก รวมถึงโอกาสการต้านกระจกตาน้อยลง

    กระจกตาปกติมีความหนาเฉลี่ย 520 ไมครอน หรือประมาณครึ่งมิลลิเมตร แต่ด้วยความหนาเพียงเท่านี้ กระจกตายังแบ่งเป็นชั้นซ้อนกันอยู่ทั้งหมด 5 ชั้น โดยปกติ กระจกตาชั้นที่ 1 เป็นชั้นหนังกำพร้า เมื่อหลุดลอก ถลอก จะสร้างขึ้นใหม่ได้ กระจกตาชั้นที่ 2 และ 3 จะติดกันแน่น เช่นเดียวกับกระจกตาชั้นที่ 4 และ 5 ที่ติดกันแน่น ขอเรียกกระจกตาส่วนที่ 1-3 ว่ากระจกตาส่วนหน้า และชั้นที่ 4-5 ว่ากระจกตาส่วนหลัง กระจกตาชั้นที่ 3 มีความหนาถึง 90% ของความหนาของกระจกตาทั้งหมด

    ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตาส่วนหน้า เช่นกรณีเป็นแผลเป็นของกระจกตา กระจกตาขุ่นจากการสะสมของสารบางอย่าง ซึ่งเกิดจากโรคทางพันธุกรรม กระจกตาโป่งขั้นรุนแรง วิธีนี้จะเปลี่ยนเฉพาะกระจกตาส่วนหน้าทั้งสามชั้น เหลือเฉพาะกระจกตาส่วนหลังคือชั้นที่ 4 และ 5 โดยที่จะมีไหมเย็บด้านนอกเช่นเดียวกับวิธีเปลี่ยนกระจกตาทั้งชั้นความหนา แต่แผลจะแข็งแรงกว่ามาก เพราะไม่ใช่แผลทะลุ จึงถือว่าเป็นการผ่าตัดนอกลูกตา โอกาสเกิดภาวะต้านกระจกตาน้อยกว่าวิธีแรกมาก

    สมัยก่อนนั้นการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนหน้านี้ เป็นการผ่าตัดที่ยากและใช้เวลานานหลายชั่วโมง จนกระทั่งเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน นายแพทย์ชาวซาอุดีอาระเบียชื่อ Moham-med Anwar เป็นผู้ที่คิดวิธีการแยกกระจกตาส่วนหน้าและหลังออกจากกันโดยการฉีดอากาศเข้าไปช่วยแยก ทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาผ่าตัดน้อยลงมากและเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดในการเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนหน้า วิธีนี้เรียกว่า Deep Anterior Lamellar Keratoplasty (DALK)

    สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนหลังในผู้ป่วย อันได้แก่ กระจกตาบวมน้ำ เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเช่นกันโดย Dr. Gerrit Melles ชาวเนเธอร์แลนด์ และต่อมามีการปรับปรุงเทคนิคของการผ่าตัดมาเรื่อยๆ ในปัจจุบันผู้ป่วยที่มีกระจกตาบวมน้ำ การรักษาโดยการผ่าตัดทำได้สองวิธีคือ DSAEK และ DMEK

    การเปลี่ยนกระจกตาส่วนหลังแบบใส่ด้านหลังของกระจกตาส่วนหน้าเข้าไปด้วย วิธีนี้คือ Des-cemet’s Stripping Automated Endo-thelial Keratoplasty (DSAEK) วิธีนี้จะเจาะรูเอากระจกตาส่วนหลัง (ชั้นที่ 4-5) ที่ผิดปกติของผู้ป่วยออกไป และเอากระจกตาบริจาคมาตัดกระจกตาส่วนหน้าออกได้แก่ชั้นที่ 1, 2 และส่วนใหญ่ของชั้นที่ 3 ออกไป และเอาส่วนด้านล่างที่เหลือใส่เข้าไปในตาผู้ป่วยแทน โดยใช้อากาศเป็นตัวอัดให้กระจกตาใหม่ติดกับกระจกตาของผู้ป่วย วิธีนี้ใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่า แผลผ่าตัดมีขนาดประมาณ 5 มม. ซึ่งก็เล็กกว่าและแข็งแรงกว่า รวมทั้งการฟื้นตัวดีกว่าและเร็วกว่าแบบเปลี่ยนทั้งชั้น วิธีนี้ในประเทศไทยเริ่มทำมานาน 7-8 ปีแล้ว แต่ยังพบปัญหาเรื่องการต้านกระจกตาอยู่บ้าง

    แผลผ่าตัดแบบ DMEK ซึ่งเป็นวิธีใหม่ล่าสุด.

     

    วิธีใหม่ล่าสุดซึ่งในต่างประเทศโดย เฉพาะในยุโรปและอเมริกามีการผ่าตัดชนิดนี้มากขึ้นในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยเริ่มทำครั้งแรกเมื่อปี 2012 เราเรียกวิธีนี้ว่า Descemet’s Membrane Endothelial Keratoplasty (DMEK) คือการเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนหลังเท่านั้น โดยเจาะรูเอากระจกตาส่วนหลัง (ชั้นที่ 4-5) ที่ผิดปกติออก และใส่กระจกตาใหม่เฉพาะชั้นที่ 4 และ 5 กลับเข้าไป ซึ่งทั้งสองชั้นรวมกันมีความบางมาก คือเพียง 20 ไมครอนเท่านั้น (เส้นผมของคนเราหนาประมาณ 100 ไมครอน) สภาพตาหลังผ่าตัดจะเหมือนธรรมชาติที่สุด เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนเฉพาะชั้นส่วนหลังของกระจกตาจริงๆ โดยที่ไม่มีกระจกตาชั้นที่ 3 ใส่เพิ่มเข้าไปด้วย แผลผ่าตัดมีขนาดเพียง 3 มม. ซึ่งขนาดพอๆกับการผ่าตัดต้อกระจก การประกบติดกันของกระจกตาใช้วิธีอัดอากาศเข้าในตา การฟื้นตัวจะเร็วมากเพียง 4 สัปดาห์ และโอกาสการเกิดการต้านกระจกตาน้อยกว่าวิธีที่เปลี่ยนทั้งชั้นของกระจกตาและวิธี DSAEK ถึง 15-20 เท่า จึงนับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีกระจกตาบวมน้ำในปัจจุบัน

    ด้วยเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราใช้กระจกตาได้อย่างคุ้มค่าโดยกระจกตาหนึ่งดวงสามารถใช้กับผู้ป่วยสองคน คือเปลี่ยนกระจกตาด้วยวิธี DALK หนึ่งคน และวิธี DMEK อีกหนึ่งคน ส่วนการเปลี่ยนกระจกตาโดยการใช้กระจกตาเทียมยังใช้กันน้อยและผลในระยะยาวไม่ดีเท่าที่ควร มักใช้ในกรณีที่มีโอกาสประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนกระจกตาด้วยการใช้ตาบริจาคมีน้อย ในประเทศไทยการรอรับบริจาคดวงตาใช้เวลานาน 4-5 ปี เนื่องจากมีผู้บริจาคดวงตาน้อย

    การผ่าตัดกระจกตาในปัจจุบัน.

     

    ในปี 2012 Shinya Yamanaka ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ จากการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ว่าเซลล์เต็มวัยที่เปลี่ยนไปทำหน้าที่เฉพาะแล้วนั้น สามารถถูกโปรแกรมใหม่เพื่อให้กลายเป็นเซลล์ที่ยังไม่มีหน้าที่เฉพาะและพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อต่างๆที่เราต้องการได้ การค้นพบดังกล่าวจะนำไปสู่การพลิกประวัติศาสตร์ของการรักษาโรคต่างๆ และเชื่อว่าอีกไม่เกินสิบปีข้างหน้าด้วยวิธีนี้จะสามารถนำมาใช้ในการโปรแกรมเซลล์เต็มวัยของผู้ป่วยที่มีโรคกระจกตาให้พัฒนาเป็นเซลล์ของกระจกตา แล้วนำมาฉีดใส่ในตาผู้ป่วย เมื่อถึงเวลานั้นก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการต้านกระจกตาเกิดขึ้นเลย.

     

    ที่มา http://www.thairath.co.th/content/420479

     


    free counters
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×