ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #225 : พระยาราชนิกุล (เสือ)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 589
      0
      16 เม.ย. 53

        ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ปรากฏนาม พระยาราชนิกุล (เสือ) หลายแห่ง ครั้งเมื่อโปรดฯให้ยกกองทัพใหญ่เป็นพยุหยาตราไปเวียงจันทร์นั้น เจ้านาย ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และสมุหนายก (สุมหพระกลาโหมขณะนั้นกำลังป่วย) เสนาบดี ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ชั้นพระยาคุมทัพออกศึกกันแทบจะทุกท่าน (พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อเสด็จครองราชย์ใหม่ๆ)

                ในจำนวนนี้ มีชื่อพระยาราชนิกุล (เสือ) อยู่ด้วย

                ครั้งเมื่อโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา และเจ้าพระยาพระคลัง สองอัครเสนาบดี เป็นแม่ทัพไปรบญวน (พ.ศ.๒๓๗๖) ก็โปรดฯให้พระยาราชนิกุล (เสือ) และเจ้าพระยานครราชสีมา คือเจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอิน) ไปด้วย ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการให้แยกยกไปทางบก

                ครั้นเมื่อเสร็จศึกแล้วก็โปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรฯ และพระยาราชนิกุล (เสือ) กลับเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลแจ้งข้อราชการ แล้วจึงโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรฯ กลับไปจัดการเรื่องเมืองเขมรให้เรียบร้อย

    เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี
    (มั่ง สนธิรัตน์)

                แต่ครั้นเมื่อญวนกับขุนนางเขมรที่ฝักฝ่ายญวนพากันไปตั้งอยู่เมืองกะพงสวาย (หรือกำปงสวาย) ใกล้เขตแดนลาว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ พระยาราชนิกุล (เสือ) ยกไพร่พล ๑,๐๐๐ ไปช่วยรักษาเมืองอุบลและเมืองจำปาสัก พระยาราชนิกุล (เสือ) ได้ไปเร่งรัดสร้างค่ายป้อมประตูหอรบสร้างฉางข้าว โรงดินปืน เตรียมรบไว้พร้อมสรรพ

                ผู้สนใจในเรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๓ จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๗ เป็นเวลาถึง ๒๐ ปีนั้น มีศึกเสือเหนือใต้อยู่ตลอดเวลา ต้องทรง ‘บัญชาการรบ’ อย่างหนัก ในพระราชพงศาวดาร และจดหมายหลวงอุดมสมบัติจดไว้ว่า บางเวลาถึงกับเสวยไม่ลง บรรทมไม่หลับ

                กับฝรั่งนั้น  แม้จะไม่ถึงรบกันกับฝรั่งดังประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องทรงดำเนินวิเทโศบายอย่างหนักและอย่างสุขุมรอบคอบ ที่สำคัญก็คือทรงมีขุนนางสำคัญทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ (เช่นจมื่นไวยวรนารถ - ช่วงผู้เป็นบุตรชายเจ้าพระยาพระคลัง - ดิศ) และยังเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธออีกสองพระองค์ คบค้าฝรั่งอยู่ ซึ่งแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะไม่โปรดฝรั่ง ออกจะชิงชังเสียด้วยซ้ำ ก็ทรงโอนอ่อนผ่อนตามเพียงแต่ทรงเตือนแล้วเตือนเล่าว่า อย่าให้เสียเปรียบ อย่าให้เสียที

                ดังนั้น ระยะเวลาเสด็จขึ้นครองราชย์ถึง ๒๗ ปี จึงมีผู้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น เท่ากับทรงเตรียมแผ่นดินไว้พร้อมสรรพสำหรับผู้ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อไป ทั้งความมั่นคงของแผ่นดิน ศึกญวน ศึกเขมร ศึกลาว (พม่านั้นตกอยู่ในบังคับของอังกฤษแล้ว) ศึกทางใต้แล้วยังทรงปูทางไว้ในการคบกับฝรั่ง มิให้เสียเปรียบ ทางด้านเศรษฐกิจของบ้านเมือง นอกจากเงินท้องพระคลังมีเพียงพอแล้วยังมีเงินถุงแดงส่วนพระองค์ที่ทรงเก็บออมไว้ตั้งแต่ยังเป็นพระเจ้าลูกเธอ เหลืออีกถึง ๔ หมื่นชั่ง พระราชทานให้ใช้สำหรับแผ่นดิน ๓ หมื่นชั่ง อีก ๑ หมื่นชั่ง นั้น “ขอไว้สำหรับสร้างวัดวาอารามที่ยังไม่เสร็จ”

                เงินของท่านแท้ๆ แต่ทำมาหาได้ในแผ่นดินของท่าน จึงทรงคืนให้แก่แผ่นดิน ลูกหลานอาศัยแผ่นดินอยู่สุขสบายกันพอสมควรแล้ว ท่านไม่ให้

                ว่าจะเล่าถึงพระยาราชนิกุล (เสือ) จึงขอวกกลับมาเล่าต่อ

                พระยาราชนิกุล (เสือ) นั้น ก.ศ.ร.กุหลาบเล่าไว้ในประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ตอนหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาบดินทรฯ ท่านสั่งเฆี่ยน นายสนิท หุ้มแพร (แสง) บุตรชายของท่าน ๑๐๐ ที เมื่อมีผู้มาฟ้องว่า นายสนิท หุ้มแพร ลักลอบขายฝิ่น โดยให้นำตัวมาใส่ขื่อ มัดมือมัดเท้าโยงกับหลักปักคา แล้วเฆี่ยนด้วยหวายให้ครบ ๑๐๐ ที

                ครั้งนั้น เมื่อบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ซึ่งมี พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ใน ร.๔) พระยาราชนิกุล (เสือ) พระยาอภัยโนริด (บุนนาก) และพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) กับพระยาราชสุภาวดี (โต) เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ  ท้องพระโรง พระยาศรีพิพัฒน์ฯเข้าเฝ้าฯ ช้าไป จึงทรงมีพระราชดำรัสถาม พระยาศรีพิพัฒน์ฯก็กราบบังคมทูลถวายเรื่องราวว่า มัวแต่ไปจวนเจ้าคุณผู้ใหญ่สมุหนายก เพื่อไปขอโทษให้ นายสนิท หุ้มแพร แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าเอ่ยปากขอโทษ

                ทรงมีพระราชดำรัสถามเรียงตัวทั้ง ๕ คน ต่างกราบถวายบังคมทูลเหมือนๆกันว่า ไม่กล้าขอโทษได้แต่นั่งดู นายสนิท หุ้มแพร ถูกเฆี่ยนจนสลบแล้วสลบอีก

                บรรดาผู้ปรากฏนาม ๕ ท่านนี้ นอกจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด - สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔) แล้ว

                ก็มี พระยาอภัยโนริด (บุนนาก) ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ นี้เอง โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยายมราช (บุนนาก) ท่านผู้นี้ เมื่อสร้างวัดราชนัดดา ปลายรัชกาลและโปรดฯให้เชิญพระประธานไปที่วัด บ้านของเจ้าพระยายมราชอยู่ใกล้วัด ท่านจึงออกมาช่วยบัญชาการ โดยเหตุที่ชรามากแล้ว เกิดพลาดล้มลงโดนล้อตะเฆ่ทับ แล้วเลยถึงแก่อสัญกรรม เวลานั้นยังไม่ได้ใช้นามสกุล ท่านจึงมีฉายาว่า เจ้าพระยายมราชตะเฆ่ทับ ต้นสกุล ‘ยมนาค’

                พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เล่าแล้วในเรื่องชื่อสี่กั๊กพระยาศรี ต้นสกุล “ศรีเพ็ญ”

                พระยาราชสุภาวดี (โต) หรือ เจ๊สัวโต มีหน้าที่อยู่ในกรมท่าซ้าย เป็นเจ้าพนักงาน “เหยียบหัวตะเภา” คือตรวจดูสินค้าในเรือที่ทางการต้องการเอาไว้ก่อน หรือก็คือการจัดสรรสินค้าให้นำไปออกขายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกว่า “เจ๊สัว (เจ้าสัว) เหยียบหัวตะเภา” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ สมุหนายก ต้นสกุล “กัลยาณมิตร”

                คนที่ตั้งใจจะเล่าในตอนนี้ คือ พระยาราชนิกุล (เสือ) นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกอย่างสนิทสนมว่า “ไอ้เสือ” เช่นเดียวกับที่เรียกพระยาราชมนตรี (ภู่) ข้าหลวงเดิมคนโปรดว่า “ไอ้ภู่” พระยาราชนิกุล (เสือ) นี้เกิด พ.ศ.๒๓๓๐ ปีเดียวกันกับพระราชสมภพในรัชกาลที่ ๓ เห็นจะเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เหมือนกัน คงจะเข้าเฝ้าแหนมาแต่ยังเยาว์วัย ด้วยเป็นบุตรชายของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ต้นสกุล ‘สนธิรัตน์’

                เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) นั้น ปรากฏว่าเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และคงโปรดปรานมาก ด้วยในจดหมายเหตุปูนบำเหน็จ มีความว่า

                “...มีความชอบมาก สมควรจะให้ไปพานเมืองครองเมืองอันใหญ่ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะไกลใต้ละอองธุลีพระบาทนัก ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานให้เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ว่าที่สมุหนายก...”

                จึงเป็นสมุหนายกหรือจักรี ท่านแรกในกรุงเทพรัตนโกสินทร์ คู่กันกับ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหพระกลาโหม ที่เป็นแม่ทัพไปตีทวายในรัชกาลที่ ๑ แล้วหายสูญไปไม่ได้ข่าวคราว

                เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (สน) มีบุตรชายเกิดแต่ท่านผู้หญิง ๓ ท่าน และธิดา ๑ ท่าน

                บุตรชายทั้ง ๓ นั้น ท่านตั้งชื่อว่า เสือ หมี และ ลมั่ง (ต่อมาท่านใช้เพียง ‘มั่ง’)

                ๑. เสือ คือ พระยาราชนิกุล (เสือ) ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นเจ้าพระยาธรรมา (เสือ) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง

                ๒. พระยาเสนาพิพิธ (หมี) ในรัชกาลที่ ๓

                ๓. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (มั่ง) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังในรัชกาลที่ ๕

                ตระกูลเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (สน สนธิรัตน์) ได้เป็นเจ้าพระยาสืบกันมา ๓ ท่าน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×