ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #224 : เรื่องมอญยังไม่จบ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 452
      0
      16 เม.ย. 53

       พวกมอญอพยพเข้ามาอยู่ในสยามประเทศหลายครั้งหลายคราวด้วยกัน นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อสืบสาวขึ้นไปแล้ว ปรากฏว่าเจ้านายในพระบรมราชวงศ์จักรีนั้นทรงมีเชื้อสายมอญกันอยู่หลายพระองค์ เช่นเดียวกับที่มีเชื้อสายจีน และเชื้อสายแขก

                ด้วยแผ่นดินสยาม หรือสยามประเทศนั้น แต่ไหนแต่ไรมาเป็นที่พึ่งพาอาศัยอันร่มเย็นโดยเฉพาะแก่ผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทยตลอดมา

                แม้แต่ผู้ที่แพ้ศึกถูกกวาดต้อนเข้ามา พระเจ้าแผ่นดินสยามก็โปรดฯให้ตั้งบ้านเรือน เลี้ยงดูให้มีที่ทำมาหากินเป็นหลักแหล่งสุขสบายเช่นเดียวกับคนไทย จนกลายเป็นคนไทยไปในที่สุด

                ส่วนพวกหัวหน้าชนเหล่านี้ ก็โปรดฯให้เข้ารับราชการได้เป็นขุนนางจนมีตำแหน่งสูงๆ ดังสกุลจีนต่างๆ สกุลแขกเปอร์เซียน - เฉกอะหมัด สกุลสุลัยมาน และสกุลมอญหลายสาย ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์
    ต้นราชสกุล กฤดากร
    ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดา
    ซ่อนกลิ่น ผู้เป็นหลานปู่ของ
    เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ)

                เรื่องมอญอพยพเข้ามาอยู่ในแผ่นดินสยามนี้ เคยเล่ามาแล้วเป็นเรื่องๆ ขอสรุปเล่าโดยย่อๆก่อน

                มอญเมื่อแรกทีเดียวนั้น คงทราบกันอยู่บ้างแล้วว่า เคยมีถิ่นฐานอยู่บริเวณที่เป็นพม่าในปัจจุบัน แต่ต่อมาชนพวกที่อยู่ทางใต้ของอินเดีย พากันเข้ามาอยู่ในบริเวณเหล่านี้ พวกมอญจึงถอยร่นลงมา ในที่สุดก็ลงมาอยู่แถบใต้คือเมืองหงสาวดี เมืองเมาะตะมะ เมาะลำเลิง อันเป็นดินแดนติดกับทะเลและไทย

                บางครั้งมอญก็เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะเมืองเมาะตะมะ พวกฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาค้าขาย และตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะกันมาก มอญจึงมีการค้าขาย และมีเศรษฐกิจดีในสมัยนั้น

                แต่บางครั้งมอญก็ตกเป็นของพม่า และโดนรังแกจากขุนนางพม่าที่เข้ามาปกครอง จึงบางครั้งเมื่อไทยรบกับพม่า หากพม่าแพ้มอญก็พลอยตกเป็นประเทศราชของไทย หรือหากถูกพม่ารุกรานรังแกมากเข้าก็เป็นกบฏต่อพม่า พากันอพยพหนีเข้ามาพึ่งไทย เป็นอย่างนี้เสมอมา

                พวกมอญที่เข้ามาอยู่ในแผ่นดินสยามนั้น ว่ากันตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงเทพรัตนโกสินทร์ สรุปแล้ว ๖ ครั้งด้วยกัน

                คือ

                ครั้งที่ ๑ สมัยกรุงศรีอยุธยา พระยาเกียรติ พระยาราม เอาใจออกห่างพม่า อพยพครอบครัวมอญตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา (เวลานั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาอยู่ ส่วนสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จครองเมืองพิษณุโลก อันเป็นเมืองลูกหลวง)

                มอญที่อพยพมาครั้งนี้ โปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลบ้านขมิ้นวัดขุนแสน กรุงศรีอยุธยา ต่อมาเรียกกันว่า ‘พวกมอญเก่า’ รวมทั้งพวกที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถด้วย

                ส่วนพวกที่อพยพมาครั้งหลังๆ เรียกกันว่า ‘พวกมอญใหม่’ ทั้งสิ้น

                ครั้งที่ ๒ สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งเป็นระยะที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขที่สุด มอญเมืองเมาะลำเลิงและหัวเมืองที่ขึ้นกับตองอู พากันกระด้างกระเดื่องต่อตองอู เมื่อถูกปราบปรามก็ออกจากตองอู มาสามิภักดิ์ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้ก็มีพวกมอญเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาอีก รวมกันกับพวกที่อพยพมาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

                ครั้งที่ ๓ สมัยพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา เมืองเมาะตะมะ ซึ่งตกไปเป็นของพม่าอยู่ระยะหนึ่ง ก็กลับเข้ามาสวามิภักดิ์ไทยอีกครั้งหนึ่ง

                คือเรื่องเมืองมอญจะขึ้นกับพม่าหรือไทยนี้อยู่ที่ว่า ไทยกับพม่าเวลาใดใครเข้มแข็งกว่าใคร หรือ พระเจ้าแผ่นดินของไทยกับพม่า พระองค์ใดทรงเข้มแข็งปรีชาสามารถกว่ากัน ก็ทรงเอามอญไว้ได้

                ครั้งที่ ๔ สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยาระยะปลาย ระยะนี้แม้กรุงศรีอยุธยาจะใกล้กาลพินาศ ทว่าในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์นั้น ยังคงรุ่งเรืองและเข้มแข็งอยู่ จึงมีพวกมอญพากันอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เพราะเกรงว่าจะถูกพม่าทำร้าย

                พวกนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลโพธิ์สามต้น

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์
    ต้นราชสกุล กฤดากร เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง
    เสนาบดี มหาดไทย
    ในรัชกาลที่ ๕

                แต่ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) มอญพวกนี้ก็กลับเป็นกบฏขึ้น ตรงนี้ตามที่จดไว้ในพงศาวดาร จะเห็นได้ถึงความอ่อนแอของกองทัพ เมื่อมอญพวกนี้เป็นกบฏเข้าปล้นสะดมชาวบ้าน พระเจ้าเอกทัศน์โปรดให้ยกกองทัพพล ๒,๐๐๐ คนไปปราบ มอญมีแต่ไม้สะแกเสี้ยมเป็นอาวุธไล่ขว้างไล่แทงเอากองทัพแตกพ่ายเข้ามา

                (หมายเหตุ เรื่องพวกมอญใหม่กบฏ ในบทกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนของสุนทรภู่ เห็นทีจะจับเอาความตอนนี้ไปสมมุติให้พลายชุมพลปลอบตัวเป็น “สมิงมอญใหม่” ไล่ตีทัพพระไวยแตกกระเจิงกลับเข้ากรุง)

                ในพระราชพงศาวดารว่าพระเจ้าเอกทัศน์ต้องโปรดให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพถือพล ๒,๐๐๐ กับพระยาเพชรบุรี ถือพล ๑,๐๐๐ ออกไปปราบ

                ครั้งที่ ๕ สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี พวกมอญเมาะตะมะทั้งเมืองกบฏต่อพม่าเจ้าเมือง พากันอพยพหนีพม่าเข้ามาทางเมืองตากบ้าง ทางด้านพระเจดีย์สามองค์บ้าง พม่าก็ยกทัพติดตามพม่าเข้ามาทุกทาง ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพิ่งสร้างกรุงธนบุรี กำลังเสด็จยกทัพหลวงไปเชียงใหม่ ลำปาง ทรงทราบว่า พม่าไล่ตามตีมอญมา จึงรีบเสด็จฯยกทัพหลวงไปเมืองตาก ในที่สุดพม่าแตกพ่ายหนีไป พวกครอบครัวมอญจึงพากันตามเสด็จลงมา

                ยังมีพวกมอญเก่าที่หนีพม่าเข้ามาสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถอีกพวกหนึ่ง เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พม่าจับตัวกลับไป แต่แล้วก็หนีพม่าอพยพเข้ามาทุกด่านทุกทาง สมเด็จพระเจ้าตากสินก็โปรดฯให้ไปรับตัวมา ถึงพระนครธนบุรีพร้อมกันหมด นับเป็นครัวมอญทั้งนั้นหลายพัน เฉพาะพวกฉกรรจ์ก็ได้ถึง ๓,๐๐๐ โปรดฯให้หลวงบำเรอภักดิ์ มอญเก่าครั้งกรุงเก่านั้น เป็นพระยารามัญวงศ์ดูแลทั้งหมด โปรดฯให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงเมืองนนท์บ้าง เมืองสามโคกบ้าง มอญเก่าที่ว่านี้ มีหัวหน้าชื่อ พระยาเจ่ง (พระยาสามัญวงศ์ นั้น คงเข้ามาอยู่รับราชการในกรุงศรีอยุธยา ก่อนพระยาเจ่ง พระยารามัญวงศ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยารามจตุรงค์ที่เรียกกันว่า จักรีมอญ ดังที่เล่ามาแล้ว)

                ครั้งที่ ๖ รัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรุงเทพรัตนโกสินทร์ พวกมอญเมาะตะมะอพยพเข้ามาอีก ครั้งนี้เข้ามาถึง ๔๐,๐๐๐ เศษ โปรดฯให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ เมืองนนทบุรีบ้าง เมืองสามโคกที่พระราชทานชื่อใหม่ว่า ปทุมธานีบ้าง ไปที่เมืองเขื่อนขันธ์บ้าง

                พวกนี้หัวหน้า คือ พระยารัตนจักร (หงส์ทอง)

                ทีนี้ ว่าถึงหัวหน้าพวกมอญที่เข้ามาเป็นคนสำคัญในเมืองไทย นั้น

                ๑. ก็คือ เจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือจักรีมอญ ที่เล่ามาหลายครั้งแล้ว เป็นมอญเก่า มีน้องสาวชื่อทองมอญ (ได้เป็นท้าวทรงกันดาลกรุงธนบุรี) เกี่ยวข้องกับเชื้อสายสกุลสุลัยมานทางพระยาพัทลุง (ขุน) สำหรับเจ้าพระยารามจตุรงค์และท้าวทรงกันดาล ตลอดจนพวกพ้อง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯให้อยู่ในคลองใกล้ๆกับพระราชวัง ต่อมาเรียกกันว่า คลองมอญ

                ๒. เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีเช่นกัน  ต้นสกุลคชเสนี มีบุตรชาย คือ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ)

                ๓. พระยารัตนจักร เข้ามาในรัชกาลที่ ๒ ต้นสกุลทางฝ่ายพระชนกของพระชนนีน้อย (พระชนนีแห่งสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี - สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๕

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×