ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #331 : (แลการ์ตูนไทย) ลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูนไทย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.86K
      0
      28 ก.พ. 58

    เรื่องมีอยู่ว่า วันที่ 15 กุมภาพันธ์  2015 ช่องทีวี NationTV ได้ออกอากาศรายการ “Line กนก” (ฉายประมาณ 2 ทุ่ม ทุกวันอาทิตย์) ซึ่งเป็นตอน ลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูนไทย

     

     

    คลิปย้อนหลัง  ลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูนไทย

     

    “Line กนก   เป็นรายการ วาไรตี้ มีสาระ ดำเนินรายการโดย พิธีกรคนดัง คุณกนก รัตน์วงสกุล เนื้อหารายการจะนำเสนอสิ่งต่างๆที่น่าสนใจ พร้อมพูดคุยแบบสบายๆ กับแขกรับเชิญ เช่น ตอน " โรงเรียนไม้ในป่าคอนกรีต ", “เทศกาลกินเจเยาวราช”, "สัมผัสญี่ปุ่นในเมืองไทย"

    ส่วนเนื้อหารายก่าร ลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูนไทย นั้น

    พิธีกรกนกได้เดินทางไปบ้านของนักสะสมการ์ตูนไทยท่านหนึ่ง ชื่อ คุณวรวิทย์ เวชนุเคราะห์ ซึ่งทั้งบ้านสะสมหนังสือการ์ตูน (คอมมิค, หนังสือเก่าๆ และการ์ตูนไทย) ที่สะสมตั้งแต่ยังเด็ก และเก็บเอาไว้อย่างดี ความจริงแล้วเนื้อหาในรายการน่าสนใจมาก แต่อย่างไรก็ตามหลังรายการนี้ฉายไป กลับกลายเป็นว่ามีดราม่าเล็กๆ เกิดขึ้น เมื่อหลายคนเกิดไม่พอใจเมื่อรายการพยายามเน้นคำว่า "ลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูน" หรือ "การ์ตูนไทยกำลังล่มสลาย" มากเกินไป ...... (ความจริงผิดตรงตั้งชื่อตอน ที่น่าจะตั้งหัวข้อว่า ยุคทองการ์ตูน 1 - 5 บาทมากกว่า จะได้ไม่ดราม่า)  ซึ่งเป็นยุคที่หลายคนยังไม่ได้เกิด  

    ก่อนจะขอเล่ารายการ ขอเล่ารายละเอียดการ์ตูนไทยสักนิด เรื่อง ยุคทองของการ์ตูนไทย จาก หนังสือ“ตำนานการ์ตูน”ของจุลศักดิ์ อมรเวช (และข้อมูลจากกูเกิ้ล) ได้เล่ายุคทองของการ์ตูนไทยไว้ว่า การ์ตูนไทยได้รับอิทธิพลมาจากการเขียนภาพแบบตะวันตก (ตั้งแต่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเหมือนจริง) จากนั้นในรัชการที่ 6 การ์ตูนล้อก็ได้รับความนิยมมากขึ้น

    การ์ตูนไทยเคยซบเซาพักหนึ่งจากพิษเศรษฐกิจ และสงครามโลกครั้งที่สอง    หากแต่เมื่อสิ้นสุดสงครามวงการ์ตูนไทยก็ฟื้นตัวอีกครั้ง และเริ่มมีนักเขียนการ์ตูนไทยชื่อดังหลายคน  ซึ่งการ์ตูนไทยที่ว่า ก็มีการ์ตูนตลก, ล้อการเมือง

    ต่อมามีการกำเนิดการ์ตูน (ตลก) สำหรับเด็กครั้งแรก คือหนังสือการ์ตูน “ตุ๊กตา” ซึ่งประสบความสำเร็จดี  อย่างไรก็ตาม อันเนื่องจากสมัยก่อนกระดาษที่ใช้ตีพิมพ์หนังสือค่อนข้างมีราคาแพง สมัยก่อนนั้นเงินหนึ่งบาท ถือว่ามีค่าพอดู เพราะหนึ่งบาทสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่ๆ กินแล้วอิ่มได้หนึ่งมือ (หากดูรายการจะเห็นว่าหนังสือการ์ตูน “ตุ๊กตา” มีราคา 2.50 บาท) ดังนั้นก็เริ่มมีการทำการ์ตูนเล่มละบาท (ต่อมาก็ 5 บาท) ขึ้นมา ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมากในยุคหนึ่ง (หรือก็คือยุคทองนั้นเอง)  จนสามารถทำให้คำว่า"การ์ตูนเล่มละบาท" กลายเป็นตำนาน เป็นชื่อเฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์ ที่เรียกกันมาจนถึงทุกวัน (ชนิดว่าพูดถึงการ์ตูนไทยเราต้องนึกถึงการ์ตูน 1-5 บาทเป็นอย่างแรก)

    นอกจากนี้จุดเด่นของการ์ตูนไทย หรือลายเส้นของการ์ตูนเล่มละบาทนั้น จะเป็นลายเส้นหมึกดำ หนาๆ ขาว ดำ ไม่มีเทา ไม่มีการติดสกรีนโทน  ใบหน้าตัวละครจริงจัง (ไม่โมเอะ ตัวพระเอกและนางเอกเหมือนพระเอกสมัยภาพยนตร์สมัยก่อนๆ (ทรงผมเชยๆ หน้าตาพระเอกไทยๆ) แถมหน้าตาก็คล้ายๆ กันจนแยกไม่ค่อยออก ซึ่งมีอิทธิพลจากการ์ตูนคอมมิคอีกที (ไม่ไทยเลย)

    หนังสือการ์ตูนไทยเล่มละบาทนั้น จะมีขนาดรูปเล่ม 13X19เซนติเมตร โดยประมาณ และมีจำนวน 16-24 หน้า (หรือนานๆ ครั้งก็เป็น 32 หน้า) สมัยนั้นการ์ตูนเล่มละบาทสร้างรายได้ดีมากๆ จนมีสำนักพิมพ์อื่นๆ โดดเข้ามาร่วมธุรกิจนี้หวังจะโกยเงินบ้าง จนการ์ตูนประเภทนี้ล้นตลาด เพราะยอดตีพิมพ์ในแต่ละเดือนสูงถึงล้านเล่มทีเดียว

    ส่วนใหญ่แล้ว แนวเรื่องของการ์ตูนเล่มละบาท มีทั้งเรื่องชีวิต, เรื่องผี, เรื่องตลก, นิทาน, เซ็กซ์ โดยเฉพาะเรื่อง "ผี" เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากของผู้อ่าน เป็นความตื่นเต้นแบบง่ายๆ ที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด

    อย่างไรก็ตาม ยุครุ่งเรืองของการ์ตูน  มีอันต้องเสื่อมถอยลง ในช่วงราวๆ 1977 (พ.ศ.2520)  เมื่อการ์ตูนไทยเริ่มมีจำนวนน้อยลง สำนักพิมพ์อื่นๆ ก็ปิดตัวลง ซึ่งส่วนใหญ่ที่เสื่อมลงจะเป็นการ์ตูนเล่มละบาท (ต่อมาเปลี่ยนเป็นห้าบาท สิบบาท สิบห้าบาทตามลำดับ) และนิยายภาพ ส่วนการ์ตูนตลกนั้นยังพอขายได้อยู่ (อย่างน้อยขายหัวเราะและมหาสนุกก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน)  ซึ่งสาเหตุของความเสื่อมนั้นมีหลายๆ ปัจจัย โดยสาเหตุหลักๆ คือ  

    -นักเขียนการ์ตูนไทยทุกอย่างต้องทำคนเดียวหมด อัตราค่างานหนึ่งหน้ากระดาษต่ำสุด 100 บาท สูงสุด 1000 บาทถือว่าต่ำมาก จึงไม่แปลกจะถูกเรียกว่า “นักเขียนไส้แห้ง” ไม่เหมือนกับเมืองนอกที่มีทีมงานและแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออก และอัตราเงินค่างานก็คุ้มค่า บางคนยึดเป็นอาชีพด้วยซ้ำ ทำให้หาคนวาดการ์ตูนไทยค่อนข้างน้อย ไม่มีใครอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน

    -จุดอ่อนของการ์ตูนไทย (การ์ตูน 1-5 บาท, นิยายภาพ) คือเราไม่ทำเป็นระบบธุรกิจ เราทำๆ ไปเพราะเห็นว่ากำไร แต่ไม่เคยค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอ ตลอดจนการพลิกเพลง กลยุทธ์การตลาดก็ไม่มี และหากได้กำไรน้อยก็ปล่อยมันตายไปเลย ไม่เหมือนต่างประเทศที่หากเจอปัญหาก็ไม่รอช้าหาวิธีใหม่มาทดแทน กลบจุดอ่อนเสมอ

    -ปัจจัยต่อมาคือเรื่องเงินทุน การผลิตงานก็ต้องใช้ทุน เป็นต้นว่าเงินทุนจ้างคนเขียนเพื่อให้เขียนงานที่เหมาะสม การใช้เงินเพื่อการพาณิชย์ ระบบจำหน่ายหรือการตลาด

    -คุณภาพของการ์ตูนไทยลดลง เพราะการใช้กระดาษไม่มีคุณภาพเพื่อลดต้นทุน กระดาษที่ว่ามีความบางมาก ทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง

    -เรื่องหรือบท เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นิยายภาพเสื่อมถอยลง เพราะนิยายภาพส่วนใหญ่ขาดการเขียนบทมาโดยตลอด แม้จะมีนิยายภาพที่มีเนื้อหาดัดแปลงเอาบทประพันธ์ชั้นดีมาทำก็ตาม แต่ก็ขาดคนเขียนภาพที่มีฝีมือ  การ์ตูนไทยขาดการเล่าเรื่องที่ดี คนเขียนงานไม่มีพล็อตหรือสคริปต์ บางเรื่องมีแต่ข้อความเล่าเรื่องเต็มไปหมดเด็กไม่ค่อยชอบ และดำเนินเรื่องน่าเบื่อ ซ้ำซาก วนเวียนเรื่องภูตผี ความแค้น ชู้ จุดตื่นเต้นไม่มี มีแต่คนคุยกัน จบแล้วยัง งง ว่าสาระอยู่ตรงไหน

    -การเข้ามาของการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทย ทำให้เด็กๆ ห่างเหินการ์ตูนไทย หันมาสนใจการ์ตูนญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะมีเนื้อเรื่องที่หลากหลาย อ่านแล้วสนุก มีแอ็คชั่นตื่นเต้น การแบ่งช่องมีลูกเล่นไม่น่าเบื่อ ดำเนินเรื่องฉับไว การ์ตูนไทยไม่มีการปราบสัตว์ประหลาด อีกทั้งบางเรื่องมีหลายตอน ทำให้น่าติดตาม แต่การ์ตูนไทยเป็นการ์ตูนสั้นๆ ไม่กี่หน้าก็จบ

    -การ์ตูนญี่ปุ่นครองใจหลายคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพราะตัวเอกในการ์ตูนส่วนมากเป็นเด็กมัธยมปลาย ซึ่งเข้าถึงหลายคน มากกว่าการ์ตูนไทยที่ตัวเอกเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงก็นิยมการ์ตูนตาหวานที่มีเรื่องรักใคร่ๆ หนุ่มรูปงาม อ่อนหวาน มากกว่าลายเส้นที่แข็งกระด้างของการ์ตูนไทย

    -ขาดการสร้างตัวเอกคาแร็คเตอร์ที่โดนใจ ไม่เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นที่สร้างคาแร็คเตอร์เท่ๆ มาโดยตลอด เช่น หน้ากากเสือ ไอ้มดแดง ทำให้เด็กไทยติดใจทั่วเมือง ส่วนการ์ตูนไทยไม่มีคาแร็คเตอร์เหล่านี้

    - สุดท้าย ผู้คนเริ่มไม่ชอบการ์ตูนไทย ทั้งๆ ที่เติบโตมากับการ์ตูนไทย กล่าวร้ายการ์ตูน ว่ามอมเมาเยาวชน เพราะเนื้อหาไม่เหมาะกับเยาวชน เต็มไปด้วยเรื่องชู้ เซ็กต์ ยุกามารมณ์ ไม่สร้างสรรค์ ผิดศีลธรรม ภาพสยดสยองไม่เหมาะกับเด็ก บางคนก็บอกว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก ทำให้หลายคนเหินห่างจากการ์ตูนมากขึ้น และมองการ์ตูนแง่ร้ายมาโดยตลอด แม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เลิ

     

     


     

    นี่คือเรื่องราวคร่าวๆ ของยุคทองสู่ยุคตกต่ำของการ์ตูนไทย (หรือการ์ตูนเล่มละบาท-นิยายภาพ) ซึ่งจากมุมมองของผู้ใหญ่วัยกลางคน รุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว การ์ตูนไทยคือการ์ตูนหนึ่งบาทนั้นเอง 

    สรุปแล้ว สาเหตุที่การ์ตูนไทย (การ์ตูนหนึ่งบาท-นิยายภาพไทย) เสื่อมความนิยม ก็เกิดหลายปัจจัย โดยเฉพาะตัวผู้ผลิตเอง ที่หวังจะทำกำไรอย่างเดียว แต่ไม่สนผู้อ่านแล้วไม่คิดหาอะไรใหม่ๆ มานำเสนอ ส่วนตัวผู้อ่านก็หันไปดูสื่อบันเทิงใหม่ๆ จำพวกการ์ตูนญี่ปุ่น และโทรทัศน์

                อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรายังคงหาการ์ตูนไทยสมัยรุ่นพ่อได้อยู่ เพียงแต่รูปแบบอ่านเปลี่ยนไป คือ เล่มใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และมีราคาสูงขึ้น ประมาณ 5-15 บาท โดย 15 บาทจะหนาและกระดาษดีหน่อยเล็กน้อย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามเซเว่นบางสาขา

    กลับมาที่ดราม่า ลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูนไทยกันต่อ ความจริงแล้วเป็นอีกหนึ่งในรายการที่ดีครับ เพราะทำให้คนที่เติบโตในยุคการ์ตูนไทยเก่าๆ ได้รำลึกถึงความหลัง ได้เห็นการ์ตูนไทยเก่าๆ หายากซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว แต่ แทนที่จะทำให้หลายคนประทับใจ มันกลับกลาย ดราม่าขึ้น (ความไม่พอใจหลายคน จนมีการตั้งกระทู้ในเว็บ-เพจดังๆ หลายเว็บ) เพราะพิธีกร-แขกรับเชิญใช้ประโยคว่า “ลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูนไทย” บ่อยครั้ง ทำให้เนื้อหาสื่อไปว่าการ์ตูนไทยมันเสื่อมสลายไปแล้วประมาณนั้น (อีกทั้งแขกรับเชิญพูดคำว่าไม่ชอบการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย)

    อย่างไรก็ตามคนดูรายการกลับไม่ได้คิดว่าการ์ตูนไทยไม่ได้หายไปไหน  เพราะปัจจุบันการ์ตูนไทยกำลังเติบโตเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบออกไปไม่เหมือนในอดีต นั้นคือ การ์ตูนทางเน็ต และสำนักพิมพ์อิสระ ในรูปของมังงะที่ได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่น  ทำให้ตอนนี้ได้มาถึงยุคใหม่ของการ์ตูนไทยอย่างแท้จริง

    และนั้นหลายคนก็ยังมองแขกรับเชิญ (และคุณกนก) ว่าเป็นคนแก่ที่จมอยู่กับอดีตที่ตัวเอง แต่ไม่มองโลกปัจจุบันว่าการ์ตูนไทยไปถึงไหนแล้ว

     

     

     

    คราวนี้มาถึงความคิดเห็นของผมบ้าง ก่อนอื่นเราต้องแยกการ์ตูนไทยก่อน เพราะดราม่ารายการคุณกนกเกิดขึ้นเพราะมุมมองการ์ตูนไทย ของคนสองวัยแตกต่างกัน

    -การ์ตูนไทยในมุมมองของผู้ใหญ่อายุมาก- คือการ์ตูนหนึ่งบาท-นิยายภาพ ซึ่งเราได้เห็นตลอดทั้งรายการ ซึ่งพวกผู้ใหญ่มักจะเรียกการ์ตูนประเภทนี้ว่าการ์ตูนไทย

    -การ์ตูนไทยในมุมมองของเด็กวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ – นอกจากการ์ตูนหนึ่งบาท-นิยายภาพแล้ว (ซึ่งวัยรุ่นส่วนมากแค่รู้จักผิวเผิน บางคนก็ไม่ชอบอ่านมากนัก) คนรุ่นใหม่ยังรู้จักการ์ตูนไทยที่ได้รับอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่น กล่าวคือ คนเขียนเป็นคนไทย วาดการ์ตูนโดยใช้เทคนิคของการวาดมังงะญี่ปุ่น ซึ่งมีนักเขียนน่าใหม่ที่วาดการ์ตูนประเภทนี้เกิดขึ้นมากมาย และหลายคนเคยได้รับรางวัลจากประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

    จุดประสงค์ของรายการคุณกนกคือ การระลึกชาติการ์ตูนไทยสมัยก่อน ซึ่งเป็นเรื่องถนัดของแขกรับเชิญ (วันวานยังหวานอยู่) และทั้งเรื่อง ผมไม่ได้เห็นแขกรับเชิญพูดถึงการ์ตูนไทยที่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นแม้แต่น้อย (หรือผมจับใจความไม่ได้ก็ไม่รู้) เพราะแขกรับเชิญไม่ได้ถนัดเรื่องเหล่านี้ และลมหายใจสุดท้ายของการ์ตูนไทยนั้น ต้องการสื่อถึงการ์ตูนไทยลายเส้นสมัยก่อนนั้นไม่มีทางกลับมารุ่งเรื่องอีกครั้งแล้วแน่นอน

    คือมันเป็นเรื่องปกติครับ คนเรามีเรื่องถนัดแตกต่างกันไป บางอย่างเราก็รู้ เชี่ยวชาญ และบางอย่างเราก็ไม่รู้ คนวัยกลางคนเขาเก่งเล่าเรื่องเก่าๆ ส่วนเรื่องใหม่ๆ นั้นเขาไม่รู้ ไม่ได้เชี่ยวชาญ ไม่คุ้นเคย  เราจะให้คนรุ่นเก่าพูดเรื่องโดจินก็คงไม่ไหว

    ต้องเข้าใจครับว่าแขกรับเชิญไม่เหมือนคนรุ่นเรา เขามีความรักและผูกพัน เติบโตมากับการ์ตูนไทยๆ ลายเส้นเก่าๆ แล้วอดใจหายไม่ได้ที่วัยรุ่นปัจจุบันไม่อ่านการ์ตูนแบบนี้แล้ว เขาเองก็อยากให้เด็กวัยรุ่นได้เรียนรู้การ์ตูนเหล่านี้บ้าง ให้ความสำคัญกับมันบ้าง เพียงแต่ตอนท้ายๆ หลายคนอาจไม่พอใจ ตรงที่แขกรับเชิญ เขาจะเอาแต่ลำพึงว่าใจหายที่มันหายไป แม้ในช่วงท้ายๆ แขกรับเชิญจะบ่นใจหายอย่างเดียว โดยไม่พูดถึงการ์ตูนไทยควรปรับปรุงพัฒนาให้ตามยุคก็เถอะ

    ดังนั้นดูรายการกนกต้องแยก เรื่องการ์ตูนไทยในอดีต และการ์ตูนไทยสไตล์มังงะ

     

     

    หมายเหตุประเพทไทย : ความเติบโตของตลาดการ์ตูนไทย

    https://www.youtube.com/watch?v=9HK3uYXRSMo

     

    ที่นี่เรามาพูดถึงการ์ตูนไทยที่ได้รับอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่นกันบ้างครับ ซึ่งมาคิดดีๆ เรื่องของการ์ตูนไทยที่มีอิทธิพลจากมังงะนั้นไม่ค่อยมีใครพูดถึง หรือมีคนมารวบรวมเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก ดังนั้นสิ่งที่ผมเขียนมาจากมุมมองของผมโดยเฉพาะ

    หากไม่นับการ์ตูนล้อเลียนในหน้าหนังสือพิมพ์, การ์ตูนขายหัวเราะมหาสนุกแล้วละก็ ปัจจุบันการ์ตูนไทยนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน  อีกทั้งกำลังรุ่งเรืองด้วยซ้ำ ห  เพียงแต่การ์ตูนไทยที่ว่านั้นไม่ใช่การ์ตูนลายเส้นเก่าๆ เหมือนอดีต แต่เป็นการ์ตูนที่ลายเส้นที่มีอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่น

    การ์ตูนไทยที่มีอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่พูดถึงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเอง หากจำไม่ผิด จุดเริ่มต้นตรงตอนนั้นการ์ตูนมังงะอุลตร้าแมนกำลังดัง แล้วคนไทยได้วาดการ์ตูนลายเส้นญี่ปุ่นก็อปอุลตร้าแมน (ตัวละครยังเหมือนอุลตร้าแมนมากๆ) มาวางขายบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และโดนด่าตามระเบียบว่าไปลอกญี่ปุ่นทำไม ตามก้นญี่ปุ่น ทำไมไม่คิดเอง ทำไมไม่สอดแทรกความเป็นไทย  และนี่คือต้นกำเนิดความคิด ไม่ไทยเลย

    ต่อมา หลายคนที่มีประสบการณ์การอ่านการ์ตูนแนวมังงะของญี่ปุ่นก็เริ่มหันมาวาดการ์ตูนไทยที่มีอิทธิพลมังงะมากขึ้น ซึ่งส่วนมากกลุ่มลูกค้าการ์ตูนเหล่านี้เป็นวัยรุ่น แต่ยังไม่ได้รับผลตอบรับดีมาก หลายสำนักพิมพ์ที่ตอนแรกสนับสนุนหากแต่หลังๆ มากลับเงียบหายๆป  อีกทั้งอาชีพนักเขียนเองก็ยังน้อย เพราะหลายคนเห็นว่าการเป็นนักเขียนการ์ตูนไม่ได้สร้างรายได้อะไร อีกทั้งลายเส้น การดำเนินเนื้อเรื่อง ไปจนถึงการสร้างตัวละครยังไม่ได้น่าสนใจมากนัก

    การ์ตูนในเมืองไทยสไตล์มังงะเริ่มพัฒนาต่อเนือง เมื่อหลายสำนักพิมพ์ที่เป็นหัวหอกสำคัญทำหนังสือการ์ตูนไทยในแนวมังงะ เช่นไทยคอมมิก ของวิบูลย์กิจ การตอบรับของผู้อ่านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มเกิดนักวาดการ์ตูนมากมายซึ่งเป็นผลดีต่อวงการเป็นอย่างมาก ส่วนนักวาดการ์ตูนที่ใจรักหันไปที่ “สำนักพิมพ์อิสระ” คือพิมพ์เอง ขายเอง แม้ว่าจะไม่ได้สร้างรายได้มากมายมหาศาล แต่ก็ได้รับผลตอบรับดีเรื่อยมา ส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูนโดจินทั้ง สว่าง , วาย

    จนกระทั่งมาถึงยุคอินเทอร์เน็ต ที่เปิดพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่นำเสนอผลงานของตนเองให้คนอื่นได้ดูมากขึ้น โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค หากผลงานไหนดี มีคนติดตามมากๆ คนวาดก็สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เชิญตัวมารวมเล่มก็มี อีกทั้งสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เองก็มีการจัดประกวดหานักเขียนหน้าใหม่ จนได้นักเขียนมีฝีมือสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนจนเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง

    สำหรับการ์ตูนไทยสไตล์มังงะก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแฟนตาซี การ์ตูนเก๊กเล่นมุก การ์ตูนล้อ การ์ตูนสี่ช่อง  ไปจนถึงดราม่าก็มี แต่ที่น่าสนใจคือการ์ตูนเหล่านี้สอดแทรกเรื่องของสังคมไทยยุคปัจจุบันเข้าด้วย เป็นต้นว่าชีวิตวัยรุ่นมัธยมปลาย ไปจนถึงประเพณีไทยต่างๆ และสังคมไทยๆ (ทั้งด้านดีและไม่ดี ที่คนไทยมาอ่านเข้าใจมุกเลยทีเดียว) ซึ่งเราสามารถหาการ์ตูนเหล่านี้ได้ทางอินเทอร์เน็ต ตามเว็บไซต์  แฟนเพจอื่นๆ หรือการ์ตูนโดจิน และการ์ตูนในเครือสยามและวิบูลย์กิจ ซึ่งผลงานการ์ตูนบางเรื่องแทบดูไม่ออกเลยว่าเป็นผลงานของคนไทยวาด

                นักเขียนการ์ตูนบางคนก็ไม่ได้ไส้แห้งเหมือนเมื่อก่อน หากฝีมือดี มีไอเดีย มีเอกลักษณ์ก็สามารถสร้างชื่อ สร้างรายได้พอสมควร นักเขียนการ์ตูนบางคนยังได้รางวัลจากประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ทำให้เป็นหนึ่งในอาชีพที่ยืดได้อย่างภาคภูมิ ไม่น่าอายเหมือนเมื่อก่อน

    อย่างไรก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถพูดเต็มปากได้ว่าการ์ตูนไทยสไตล์มังงะกำลังอยู่ยุคทอง และเป็นที่นิยมล้มหลาม เพราะการ์ตูนไทยสไตล์มังงะก็ยังมีข้อบกพร่องอะไรหลายๆ อย่าง เป็นต้นว่า (เอาที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม) นักวาดการ์ตูนต้องวาดคนเดียวยังไม่มีตัวช่วย  ความต่อเนื่องของผมงานไม่ค่อยถนัดเรื่องยาวสักเท่าไหร่ (เรื่องยาวมักโดนตัดจบ ไม่ก็ออกทะเล ผมขอพูดตรงๆ ว่ามีบางช่วงที่ผมอ่าน EXE ไม่รู้เรื่อง) และอีกเรื่องคือการสร้างคาแร็คเตอร์ที่ยังไม่ได้เป็นตัวของตัวเองมากนัก เพราะบางอย่างก็ก็อปมา (อย่าง บรูซลี จากมีดที่ 13, พระอภัยมณีซาก้าเองก็ก็อปหนังโจรสลัดหลายเรื่อง)  แต่ข้อบกพร่องดังกล่าวยังพอแก้ไขได้ และก็ยังคงอนาคตอยู่

    นี่คือเรื่องคร่าวๆ ของการ์ตูนไทยสไตล์มังงะปัจจุบัน  ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างตำนาน ยังไม่ละเอียด หรือยาวนานเท่าตำนานการ์ตูนไทยเล่มละบาท-นิยายภาพสักเท่าไหร่นัก

    ไม่ว่าการ์ตูนไทยสมัยก่อน หรือการ์ตูนไทยสไตล์มังงะจะแตกต่างกันมากเท่าไหร่ แต่สุดท้ายมันก็คือการ์ตูนไทยอยู่ดี

    สรุปแล้ว ตามความเข้าใจของผม รายการคุณกนก เขาเพียงแต่เล่าถึงการ์ตูนไทยสมัยก่อนตามถนัดของแขกรับเชิญ  ส่วนเรื่องการ์ตูนไทยสไตล์มังงะไม่ได้เป็นเรื่องถนัดของแขกรับเชิญ เขาไม่ได้อ่าน เขาชอบของเขา มันเป็นตรรกะง่ายๆ ครับ ผมว่าปกติจะตายคนเราก็มีเรื่องชอบหรือไม่ชอบบ้าง พอดีคนฟังเขารวมการ์ตูนไทยสไตล์มังงะด้วยแล้วโยงไปดราม่า “ไม่ไทยเบย”โน้น ซึ่งผมเห็นว่าไม่เกี่ยวครับ เพราะเนื้อหารายการผมไม่เห็นแขกรับเชิญบ่นเรื่องการ์ตูนไทยสไตล์มังงะเลยแม้แต่น้อย ผมเชื่อว่าแขกรับเชิญเขาไม่รู้มากกว่า เขาเพียงแค่บ่นการ์ตูนไทยสมัยก่อนหายไป ซึ่งก็เป็นจริงอย่างว่าครับ

    สุดท้ายแล้วก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของแขกรับเชิญเท่านั้นเอง

    ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ครับ

     

     

     

     

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×