ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เที่ยวทั่วไทย 76 จังหวัด

    ลำดับตอนที่ #21 : ~ จังหวัดนครพนม ~

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 209
      0
      24 ต.ค. 49

     คำขวัญ

    "พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไทยเรือไฟ โสภางามตาฝั่งโขง" 

     

    ข้อมูลทั่วไป

    นครพนม เป็นจังหวัดชายแดนริมโขง ตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของลาว เป็นเมืองเก่าแก่เคียงคู่กับอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดินแดนแห่งนี้มีชื่อว่า มรุกขนคร และต่อมาได้ทรงเปลี่ยนเป็น นครพนม ตามสภาพพื้นที่ของเมือง ซึ่งติดต่อกับเทือกเขามากมาย จังหวัดนครพนมอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 740 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 5,512 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยอำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอปลาปาก อำเภอท่าอุเทน อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอบ้านแพง อำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอนาแก อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า และกิ่งอำเภอนาทม 

     

    อาณาเขต

    ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย

    ทิศใต้ ติดต่อกับเขตอำเภอดงหลวง กิ่งอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

    ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน

    ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตอำเภอกุสุมาลย์ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร 

     เทศกาลงานประเพณี

    1. งานนมัสการพระธาตุพนม กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 3 เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของชาวนครพนม และจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงเวลาดังกล่าว พุทธศาสนิกชนชาวอีสานจะแต่งกายในชุดขาว ไปกราบไหว้พระธาตุพนมและถือศีลปฏิบัติธรรมบริเวณศาลารายรอบวัด และในวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา จะมีการเวียนเทียนและฟ้อนผู้ไทยถวายตามประเพณีโบราณ

    2. ประเพณีแสกเต้นสาก เป็นประเพณีของชนเผ่าแสกที่หมู่บ้านอาจสามารถ เป็นการเต้นบวงสรวงเจ้า โดยเต้นกันเป็นประจำในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 การเต้นสากนอกเทศกาล จะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ ได้แก่ หัวหมู เงิน และเหล้า ซึ่งจะทำพิธีที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน โดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น "แสกเต้นสาก" ใช้ไม้ยาวทาสีแดงสลับขาวเรียกสาก นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ๆ ลงไปตามจังหวะการกระทบไม้ คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก

    3. ประเพณีโส้ทั่งบั้ง เป็นประเพณีของชาวไทยโส้ ซึ่งเป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งที่อพยพลงมาจากทาง เหนือตามลุ่มแม่น้ำโขง มีประเพณีของตนเองสืบทอดกันมา มีภาษาพูดซึ่ง สำเนียงเพี้ยนมาจากภาษาพูดของชาวอีสาน อาชีพส่วนใหญ่คือ การทำไร่ทำนา คำว่า "ทั่ง" เป็นภาษาอีสาน หมายถึง การกระทุ้ง ส่วนคำว่า "บั้ง" หมายถึง กระบอกไม้ไผ่ ประเพณีโส้ทั่งบั้ง ก็คือ การเต้นรำพร้อมกับใช้กระบอกไม้ไผ่ที่มี ลักษณะกลวงทั้งสองด้าน ยาวประมาณ 1 เมตร นำมาปอกเปลือกออกให้บาง เพื่อให้ได้เสียงชัดเวลากระทุ้งหรือกระแทกพื้นดินเป็นจังหวะ และตกแต่งด้วย กระดาษสีอย่างสวยงาม เพื่อประกอบพิธีกรรมในงานศพ เป็นการส่งดวงวิญญาณให้ไปสู่สุคติ หรือเมื่อมีคนเจ็บป่วย หรือจัดในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ชาวไทยโส้นี้อาศัยอยู่ในท้องที่ตำบลต่างๆ ในอำเภอท่าอุเทน ปลาปาก และศรีสงคราม

    4. การแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา มีวัตถุประสงค์ให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคี ความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง มีระยะทางแข่งขัน 3 กิโลเมตร มีร่องน้ำที่ไหลเชี่ยว ยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชนะคือผู้ที่เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง

    5. การไหลเรือไฟ (เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษาคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกโดยบันไดทิพย์ ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก" พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า "อจลเจดีย์" (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือการสักการะบูชาอย่างหนึ่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟลงกลางลำน้ำโขงภายหลังจากจุดไฟแล้ว จะเป็นภาพที่งดงามมาก ในงานจะมีการแสดงทางวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน และมหรสพตลอดแนวเขื่อนริมแม่น้ำโขง 

     

    สถานที่น่าสนใจ

    1. พระธาตุพนม ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง สถาปัตยกรรม มีแหล่งที่มาเดียวกันกับปราสาทของขอม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1200-1400 ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า ในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.30 น. มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือ พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ ประจวบกับเกิดพายุผนติดต่อกันมาหลายวัน ชาวไทยจึงได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม และได้บรรจุของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม

    2. พระธาตุเรณูนคร อยู่ในตัวอำเภอเรณูนคร สร้างเมื่อ พ.ศ.2461 โดยจำลองมาจากพระธาตุพนม มีความสูง 35 เมตร กว้าง 8.37 เมตร มีซุ้มประตู 4 ด้าน ภายในโบสถ์วัดพระธาตุเรณูยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระองค์แสน ซึ่งมีน้ำหนัก 1,200 กิโลกรัม หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร พุทธลักษณะสวยงามมาก

    3. วนอุทยานน้ำตกตาดขาม อยู่ในเทือกเขาลังกา เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ไหลลดหลั่นลงมา 4 ชั้น บริเวณโดยรอบร่มรื่นเหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

    4. น้ำตกตาด มีลักษณะสวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะในฤดูฝนสามารถมองเห็น น้ำตกนี้ได้จากทางหลวงแผ่นดินที่เลียบแม่น้ำโขง อยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านแพงประมาณ 11 กิโลเมตร รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงตัวน้ำตกได้ ต้องเดินเท้าประมาณชั่วโมงเศษ สองข้างทางจะร่มรื่น เหมาะแก่การชมความงามตามธรรมชาติ 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×