ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    มหายุทธ์สะท้านแผ่นดิน

    ลำดับตอนที่ #4 : ทุตโมซิสที่ 3 นโปเลียนแห่งอียิปต์(part one)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.53K
      0
      25 ก.ย. 52

    ทุตโมซิสที่ 3 นโปเลียนแห่งอียิปต์

    ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สามเป็นฟาโรห์ในราชวงศ์ที่สิบแปด โดยในเวลานั้นเมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์อยู่ที่นครธีบส์ (Thebes) ทุตโมซิสที่สาม ทรงเป็นพระโอรสของฟาโรห์ทุตโมซิสที่สองกับพระสนม เนื่องจากพระมเหสีของทุตโมซิสที่สอง ไม่มีพระโอรส ดังนั้นพระองค์จึงได้เป็นรัชทายาท หลังจากฟาโรห์ทุตโมซิสที่สองสิ้นพระชนม์ลง พระองค์ได้ขึ้นเป็นฟาโรห์ แต่ทว่าเนื่องจากขณะนั้น ทุตโมซิสที่สามยังทรงพระเยาว์อยู่มาก ดังนั้นพระมาตุจฉาของพระองค์ คือ พระนางฮัทเชปซุท จึงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนและในภายหลังก็กุมอำนาจเป็นฟาโรห์หญิงอยู่ระยะเวลาหนึ่ง 

    สำหรับพระนางฮัทเชปซุทนี้ ทรงเป็นพระราชธิดาของฟาโรห์ทุตโมซิสที่หนึ่ง และเป็นพระพี่นางของฟาโรห์ทุตโมซิสที่สอง ตามพระราชประเพณีอียิปต์โบราณ ผู้เป็นฟาโรห์ต้องอภิเษกกับผู้อยู่ในเชื้อสายเดียวกัน เพื่อคงไว้ซึ่งความสูงส่งของสายเลือด ดังนั้นพระนางจึงเข้าพิธีอภิเษกและเป็นมเหสีของทุตโมซิสที่สอง หลังจากพระสวามีสิ้นพระชนม์ พระนางก็ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนทุตโมซิสที่สามที่ยังทรงพระเยาว์ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพระนางปฏิบัติองค์เหมือนดังฟาโรห์ที่เป็นบุรุษเพศ มีการติดเคราปลอมขณะออกว่าราชการ เนื่องจากพระนางนับได้ว่าทรงมีพระปรีชาสามารถในการบริหารปกครองไม่น้อยทีเดียว ดังนั้น ในรัชสมัยของพระนาง จึงกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ที่สุดช่วงหนึ่งของอียิปต์

    แม้จะดูเหมือนแย่งอำนาจมาจากพระราชนัดดา แต่พระนางฮัทเชปซุท ก็ยังให้ความสำคัญกับเจ้าชายทุตโมซิสมาก โดยประทานตำแหน่งหัวหน้านักบวชแห่งเทพอามอนและนายพลแห่งกองทัพให้ ซึ่งได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างรากฐานอำนาจอันแข็งแกร่งให้กับเจ้าชายในเวลาต่อมา และหลังจากครองราชย์ในฐานะฟาโรห์หญิงได้ราวยี่สิบปี ในปีที่ 1458 ก่อนคริสตกาล พระนางก็สละราชบัลลังก์ให้กับเจ้าชายทุตโมซิส ซึ่งได้กลับมาขึ้นครองราชย์เป็น ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สาม อีกครั้ง

    ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สาม ทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าพระองค์เชี่ยวชาญในการขี่ม้า ยิงธนูและล่าสัตว์ อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถอีกด้วย ในด้านความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระนางฮัเชปซุทนั้นจากหลักฐานที่มีอยู่ พอจะบอกได้ว่า ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สาม ไม่ได้ทรงพอพระทัยที่พระนางฮัเชปซุทขึ้นครองราชย์นัก สังเกตได้จากการที่พระองค์ได้สั่งให้ทำลายรูปเคารพและรูปสลักของพระนางจนเกือบหมด

    ในรัชสมัยของพระนางฮัทเชปซุทนั้น อียิปต์แทบไม่มีสงครามใหญ่ๆเกิดขึ้นเลย ทั้งนี้เนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการทูตของพระนางที่เน้นการเชื่อมสัมพันธไมตรีมากกว่าการรบ แต่หลังจากฟาโรห์ทุตโมซิสที่สาม ขึ้นครองราชย์ บรรดาหัวเมืองขึ้นของอียิปต์ ถือโอกาสกระด้างกระเดื่องต่อฟาโรห์หนุ่ม อีกทั้งอาณาจักรใกล้เคียงก็ถือโอกาสคุกคาม 

    ในปีที่ 1456 ก่อนคริสตกาล ชาวคานานไนต์ ได้แข็งข้อต่ออียิปต์ ผู้แข็งข้อนำโดยนครรัฐแห่งเมกิดโด (Megiddo) กองกำลังของพวกเขาได้รับการหนุนหลังจากชาวเมโสโปเตเมียและซีเรีย ด้วยกองทัพมหึมาที่นำโดยเจ้าชายสามร้อยพระองค์แห่งซีเรีย ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สามทรงนำกองทัพไปปราบกบฏครั้งนี้ด้วยพระองค์เองเพื่อทรงพิสูจน์ว่าพระองค์คือฟาโรห์ที่แท้จริง สำหรับในยุคของทุตโมซิสที่สามนั้น เทคโนโลยีการทำสงครามของอียิปต์ก้าวหน้ากว่าในยุคก่อนมาก โดยมีอาวุธยิงอย่างธนูที่มีอานุภาพมากกว่าแบบเก่า อีกทั้งยังมีการใช้ม้าและรถศึกในการรบอีกด้วย อันเป็นผลมาจากการรุกรานของพวกฮิกโซสที่นำเอารถศึกเข้ามาใช้ ทำให้ชาวอียิปต์ได้รู้จักอาวุธชนิดนี้

    หลังจากทราบข่าวศึก กองทัพอียิปต์ระดมพลและเคลื่อนทัพอย่างรวดเร็วข้ามทะเลทรายไซนายมุ่งหน้าสู่เมืองกาซา ซึ่งยังคงยอมสวามิภักดิ์ต่ออียิปต์ ในการศึกครั้งนี้ ฟาโรห์ทุตโมซิสที่สาม ทรงเล็งเห็นว่า เมกิดโด (Megiddo) คือที่หมายแรกที่พระองค์ต้องพิชิตให้ได้ หากต้องการชนะศึก หลังจากกองทัพเคลื่อนพลมาถึงอารูน่า(Aaruna) ทุตโมซิสได้ทรงเรียกประชุมเหล่าแม่ทัพนายกองเพื่อวางแผนเข้าโจมตีเมกิดโด จากข้อมูลที่พระองค์ได้รับ เส้นทางเข้าสู่เมกิดโดมีอยู่สองเส้นทาง โดยเส้นทางแรกเป็นทางอ้อมภูเขาแต่ทางกว้างขวางสะดวกแก่การเคลื่อนทัพ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขาเข้าไป แต่ทว่าแคบมาก อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างลำบาก 

    บรรดาแม่ทัพนายกองเสนอว่า ควรใช้เส้นทางอ้อมภูเขา ที่แม้จะไกลกว่าแต่ก็สะดวกแก่การเคลื่อนทัพมากกว่า พวกเขากล่าวว่า “ ม้าศึกและพลรบ แทบจะต้องเดินเรียงแถวเดี่ยวเพื่อผ่านเส้นทางนั้นและหากว่าเป็นแบบนั้นแล้ว กองหน้าของเราอาจจะถูกข้าศึกโจมตีบดขยี้ ก่อนที่กองทัพหลวงจะไปถึง” แต่ฟาโรห์ทุตโมซิสทรงกล่าวกับพวกเขาว่า “ ตราบเท่าที่ข้ายังคงมีชีวิตอยู่ ข้าเชื่อว่าข้ายังคงเป็นที่รักของเทพเจ้าราและได้รับการอวยพรจากบิดาของข้า เทพอามอน , ข้าจะเดินทัพผ่านเส้นทางแคบนั้น และหากว่าพวกเจ้าจะไปยังเส้นทางที่เจ้าต้องการก็จงไปเถิด ข้าจะให้แต่ผู้ที่สมัครใจยินดีไปกับข้าเท่านั้น ได้ติดตามข้า ” เมื่อเหล่าไพร่พลได้ยินเช่นนั้น ต่างตะโกนโห่ร้องกึกก้อง “พวกเราจะขอติดตามเจ้าเหนือหัวของเราไปยังทุกที่และทุกเส้นทาง ที่พระองค์เสด็จไป”

    ทุตโมซิสดำเนินด้วยพระบาทนำหน้าเหล่ารี้พลผ่านช่องแคบนั้น มันต้องใช้เวลานานมากกว่าสิบสองชั่วโมงกว่าที่กองหน้าของทัพอียิปต์จะไปถึงทางออกอีกด้านของหุบเขาและใช้เวลาอีกกว่าเจ็ดชั่วโมงก่อนที่กองทหารกองสุดท้ายจะผ่านเข้ามา ฟาโรห์ทุตโมซิสทรงรออยู่ที่ปากทางจนกระทั่งทหารคนสุดท้ายผ่านมาได้อย่างปลอดภัย
    (มีต่อตอนหน้า)



    พระองค์ได้รับสมญานามจากบรรดานักประวัติศาสตร์ว่า นโปเลียนแห่งอียิปต์ ก็เนื่องมาจากพระปรีชาสามารถในการศึกของพระองค์ ที่ทำให้อียิปต์แผ่แสนยานุภาพเกรียงไกร ยิ่งกว่ารัชสมัยใดๆ ก่อนหน้านั้น จนขึ้นชั้นมหาอำนาจแห่งโลกโบราณ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×