ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ๓ ๒ ๑... >> ที่มาของสุภาษิต สำนวน คำพังเพยไทย

    ลำดับตอนที่ #31 : หมวด ส

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.17K
      0
      30 ม.ค. 53

    หมวด ส

    สอนจระเข้ว่ายน้ำ
             หมายถึงการชี้ทางหรือสอนให้คนที่เป็นอยู่แล้วให้เก่งหรือชำนาญขึ้นไปอีก แต่มักมุ่งหมายโดยเฉพาะถึงการสอน หรือแนะนำคนชั่วประพฤติไม่ดีส่วนมาก
     
    สอนหนังสือสังฆราช 
              สำนวนนี้ แตกต่างกับการสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ เพราะหมายถึงการสอนผู้ที่มีความรู้ดีเป็นเยี่ยมอยู่แล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าคนผู้นั้นรู้หรือชำนาญดีกว่าตนเสียอีก ความหมายใกล้เคียงกับสำนวนที่ว่า “เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน”
     
    สัญชาติสุนัข อดขี้ไม่ได้
              สำนวนนี้ ใช้เป็นคำเปรียบเปรยถึงคนที่ประพฤติชั่ว ถึงจะเอามาอบรมเลี้ยงดูดีอย่างไร ก็อดประพฤติเช่นเดิมไม่ได้ เปรียบได้กับสุนัขส่วนมากซึ่งชอบกินขี้อยู่เสมอ แต่สมัยนี้เราไม่ค่อยจะได้เห็นดังว่า ก็เพราะส้วมถ่ายอุจาระของเราสมัยนี้มิดชิดไม่ค่อยเรี่ยราดเหมือนสมัยก่อน
     
    สมภารกินไก่วัด
              เป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มุ่งหมายโดยเฉพาะ ถึงผู้ชายที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ปกครองดูแลหญิงสาวหลาย ๆ คนภายในบ้านหรือภายในวงงาน แล้วก็ถือโอกาสเกี้ยวพาเอาหญิงสาวเหล่านั้น มาเป็นเครื่องเล่นของตนเสียโดยไม่เหมาะสม อีกทางหนึ่งอาจหมายถึงผู้มีอำนาจในการปกครอง ซึ่งชอบหาเศษหาเลยจากการ “คอรัปชั่น” ในหน้าที่ของตนเองก็ได้
      
    สร้างวิมานในอากาศ
              หมายถึง การสร้างความฝันว่าตนเองจะต้องได้เป็นใหญ่หรือ มีเงินทองมั่งมีขึ้นแล้วจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้สมกับที่มีเงิน โดยที่ความใฝ่ฝันนั้นยังไม่แน่ว่าจะได้รับสมจริงหรือเปล่า
     
    สาดน้ำรดกัน
              เป็นสำนวนที่หมายถึงการทะเลาะทุ่มเถียงด่าทอโต้ตอบกันไปมา ยังไม่ถึงขั้นที่ลงมือใช้อาวุธซึ่งเท่ากับว่า เอาน้ำมาสาดรดกันให้ต่างคนต่างเปียกด้วยกันทั้งสองข้าง
       
    สาวไส้ให้กากิน
             หมายถึง การที่เอาความลับหรือเรื่องไม่ดีของตนเองหรือของพี่น้องของตนไปเปิดเผยให้คนอื่นฟัง โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่ตนเองเลย
       
    สิบเบี้ยใกล้มือ
              หมายความว่า อะไรที่ควรจะได้และอยู่ใกล้หรือเป็นสิ่งที่คว้าได้ง่าย ก็ควรจะคว้าไว้ก่อนดีกว่าที่จะมองข้ามไป เพราะเห็นว่าเป็นของเล็กน้อยและไม่มุ่งเอาของใหญ่ข้างหน้า โดยที่ยังมองไม่เห็นเค้าเลย
      
    สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ
              หมายความว่า เรื่องที่เล่าจากปากคนมาก ๆ ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อถือทีเดียวนัก ต้องเห็นด้วยตาเองเสียก่อนและถ้าจะให้แน่จริง ๆ แล้ว ก็ต้องได้อยู่กับเหตุการณ์นั้นด้วย หรือเรียกว่าได้สัมผัสด้วยมือของตนเองจริงๆ จึงจะเป็นของแน่นอน
      
    สิบคนเข้าไม่เท่าคนหนึ่งออก
              สำนวนนี้ หมายถึงคนในครอบครัวเรากับคนภายนอกบ้าน คือคนที่อยู่กับเราภายในบ้านนั้นย่อมมีความสัมพันธ์และคุ้นเคยรู้อกรู้ใจกันมากับเราเป็นอย่างดี หรือเปรียบได้กับคนที่ทำงาน อยู่ในบังคับบัญชาของเรามานาน ๆ ย่อมจะมีความชำนาญในหน้าที่ต่าง ๆ เป็นอย่างดีเมื่อมีคนต้องออกไปแล้ว จะหาคนมาอยู่ใหม่ แทนกี่สิบคนก็คงสู้คนเก่าที่ออกไปไม่ได้
       
    สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง
              สำนวนนี้ เนื่องจากว่าคนไทยในสมัยก่อน ๆ ถือว่า การเป็นพ่อค้าหรืออาชีพค้าขายนั้น สู้รับราชการขุนนางหรือข้าราชการไม่ได้ เพราะเหตุที่คนไทยในสมัยก่อนยังไม่มีความชำนาญในทางค้าขายดีพอ เมื่อไปทำมาค้าขายเข้า ก็มักประสบกับการขาดทุนมากกว่ากำไรสู้เป็นขุนนางหรือเป็นข้าราชการไม่ได้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินหรือรัฐบาลชุบเลี้ยงให้มีเงินเดือน ซึ่งเท่ากับว่ามีแต่ทางได้ไม่มีทางขาดทุน
       
    สิบรู้ไม่เท่าชำนาญ
              หมายความว่า ความรู้ต่าง ๆ ที่ร่ำเรียนมาทางหนังสือนั้น ถึงจะเรียนมามากเพียงไรก็สู้ความชำนาญที่ได้จากการปฏิบัติหรือประสบการณ์ด้วยตนเองมาก ๆ ไม่ได้ เรียกว่า เรียนรู้แต่ภาคทฤษฎี แต่พอลงมือปฏิบัติเข้าจริง ๆ แล้วกลับไม่ค่อยได้เรื่อง สู้คนที่เขาเรียนปฏิบัติจากของจริงมาก่อนไม่ได้
      
    สีซอให้ควายฟัง
              เป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงคนโง่เง่าหรือปัญญาทึบ ซึ่งแม้เราจะพร่ำสอนพร่ำบอกอย่างไรก็ไม่ได้เรื่อง หรือเปรียบได้กับคนที่ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งสอน หรือคำแนะนำชี้แจงของผู้ที่รู้ทำให้ผู้อุตส่าห์แนะนำต้องเปล่าประโยชน์ หรือเสียเวลาในการไปคอยชี้แนะนำ
     
    สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

              สำนวนนี้ มักจะใช้กันมาก เพราะเป็นสำนวนสุภาษิตที่เตือนใจให้คนเราอย่าทระนงหรือประมาท ไม่ว่าจะมีความรู้หรือปัญญาฉลาดปราดเปรื่องสักแค่ไหนถ้าประมานก็มีวันพลาดท่าเสียทีเขาลงได้ เพราะอุปมาเอาว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” เราผู้เป็นคนธรรมดาสามัญหรือมีความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยิ่งจะมีทางพลาดพลั้งลงได้ง่าย โดยมีสำนวนต่อท้ายว่า “สองตีนโด่เด่ คงจะเซลงมาบ้าง”
      
    สุกหัวกินหัว สุกหางกินหาง
              สำนวนนี้ มีความหมายทำนองเดียวกับ “สิบเบี้ยใกล้มือ” คือ ได้สิ่งไหนก่อนหรือง่ายก็ควรคว้าเข้าไว้ ไม่ควรรีรอเลือกมากเกินไป อาจจะชวดหรือไม่ได้เลยก็ได้ เปรียบกับปิ้งปลาเป็นอาหาร คือเห็นว่า สุกหัวกินหัว สุกหางกินหาง ไม่ต้องรอให้ปลาสุกทั้งตัวจะช้าการไป
      
    สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร
              สำนวนนี้เป็นคำพังเพยที่ระบุถึงอบายมุขทั้ง ๔ คือ สุรา(เหล้า) นารี(ผู้หญิง : มักเจาะจงถึงผู้หญิงคนเที่ยว) พาชี(ม้าแข่ง) กีฬาบัตร(การพนันจำพวกไพ่ เช่น ไพ่ป๊อก ไพ่ตอง) ว่าเป็นเหตุแห่งความฉิบหายของผู้ชายเราถ้าใครลงไปมั่วสุมเข้า หรืออีกทางหนึ่งหมายถึง คนที่เป็นนักเลงถึงพร้อม ๔ อย่าง หรือเกือบทุกอย่างซึ่งเรียกว่าเป็นนักเลงเต็มตัว แต่ไปในทางไม่ดีนัก
     
    เส้นผมบังภูเขา
              หมายความว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องเสียเวลาคิดค้นหรือแก้ไขเกือบตาย แต่แท้จริงแล้วเป็นเรืองที่มีปัญหาอยู่นิดเดียว ซึ่งมองข้ามไป เลยทำให้เป็นเรื่องใหญ่หรืออีกทางหนึ่ง หมายความว่าเอาเรื่องเล็กน้อยมาบังหน้าเสีย เพื่อหลอกให้อีกฝ่ายเข้าใจเขวไป จนเลยไม่ทันคิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่เสียการ
       
    เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน
              หมายความว่า ยุยงให้เขาเกิดวิวาทบาดหมางกันแบบ “ยุให้รำ ตำให้รั่ว” (คำว่า “เสี้ยม”แปลว่า ลับ หรือทำให้เขาควายแหลมคมขึ้น เพื่อจะให้เข้าไปขวิดกัน)
      
    ใส่ตะกร้าล้างน้ำ
              สำนวนนี้ เป็นคำเปรียบเปรยถึงการทำให้คนที่มีมลทิน หรือมีเรื่องเสียมาก่อนให้กลับเป็นคนดีหรือเป็นคนใหม่ที่บริสุทธิ์ขึ้นมา เปรียบเหมือนเอาปลาที่เหม็นคาว หรือมีกลิ่นมาใส่เกลือแช่สักพัก แล้วเอาใส่ตะกร้าล้างน้ำโดยวิธีจุ่มสงขึ้นหลาย ๆ หนเพื่อให้หมดกลิ่น สำนวนนี้มักใช้กับหญิงที่เสียความบริสุทธิ์ไปแล้วหรือมีราคี แล้วเอาชุบอบรมทำให้เป็นหญิงบริสุทธิ์คนใหม่เสีย
      
    ไส้เป็นหนอน
              หมายถึง ญาติพี่น้องหรือคนในบ้านของตนเองไม่ซื่อสัตย์คิดร้ายหรือทรยศ ทำให้ตนต้องได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า “หนอนบ่อนไส้”  โบราณมักเอาคำว่า “ไส้” มาเปรียบกับตัวเรา ญาติพี่น้องวงศ์วาร หรือความลับภายใน, เรื่องส่วนตัว ฯลฯ เป็นส่วนมาก เช่น “ไส้กี่ขด ๆ”(หมายถึงความลับภายในหรือเรื่องส่วนตัว) สาวไส้ให้กากิน, ไส้เป็นน้ำเหลือง ฯลฯ

    ขอขอบคุณข้อมูล
    salanluck.awardspace.com

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×