ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #274 : การแต่งกายของทหารเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.91K
      3
      31 ธ.ค. 52

    การแต่งกายของทหารเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง





    เครื่องแต่งกายของทหาร กองทัพบกเยอรมัน ในการรบในโปแลนด์และฝรั่งเศส ปี 1940 ดังที่ปรากฎในภาพนี้ เป็นนายทหารประทวน (ต่ำกว่าสัญญาบัตร) สวมหมวกเหล็กสีเทา

    ด้านซ้ายของหมวก มีสัญญลักษณ์นกอินทรีกางปีกครึ่งเดียว (ปกติจะเหยียดตรง) เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ ติดอยู่ อีกด้านหนึ่งจะเป็นธงชาติเยอรมัน

    เสื้อเป็นเสื้อสีเทาเขียว กระดุมห้าเม็ด คอปกเสื้อเป็นสีเทาเข้ม อินธนูหรือแถบที่ไหล่ เป็นสีน้ำเงินเข้ม มีขลิบสีขาว แสดงถึงความเป็นเหล่าทหารราบ ติดด้วยกระดุมสีเงิน

    เครื่องหมายยศที่แขนเสื้อ บ่งบอกว่าเป็นนายทหารยศนายสิบ เข้ารับราชการไม่เกินหกปี ชั้นยศ Obergefreiter หรือ Coporal ในระบบอเมริกัน เทียบเท่าสิบตรีของไทย

    กระเป๋าที่คาดติดอยู่ที่หน้าอก เป็นกระเป๋าหนังสำหรับใส่แผนที่ ที่เข็มขัดมีกระเป๋าหนังแข็งใส่กระสุน (ที่แขนบังอยู่) ด้านละ 3 กระเป๋า เป็นกระสุนขนาด 7.92 มม.ของปืนเล็กยาว แบบ Karabiner Mauser K98 K ซึ่งเป็นอาวุธประจำกาย ของทหารราบเยอรมัน ตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง

    ส่วนสัมภาระด้านหลัง ที่คาดติดกับเข็มขัด และที่สะพายเฉียงไหล่มี กล่องยาวกลม ซึ่งเป็นกล่องใส่หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ ตามระเบียบการแต่งกาย ของเครื่องแบบเยอรมันนั้น ทหารทุกคนต้องมีหน้ากาก ป้องกันแก๊สพิษทุกคน นอกจากนี้ยังมีดาบปลายปืน และพลั่วสนาม กางเกงเป็นกางเกงสีเทา มีกระเป๋าสองข้าง ขากางเกงใส่เข้าไปในรองเท้าบู๊ทหนังสีดำ ที่สูงครึ่งขา




    ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงเครื่องแบบของทหารเยอรมันในสนาม หรือในแนวหน้าได้อย่างชัดเจน หมวกเหล็ก ซึ่งออกแบบใหม่ในปี 1942 ต่างจากแบบในสงครามโลกครั้งหนึ่งเล็กน้อย แต่ก็ป้องกันส่วนหูได้เป็นอย่างดี

    ด้านข้างของหมวกเหล็ก จะเห็นสัญญลักษณ์ นกอินทรีกางปีกครึ่งเดียวเกาะบนตราสวัสดิกะ ส่วนที่หน้าอกเสื้อเครื่องแบบด้านซ้ายของทหาร มีตราสัญญลักษณ์ นกอินทรีกางปีกเหยียดตรง เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะที่เห็นกลมๆด้านล่าง เสื้อเครื่องแบบมีกระดุมสีเงิน 5 เม็ด ทั้งหมดปลดกระดุมคอบน เนื่องมาจากอากาศที่อบอ้าว หรือเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง

    ปืนกลหนักที่ทหารสองคนแบกบนไหล่คือ ปืนกลเอ็ม จี 42 (MG 42) หรือที่เรียกกันว่า ปืนกลสแปนเดา (Spandau) ที่มีชื่อของนาซีเยอรมัน พร้อมสายกระสุนขนาด 7.92 มม. สายละ 50 นัด ซึ่งเป็นกระสุนขนาดเดียวกับปืนเล็กยาวประจำตัวทหารราบแบบ Karabiner Mauser K98 K ปืนกลชนิดนี้มีอัตราการยิงที่สูงถึง 1,200 นัดต่อนาที ระยะยิงไกลกว่า 1,000 เมตร




    ซ้ายมือ คือเครื่องแบบนายทหารยศร้อยเอก (Untersturmfuhrer) ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง (5th SS. Panzergrenadier Division Wiking) โดยสังเกตุได้จากบริเวณแขนเสื้อซ้าย ตรงข้อมือ จะมีแถบบอกนามหน่วยว่า ไวกิ้ง (Wiking) อยู่เหนือชายแขนเสื้อ 14.5 ซม.

    ตอนบนของแขนเสื้อข้างเดียวกัน เป็นสัญญลักษณ์นกอินทรีแห่งอาณาจักรไรซ์ (Imperial Eagle) เหยียดปีกตรง เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ ปักด้วยไหมสีเทา บนพื้นสีดำ เครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายที่ ทหารหน่วย เอส เอส ทุกคนจะต้องติดบนแขนเสื้อด้านซ้าย ตัวเสื้อตัดเย็บด้วยผ้า Doskin สีเทาเขียว มีสี่กระเป๋า กระดุมโลหะ 5 เม็ดสีเงิน ปกคอเสื้อด้านขวา เป็นเครื่องหมาย เอส เอส ปักด้วยไหมสีขาวบนพื้นผ้าสีดำ ย่อมาจาก Schutzstaffel

    ปกเสื้อด้านซ้าย มีดุมเงินปักด้วยไหม บนพื้นผ้าสีดำ จำนวนสามดุม แสดงยศร้อยเอก หัวเข็มขัดทำจากสังกะสีผสมอัลลอยสีเงิน เรียกว่าซาแมค (Zamac) ข้างในเป็นรูปนกอินทรีเกาะบนสวัสดิกะ พร้อมคำขวัญของ เอส เอส คือ "Meine Ehre heist Treue" แปลว่า เกียรติยศของข้า คือความจงรักภักดี

    สำหรับหมวกหม้อตาลที่สวมอยู่นั้น หากเป็นของนายทหารชั้นร้อยตรีขึ้นไป จะมีดิ้นสีเงินตีขอบบนสุดของหมวก เช่นเดียวกับขนาบทั้งข้างบนและข้างล่าง ของแถบสีดำที่พันรอบหมวก รวมทั้งมีดิ้นพันสีเงินคาดอยู่เหนือกระบังหมวก สัญญลักษณ์อินทรีสวัสดิกะ ที่หน้าหมวก และสัญญลักลักษณ์กระโหลกไขว้ เป็นอลูมิเนียมปั้มรูปนูน ในกรณีที่เป็นหมวกของทหารชั้นต่ำกว่าสัญญาบัตร หรือต่ำกว่าร้อยตรี จะไม่มีดิ้นเงินเดินขอบ และดิ้นพันสีเงินเหนือกระบัง จะเป็นแถบหนังสีดำแทน




    เครื่องแบบนายทหารยศร้อยเอก ของกองพล อาสาสมัครภูเขา เอส เอส ที่ 7 ปริ้นซ์ อูเกน (7th SS. Volunteer Mountain Division Prince Eugen) สังเกตุได้จากแถบบอกนามหน่วย ที่แขนเสื้อด้านซ้าย ของเครื่องแบบ (ด้านขวาของภาพ) ปกติชุดนี้ เสื้อเชิ้ตตัวใน จะผูกเนคไท

    ส่วนหมวกแก็ป ปกติหมวกแก็ปของหน่วยเอส เอส จะมีกระดุมเพียงเม็ดเดียว เนื่องจากสัญญลักษณ์ โทเทนคอฟ (Totenkof - Death head) หรือหัวกระโหลกไขว้ จะมีขนาดใหญ่ แต่ในภาพหมวกมีกระดุมสองเม็ด เหมือนหมวกทหารหน่วยปกติของเยอรมัน และสัญญลักษณ์ ถูกย่อขนาดให้เล็กลง โดยปกติถ้าทหารเอส เอส ใช้หมวกแก๊ปสองกระดุม ตามแบบหมวกปี 1943 แล้ว สัญญลักษณ์กระโหลกไขว้จะขยายใหญ่ แล้วเลื่อนสัญญลักษณ์อินทรีสวัสดิกะมาติดข้างหมวกด้านซ้ายแทน

    ที่รังดุมบนสุดของเสื้อ มีแพรริบบิ้น ของเหรียญกางเขนเหล็ก สอดออกมา ส่วนตัวเหรียญ กล้าหาญกางเขนเหล็ก ไม่ได้ติดไว้ที่กึ่งกลางกระเป๋า กองพล ภูเขา เอส เอส ที่ 7 นี้ต่อสู้จนถึงช่วงสุดท้ายของสงคราม โดยในเดือนพฤษภาคม 1945 ได้เข้ากวาดล้าง กองกำลังใต้ดินกู้ชาติ ของนายพลตีโต้ แห่งยูโกสลาเวีย บริเวณเทือกเขาแอลป์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของซาราเจโว กำลังของกองพลนี้เป็นอาสาสมัครจาก ฮังการี รูมาเนีย โครเอเชีย และเซอร์เบีย



    เครื่องแบบนายทหาร ผู้ควบคุมรถปืนใหญ่อัตตาจร หรือ สตรุมเกอชุลซ์ (Sturmgeschutz - Assault Gun) ชั้นยศร้อยเอก ของกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich) ตามปกติแล้วพลประจำรถถังของ หน่วยแพนเซอร์ ทั้งของกองทัพบกเยอรมัน และหน่วยเอส เอส จะแต่งกายด้วยเครื่องแบบสีดำ เพื่อปกปิดรอยเปื้อนของคราบน้ำมันต่างๆ ยกเว้นในกรณีที่เป็นพลประจำรถถังติดปืนใหญ่อัตตาจร (Assault Gun) หรือรถถังล่ารถถัง (tank hunter) จะแต่งกายด้วยเสื้อเอวสั้นสีเทาเขียว 7 กระดุมนี้

    นอกจากนี้ในการรบที่นอร์มังดี ทหารแพนเซอร์ ประจำรถถังบางส่วน ก็แต่งกายด้วยเสื้อสีเขียว แทนสีดำ โดยใส่ทับเสื้อชุดดำ เนื่องจากในการปฏิบัติงานจริงนั้น ชุดสีดำ จะถูกสังเกตุเห็นได้ชัดเจนจากฝ่ายข้าศึก โดยเฉพาะทหารประจำรถปืนใหญ่ ที่ต้องปฏิบัติงานอยู่นอกตัวรถ ไม่เหมือนทหารประจำรถถังที่ส่วนใหญ่อยู่ภายในตัวรถ

    ในภาพนี้จะเห็นหมวกแก็ปกระดุมเดียว ซึ่งเป็นหมวกแก็ปตามแบบของทหาร เอส เอส แบบ Model 1943 ใช้เข็มขัดหนังสีน้ำตาล แทนเข็มขัดสีดำ ที่มีหัวเข็มขัดสีเงิน รูปนกอินทรีเกาะบนเครื่องหมายสวัสดิกะ ที่หน้าอกติดเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) และเหรียญการเข้าทำการรบทั่วไป (General assault Badge) ซึ่งเป็นเหรียญรูปวงรีของใบโอ็ค มีนกอินทรีกางปีกครึ่งเดียว เกาะบนตราสวัสดิกะ ที่ตอนล่างของสวัสดิกะมีดาบปลายปืน ไขว้กับระเบิดมือแบบมีด้าม เหรียญนี้แต่แรก มีวัตถุประสงค์ที่จัดทำขึ้น เพื่อเหล่าทหารช่าง แต่ในเดือน มิ.ย. 1940 ได้มีการปรับให้กำลังพลเหล่าอื่น มีสิทธิได้รับเหรียญนี้



    การแต่งกายของทหารพลร่ม ที่สังกัดหน่วยแอฟริกา คอร์ (Afrika Korps) ซึ่งทำการรบในแอฟริกา สีหมวก สีเสื้อ กางเกง เป็นสีกากี แม้ภายหลังจากที่พ่ายแพ้ในแอฟริกาแล้ว ทหารพลร่มส่วนหนึ่งของกองพลพลร่มที่ 1 (1st Parachute Division - 1st Fallschirmjager Division) ซึ่งถูกส่งเข้าทำการรบที่มองเต คาสิโน ประเทศอิตาลี ในปี 1944 ก็ยังคงใส่เครื่องแบบสีกากีแบบที่เห็นอยู่นี้ ที่พวกเขาได้รับการแจกจ่าย เมื่อครั้งทำการรบในแอฟริกา เครื่องแบบของเหล่าทหารพลร่ม ในการรบที่คาสิโน จึงปะปนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



    ภาพนี้แสดงให้เห็นถึง เครื่องแบบของทหารพลร่มเยอรมัน โดยปกติเมื่อออกสู่สนามรบ ทหารเหล่านี้จะใส่เสื้อคลุมสีเขียว หรือสีพราง ทับเครื่องแบบสีเทานี้ ซึ่งเป็นเครื่องแบบของกองทัพอากาศเยอรมัน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติ ที่ทหารพลร่มเยอรมันจะทำการรบในชุดปกติ สีเทาที่เห็นอยู่ข้างบน โดยไม่สวมเสื้อคลุมทับแต่อย่างใด

    หมวกเหล็กสีเทาดำนี้ เป็นหมวกเหล็กที่ถูกออกแบบมาในปี 1938 เพื่อทหารพลร่มโดยเฉพาะ เหรียญกางเขนเหล็ก (Tron Cross) ที่ติดอยู่ที่หน้าอก เป็นเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 ใต้เหรียญกางเขนเหล็กลงมา เป็นเหรียญแสดงความสามารถในการกระโดดร่ม (the parachute qualification badge) เป็นรูปนกอินทรี เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ กำลังพุ่งโฉบลงหาเหยื่อเบื้องล่าง ล้อมรอบด้วยช่อใบโอ็ค ซึ่งผู้ที่จะได้รับเครื่องหมายนี้ จะต้องผ่านการกระโดดร่มมาไม่น้อบกว่า 6 ครั้ง ตัวนกอินทรีทำด้วยทองแดงผสมนิเกล อัลลอย

    ส่วนเครื่องหมายที่ประดับอยู่ที่หน้าอกอีกด้าน เป็นเครื่องหมายของกองทัพอากาศเยอรมัน (German Air Force Eagle) เช่นเดียวกับที่ติดอยู่ข้างหมวก

    เครื่องหมายยศที่คอปกเสื้อ ซึ่งมีแถบสีเหลือง และรูปนกกางปีกสีเงิน 4 ปีก เป็นสัญญลักษณ์ ของนายทหารประทวน ชั้นต่ำกว่าสัญญาบัตร (NCO - Non commission officer) โดยปีกนกสีเงิน 1 ปีก แสดงถึงชั้นยศพลทหาร (private)



    การแต่งกายของพลทหารชั้นที่ 1 (Private 1st class หรือ Obershutze ในภาษาเยอรมัน) ในแอฟริกา หรือ แอฟริกา คอร์ป (Afrika Korps) ภาพนี้เป็นเครื่องแบบของกำลังพล สังกัดกรมทหารราบยานเกราะ หรือ แพนเซอร์เกรเนเดียร์ที่ 104 (104th Panzergrenadier Regimant) ภายใต้การบังคับบัญชาของกองพลยานเกราะที่ 21 หรือกองพลแพนซอร์ที่ 21 (21st Panzer Division) อันลือชื่อของจอมพล เออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ทำการรบที่ เอล อลาเมน (El Alamein) ในปี 1942

    หมวกแก๊ปสนาม ทำจากผ้าฝ้าย ด้านในของหมวก เมื่อพลิกออกมา เป็นผ้าสีแดง เพื่อใช้เป็นสัญญาณบอกฝ่าย เมื่อจำเป็น หน้าหมวกบนสุด เป็นเครื่องหมายนกอินทรีย์ เกาะบนเครื่องหมายสวัสดิกะ อันเป็นสัญลักษณ์ ของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 (Imperial Eagle)

    หน้าหมวกล่าง เป็นธงชาติของเยอรมัน
    เสื้อเชิ้ตเปิดกระดุมคอสีเขียวมะกอก (olive green) มีสี่กระดุม เครื่องหมายที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย คือ เครื่องหมายการทำการรบสำหรับทหารราบ (Infantry Assault Badge) ซึ่งมอบให้เป็นเกียรติ แก่ทหารเยอรมัน ที่ผ่านการรบมาอย่างต่ำ สามครั้ง หรือมากกว่านั้น



    ภาพนี้แสดงให้เห็นถึง อินทธนูที่หัวไหล่ของเสื้อเครื่องแบบ ตีขอบด้วยผ้าสีขาว ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แสดงถึงเหล่าทหารราบ (Infantry) รวมทั้งสามารถเห็นสัญญลักษณ์ของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ที่เป็นรูปนกอินทรีเกาะบนเครื่องหมายสวัสดิกะ อันเป็นสัญญลักษณ์ของพรรคนาซี ทำจากไหมสีเทา บนพื้นสีน้ำตาล ได้อย่างชัดเจน สัญญลักษณ์นี้จะประดับอยู่บนอกเสื้อ
    ของเครื่องแบบทหารเยอรมันทุกนาย

    เข็มขัดทำจากผ้าคุณภาพดีสีเขียวมะกอก หัวเข็มขัดทำจากโลหะสีเทา ซองกระสุนสำหรับปืนเล็กยาว หรือปืนไรเฟิลแบบ K.98K ทำจากหนังสีดำ สำหรับระเบิดขว้างที่เหน็บอยู่ที่เข็มขัด เป็นระเบิดขว้างแบบ 1924 (1924 Pattern hand grenade)



    อุปกรณ์เครื่องสนามส่วนบุคคล ที่แสดงในภาพ เป็นถุงใส่อาหารแบบ 1931 สีเขียวมะกอก ผูกติดกับเข็มขัดด้วยห่วงกลัดกระดุมสองเม็ด กระติกน้ำสองใบทำจากอลูมิเนียม หุ้มด้วยไฟเบอร์และไม้

    สายรัดพลั่วสนาม ซึ่งซ้อนอยู่ใต้ซองดาบปลายปืน ทำจากผ้าของอิตาลี มีแถบผ้ารัดดาบปลายปืนให้ติดกับพลั่วสนาม เพื่อไม่ให้แกว่งกระทบกันไปมา ดาบปลายปืนที่ปรากฏในภาพ เป็นดาบปลายปืนแบบมาตรฐาน 84/98



    การแต่งกายของนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ของเยอรมัน ที่ประจำการอยู่ ณ กองบัญชาการของอดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ (the Fuhrer's HQ) ที่ราสเทนเบอร์ก (Rastenburg) ในปรัสเซียตะวันออก ในห้วงปี 1944 ซึ่งเป็นช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง

    นายทหารชั้นยศ พันตรี นายนี้ อินธนูที่บ่าถักด้วยไหมสีเงิน บนผ้าสีขาว ขอบผ้าสีขาวนี้ บ่งบอกถึงการเป็นเหล่าทหารราบ สำหรับเสื้อเครื่องแบบ มีกระดุมโลหะ 5 เม็ด สี่กระเป๋า ฝากระเป๋าทั้งสี่ เป็นฝารูปสามเหลี่ยม

    หน้าอกซ้ายมีสัญญลักษณ์อาณาจักรไรซ์ที่ 3 (Imperial eagle) หน้าอกขวา เหนือฝากระเป๋า ประดับแพรแถบ 3 ชนิด แพรแถบแรกคือ แพรแถบของเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 ถัดมาแพรแถบที่สอง คือ แพรแถบสำหรับเหรียญตราการทำการรบ ในด้านตะวันออก (รัสเซีย) ช่วงปี 1941 - 1942

    แพรแถบที่สาม ที่เป็นรูปนกอินทรีสีทอง อยู่บนผืนผัาสีน้ำเงิน คือ เหรียญตราสำหรับผู้ที่รับราชการ ในกองทัพบกเยอรมันมานานกว่า 12 ปี

    เหรียญตราที่กระเป๋าเสื้อ ประกอบด้วย เหรียญกางเขนเหล็ก ชั้นที่ 1 เหรียญทองคือเหรียญตรา สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ มากกว่า 5 ครั้ง (Gold Wound Badge) ส่วนเหรียญล่างสุดคือ เหรียญสำหรับผู้ที่ทำการรบ 3 ครั้งหรือมากกว่า



    นายทหารยศร้อยเอก แห่งกองทัพบก (ดาวทองที่บ่า สองดวง) อินธนูและขอบหมวกหม้อตาล ขลิบสีแดง บ่งบอกว่านายทหารคนนี้ สังกัด เหล่าทหารปืนใหญ่

    เสื้อทูนิค ติดกระดุมเงิน 5 เม็ด คอปกเสื้อสีเขียวดำ ตัดเย็บด้วยเนื้อผ้าเดียวกับหมวกหม้อตาล

    เหรียญตราที่กระเป๋าซ้าย คือ เหรียญกางเขนเยอรมัน (the German Cross) มอบให้กับผู้ที่มีความเป็นผู้นำดีเด่น ในการทำการรบ (exceptional leadership in action)

    เหรียญกางเขนเหล็กที่คล้องคออยู่ คือ เหรียญกางเขนเหล็ก ชั้นอัศวิน (the Knight's Cross) ส่วนเหรียญกางเขนเหล็กที่กระเป๋า คือเหรียญกางเขนเหล็ก ชั้นที่ 1 (1st Class Iron Cross)

    เหรียญตราถัดลงมา คือ เหรียญสำหรับผู้บาดเจ็บจากการรบ สีทอง และเหรียญล่างสุด คือ เหรียญการสู้รบชั้นที่ 4 (the 4th grade assault clasp) ซึ่งมอบให้กับผู้ที่ทำการรบมาไม่น้อยกว่า 75 ครั้ง



    ทหารช่าง (Engineer) ในการปฏิบัติการรบ ในแนวรบด้านตะวันออก (รัสเซีย) ห้วงปี 1943 - 1944 เสื้อต้ดเย็บด้วยผ้าทูนิคสีเทา ตามแบบปี 1935 ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวาง คอปกเสื้อสีดำ อินธนูสีดำ ขลิบขอบอินธนูด้วยสีดำ (สีดำ แสดงถึงเหล่าทหารช่าง)

    กางเกงที่สวมใส่ เป็นกางเกงพรางที่ใช้ในฤดูหนาว ตามรูปแบบในปี 1943 ทำจากผ้าขนสัตว์ เพื่อกันความหนาวในรัสเซีย กางเกงจะมีความกว้างของขากางเกง มากกว่าปกติ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใส่ทับกางเกงสีเทาปกติได้

    กระเป๋าที่สะพาย เป็นกระเป๋าใส่เครื่องมือทหารช่าง รวมถึงนำหน้ากากกันแก๊สพิษ ที่ย้ายมาใส่ด้านหน้า เพื่อความสะดวกในการใช้สอย

    เป้หลัง ผูกติดกับสายหนังสีดำที่สะพายไหล่ แบ่งเป็นสี่ส่วน ส่วนบนที่แยกออกมา คือหม้อสนาม ส่วนต่อไปที่เอื้อมถึงได้ง่ายที่สุด คือส่วนบนถัดจากหม้อสนาม บรรจุระเบิดขนาดสามถึงสี่กิโลกรัม กระเป๋าหนังยาวที่อยู่คู่กับดาบปลายปืน ใช้ใส่ธงสีเหลืองพร้อมด้าม เพื่อระบุจุดที่ฝังทุ่นระเบิด




    เครื่องแบบนักเรียนนายร้อยเหล่ายานเกราะของนาซีเยอรมัน ในชุดสีดำ หมวกหนีบสีดำ มีสัญญลักษณ์ของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ซึ่งเป็นนกอินทรี (Imperial eagle) สีขาวปักบนผืนผ้าสีดำที่หน้าหมวก ถัดลงมาเป็นแถบสามเหลี่ยม หรือตัว วี คว่ำมีสีชมพู ซึ่งสีชมพู แสดงถึงเหล่ายานเกราะ และมีธงชาติเยอรมัน คือ ดำ ขาว และแดง เป็นรูปวงกลมอยู่บนยอดสามเหลี่ยม

    เสื้อเครื่องแบบติดกระดุมเฉียง 7 เม็ด ผูกเนคไทสีดำ เสื้อเชิ้ตข้างในสีเทา อินธนูมีเลข 3 ซึ่งเป็นเลขของกรมที่สังกัด ในที่นี้คือ กรมยานเกราะที่ 3 ขึ้นตรงต่อกองพลยานเกราะที่ 2 ในการบังคับบัญชาของพันเอก ไฮน์ กูเดเรียน (ยศในขณะนั้น) ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ให้กำเนิดหน่วยยานเกราะ หรือแพนเซอร์ ของเยอรมัน

    แถบเงินสองแถบที่อินธนู ใต้เลข 3 แสดงถึงชั้นปีของนักเรียนนายร้อย อินธนูขลิบรอบด้วยสีชมพู อันเป็นสีแสดงเหล่ายานเกราะ

    สัญญลักษณ์สี่เหลี่ยมที่ปกเสื้อ มีรูปกระโหลกไขว้ (the death's head) ตีกรอบด้วยผ้าสีชมพู ซึ่งแสดงถึงเหล่ายานเกราะ อันเป็นสัญญลักษณ์เดียวกับกระโหลกไขว้ ของทหารหน่วย เอส เอส แพรแถบที่สอดลอดรูกระดุมออกมา คือแพรแถบของเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2




    กำลังพลของกรมที่ 98 กองพลภูเขาที่ 1 (1st Gebirgsjager Divisions - Mountain rifle division) ซึ่งบุกเข้ายึดยอดเขา Elbrus (ความสูง 5,633 ม.) ในคอเคซัส ของรัสเซีย และปักธงชาติของเยอรมันอย่างภาคภูมิใจในวันที่ 21 สิงหาคม 1942

    หมวกแก๊ปตัดเย็บด้วยเนื้อผ้าทูนิค ชนิดเดียวกับเสื้อเครื่องแบบ ด้านข้างของหมวก ติดสัญญลักษณ์สีทอง รูปดอกไม้ที่มีชื่อว่า เอ-เดอล-วายซ์ (Edeweiss) ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ขึ้นในเฉพาะที่สูงในทวีปยุโรป

    กองพลภูเขาที่ 1 มีกำลังพลส่วนใหญ่เป็นชาวบาวาเรียน และออสเตรีย กองพลจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ.1938 มีบทบาทในการรุกเข้าสู่โปแลนด์ ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยขึ้นการบังคับบัญชาอยู่กับกองทัพกลุ่มใต้ (Army Group South)

    ในยุทธการบาร์บารอสซ่า ซึ่งเป็นการเปิดฉากรุกเข้าสู่รัสเซียของเยอรมัน กองพลภูเขาที่ 1 เป็นกองพลแรกๆ ที่ข้ามชายแดนรัสเซียเข้าไปทางใต้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คอเคซัส




    ภาพด้านหลังของกำลังพลของกองพลภูเขาที่ 1 แสดงให้เห็นถึงเป้ใส่สัมภาระ หรือ รักแซ๊ก (rucksack) ขนาดใหญ่ ด้านล่างของเป้สัมภาระ จะเห็นกล่องใส่อาหาร กระติกน้ำ และหมวกเหล็ก

    เสื้อแจ๊กเก็ตที่สวมใส่ ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายคอตตอนอย่างดี เพื่อใช้กันความหนาวเย็นในพื้นที่สูงของภูเขา

    กางเกงและรองเท้าบู้ตของทหารกองพลภูเขา จะมีคุณภาพดี รองเท้าจะเป็นบู้ตสั้น ไม่ใช่บู้ตยาวครึ่งแข้งเหมือนทหารราบทั่วไป

    กองพลภูเขาที่ 1 มีประวัติในการรบที่ดีเด่น กล้าหาญ แต่ก็เช่นเดียวกับหน่วยทหารเยอรมันหน่วยอื่นๆ ที่มักจะเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่เชลยศึก และพลเรือน

    ในเดือนสิงหาคม 1943 กำลังพลของกรมที่ 98 กองพลภูเขาที่ 1 ทำการสังหารหมู่ชาวเมือง Kommeno ของกรีซไปเป็นจำนวนถึง 317 คน รวมถึงยังสังหารหมู่ทหารอิตาเลียนจำนวนมาก ในเดือนกันยายน 1943 ภายหลังจากที่อิตาลียอมแพ้แก่สัมพันธมิตร

    กองพลภูเขาที่ 1 สิ้นสุดภารกิจของตน โดยการยอมแพ้ต่อทหารอเมริกันในประเทศออสเตรีย

    การแต่งกายของทหารเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2

    German soldiers of World War II

    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

    -----------------------------------
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×