ลำดับตอนที่ #273
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #273 : การรบที่กรุงเบอร์ลินในสงครามโลกครั้งที่ 2
การรบที่กรุงเบอร์ลินในสงครามโลกครั้งที่ 2
Battle of Berlin
จาก http://www.geocities.com/saniroj
โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
---------------------------------------
ทหารรัสเซียจากกรมปืนเล็กยาวที่ 756 (the 756th Rifle Regiment) กำลังปักธงชาติบนยอดตึกรัฐสภา Reichstag ภายหลังจากยึดนครเบอร์ลินได้ ทหารผู้กำลังปักธงคือ Nikhail Yegorov อีกสองคนจากซ้ายคือ Meliton Kantaria และ Alexi Berest ภาพนี้ถูกจัดขึ้นใหม่ในวันต่อมา เพื่อการถ่ายภาพภายหลังการปักธงจริงโดยบุคคลทั้งสาม
ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1945 ซึ่งเป็นวันเกิดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (ขณะที่มีผู้โต้แย้งว่า ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 20 มีนาคม 1945 - เนื่องจากภาพได้ถูกเผยแพร่ทางภาพยนตร์ข่าว (Die Deutsche Wochenschau) เป็นครั้งแรกในวันที่ 22 มีนาคม 1945 - ข้อสรุปเกี่ยวกับวันที่ถูกต้องยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่)
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์กำลังมอบเหรียญกล้าหาญกางเขนให้กับยุวชนฮิตเลอร์ ซึ่งเชื่อว่าคือ Alfred Czech ภายนอกบังเกอร์ของเขาในกรุงเบอร์ลิน ยุวชนฮิตเลอร์เหล่านี้เป็นส่วนของกองกำลัง Volkssturm อันเป็นกองกำลังรักษากรุงเบอร์ลิน ที่เกณฑ์มาจากคนชราและเด็ก Volksturm ได้รับการติดอาวุธที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะอาวุธต่อสู้รถถัง Panzerfaust และ Panzerschreck ที่สร้างความเสียหายให้กับรถถังของรัสเซียเป็นอย่างมาก
ยอดผู้เสียชีวิตทั้งของเยอรมันและรัสเซียมีสูงมาก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการจับเชลย ซึ่งทำให้เกิดภาระในการสู้รบที่ยืดเยื้อ ติดพัน
ทหารรัสเซียกับเครื่องยิงจรวดคัตยูช่า (Katyusha) ที่มีส่วนอย่างมากในการทำลายแนวตั้งรับของเยอรมันในกรุงเบอร์ลิน
ภายหลังสงครามสงบลง สตรีชาวเยอรมันกว่า 100,000 คน ถูกข่มขืน และละเมิดสิทธิมนุษยชน ในภาพทหารรัสเซียกำลังแย่งชิงรถจักรยานจากสตรีชาวเยอรมัน
การรบที่เบอร์ลิน
การรบที่เบอร์ลิน เป็นการสู้รบครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมรภูมิยุโรป การรบเริ่มต้นตั้งแต่ 16 มกราคม 1945 เมื่อกองทัพรัสเซียสามารถรุกผ่านแนวตั้งรับของกองทัพเยอรมันที่ วิสทูราและโอเดอร์ (Vistula - oder) มาได้
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตัดสินใจบัญชาการรบอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ในขณะที่ผ่ายเสนาธิการของเขา ต้องการให้เขาย้ายไปอยู่ที่กองบัญชาการของเขา ในปรัสเซียตะวันออก
ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกา นายพลดไวท์ ดี ไอเซนฮาวว์ (Dwight D. Eisenhower) ไม่มีความต้องการที่จะยึดกรุงเบอร์ลิน ร่วมกับรัสเซีย เพราะตระหนักดีว่า การรบที่เบอร์ลินจะต้องนองเลือด ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เลือดของชาวอเมริกัน ปูทางเข้าสู่นครหลวงของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 หรือ เบอร์ลินแต่อย่างใด
อีกทั้งไอเซนฮาวว์ยังกังวล ถึงการปะทะกันเอง จะโดยอุบัติเหตุ หรือ โดยความตั้งใจก็ตาม ระหว่างฝ่ายอเมริกัน และฝ่ายรัสเซีย ในการยึดครองกรุงเบอร์ลินอีกด้วย ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ร่วมการยึดเบอร์ลิน รัสเซียก็เปิดฉากการรุกโดยลำพัง โดยใช้กำลังมหาศาล ประกอบด้วยทหารราบ 2,500,000 คน รถถัง 6,250 คัน อากาศยาน 7,500 ลำ
จากนั้นกองทัพรัสเซียก็รุกมาทางตะวันตกด้วยความเร็ว วันละ 30 - 40 กิโลเมตร ผ่านปรัสเซียตะวันออก (East Prussia) ปอมเมราเนียตะวันออก (East Pomerania) และหยุดการรุกลงชั่วคราว เมื่ออยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลิน 60 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออก ตามแนวแม่น้ำโอเดอร์ (Oder river)
20 มีนาคม 1945 การรบรอบๆ ชานเมืองเบอร์ลินก็เปิดฉากขึ้น
จรวดหลายลำกล้อง คัตยูช่า (Katyusha) ขนาด 132 มม. BM - 13 N ของกองทัพรัสเซีย ติดตั้งบนรถบรรทุกที่สหรัฐอเมริกา ให้รัสเซียยืมใช้ ตามโครงการ Lend - Lease กำลังระดมยิงใส่กรุงเบอร์ลิน ในเดือนเมษายน 1945 จรวดชุดนี้ ระยะยิง 5,500 เมตร
ประมาณกันว่าตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียผลิตเครื่องยิงจรวดคัตยูช่า เป็นจำนวนกว่า 10,000 ชุด และถูกนำมาใช้หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง เช่น ในสงคราม 6 วัน ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มชาติอาหรับ
จรวดคัตยูช่า ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1939 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะขาดความแม่นยำ แต่การยิงจรวดขนาด 132 มม. หลายลูกออกไปพร้อมๆ กัน ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เป้าหมายได้มากพอสมควร รวมทั้งการยิงเป็นจำนวนมาก ดังในภาพ เป็นการยิงในระดับกองพัน จะเป็นการข่มขวัญข้าศึกได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งเสียงหวีดหวิวของจรวด การระเบิดที่ติดต่อกันเหมือนไม่มีสิ้นสุด และการปูพรมลงพื้นที่เป้าหมาย
ทหารเยอรมันขนานนามจรวดชนิดนี้ว่า สตาลินออร์แกน (stalin's pipe organ) และเพื่อเป็นการแก้แค้น เมื่อใดที่ทหารเยอรมันจับกุมพลยิงจรวดคัตยูช่าของรัสเซียได้ เชลยเหล่านั้นจะถูกสังหารทันที
อาวุธต่อสู้รถถัง Panzerfaust ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายยานเกราะ หรือสิ่งก่อสร้าง ราคาถูก ผลิตง่าย สามารถใช้งานได้ด้วยกำลังพลเพียงคนเดียว
ในการรบที่เบอร์ลิน ทหารเยอรมันได้ใช้ Panzerfaust ในการต่อสู้กับยานเกราะรัสเซียอย่างมีประสิทธภาพ ภาพบน คือกำลังพลของ Volkssturm ที่ป้องกันกรุงเบอร์ลิน ซึ่งจัดจากผู้สูงอายุ กำลังศึกษาการใช้ Panzerfaust
อาวุธที่ฝ่ายเยอรมันนำมาใช้ในการป้องกันเบอร์ลิน นอกจากเครื่องยิงลูกระเบิด Panzerfaust แล้ว ยังมี Panzer schreck ซึ่งเลียนแบบมาจากปืนบาซูก้าของสหรัฐอเมริกา ภาพบนคือตัวเครื่องยิง ติดเกราะกันกระสุนให้พลยิง ภาพถัดลงมาคือลูกกระสุน อาวุธชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูง เมื่อใช้ในการตั้งรับ สามารถทำลายรถถังของรัสเซียที่รุกเข้าสู่นครเบอร์ลินได้เป็นจำนวนมาก
รถถัง Tiger (ภาพบน) และ Tiger II (ภาพล่าง) ของเยอรมัน ถูกทำลายในการรบในนครเบอร์ลิน ผู้สื่อข่าวรัสเซียคนหนึ่งที่ติดตามทหารรัสเซีย ขณะทำการรบในเบอร์ลินเล่าว่า "บางครั้งปืนใหญ่ของเรา ระดมยิงเป้าหมายเล็กๆ อย่างเช่น สวนหน้าบ้าน เพียงเป้าหมายเดียว นับพันนัด หากมีการต่อต้านจากที่นั่น ยอดผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายสูงมาก"
ปืนใหญ่ของรัสเซียซึ่งมีจำนวนมากถึง 28,000 กระบอก ในการรบที่เบอร์ลิน กำลังยิงถล่มที่หมายต่างๆ ในกรุงเบอร์ลิน ในเดือนเมษายน 1945 รัสเซียใช้กระสุนปืนใหญ่และจรวดมากกว่าสองล้านนัดในการรบครั้งนี้ ส่งผลให้อาคารต่างๆ ในเบอร์ลินถูกทำลายเป็นซากปรักหักพัง แต่การต้านทานในตัวเมืองยังมีอยู่อย่างหนาแน่น
กรุงเบอร์ลินขณะนี้ ถูกป้องกันโดยกองทัพเยอรมัน และหน่วยทหาร เอส เอส สนับสนุนโดยยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler youth) และกองกำลังโฟล์คสตรุมม์ (Volkssturm) ซึ่งเป็นผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นทหารมาก่อน ตลอดจนทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีจำนวนทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเบอร์ลินประมาณ 45,000 คน จากจำนวนทหารเยอรมันทั้งหมดที่ป้องกันอยู่รอบพื้นที่ 766,750 คน
ตัวเลขที่น่าสนใจอีกตัวเลขคือ จากจำนวนทหารเยอรมัน 45,000 คน ที่ป้องกันเบอร์ลิน กว่า 20,000 คนเสียชีวิตจากการสู้รบ
จากห้วงเวลา 1 - 19 เมษายน 1945 การรุกของรัสเซียเต็มไปด้วยความสูญเสีย เยอรมันต่อสู้อย่างทรหด รัสเซียต้องเสียรถถังไปถึง 2,807 คัน ส่วนใหญ่จากอาวุธต่อสู้รถถัง แบบ Panzerfaust
20 เมษายน 1945 ซึ่งเป็นวันเกิดของฮิตเลอร์ ปืนใหญ่ของกองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 1 (1st Belorussia Front) ของรัสเซีย ก็เปิดฉากยิงถล่มนครเบอร์ลินอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง ไปสิ้นสุดการยิงลงเมื่อเยอรมันยอมแพ้ ใช้กระสุนมากกว่าสองล้านนัด เป็นการยิงที่ใช้กระสุนมากกว่าการทิ้งระเบิด ของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือนครเบอร์ลินตลอดสงครามเสียอีก
ในขณะเดียวกัน กองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 2 ของรัสเซียก็โจมตีปีกของกองทัพกลุ่ม Vistula ของเยอรมัน วันต่อมา 2nd Guards Tank Army ของนายพล Bogdonov ก็รุกเข้าเบอร์ลินทางทิศเหนือ
ฮิตเลอร์ออกคำสั่งการรักษากรุงเบอร์ลินด้วยตนเอง เขาสั่งให้กองทัพที่ 9 (the ?IX Army) รักษาแนวตั้งรับที่ Cottbus เอาไว้ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากฝ่ายเสนาธิการของเขาว่า หากไม่ถอนกองทัพที่ 9 ออกมาอย่างทันท่วงที กองทัพที่ 9 จะตกอยู่ในวงล้อมของรัสเซีย
สถานการณ์เป็นไปอย่างสิ้นหวังสำหรับฝ่ายเยอรมัน แม้จะต้านทานอย่างเหนียวแน่น ทหารรัสเซียรุกคืบหน้าเข้ามาเรื่อยๆ จากอาคารหนึ่งสู่อีกอาคารหนึ่ง จากถนนสายหนึ่งสู่ถนนอีกสายหนึ่ง ท่ามกลางการสูญเสียอย่างหนัก
รถถังของรัสเซียแบบ T 34 แม้จะมีศักยภาพในการรบในทุ่งกว้าง แต่เมื่ออยู่ในเมือง ที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ที่กีดขวางการเคลื่อนที่ ก็ทำให้ประสิทธิภาพของรถถังด้อยลงไปอย่างมาก
22 เมษายน 1945 ในห้องประชุมสรุปสถานการณ์ภายในบังเกอร์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ท่านผู้นำยอมรับว่าแผนการต่างๆ ในการปกป้องอาณาจักรไรซ์ที่สามของเขา ล้มเหลว พร้อมทั้งกล่าวหาฝ่ายเสนาธิการว่า เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวทั้งมวล ท้ายที่สุด ฮิตเลอร์ประกาศว่า สงครามครั้งนี้ เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว แต่เขาจะอยู่ที่นี่จนวินาทีสุดท้าย
23 เมษายน 1945 กองทัพที่ 5 (the 5th Shock Army) และกองทัพรถถังที่ 1 (the 1st Guards Tank Army) ของรัสเซียรุกเข้าตัวเมืองจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ และถึงสถานีรถไฟรอบเมืองใน 24 เมษายน
ขณะเดียวกำลังเสริมของฝ่ายเยอรมันก็ไม่สามารถฝ่าวงล้อมทหารรัสเซียเข้ามาในเมืองได้ ตามแผนการของฮิตเลอร์ มีเพียงหน่วยทหาร เอส เอส ของอาสาสมัครฝรั่งเศสเท่านั้น ที่สามารถฝ่าวงล้อมเข้ามาได้ และเข้ารับผิดชอบพื้นที่ Sector C ที่มีการโจมตีจากรัสเซียรุนแรงที่สุด
26 เมษายน 1945 กองทัพที่ 8 (the 8th Guards Army) และกองทัพรถถังที่ 1 (the 1st Guards Tank Army) ของรัสเซียโจมตีสนามบิน Tempelhof และพบกับการต่อต้านจากกองพล Muncheberg และกองพล Nordland ของเยอรมัน
27 เมษายน 1945 กองพล Muncheberg และ Nordland ที่อ่อนล้าและมีกำลังต่ำกว่าอัตราการจัดจริง ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซียถึง 5 กองทัพ จนต้องล่าถอยจากที่มั่น ทำให้กองทัพรัสเซียเริ่มเข้าสู่ใจกลางเมืองเบอร์ลินได้
29 เมษายน 1945 กองทัพที่ 3 (the 3rd Shock Army) ของรัสเซียข้ามสะพาน Moltke และกระจายกำลังเข้าสู่ถนน และอาคารในเบอร์ลิน เริ่มต้นที่กระทรวงมหาดไทย แต่ก็คืบหน้าไปไม่ได้มากนัก เนื่องจากปืนใหญ่ไม่สามารถข้ามสะพานตามมาได้ เพราะสะพานเสียหายอย่างหนัก จนกระทั่งสะพานได้รับการซ่อมแซม หน่วยปืนใหญ่ก็เริ่มเคลื่อนกำลังเข้าสู่ตัวเมือง และยิงทำลายทีละอาคาร และสามารถเข้ายึดตึกกองบัญชาการตำรวจลับเกสตาโปได้ แต่ก็ถูกหน่วยเอส เอส ตอบโต้จนต้องถอนตัวออกจากอาคาร
เวลา 04.00 น. ภายในบังเกอร์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขาได้ลงนามในพินัยกรรม และเข้าพิธีแต่งงานกับอีวา บราวน์ (Eva Braun)
30 เมษายน 1945 สะพาน Moltke ซ่อมแซมเสร็จสมบูรณ์ ทหารรัสเซียพร้อมรถถังและปืนใหญ่ สนธิกำลังเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาไรซ์สตาค (Reichstag) ตัวอาคารรัฐสภานี้ ไม่ได้ใช้การมาตั้งแต่ ปี 1933 ถูกทหารเยอรมันดัดแปลงเป็นที่มั่นที่แข็งแรง อีกทั้งยังมีปืนใหญ่ขนาด 88 มม. ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2 กิโลเมตร ยิงสนับสนุนตอบโต้การเข้าตีของรัสเซียอย่างรุนแรง การรบในตัวอาคารเป็นไปแบบห้องสู่ห้อง ใช้เวลา 2 วันกว่าที่จะกวาดล้างทหารเยอรมันออกไปได้ทั้งหมด
ในวันเดียวกันนั้นเอง เวลา 15.30 น. อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และอีวา บราวน์ ฆ่าตัวตาย โดยฮิตเลอร์ใช้อาวุธปืนสั้นยิงกรอกปากตัวเอง ส่วนอีวา บราวน์ใช้วิธีดื่มยาพิษร้ายแรง ศพของทั้งสองถูกเผาไม่ไกลจากทางออกฉุกเฉินของบังเกอร์
ในห้วงเวลานี้ หลงเหลือทหารเยอรมันกระจัดกระจายอยู่ในเมืองประมาณ 10,000 คน และกำลังถูกบดขยี้จากทหารรัสเซียที่รุกเข้ามาทุกๆด้าน เมื่อข่าวการเสียชีวิตของฮิตเลอร์แพร่ออกไป ทหารเยอรมันส่วนใหญ่พยายามฝ่าวงล้อมของรัสเซีย ข้ามแม่น้ำ Elbe เข้ายอมแพ้ต่อกองทัพที่ 9 ของสหรัฐอเมริกา
2 พฤษภาคม 1945 นครเบอร์ลินตกเป็นของรัสเซีย แม้จะมีการต่อต้านออกไปอีกสองถึงสามวันก็ตาม
7 พฤษภาคม 1945 เยอรมันยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง ในทวีปยุโรปลงอย่างสิ้นเชิง
บทสรุป
การรบที่เบอร์ลิน เป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง ภาคพื้นยุโรปลงอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีการประเมินความสูญเสียดังนี้
รัสเซีย ทหารเสียชีวิตจากการสู้รบ 80,000 คน บาดเจ็บและสูญหาย 275,000 คน
เยอรมัน สูญเสียทหาร 150,000 คน ตลอดทั้งการรบ และเสียชีวิตเฉพาะการรบในเมืองกว่า 20,000 คน ผู้หญิงกว่า 100,000 คนที่ตกอยู่ในวงล้อมของทหารรัสเซีย ถูกข่มขืน คุกคามทางเพศ พลเรือนเสียชีวิตจากการสู้รบ การสังหารระหว่างการยึดครอง ไม่ทราบจำนวน
เชลยศึกเยอรมันจากหน่วย Volkssturm ซึ่งเป็นหน่วยป้องกันเมืองเบอร์ลิน หน่วยนี้จัดกำลังจากคนชรา ทหารผ่านศึก และยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler youth - Hitlerjugend) กำลังพลเหล่านี้ติดอาวุธต่อสู้รถถังอันทรงประสิทธิภาพอย่างเช่น Panzerfaust สามารถทำลายรถถังของรัสเซียได้เป็นจำนวนมากถึงกว่า 2,000 คัน
เชลยศึกที่เป็นยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler youth - Hitlerjugend) สังกัดกองกำลัง Volkssturm ที่รักษาเมืองเบอร์ลิน ในห้วงสุดท้ายของสงคราม ยุวชนฮิตเลอร์ใช้เยาวชนอายุตั้งแต่ 12 ปี เข้าร่วมในการรบที่กรุงเบอร์ลินด้วย
ทหารรัสเซีย ถ่ายภาพหน้าตึกรัฐสภา Reichstag ในนครเบอร์ลิน ภายหลังจากการรบสิ้นสุดลง พร้อมกับอวสานของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น