ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความเกี่ยวกับการ์ตูนที่เคยเขียน

    ลำดับตอนที่ #30 : (Review Anime) Anime Autumn 2012 ที่คราวนี้ผมไม่ได้ตั้งกระทู้

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 709
      0
      16 ต.ค. 55

    เนื่องจากซีซั่นนี้ผมไม่ค่อยมีเวลา บวกกับ ไม่ค่อยมีอนิเมที่ผมสนใจนัก  ดังนั้นท่านแคมมี่จึงเป็นเจ้าภาพเปิดกระทู้รีวิวอนิเมประจำซีซั่นนี้แทน  ท่านใดสนใจตัวเต็มที่ท่านอื่นมาช่วยแสดงความเห็นก็ลองไปอ่านในกระทู้นี้ http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2602088 ได้เลย  สำหรับที่จะเอามาลงในบทความนี้มีเพียงไม่กี่เรื่องที่ผมเข้าไปเขียนแจมในกระทู้ด้วยเท่านั้น


    ซีซั่นนี้ที่ติดตาม  ถ้าไม่รวมที่ต่อจากซีซั่นก่อน (Muv-Luv กับ SAO) แล้วมี 8 เรื่องด้วยกัน

    Tonari no Kaibutsu-kun - การ์ตูนผู้หญิงที่ดูประจำซีซั่น  พูดถึงแล้วอยากให้เอาเรื่องสโนวไวท์ผมแดงมาทำเป็นอนิเมบ้างจัง  จะอวยจนหัวทิ่มให้ดูเลย

    Shinsekai Yori - อวยอันดับหนึ่งประจำซีซั่น  ตอนหนึ่งกับตอนสองทำเอาผมทึ่งไปกับความสุดยอดเลยทีเดียว

    Robotics;Notes - เริ่มต้นได้เอื่อยดี  แต่ดูแล้วสนุกกว่าตอนแรกของ Little Buster นะ  อยากได้แอ็ปที่พระเอกโหลดมาจริง

    Psycho-Pass - ตอนแรกยัดบทอธิบายลงในปากตัวละครเยอะไปหน่อย  กอปรกับอคติเล็กน้อยกับดีไซน์ตัวละครคนวาดรีบอร์น  แต่คอนเซ็ปและแนวคิดของเรื่องน่าสนใจดีมาก ดูแล้วนึกถึง Minority Report ขึ้นมาเลยทีเดียว

    Sakurasou no Pet na Kanojo - ตอนแรกจะไม่ดู  แต่พอรู้ว่ามันไม่ฮาเร็มเลยต้องเป็นไฟต์บังคับ

    Little Buster - ตอนแรกถือว่าทำได้ธรรมดา  (แต่ JC Staff ทำได้ไม่เลวนะ)  แต่เชื่อยี่ห้อ Key เลยลองทนดูไปก่อน

    Chuunibyou - โมเอะดีเด่นประจำซีซั่น  ริกกะก็น่ารัก  แต่รุ่นพี่คูมินนี่ยิ่งน่าอวยเข้าไปใหญ่

    Girl und Panzer - ซากิเวอร์ชั่นขับรถถัง

    ที่เหลือคือเคยอ่านแบบมังหงะมาแล้ว (เมไจ กับ Tempest) หรือไม่ก็ไม่มีวาสนาจะดู




    Shinsekai Yori





    ซีซั่นที่แล้วเรามีเรื่องแนว Post - Apocalypse World สีลูกกวาด (จินรุย) มาซีซั่นนี้เรามี Shinsekai Yori ที่ตรงข้ามกับทุกอย่างที่จินรุยเป็น

    Shinsekai Yori เป็นเรื่องที่แทบจะอยู่นอกเรดาร์ความสนใจของผมตอนเริ่มต้นซีซั่นเลยก็ว่าได้  รู้แต่เพียงว่าเป็นอีกเรื่องที่ A-1 จะเป็นคนผลิตในซีซั่นนี้ (ซีซั่นนี้กี่เรื่องแล้วเนี่ย  ทั้งเมไจ, อบต, แล้วจะยังเรื่องนี้อีก)  ตอนแรกกะว่าจะไม่ดู  แต่เห็นรีวิวของบล็อคฝรั่งต่างตบเท้ารีวิวกันในแง่บวก  ผมเลยลองดูสักตอนสิว่าทำไมมีแต่คนชมไม่ขาด

    ดูจบแล้วได้แต่อุทานในใจ... ให้ตายสิ  นี่เราเกือบพลาดเรื่องสุดยอดอย่างนี้ได้อย่างไรกันเนี่ย !

    สามตอนผ่านไปแล้วเรื่องนี้ยังเดินเรื่องอย่างเนิบ ๆ สร้างบรรยากาศไปเรื่อย ๆ ตอนแรกนอกจากช่วงเริ่มต้นแล้ว  เนื้อหาแทบไม่มีความตื่นเต้นหรือฉากแอ็คชั่นชวนพีคเลยสักนิด  แค่เรื่องราวของเด็ก ๆ ในชั้นเรียนกับเรื่องคุยกันไปเรื่อยเปื่อย  แทบไม่มีความโมเอะ  ไม่มีมุกตลก  แต่เชื่อไหม  มันแทบจะทำให้ผมต้องโผล่งร้องว่า "สุดยอด !" เมื่อเพลงจบขึ้นเลยทีเดียว  ชอบยิ่งกว่าตอนแรกของ Psycho-Pass ที่เต็มไปด้วยฉากแอ็คชั่น หรือ Chuunibyou ที่โมเอะโอเวอร์โหลดตั้งแต่ตอนแรก

    Shinsekai Yori โดดเด่นในด้านการสร้างบรรยากาศ  แค่บรรยากาศของสองตอนแรกก็กินขาดแล้ว  ทั้งเรื่องทำให้คนดูรู้สึกไม่น่าไว้ใจเลยสักนิด  ดีไซน์ตัวละครตาแบ๊ว ๆ ดูขัดแย้งกับบรรยกาศทะมึน ๆ โดยสิ้นเชิง องค์ประกอบทุกอย่างลงตัว  โปรดักชั่นคุณภาพสูงมาก ตั้งแต่แสงเงา  เพลงบรรเลง  รายละเอียดของโลกในอนาคต  เรื่องเล่า พิธีกรรม บทเรียนของนักเรียน การเคลื่อนไหวของตัวละคร  ทุกอย่างสร้างบรรยากาศของความลับดำมืดที่ซ่อนอยู่ในสังคมที่เด็ก ๆ ในเรื่องต้องอาศัยอยู่  ผู้ใหญ่ที่ดูใจดี  หากแต่เก็บงำอะไรบางอย่างไม่บอกเด็ก ๆ   ทำให้คนดูสงสัยว่าอะไรซ่อนอยู่ในสังคมของอนาคตอีก 1,000 ปีข้างหน้าที่โลกอารยธรรมและวิทยาการของโลกดูจะถดถอยย้อนกลับไปยังช่วงยุคโบราณและเต็มไปด้วยผู้มีพลังพิเศษแทน

    เนื้อหาที่สองตอนแรกสื่อออกมานั้นทำออกมาได้อย่างฉลาด  สำหรับผมแล้วเข้าใจว่าสองตอนแรกพูดถึงประเด็นของ "การควบคุม" และ "ความยุ่งเหยิง"  ตั้งแต่ผลกระทบของผู้ที่มีอำนาจแบบไม่มีการควบคุมในตอนเริ่มต้นของตอน  ไปจนถึงบทเรียนที่เหล่าตัวเอกต้องเรียนรู้  ตัวอย่างเช่นเรื่องของคนที่ผ่าฝืนกฎออกไปหาของนอกเขตจนพบกับปีศาจ  หรือเรื่องของเด็กหนุ่มที่หยิ่งยะโสที่สุดท้ายแล้วนำมาแต่ความพินาศ  ซึ่งเรื่องแรกนั้นน่าจะสื่อถึงผลลัพท์ของการที่แหกกฎข้อบังคับ (เจอปีศาจ) ส่วนเรื่องที่สองสื่อถึงประเด็นที่ว่าความหยิ่งยะโสในพลังของตัวเองจะนำพาแต่ความหายนะ (เหมือนเด็กหนุ่มกับจักรพรรดิเกรียนในตอนเริ่มต้นของทั้งสองตอน)  ซึ่งทั้งสองเรื่องต่างพูดถึงจุดจบที่เหมือนกัน คือความตาย  ในแง่ของเรื่องแรก  คนที่แหกกฎต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำด้วยการเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องคนส่วนใหญ่  ส่วนเรื่องที่สองนั้นอาจหมายถึงความตายคือหนทางเดียวในการชดใช้ต่อความวิบัติที่เกิดขึ้นจากตัวเอง  ซึ่งเรื่องทั้งสองเหมือนจะเป็นเครื่องมือสำหรับควบคุมเหล่าผู้มีพลังพิเศษรุ่นเยาว์ให้ทำตัวในร่องในรอย  ไม่แหกกฎที่กำหนดไว้  เรียกได้ว่าเครื่องมือล้างสมองชัด ๆ

    นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่เรื่องนี้พยายามนำเสนอผ่านเรื่องเล่าต่าง ๆ  เช่นตอนที่ตัวเอก (ซากิ) มองดูห้องเรียนแล้วนึกถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์  ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงโรงเรียนในเรื่องนี้ได้อย่างตรงเผงเลย  เพราะเด็กนักเรียนในเรื่องก็ไม่ต่างจากปศุสัตว์ที่ถูกควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด  เด็กคนไหนที่มีแนวโน้มว่าจะเรียนอ่อนก็ถูกคัดออก  เด็กคนไหนมีแนวโน้มเป็นตัวปัญหาก็ถูกคัดออก  โดนแมวปีศาจลักพาตัวหายไปตลอดกาล

    เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเสนอรูปแบบ Show not Tell คือรายละเอียดหลาย ๆ อย่างในเรื่องเป็นตัวส่งเสริมให้บรรยากาศดูน่าเชื่อถือ  เช่นบทเรียนของผู้มีพลังพิเศษ  กิจกรรมกีฬาต่าง ๆ การแต่งกาย  สัตว์ท้องถิ่น  ที่ดูแล้วรู้สึกได้ว่ามันผ่านการคิดมาอย่างพิถีพิถัน  เป็นการสร้างโลกใหม่ที่สมกับชื่อเรื่องเลยทีเดียว

    เห็นว่าคนแต่งเรื่องนี้ได้แรงบรรดาลใจจากเพลงของ Dvorak - From the new world ซึ่งท่อนเพลงที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ นั้นจะมีความหมายถึง "การกลับบ้าน" ทำให้เราได้ยินเพลงนี้ในเรื่องตอนเย็นแทบทุกครั้ง  และดูเหมือนเหล่าตัวเอกต้องรีบกลับบ้านทันทีที่ได้ยินเสียงเพลงนี้  พอฟังเพลงนี้ในเรื่องแล้วรู้สึกหลอน ๆ ยังไงก็ไม่ทราบ

    สรุปแล้วเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นม้ามืดประจำซีซั่นของผมก็ว่าได้  ได้อันดับหนึ่งในใจของผมประจำซีซั่นนี้ไปครอง  ความจริงยังมีอีกหลายอย่างที่ผมอยากพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้  แต่มันน่าจะแสดงออกพอได้แล้วว่าผมชอบเรื่องนี้มากแค่ไหน  อยากหานิยายมาอ่านเลยทีเดียว


     





    Robotics;Notes




     
    เรื่องย่อแบบหง่าว ๆ: เด็กสาวไฮเปอร์อยากจะสร้างหุ่นยนตร์ยักษ์
     
    อนิเมที่จะมาสืบสานตำนานความยิ่งใหญ่ของ Steins;Gate (หรือเปล่า)  แต่อย่างน้อยดูเหมือนว่าเนื้อเรื่องมันจะเชื่อมกันไม่มากก็น้อยละนะ

    หลังจากผมดูจบ  ผมก็ลองอ่านฟีตแบ็คของหลาย ๆ คนที่บ่นว่าตอนแรกเริ่มต้นไม่ประทับใจ ไม่ระเบิดเถิดเทิง แบบซีรีย์ก่อน ๆ แล้วผมก็ประหลาดใจเหมือนกัน  ดูเหมือนมันจะเป็นแนวทางสูตรสำเร็จไปเสียแล้วกระมังที่ต้องทำตอนแรกให้ทึ่ง ตะลึง ไว้ก่อน  และดูเหมือนคนดูเองก็คาดหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นด้วย

    ความจริงแล้วการที่ทำให้ตอนแรกตื่นตาตื่นใจ ให้คนดูติดแต่แรกก็ถือว่าเป็นเทคนิคที่สมเหตุสมผลอยู่เหมือนกัน  แต่กระนั้นผมกลับรู้สึกว่ามันจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่แข็งโป๊กที่ทำให้เรื่องไม่ยืดหยุ่นเสียมากกว่า  เสมือนกับว่าเป็นการสะท้อนค่านิยมของยุคสมัยนี้ล่ะมั้งที่เน้นอิมแพ็คแต่แรก  ตอนแรกต้องมีคนตายเยอะ ๆ ถึงจะดี  ตอนแรกต้องมีตัวละครทำบ้าบอเป็ดเหวอะไรให้คนดูอึ้งแดกแต่ต้นเรื่อง  ทำอย่างไรก็ได้ที่คว้าความสนใจเอาไว้ก่อน

    กระนั้นการเริ่มตอนเองมันก็มีอีกหนทางหนึ่งที่คนไม่ค่อยนิยม  การค่อย ๆ ปูเนื้อเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ซึ่งเรื่อง Robotics;Notes ดูเหมือนจะเลือกการเดินเรื่องแบบเนิบ ๆ ในตอนแรก  มันเป็นวิธีที่พบได้ทั่วไปจากอนิเมหลายเรื่องที่ถูกดัดแปลงจาก Visual Novel  มันเลยทำให้หลายคนพอเอาไปเทียบกับเรื่อง Psycho-Pass ในช่วงเวลาไทม์สล็อตใกล้เคียงกัน หรือเอาไปเปรียบเทียบกับซีรี่ย์ก่อนหน้าเช่น Steins;Gate แล้วเรื่องนี้เลยดูจืดทันตา

    หากให้พูดจริง ๆ แล้วผมชอบตอนแรกของ Robotics;Notes นะ  มันไม่หวือหวา  แต่มันเป็นธรรมชาติ  ไม่รีบเร่ง  ทำให้เราค่อย ๆ รู้จักกับตัวละครในเรื่อง  โดยเฉพาะตัวละครพระนางทั้งสองที่มีลักษณะนิสัยโดดเด่นและเข้าคู่กันได้ดีทีเดียว  ตั้งแต่นางเอกที่หน้าตาราวกับรุ่นพี่ป็อปปุระจาก Working ที่ราวกับไปยืมนิสัยมาจากเนียรุโกะ  ไปจนถึงพระเอกที่ติดเกมราวกับเป็นพี่เทพและหน้าเบื่อโลกเยี่ยงโฮทาโร่จากไอติม  ตอนแรกทำสื่อออกมาได้อย่างชัดเจน  นอกจากนี้ยังสร้างพื้นฐานของลักษณะการใช้ชีวิตในยุคของเรื่อง  ทั้งเทคโนโลยี  ทั้งค่านิยม  รวมไปถึงประเด็นที่ตัวละครเอกต้องฝ่าฟันหรือทำให้สำเร็จ  หรือตอนท้ายสุดที่เปิดเผยการปรากฎตัวของสาวปริศนาที่ดูเหมือนจะเป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง (และเป็นตัวที่โคตรเด่นใน ed) 

    โดยสรุปแล้วเรื่อง Robotics;Notes อาจจะไม่หวือหวาเท่ากับเรื่องอื่น ๆ แต่กระนั้นผมก็คิดว่ามันเริ่มต้นได้ไม่เลวเลย  โปรดักชั่นเองก็ทำได้เนี๊ยบ  ภาพดูสดใส  ตัวละครดีไซน์สวยน่ารักตามสมัยนิยม  ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะก้าวข้าม Steins;Gates ไปได้  แต่อย่างน้อยผมก็คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีอีกเรื่องประจำซีซั่นนี้ 

     



    อยากได้แอปตัวนี้มาไว้เล่นจัง




    Girls und Panzer






     
    เห็นท่านแคมมี่เขียนไว้เยอะแล้ว  ผมเลยจะเขียนถึงสั้น ๆ ก็แล้วกัน

    ถ้าเราตัดเรื่องว่าทำไมรถถังถึงเป็นศาสตร์ของกุลสตรีกับเมืองบนเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว  พล็อตของเรื่องนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จของการ์ตูนแนวกีฬาเลยก็ว่าได้  รีวิวของฝรั่งสรุปความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างตรงเผงเลยว่า  มันคือซากิเวอร์ชั่นขับรถถังชัด ๆ !

    เริ่มแรก  นางเอกมีความหลังที่ไม่ดีนักเกี่ยวกับศาสตร์แห่งรถถัง  และต้นเหตุของความไม่ชอบดูเหมือนจะมาจากพี่สาวที่โคตรเมพขิง  ตัวเอกนั้นความจริงแล้วก็มีพรสวรรค์ที่เก็บงำเกี่ยวกับศาสตร์แห่งรถถังทางใดทางหนึ่ง (ซึ่งในตอนแรกยังไม่บอก)  และต้องจับพลัดจับผลูกลายเป็นสมาชิกของทีมกาก ๆ ที่พยายามจะไต่เต้าเอาชนะการแข่งขันชิงแชมป์ให้ได้  (และในเรื่องอุดมไปด้วยสาว ๆ)

    คือมันพล็อตเบื้องต้นของซากิชัด ๆ เลยล่ะ  เพียงแต่ว่าตอนแรกนางเอกไม่ได้โชว์เมพหรือเจอคู่แข่งที่ทัดเทียมแบบโนโดกะเท่านั้นเอง  กระนั้นมันก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้ไปลอกซากิมาหรอกนะ  อย่างที่บอก  พล็อตแนวนี้เห็นได้บ่อยมากในการ์ตูนแนวกีฬา  เพียงแต่กีฬาของเรื่องนี้ดันเป็นการขับรถถังเท่านั้นเอง

    กลับเข้ามาสู่เรื่องรถถังกันดีกว่า  หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นรถถังด้วย  หากตอบแบบหง่าว ๆ แล้วก็คงคิดว่าสร้างมาเพื่อสนองนีทเหล่าคนที่คลั่งไคล้ความโมเอะและรถถังนะสิ !  ซึ่งถ้าจะดูเรื่องนี้ให้สนุกก็จงโยนเหตุผลเรื่องที่ว่าทำไมต้องเป็นรถถังออกไปให้ไกล ๆ จากห้วเถอะ  มันเป็นบางสิ่งที่ในเรื่องกำหนดมาว่าทุกคนในเรื่องยอมรับอย่างนี้แล้ว  ไม่ต้องเอาสามัญสำนึกของโลกในความเป็นจริงไปยัดเยียดมากนักหรอก  มันก็ไม่ต่างจากเรื่อง Busou Shiki ที่ทำไมคนถึงนิยมเอาตุ๊กตาสาว ๆ มาสู้กันทั้งที่โตจนหมาเลียก้นไม่ถึง  หรือทำไมคนถึงตีกันเพื่อแย่งข้าวกล่องลดครึ่งราคาหรอก  หรือแม้แต่ว่าทำไมผู้คนถึงใช้เวทมนตร์กันได้  มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะตั้งคำถามในเรื่องนั่นแล  ประเด็นที่สำคัญคือมันทำให้คนดูอินได้ขนาดไหน  ซึ่งเรื่องนี้พยายามเน้นย้ำถึงความเป็นธรรมชาติของวิชารถถังด้วยภาพยนตร์โปรโมที่ดูราวกับออกมาจากโฆษณาชวนเชื่อช่วงสงคราม  การที่เหล่าสาว ๆ ต่างพูดคุยถึงเรื่องรถถังด้วยความชื่นชม  แค่นี้มันก็เพียงพอที่จะสร้างพื้นฐานของรถถังในโลกของเรื่องนี้แล้วล่ะ

    ในแง่ของโปรดักชั่นแล้วถือว่าธรรมดาไม่ได้ขี้เหร่อะไรมากนัก  ตัวละครสาว ๆ น่ารักดี  ลักษณะนิสัยเห็นได้ชัดตั้งแต่แรก  แต่สำหรับผมแล้วรู้สึกหัวโตไปนิด  แถมดีไซน์ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนักด้วย  หากจะบ่นคือตัว CG รถถังที่การเคลื่อนไหวดูกระตุก ๆ เหมือนเฟรมเรทมันจะต่ำเหลือเกิน  ถ่ายภาพจากเกม World of Tanks มาใช้ยังอาจจะเวิร์คกว่าเลยนะ (แต่ผมชอบมุมมองผ่านพลขับรถถังนะ  ทำได้ดีเลยทีเดียว)  เพลงประกอบก็ธรรมดา  ธีมประมาณเพลงหนังสงครามสมัยก่อน  ฉากเซอร์วิสไม่ค่อยเห็น  ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่สำหรับยอดขายของเรื่องนี้นะสิ

    สุดท้ายแล้วผมคงตามเรื่องนี้ต่อ  ดูไปก็เพลิน ๆ ดี  และถ้ายิ่งเล่น World of Tanks ประกอบไปด้วยแล้วจะยิ่งทำให้เรื่องนี้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก  ผมอดคิดไม่ได้เลยว่า WoT น่าจะไปเป็นสปอนเซอร์ของเรื่องนี้นะ

    ปล. เรือบรรทุกเครื่องบินของเรื่องนี้มันใหญ่มาก...

    ปล. 2 ช่วงตอนแรกผมเข้าใจความรู้สึกของพวกนางเอกดีเลย  ในเกม World of Tanks ผมใช้รถถังเบาของพวกอเมริกา  พอเจอรถถัง KV หรือ Churchill มาทีนี่อย่างสยอง  หนีแทบไม่คิดชีวิตเลย  ไม่ต้องพูดถึงรถถัง IS


    Busou Shinki



    เพื่อให้กระทู้สมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น  ผมจะขอเสนอแง่มุมที่แตกต่างจากท่านแคมมี่ละนะ

    ตอนเริ่มซีซั่นผมค่อนข้างหวังไว้กับเรื่องนี้พอสมควร (มากกว่าเรื่อง Shinsekai Yori อีก)  แต่พอดูจบตอนแรกผมก็บอกได้คำเดียว... ดร็อป... ดร็อปสถานเดียว

    พูดถึงข้อดีก่อน  เรื่องนี้เต็มไปด้วยสาว ๆ ของเล่นที่เห็นข้อต่ออย่างชัดเจน  มีให้เลือกทุกแนวที่โปรดปราน  ฉากด็อกไฟต์ที่ทำได้ค่อนข้างเนียน  สมกับที่เป็นทีมงานเดียวกับที่ทำให้เรื่อง IS  เนื้อเรื่องเข้าใจง่าย  แล้วก็แฮมสเตอร์ขโมยซีน

    ส่วนข้อเสียสำหรับผมเหรอ...คือทุกอย่างนอกเหนือจากที่ผมพูดมานะสิ  สิ่งแรกที่ผมไม่ชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยคือพระเอกค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่แล้ว  ผมอยากให้พระเอกเป็นเด็กน่าจะเหมาะกับท้องเรื่องมากกว่า  ดูอย่างนี้แล้วรู้สึกอนาจยังไงก็ไม่รู้ (เป็นเด็กดูน่ารักกว่าจม)  แถมหน้าตาพระเอกผมพูดตรง ๆ เลยว่าดีไซน์ได้ขัดลูกตาสุด ๆ โดยเฉพาะเจ้าริมฝีปากบนนั่น  จะเพิ่มมาอีกขีดหาอะไรฟะ 

    ข้อต่อมาคือมันเป็นเรื่องแนวที่เห็นได้ทั่วไป  เน้นสาว ๆ ที่ลักษณะนิสัยดูตื้นเขิน  นิสัยเหมือนสั่งพิมพ์จากโรงงานโมเอะแห่งชาติซึ่งเป็นแม่พิมพ์เทมเพลตที่แทบไม่มีการแก้ไขให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ไม่ได้มีมิติอะไรเลย  ซ้ำจนน่าเบื่อหน่าย  เล่นมุกฝืด ๆ (สาว ๆ มาทำความสะอาดให้เจ้านาย) เซอร์วิสแบบไร้รสนิยม (เช่นทำนมหกราดตัวเองบ้าง)

    คุณภาพของอนิเมก็จัดได้ว่าทำไม่ค่อยดีนัก  วาดหน้าตัวละครเบี้ยวเป็นจุด ๆ คาดว่าในอนาคตจะต้องมีการเผาเพิ่มอย่างแน่นอน

    สรุปคือผมผิดหวังมากกับเรื่องนี้  ดูแล้วไม่รู้สึกอารมณ์ร่วมหรือมีความรู้สึกอยากดูต่อเลยสักนิด  มันคงไม่ใช่เรื่องแนวที่ผมชอบละนะ  ซึ๋งเหตุผลหลักจริง ๆ เพราะพระเอกเป็นส่วนใหญ่เลยจริง ๆ อย่างอื่นยังพอกล้อมแกล้มได้  แต่พระเอกเนี่ย....



    Sakurasou no Pet na Kanojo





     

    ผมอ่านที่ฝรั่งรีวิวในบล็อคที่ผมติดตามอยู่สองสามบล็อคแล้วรู้สึกแปลกใจเหลือเกินว่าทำไมหลาย ๆ คนให้ความเห็นค่อนข้างบวกกับเรื่องนี้เหลือเกิน  ทั้งที่ผมก็รู้สึกงั้น ๆ ไม่ได้รู้สึกอยากดูตอนที่สองต่อเลย

    ถามว่าโปรดักชั่นเรื่องนี้ดีไหม  คงต้องตอบว่าค่อนข้างคุณภาพสูงเลยทีเดียว  ภาพสีนุ่มนวล  การเคลื่อนไหวลื่นไหล  กำกับจังหวะของเรื่องได้ค่อนข้างดี  ดูแล้วไม่งง  เข้าใจง่าย  แมวน่ารัก  กางเกงในรุ่นพี่แจ่ม  แต่เนื้อเรื่องทำไมผมไม่รู้สึกประทับใจเอาเสียเลย  ผิดกับเรื่อง Robotics;Notes ที่เริ่มต้นได้เอื่อยเหมือนกัน  ทว่าผมกลับรู้สึกว่าอยากดูตอนที่สองต่อ  ในขณะที่เรื่องนี้ไม่กระตุ้นต่อมความอยากดูสักนิด

    คือยังไงดีล่ะ  จุดพิเศษที่เรื่องนี้ต้องการนำเสนอ  เช่นนางเอกที่ช่วยอะไรไม่เป็นนั้น  ผมยิ่งดูแล้วรู้สึกหงุดหงิดมากกว่าจะโมเอะนะ  โอเคว่ามันเป็นส่วนประกอบที่ทำให้มีฉากเซอร์วิส  และก็จะเป็นปมที่ทำให้นางเอกไม่อาจแยกจากพระเอกได้  แต่ผมดูแล้วไม่รู้สึกถึงเสน่ห์ที่เรื่องนี้ต้องการจะนำเสนอเลยนะสิ

    แต่ถึงอย่างนั้นแล้วผมก็จะดูเรื่องนี้ต่อ  เพื่อสนับสนุนการเข้าวินและการจับคู่ของตัวละครในเรื่องอย่างเป็นทางการ  ไม่แน่นว่าตอนต่อ ๆ ไปมันอาจจะออกมาดีก็ได้


    Chuunibyou demo koi ga shi_tai

    (พิมพ์ตัวติดกันแล้วโดนแบนคำหยาบอ่ะ)



     
    เจ้าภาพท่านแคมมี่ได้พูดถึงเรื่องโรคเด็ก ม. ต้นปีสองไปแล้ว  เพราะงั้นผมคงจะไม่พูดซ้ำอะไรในประเด็นนี้อีก  แต่อยากบอกว่าสมัยเด็ก ๆ ผมก็เคยเป็นแนวนี้เหมือนกันนะ  จินตนาการว่าตัวเองเป็นทหาร ถือปืนบีบี (แบบถูก ๆ ที่หาได้ตามตลาดนัด)  เอาเสื้อชูชีพมาทำเป็นชุดเกราะแล้วหลบหลังโซฟายิงกับทหารศัตรูในจินตนาการ  สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดคือทำท่าโดนยิงตายบ้าง  โดนระเบิดกระเด็นบ้าง  แต่ส่วนใหญ่จะเล่นคนเดียวนะ  ไม่ได้เล่นให้คนนอกครอบครัวเห็นหรอก  และแน่นอนว่าผมเห็นด้วยกับท่านแคมมี่ว่านางเอกไม่น่าเรียกว่า "เกรียน" หรอก  เรียกว่ายัยเพ้อจะน่ารักกว่านะ

    เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ประจำซีซั่นของเกียวอานิ สตูดิโอที่รังสรรค์ผลงานเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ (และความโมเอะ)  อย่างซีซั่นที่แล้วก็ทำเรื่อง Hyouka ที่ผมค่อนข้างชอบมาก  กลับมาซีซั่นนี้เกียวอานิก็หันกลับมาทำสิ่งที่เป็นพื้นฐานความสำเร็จของตัวเอง  นั่นคือความโมเอะ !

    สำหรับผมแล้วเรื่องนี้เหมือนเป็นลูกผสมของผลงานเก่า ๆ ที่เคยทำไว้  ไม่ว่าลักษณะคาแร็คเตอร์ดีไซน์ที่ชวนให้นึกถึงเรื่องแค้นอนาจ (clannad) ผสมกับความนุ่มนิ่มของเคอง  มุกตลกและรีแอ็คชั่นบ้าเลือดจากนิชิโจว  และความโมเอะที่เกียวอานิสำเร็จวิชาจนเป็นวิทยาศาสตร์ไปแล้ว

    ผมต้องชมเกียวอานิอย่างหนึ่งที่สามารถบาลานส์นิสัยนางเอกให้ไม่น่ารำคาญจนเกินไป  คาแร็คเตอร์แนวนางเอก (ริกกะ) นี่  ถ้าทำไม่ดีจะกลายเป็นทำให้คนดูเกลียดเอาได้ง่าย ๆ เลย  แต่กระนั้นเกียวอานิค่อนข้างวางบทของนางเอกได้ลงตัว  มีพระเอกคอยตัดมุก  แกล้งรังแกนางเอกให้แสดงความโมเอะออกมาจนถึงขีดสุด !  

    ผมพูดออกมาอย่างนี้แล้วรู้สึกบาปยังไงก็ไม่รู้  แต่ริกกะนี่เป็นตัวละครที่ยิ่งแกล้งยิ่งน่ารัก  อย่างตอนที่โดนพระเอกเขกหัวแล้วแหงนหน้ามองด้วยสายตาละห้อยพร้อมกับร้องอ้อนเรียกชื่อพระเอกนี่...โอ้วววววววววว ผมใจละลายเลย  เห็นอย่างนี้ยิ่งอยากแกล้งหนักเข้าไปอีก

    ตัวพระเอกเองก็น่าสนใจไม่น้อย  เพราะพี่แกก็เคยเป็นโรคเดียวกับนางเอก  หากแต่พอโตขึ้นมาก็ได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเคยเป็นนั้นมันช่างน่าอายสิ้นดี  พี่แกเลยโหยหาสังคมของคนธรรมดาที่ตัวเองไม่เคยได้สัมผัสเพราะตัวตนเพ้อ ๆ สมัยก่อน  แต่กระนั้นพระเอกก็ดันเจอริกกะขัดลาภ (หรือปักธง) แทน  ทำให้เกิดเรื่องวุ่น ๆ ตามมาอย่างที่เห็น

    ตัวละครอื่นยังไม่ค่อยโผล่ออกมา  นอกจากคู่พระนางแล้ว  ยังมีพี่สาวของริกกะที่ริกกะกลัวอย่างกับยักษ์กับมาร  เป็นจอมแบล็คเมล  แถมยังพริ้วด้วย !  ผมชอบมากตอนที่พี่แกวิ่งไล่ตามริกกะ กระโดดจากระเบียงรูดเชือกลงไปชั้นล่าง  หรือไม่ก็ตอนที่หลบพระเอกที่จะมาแย่งเอาเทปบันทึกเสียง ตีลังกาม้วนหลังอย่างกับนักยิมนาสติกก็มิปาน

    คนสุดท้ายที่โผล่มาแล้วแย่งซีนริกกะกับพี่สาวไปได้สักพักก็คือรุ่นพี่คูมินที่ดีไซน์ตัวละครทำได้จืดที่สุด  แต่กระนั้นนิสัยของเธอกลับค่อนข้างดูง่าย ๆ ดูสนุกกับอะไรไปหมดทุกอย่าง  แม้แต่ว่าเธอติดร่างแหไปกับความบ้าบอของริกกะและพระเอกทั้งที่แทบไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย  เธอก็ยังคงวิ่งติดตามไปเรื่อย ๆ อย่างสนุกสนาน  ผมดูรุ่นพี่แล้วรู้สึกเหมือนจิตใจอันอ่อนล้าได้ถูกเยียวยาขึ้นทันควันเลยก็ว่าได้ 

    ส่วนน้องกิ๊ปที่โผล่มาเรื่อย ๆ ยังไม่ค่อยมีบทอะไรมากนัก  นอกจากว่าพระเอกแอบปลื้มหล่อนเท่านั้น  เธอจะมีบทอย่างไรในเรื่องต้องคอยติดตามชมกันตอนต่อไป

    โปรดักชั่นเรียกได้ว่าคุณภาพสูงมาก  แม้อาจไม่ถึงขนาดเรื่อง Hyouka ของซีซั่นที่แล้ว  แต่การเคลื่อนไหว  รายละเอียดยังถือว่าเลเวลสูงมาก  ฉากต่อสู้ที่ดูงี่เง่านั้นเหนือกว่าอนิเมแอ็คชั่นหลายเรื่องอีก (ผมดูแล้วรู้สึกแค้นใจมากว่า ทำไมเอ็งไม่เข็น FMP ภาคต่อออกมาซะทีฟระ)  การเคลื่อนไหวของตัวละครเต็มไปด้วยความโมเอะจนรู้สึกว่าโลกในเรื่องเป็นโลกของความโมเอะหรือไงกัน 

    กระนั้นเรื่องนี้ก็มีบางสิ่งทีผมอยากบ่นเหลือเกิน  เรื่องหนึ่งก็คือ OP ที่ก็น่ารักดีอยู่หรอก  แต่พี่แกเล่นสลับภาพไปมาอย่างมะเร็งสายตาสุด ๆ ไปเลย  ถ้าจะมีคนช็อคเพราะ op นี้เหมือนกับที่ปิกาจูเคยทำเด็กช็อคคาทีวีก็คงไม่แปลกแน่นอน  และผมคิดว่า op กับ ed ของเวอร์ชั่น Lite ที่ฉายเป็นตอนสั้น ๆ ดูเพราะและน่ารักกว่ามากเลย

    สรุปเรื่องนี้เป็นโมเอะไฟต์บังคับของซีซั่นนี้ 



     



    ยิ่งทำตัวน่ารักอย่างนี่ป๋ายิ่งอยากเขกหัวหนูอีกนะ เหอ ๆ




    Psycho-Pass





     


    อนิเมเรื่องใหม่ที่ฉายตอนช่วงเวลา Noitamina ที่ซีซั่นนี้มีเรื่อง Robotics;Notes ฉายควบคู่ในช่วงเวลาเดียวกัน  (ซีซั่นก่อนก็เรื่อง Natsuyuki Rendezvous หรือเรื่องอื่นที่รู้จักกันดีก็เช่น Guilty Crown กับ So-Ra-No-Wo-To)  เรื่องนี้ฉายทั้งหมด 22 ตอน  หมายความว่ามันจะลากยาวไปสองซีซั่นด้วยกัน

    สำหรับผมแล้วค่อนข้างจับตามองเรื่องนี้ตั้งแต่แรกที่ได้ยินว่า เก็น อุโรโบชิ เป็นคนเขียนบทให้  แต่สำหรับคนอื่น ๆ อาจจะสนใจว่าเป็นคาแร็คเตอร์ดีไซน์ออกแบบโดยเจ้าแม่การ์ตูนจั๊มป์อย่างอากิระ อามาโนะ ที่สาวฟุหลายคนรู้จักดีจากเรื่องรีบอร์นนั่นเอง

    เรื่องย่อลองไปหาอ่านได้ตามเว็ปอื่นทั่วไป  แต่หากให้อธิบายคร่าว ๆ แล้วเป็นเรื่องแนว Dystopia ที่สังคมมีเครื่องมือที่สามารถวัดค่าสถานะทางจิตใจของคนออกมาเป็นค่าตัวเลขได้  และคนที่ถูกวิเคราะห์ว่ามีค่าสัมประสิทธิ์ต่อการก่ออาชญากรรมสูงกว่าที่กำหนด  ก็จะถูกจับไปบำบัดโดยทางการการ หรือไม่ก็ถูกกำจัดไปเลยเมื่อระบบเห็นว่าคนคนนั้นไม่มีค่าที่จะอยู่ในสังคมอีก

    เรื่องนี้เต็มไปด้วยลายเซ็นของอุโรโบชิ เก็นอย่างเห็นได้ชัด  ทั้งความดิบเถื่อนของการปราบปรามที่ดูจะไม่สนใจสามัญสำนึกของคนธรรมดา  ความวิปริตและช่องโหว่ของระบบที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก  เช่นตัวประกันที่ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย  แต่ค่าอัตราความผิดปรกติทางจิตใจสูงขึ้นอย่างเฉียบพลันเพราะโดนถูกทารุณหรือถูกข่มขืน  เลยกลายเป็นว่าเหยื่อบริสุทธิ์ถูกระบบระบุให้กลายเป็นผู้ร้ายที่มีแนวโน้มก่ออาชญากรรมไปโดยปริยาย  ซึ่งตอนแรกสื่อประเด็นนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม  สมกับเป็นอสูรกายเก็น

    ความจริงแล้วเรื่องแนวนี้ก็ไม่ใช่เป็นแนวความคิดที่แปลกใหม่นัก  อย่างเช่นเรื่อง Minority Report เองก็เล่นประเด็นการจับกุมผู้ต้องหาในโทษฐานที่เขาถูกทำนายว่าจะกระทำในอนาคต  ซึ่งเรื่อง Psycho-Pass ก็จับประเด็นที่คล้ายกัน  เป็นการตั้งคำถามกับเรื่องพื้นฐานที่สุดของกระบวนการยุติธรรมเลยก็ว่าได้  หรือเรื่องปืนไฮเทคที่เชื่อมต่อกับผู้ใช้นั้นก็เคยปรากฎในเรื่อง Judge Dred เป็นต้น  แต่กระนั้นตอนแรกของเรื่อง Psycho-Pass  ก็นำเสนอประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ  โปรดักชั่นถือว่าอยู่ในระดับสูง  โทนสีออกมืดมน  เพลงประกอบยอดเยี่ยม และด้วยชื่อเสียงของคนเขียนบททำให้รับประกันได้ในระดับหนึ่งว่าเรื่องคงไม่ล่มปากอ่าวแบบเรื่อง Guilty Crown อย่างแน่นอน

    กระนั้นใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีจุดให้ผมบ่น  หากเทียบกับเรื่องอื่นในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว  ผมชอบตอนแรกของ Robotics;Notes มากกว่า  ถึงแม้ว่าเรื่อง Psycho-Pass จะเปิดตัวด้วยความรุนแรงและความวิปริต  แต่ในหลาย ๆ จุดผมกลับรู้สึกว่ามันนำเสนอได้อย่างไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเลย  โดยเฉพาะผมรู้สึกว่าผู้ผลิตได้ยัดข้อมูลผ่านปากตัวละครมากไป  เช่นตอนที่คุณลุงพยายามสอนงานนางเอกที่เป็นเจ้าหน้าที่จบใหม่ไร้ประสบการณ์  ผมรู้สึกว่ามันพยายามยัดเยียดข้อมูลให้คนดูมากกว่าที่จะอธิบายให้นางเอกที่อยู่ในเรื่อง  ความจริงแล้วมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีหรอก  แต่มันรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่  หากเทียบกับเรื่อง Robotics;Notes แล้วมันมีฉากเดียวเท่านั้นเองที่ยัดข้อมูลผ่านปากนางเอก

    ข้อต่อมาคือตัวละคร  นอกจากนางเอกแล้ว  เราแทบจะไม่รู้จักตัวตนของตัวละครอื่นสักเท่าไหร่  คนที่ดูออกจะเด่นกว่าเพื่อนก็คงเป็นเด็กหนุ่มที่ดูอารมณ์ดีตลอดเวลา  และคุณลุงฮาร์ตบอยล์ที่คอยสอนงานนางเอก  แน่นอนว่าเราจะรู้จักกับคนเหล่านี้ในภายหลัง  และหวังว่าเราจะมีความรู้สึกร่วมไปกับพวกเขา  เจ็บปวดไปด้วยกัน  แต่ตอนนี้ความรู้สึกเหล่านั้นยังไม่ปรากฎกับผมสักเท่าไหร่  และนางเอกที่แสนอ่อนโลกนั้นก็ยังไม่น่าเชียร์ด้วยเช่นกัน (แต่ใช่ว่าผมจะไม่เข้าใจนางเอกนะ  ผมเลยไม่อยากบอกว่าเธอโลกสวยสักเท่าไหร่  เพราะเป็นผมเองก็คงเหวอแดกกับความบัดซบของระบบเช่นกัน)

    ข้อสุดท้ายที่เป็นความอคติส่วนตัวของผมเองคือดีไซน์ตัวละคร  ผมไม่ชอบดีไซน์แบบเรื่องรีบอร์นสักเท่าไหร่นี่สิ  มันทำให้ผมดูแล้วความซีเรียสลดลงเยอะเลย  ดูแล้วรู้สึกเหม็นหน้าตัวละครทุกตัวอย่างไม่มีสาเหตุ (ฮา)

    สรุปแล้วเป็นตอนแรกที่ค่อนข้างโดดเด่นประจำซีซั่น  เลเวลสูงเลยทีเดียว  ผมคงดูต่อนั่นล่ะ



    Tonari no Kaibutsu-kun





     
    ความจริงกะว่าจะไม่รีวิวเรื่องนี้ เพราะคิดว่าคนอื่น (โดยเฉพาะสาว ๆ ) น่าจะรีวิวได้ดีกว่า แต่ไม่เห็นมีใครมารีวิวเพิ่มเสียที กอปรกับเมื่อคืนผมเปิดให้แฟนดูแล้วแม่นางแกจิกหมอนกรี๊ดกร๊าดฟาดหนังสือเมไจผมเกือบพังแน่ะ เลยเอามารีวิวสั้น ๆ เลยก็แล้วกัน

    สำหรับผมตอนแรกที่ดูเรื่องนี้แล้วรู้สึกได้ถึงความเป็นการตูนผู้หญิง (โชโจว) เต็มสูบ เปิดตัวพระนางด้วยการพบกันที่ไม่ธรรมดา พระเอกทำตัวเพี้ยน ๆ ปนหวานโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวให้นางเอกเขินเล่น ก่อนท้ายสุดจะลงเอยด้วยการจูจุ๊บแบบไม่ตั้งตัว

    ผมเองดูแล้วอาจจะไม่รู้สึกอินมากเท่ากับเหล่าสาวน้อยได้ดูหรอก คือมุกมันก็สนุกดี จังหวะทำได้ลงตัวมาก แต่ผมไม่ค่อยชอบพระเอกสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมเป็นผู้ชายด้วยล่ะมั้ง ทำให้ไม่รู้สึกตื่นเต้นเวลาเห็นหนุ่มร้อนแรงราวสัตว์ไล่ตามตื้อผู้หญิง และบางมุกเช่นตอนที่พระเอกขู่ว่าจะข่มขืนนางเอกหากไม่ทำตามแล้ว ผมว่ามันดูจะต่ำไปหน่อย แต่สิ่งที่ทำให้ผมดูเรื่องนี้ต่อคงเป็นนางเอกทวินเทลของเรื่องล่ะมั้ง เธอมีคุณสมบัติของนางเอกการ์ตูนผู้หญิงค่อนข้างพร้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เธอค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง และลักษณะเหมือนจะไม่สนใจคนอื่นสุด ๆ แต่ในจริงแล้วก็เป็นคนที่ค่อนข้างคิดมากเหมือนกัน ทำให้ตบมุกกับพระเอกที่สุดเพี้ยนที่พี่แกทำทุกอย่างที่อยากทำได้อย่างลงตัว

    ธีมหลักของเรื่องนี้คือมิตรภาพครับ ตัวละครส่วนใหญ่ที่โผล่มามักมีปัญหาเรื่องหาเพื่อนหมด อย่างนางเอกก็เอาแต่เรียน ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ทำให้กลายเป็นคนแปลกแยก ส่วนพระเอกมันก็ทั้งเพี้ยนทั้งรุนแรงจนไม่มีใครกล้าคบหา หรือสาวจอมอ้วกที่ไม่ค่อยมีเพื่อนแลเพราะชอบทำตัวน่าหมั่นไส้และพยายามสร้างตัวตนใหม่ในโลกอินเตอร์เน็ตแทน กระนั้นผมคิดว่ามิตรภาพมันคงไม่ยืนยงหรอก เพราะท้ายสุดเดี๋ยวพวกนี้มันคงจับคู่กันถ้วนหน้ากันเกินเพื่อนไปหมดนั่นล่ะ

    สรุปคือผมดูได้อย่างเพลิน ๆ ไม่ถึงกับติดอะไรมาก แต่หากแฟนการ์ตูนผู้หญิงสนใจเลิฟคอมมาดี้ดี ๆ ผมก็อยากให้ลองมาหาดู ท่านอาจจะทำเหมือนกับแฟนผมที่นั่งจิกหมอนดิ้นไปดิ้นมาตอนฉากเลิฟ ๆ ของทั้งสองก็เป็นได้นะ

    ปล. รอบทสาวแว่น








    สุดท้ายนี้ขอปิดฉากการรีวิวด้วยนางเอกคนใหม่ของเรื่อง อบต หน่อย  น้องสาว (ไม่แท้) ของคิริโตะ  ผู้ที่...ของเธอยิ่งใหญ่มาก...



     


    แถมใน op กับ ed ยังเด่นกว่าอาสุนะอีก...

     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×