ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    มหายุทธ์สะท้านแผ่นดิน

    ลำดับตอนที่ #5 : ทุตโมซิสที่3 นโปเลียนแห่งอียิปต์(part two)(จบ)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 932
      0
      25 ก.ย. 52


    การปรากฏตัวอย่างไม่คาดฝันของกองทัพอียิปต์ ทำให้ฝ่ายข้าศึกไม่ทันตั้งตัว ทุตโมซิสสั่งกองทัพของพระองค์ เข้าโจมตีทันที ทำให้ข้าศึกที่ยังไม่ทันตั้งกระบวนรบต้องแตกพ่าย ยิ่งเมื่อพวกเขาเห็นทุตโมซิสเป็นผู้นำทัพมาเอง ยิ่งทำให้ขวัญกำลังใจของฝ่ายข้าศึกตกต่ำและสิ้นกำลังใจที่จะรบ แม้ว่าพวกเขาจะมีกำลังมากกว่าฝ่ายอียิปต์ก็ตาม 


    กองทัพพันธมิตรแห่งเมกิดโดแตกกระเจิงจากสนามรบ ทิ้งม้าศึกและรถศึกรวมทั้งทรัพย์สินต่างๆมากมายไว้เบื้องหลัง ด้วยความละโมบทำให้ไพร่พลชาวอียิปต์ มัวแต่ตามเก็บทรัพย์สมบัติที่พวกข้าศึกทิ้งเอาไว้ทำให้ฝ่ายอียิปต์สูญเสียโอกาสในการเข้ายึดเมืองในวันนั้น ฟาโรห์ทุตโมซิสทรงพิโรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น พระองค์ตรัสกับบรรดาขุนศึกว่า “ถ้าพวกเจ้าไม่มัวแต่เสียเวลากับการเก็บทรัพย์สินที่พวกศัตรูทิ้งเอาไว้ พวกเราก็คงยึดเมกิดโดได้ในทันที พร้อมกับจับตัวเจ้านครทั้งหมดเอาไว้ได้ ซึ่งจะเท่ากับพิชิตนครนับร้อยได้ในศึกเพียงคราวเดียว”

    ฟาโรห์ทุตโมซิส ทรงสั่งให้ตั้งทัพ ล้อมรอบนครเมกิดโดเอาไว้ โดยขุดคันคูเลียบตามแนวกำแพงเมืองและตั้งแนวค่ายรายล้อมเอาไว้ พร้อมกับมีพระบัญชาแก่กองทัพของพระองค์ว่า ห้ามมิให้ใครออกมานอกเมืองจนกว่าพวกในเมืองจะแสดงสัญญาณขอยอมจำนน 

    และแล้วหลังการปิดล้อมอย่างแน่นหนาผ่านไปได้เจ็ดเดือนบรรดาเจ้านครที่ติดอยู่ในเมกิดโดก็ตัดสินใจขอยอมจำนน พวกเขาส่งบรรดาโอรสและ ธิดารวมทั้งทรัพย์สินมีค่าต่างๆอีกมากมาย ซึ่งรวมถึงรถศึก 924 คัน และม้าศึกอีกกว่า 2000 ตัวเพื่อถวายเป็นบรรณาการ พร้อมกับให้สัตย์สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ตลอดไป

    ชัยชนะครั้งแรกของทุตโมซิสที่สาม ณ. ช่องเขาเมกิดโด ได้กลาย เป็นข้อพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ หลังการศึกที่เมกิดโด ฟาโรห์ ทุตโมซิสที่สามยังทำสงครามกับกษัตริย์ซาอัสทาทาร์ (Saustatar) ของชาวไมทานนีที่เมืองคาเดช ซึ่งตั้งอยู่ในซีเรียและได้รับชัยชนะ 

    จากนั้นพระองค์ยังคงทำศึกอีกหลายครั้งตลอดรัชกาลของพระองค์ โดยทรงยกกองทัพเข้าบุกเอเชียถึงสิบหกครั้งและทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง ครั้งหนึ่งในการทำศึกกับนครจอปปา(ปัจจุบันคือ เมืองจัฟฟา ในอิสราเอล) เมื่อปีที่1450 ก่อนคริสตกาล หลังจากการปิดล้อมอันยาวนาน กองทัพอียิปต์ไม่อาจตีฝ่าการป้องกันของชาวเมืองได้ พระองค์จึงสั่งให้ถอนทัพและทิ้งกระบุงบรรจุทัพย์สินจำนวนมากเอาไว้โดยในกระบุงเหล่านั้นมีทหารฝีมือดีหลบซ่อนอยู่ ชาวจอปปาตกหลุมพรางโดยนำเอากระบุงเหล่านั้นเข้าไปในเมือง ครั้นพอตกดึกกองทหารที่หลบซ่อนอยู่ก็ออกมา สังหารทหารยามชาวเมืองและเปิดประตูรับกองทัพใหญ่ที่ซุ่มอยู่นอกเมือง ในที่สุดเมืองก็แตก 

    นอกจากการทำศึกในเอเชียแล้ว พระองค์ยังทำสงครามพิชิตพวกลิเบียและแผ่แสนยานุภาพไปยังลุ่มน้ำไนล์ตอนบนเพื่อทำศึกกับชาวนูเบีย(ปัจจุบันคือ ซูดาน) ซึ่งนับแต่สมัยของทุตโมซิสที่หนึ่ง ทางอียิปต์ได้มีความพยายามที่จะเข้าครอบครองนูเบียซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งแร่ทองคำและของป่ามีค่าอื่นๆเช่น ไม้มะเกลือ,หนังสัตว์,งาช้างและกำยาน จวบจนกระทั่งในสมัยของทุตโมซิสที่สาม พระองค์ก็สามารถพิชิตดินแดนนูเบียได้สำเร็จ และขยายอาณาเขตของอียิปต์มาจนถึง แก่งน้ำตกที่สี่ของแม่น้ำไนล์ หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงสร้างนครนาปาต้า (Napata) ขึ้นทางตอนเหนือของแก่งน้ำตกที่สี่เพื่อใช้ควบคุมดินแดนนูเบีย และยังทรงเกณฑ์ชาวนูเบียเข้ามาเป็นทหารในกองทัพของพระองค์ ด้วย

    กล่าวได้ว่ารัชสมัยของพระองค์ อียิปต์กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ ทุตโมซิสที่สามได้ก่อตั้งยุคสันติภาพอียิปต์ (Pax Egyptiaca)ขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นการรับประกันความปลอดภัยด้วยแสนยานุภาพของกองทัพ ส่งผลให้การค้ากับดินแดนต่างๆรุ่งเรือง อียิปต์ได้ทำการค้ากับเพื่อนบ้านอย่างกรีก และ ไซปรัส สร้างความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรเป็นอย่างมาก 

    นอกจากการรบ ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สามยังเป็นฟาโรห์นักสร้างพระองค์หนึ่ง โดยได้ทรงสร้างวิหารในปาเลสไตน์และนูเบีย อีกทั้งยังสร้างวิหารเดียเอล บาริห์ (Deir el-Bahri) ต่อจากทุตโมซิสที่1และพระนางฮัทเชปซุต และต่อเติมมหาวิหารแห่งคานัค โดยสร้างหมู่วิหารเพิ่มเติมและโปรดให้ ราชเลขานุการของพระองค์ขนามว่า จาเนนิ (Tjaneni)สลักเรื่องราวชัยชนะของพระองค์ที่เมกิดโดลงไปบนกำแพงวิหารอย่างละเอียด

    ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สาม สวรรคตในปีที่ 1425 ก่อนคริสตกาล ในเวลานั้นอียิปต์ได้กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่มีอำนาจเหนือดินแดนทั้งในทวีปแอฟริกาและเอเชีย อันเป็นผลมาจากชัยชนะในสงครามของพระองค์ และเนื่องด้วยความสามารถในการรบของพระองค์นี่เอง ที่เป็นที่มาของสมญานาม นโปเลียนแห่งอียิปต์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×