ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กษัตริย์และราชินีทั่วโลก (The King and The Queen)

    ลำดับตอนที่ #73 : เรื่องรักๆลับๆของเจ้านายอังกฤษ ตอน โศกนาฏกรรมและการผกผันในชีวิต

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.53K
      4
      11 พ.ค. 52

    ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แห่งเครือจักรภพอังกฤษอาจแยกออกได้เป็นสองฝ่าย
    คือฝ่ายที่เห็นว่าบรรดาสมาชิกในราชสกุลนั้นมีเพรียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง และอีกฝ่าย
    ที่เห็นว่ากษัตริย์และราชินีส่วนใหญ่มักจะเพี้ยนนิดๆ  เพื่อเป็นการหักล้างความเชื่อ
    ของฝ่ายแรก เราจะนำเสนอเรื่องของ เลดี้เจน เกรย์ ผู้ซึ่งมีดวงชะตาตกต่ำที่สุด
    อย่างเห็นได้ชัด สำหรับฝ่ายหลัง ขอเสนอเรื่องของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ผู้ทรงมีชีวิต
    ที่ผกผัน จนกระทั่งเรื่องราวในชีวิตของพระองค์ ได้กลายเป็นเค้าเรื่องของภาพยนตร์
    โด่งดังเรื่องหนึ่ง ของเดวิด ลินช์
     
    เลดี้เจน เกรย์นั้น นอกจากจะโชคร้ายที่เกิดเป็นหญิง ซึ่งเปรียบเสมือนสินค้าที่มี
    มูลค่าต่ำในธุรกิจของการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจในราชสำนักแล้ว   พระนางยังมี
    ช่วงจังหวะชีวิตที่ค่อนข้างจะเลวร้ายอีกด้วย โดยพระนางถือกำเนิดในช่วงเวลา
    เดียวกันกับที่แผ่นดินอังกฤษกำลังตื่นเต้นยินดีต่อประสูติการของเจ้าชายเอ็ดวาร์ด
    ซึ่งเป็นพระโอรสที่พระเจ้าเฮ็นรีที่ 8 ทรงต้องใช้เวลาอันยาวนาน กว่าจะได้ผู้
    อุ้มท้องโอรสสืบทอดบัลลังก์ โดยต้องทรงต่อสู้ขัดแย้งกับพระสันตะปาปา
    ต้องทรงหย่าและทรงสั่งประหารมเหสีองค์แล้วองค์เล่า แม้แต่นามของเลดี้เจน เกรย์
    ก็ยังถูกเรียกตามพระนามของพระนางเจน ซีมัวร์ พระมารดาของเจ้าชายเอ็ดวาร์ด
    ที่เคราะห์ร้ายเสียชีวิตจากการคลอดบุตร บิดาของเลดี้เจน เกรย์ มิได้ใส่ใจต่อกำเนิด
    ของเลดี้เจน เกรย์ ซึ่งเป็นธิดาคนโตเลย เนื่องจากต้องรีบรุดไปเข้าเฝ้าถวาย
    ความจงรักภักดีต่อว่าที่กษัตริย์
     
    จริงอยู่ แม้ว่าลูกๆขุนนางสมัยนั้นไม่ค่อยจะได้สัมผัสกับความรักของพ่อแม่
    กันสักเท่าใดนัก แต่เลดี้ เจน เกรย์ยิ่งแย่กว่านั้น เพราะมีมารดาที่โหดร้ายอย่าง
    ไม่มีใครเหมือน นามว่า ฟรานเซส เกรย์ ผู้ซึ่งเป็นภาคิไนยของพระเจ้าเฮ็นรีที่ 8
    ทั้งๆที่เลดี้เจน เกรย์ เป็นเด็กหญิงที่เงียบขรึมและขยันเรียน แต่กระนั้น เธอยัง
    อดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงความโหดเหี้ยมของมารดา   ครั้งหนึ่ง เธอได้พรั่งพรูคำพูด
    ระบายให้ครูของเธอฟังเกี่ยวกับชีวิตในบ้านที่ไร้ความสุขว่า
     
    "หนูจะเล่าให้คุณครูฟัง และจะเล่าเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง ซึ่งบางทีคุณครูอาจจะ
    ประหลาดใจอย่างคาดไม่ถึง….ไม่ว่าหนูจะพูดจะนิ่งเงียบ จะนั่ง จะยืนหรือ
    จะไปไหนๆ จะกิน จะดื่ม จะสุข จะทุกข์ หรือขณะที่กำลังเย็บปักถักร้อย
    เล่น เต้นรำ หรือกำลังทำอะไรๆอยู่ก็ตาม หนูก็จะต้องทำให้ได้อย่างดีเยี่ยม
    มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พระเจ้าทรงสร้างโลกได้ยอดเยี่ยมเพียงใด หนูก็จะ
    ต้องทำให้ได้ดีเยี่ยมเพียงนั้น มิฉะนั้นแล้วหนูจะถูกทารุณอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต
    จริงๆนะคุณครู บางครั้งหนูโดนหยิก บิด กดหัว และอื่นๆอีกมาก (ที่หนูเล่าไม่ได้
    เพื่อเห็นแก่ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล) จนหนูคิดว่า ตัวหนูเอง เหมือนอยู่ในนรกเลย…"
     
    เลดี้เจน เกรย์ถูกเฆี่ยนตีตลอดช่วงชีวิตในวัยเด็ก แม้ว่าขณะที่มีอายุได้ 9 ขวบ
    เมื่อปีค.ศ. 1546 ที่เธอค่อยได้ว่างเว้น จากการถูก "หยิกและกดหัว" ของมารดาไปบ้าง
    เนื่องจากได้ไปอยู่ในราชสำนักภายใต้การอุปถัมภ์ของพระนางแคเธอรีน พาร์
    มเหสีองค์ที่ 6 ของพระเจ้าเฮ็นรีที่ 8 ก็ตาม แต่สองปีต่อมาเมื่อพระนางแคเธอรีน พาร์
    สิ้นชีวิตลง ทุกสิ่งก็กลับมีสภาพเลวร้ายยิ่งขึ้น   สาวน้อยเจน ต้องประสบชีวิต
    ที่ยุ่งเหยิงเป็นใยแมงมุม โดยผู้ที่ชักใย คือ มารดาของเธอเองกับจอห์น ดัดลี่ย์
    ดยุคแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์เอ็ดวาร์ดที่ 6
    และเป็นผู้ที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงไม่มีที่สิ้นสุด
     
    อาการประชวรด้วยวัณโรคขั้นสุดท้ายของยุวกษัตริย์เอ็ดวาร์ด ยิ่งกระตุ้นให
    บุคคลทั้งสอง ต้องเร่งลงมือกระทำการบางอย่าง มิฉะนั้น หากสิ้นยุวกษัตริย์
    เอ็ดวาร์ดแล้ว เจ้าหญิงแมรี่ พระพี่นางจะได้ขึ้นครองบัลลังก์ตามพินัยกรรม
    ของพระเจ้าเฮ็นรีที่ 8 ซึ่งจะเป็นปัญหาหนักต่อจอห์น ดัดลี่ย์ เนื่องจาก
    ฐานอำนาจในการกุมบังเหียนประเทศอังกฤษของเขาต้องอาศัยความมั่นคง
    เป็นปึกแผ่นของฝ่ายโปรแตสแตนท์ รวมทั้งกดฝ่ายคาธอลิกไว้ไม่ให้แข็งแกร่ง
    ขึ้นมาได้ แต่เจ้าหญิงแมรี่ทรงเป็นผู้ที่เลื่อมใสคาธอลิกยิ่งนัก
     
    ดังนั้น ทั้งดัดลี่ย์และฟรานเซส เกรย์ จึงได้กระทำการเยี่ยงขุนนางทั่วไปพึงกระทำ
    คือจัดการให้ลูกๆ ได้แต่งงานกัน แต่เลดี้ เจน เกรย์คัดค้าน เนื่องจากเธอไม่ชอบ
    กิลฟอร์ด บุตรชายของดัดลีย์ อีกทั้งไม่ต้องการเลิกเรียนหนังสือที่บ้านอีกด้วย
    แต่บิดามารดาของเธอบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง เธอจะยังคงได้อยู่ในบ้านดังเดิม
    ได้เรียนหนังสือ จะไม่มีอะไร เปลี่ยนแปลงเลย เว้นแต่เธอจะต้องแต่งงานเท่านั้น
    ในที่สุด เลดี้ เจน เกรย์จึงต้องเข้าพิธีแต่งงาน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1993
    ขณะที่มีอายุได้ 15 ปี
     
    ดัดลีย์ ยังมีแผนการณ์อีกอย่างหนึ่ง คือการเกลี้ยกล่อมกษัตริย์ผู้อ่อนแอให้ขีดฆ่าชื่อ
    ของพระพี่นางทั้งสอง คือเจ้าหญิงแมรีและเจ้าหญิงอลิซาเบธออกจากพินัยกรรม
    และประกาศแต่งตั้งเลดี้เจน เกรย์ พระญาติฝ่ายโปรแตสแตนท์ ให้เป็นผู้มีสิทธิ์
    สืบทอดบรรลังก์ ซึ่งเท่ากับว่าบุตรชายของ ดัดลีย์ จะได้แต่งงานกับพระราชินี
    ส่วนฟรานเซส เกรย์ จะได้เป็นพระมารดาของพระราชินี ดูเหมือนทุกอย่างสำหรับ
    ผู้คิดก่อการอย่างดัดลีย์ และฟรานเซส เกรย์ กำลังดำเนินไปด้วยดี แต่สำหรับ
    เลดี้เจน เกรยเธอเป็นลมหมดสติเมื่อได้ยินว่าตนกำลังจะขึ้นครองบัลลังก์
    เธอถูกมารดาผู้ดีใจจนเนื้อเต้น ตบกระชากเธอให้ตื่นขึ้นในวันรุ่งขี้นเพื่อมายัง
    ป้อมปราสาทแห่งกรุงลอนดอน โดยสวมรองเท้าที่ถูกรัดติดทับด้วยรองเท้าไม้
    หนาสามฟุต เพื่อให้ฝูงชนสามารถยลโฉมพระราชินีองค์ใหม่ได้ถนัด
     
    อนิจจา รัชกาลของเธอสิ้นสุดลงชั่วระยะเวลาเพียงเก้าวันเท่านั้น   เมื่อพระนาง
    แมรี ทิวดอร์ "ผู้กระหายเลือด" เรียกร้องทวงสิทธิ์ในบัลลังก์   เลดี้เจน เกรย์
    ยินยอมคืนให้ด้วยความยินดี และขอร้องบิดาว่า เธออยากกลับบ้านทันที  
    ทว่า เรื่องของราชสำนักเป็นเรื่องที่ซับซ้อนยิ่งนัก ดังนั้น แทนที่จะได้กลับบ้าน
    เธอกลับถูกเนรเทศไปอยู่ในคุกที่ป้อมปราสาทแห่งกรุงลอนดอน ส่วนมารดาของเธอ
    สนใจแต่จะเอาตัวรอดเท่านั้น ครั้นสบโอกาส ก็อ้อนวอนพระราชินีผู้ทรงเป็น
    ลูกพี่ลูกน้อง ให้อภัยโทษแก่ดยุคแห่งซัฟโฟล์คผู้เป็นสามีและผู้มีส่วนร่วมในการ
    วางแผนช่วงชิงบัลลังก์ แต่มิได้ใส่ใจที่จะอ้อนวอนเพื่อช่วยเลดี้ เจนเกรย์
    ธิดาของนางเลย ระหว่างทางที่เลดี้เจน เกรย์เดินไปสู่แท่นประหารนั้น สาวน้อย
    ผู้มีชะตาขาด ถูกบังคับให้มองดูร่างของเหยื่อที่ได้ประสบชะตากรรมร้ายก่อนหน้า
    เธอ ซึ่งก็คือลอร์ดกิลฟอร์ด ดัลลีย์ สามีวัยสิบเก้าของเธอนั่นเอง ร่างของเขา
    ทอดยาวอยู่บนแคร่ แต่ศีรษะของเขาถูกวางอยู่ระหว่างต้นขา ขณะที่เลดี้เจน เกรย์
    กำลังจะถูกตัดศีรษะ ไม่มีวี่แววแม้แต่เสียงของมารดาเธอเลย บ้างก็กล่าวกันว่า
    นางคงจะกำลังหยอกล้อต่อกระซิกอยู่กับข้ารับใช้ที่มีอายุอ่อนกว่านาง 15 ปี
     
    ชะตาชีวิตที่รุ่งเรืองของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ช่างผกผันกับโศกนาฏกรรมชีวิต
    ที่ตกต่ำของเลดี้เจน เกรย์   กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งยุคกลางองค์นี้ทรงมีชีวิต
    เวียนว่ายอยู่ท่ามกลางกระแสการเมืองที่มากเล่ห์เพทุบาย   ในขณะที่เลดี้
    เจน เกรย์ผู้น่าสงสารและอ่อนต่อโลก กลับถูกกระแสการเมืองพัดพาจมดิ่งลงไป
    และถึงแม้ว่าฉายานาม "ค่อมอัปลักษณ์" อันเลื่องลือของวิลเลียม เชคสเปียร์
    จะกล่าวเกินเลยความจริงไปสักหน่อย แต่เจตนาของละคร ก็เพียงเพื่อสื่อ
    ให้เห็นความชั่วร้ายเป็นรูปธรรมผ่านรูปลักษณ์อัปลักษณ์นั้น   อย่างไรก็ตาม
    ภาพลักษณ์ของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ตามประวัติศาสตร์นั้น ไม่ได้ดีไปกว่าที่
    เชคสเปียร์บรรยายไว้เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นฉายานามว่า
    "อสรพิษแมงมุมค่อม" หรือ "หมูโสโครกรูปชั่ว สกุลต่ำ" ***
     
    พระเจ้าริชาร์ดทรงมีความเจ้าเล่ห์ และอำมหิตผสมผสานกัน   เมื่อทรงพระเยาว์
    ทรงผอมบางเหมือนเด็กขี้โรค ทรงไต่เต้าขึ้นสู่บัลลังก์อังกฤษบนกองร่างมนุษย์
    และท่ามกลางคำเล่าลือต่างๆนาๆ   นอกจากนี้ ยังอาจเป็นผู้ที่บงการปฏิบัติการ
    สังหารสองครั้งที่ลือลั่นที่สุดในประวัติศาสตร์ชนชาติอังกฤษอีกด้วย   นับตั้งแต่
    ในช่วงของ "สงครามดอกกุหลาบ" ซึ่งเป็นการต่อสู้นองเลือดช่วงชิงกันระหว่าง
    ราชวงศ์ยอร์ค และราชวงศ์แล็งคาสเตอร์ที่ดำเนินไปในช่วงศตวรรษที่ 15
    หลักฐานส่วนใหญ่ระบุว่า พระเจ้าริชาร์ดทรงเชี่ยวชาญการรบ และทรงเป็น
    ที่ปรึกษาซึ่งเก่งกาจและภักดีของพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 4 เชษฐาร่วมราชวงศ์ยอร์ค
    พระองค์ทรงชนะศึกสำคัญๆหลายครั้ง อีกทั้งอาจจะมีส่วนร่วมในการโค่นล้ม
    ปลงพระชนม์พระเจ้าเฮ็นรีที่ 6 แห่งราชวงศ์แล็งคาสเตอร์ด้วย  
     
    แต่หลังจากที่เชษฐาเอ็ดวาร์ดที่ 4 สิ้นพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1483 พระเจ้าริชาร์ดที่ 3
    ยิ่งโหดเหี้ยมหนักขึ้น พระองค์ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์
    เอ็ดวาร์ดที่ 5 ผู้เป็นนัดดา แต่กลับประสงค์จะครองบัลลังก์เสียเอง   ยุคแห่ง
    ความหวาดกลัวจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการสั่งประหารพระญาติทุกคนที่ขวางเส้นทาง
    การดำเนินแผนของพระองค์โดยไม่มีการไต่สวน
     
    ต่อจากนั้น ทรงจับยุวกษัตริย์ และอนุชาขังไว้ในป้อมปราสาทแห่งกรุงลอนดอน
    และทรงรณรงค์หาเสียง สนับสนุนการประกาศว่า ยุวกษัตริย์และอนุชา
    เป็นลูกนอกสมรส อีกทั้งประกาศว่า เชษฐาผู้ล่วงลับก็เป็นลูกนอกสมรส
    ซึ่งเกิดจากมารดาที่เล่นชู้   ด้วยข้อกล่าวเหล่านี้อ้างนี้ จึงเท่ากับว่าเหลือพระองค
    เพียงลำพัง ที่เป็นผู้มีสิทธิ์สืบทอดบัลลังก์โดยชอบธรรม   พระองค์จึงทรง
    ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ สองเดือนหลังจากพระเชษฐาสิ้นพระชนม์
     
    ส่วนนัดดาทั้งสองที่อยู่ในป้อมปราสาท ข่าวคราวก็ค่อยๆเงียบหายไป
    จนในที่สุด ไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย   แพทย์ประจำพระองค์ของยุวกษัตริย์
    ที่ทรงถูกถอดถอนพระยศศักดิ์เล่าว่า ยุวกษัตริย์ทรงได้แต่สวดมนต์นับตั้งแต่
    ที่ทรง "เชื่อว่ากำลังเผชิญ ความตาย" ช่างเป็นความเชื่อที่ถูกต้องเสียจริงๆ
     
    เซอร์ธอมัส มอร์ ผู้ที่ยอมรับว่ารู้สึกต่อต้านพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้เขียนบันทึกเรื่องหนึ่ง
    ซึ่งในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นเค้าเรื่องบทละครของเชคสเปียร์ ได้บรรยายการสังหาร
    ไว้อย่างละเอียดแจ่มแจ้งว่า "ประมาณเที่ยงคืน[พวกเพชฌฆาต]เข้ามาในห้อง
    (เด็กๆที่ไร้เดียงสา กำลังนอนหลับอยู่บนเตียง) ใช้ผ้าคลุมพวกเด็กๆกดไว้กับ
    เตียงขนนก และอุดปากด้วยหมอนจนหายใจไม่ออก พวกเด็กๆดิ้นขลุกขลัก
    อยู่เพียงครู่เดียว วิญญาณอันบริสุทธิ์ทั้งหลายก็หลุดลอยสู่สวรรค์ ทิ้งร่างไร้ชีวิต
    บนเตียงไว้ให้พวกอำมหิตเหล่านั้น"
     
    การสังหารเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กๆที่เป็นเจ้าชายรัชทายาทนั้น แม้แต่ในสายตาของ
    คนที่มีจิตใจหยาบกระด้างเนื่องจากเคยผ่านสงคราม ความอดอยาก และโรคภัย
    ไข้เจ็บในยุคกลาง ยังเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าชิงชังขยะแขยงเกินกว่าจะอภัยให้ได้
    ดังนั้น ความพยายามของพระองค์ที่จะทรงเป็นผู้นำที่ดีและนำสันติสุขสู่ประชาชน
    จึงล้มเหลว วินสตัน เชอร์ชิลล์ เขียนไว้ในหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ของชนชาว
    อังกฤษว่า "อาชญากรรมที่พระเจ้าริชาร์ดที่3ทรงก่อขึ้น คอยกระตุ้นความชิงชัง
    ของคนทั่วแผ่นดินให้คุกรุ่นไม่อาจดับได้ ไม่ว่าจะทรงทำคุณประโยชน์มหาศาล
    สักเพียงใด หรือแม้ว่าจะทรงใช้กุศโลบายการปกครองและการบริหารดีสักเพียงใด
    ก็ไม่อาจลบล้างความผิดของพระองค์ได้"
     
    สองปีหลังจากที่ทรงปล้นบัลลังก์ได้มา พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ก็ถูกปลงพระชนม์
    ในสนามรบโดยกองทหารของพระเจ้าเฮ็นรีที่7   กษัตริย์องค์ใหม่ผู้มีชัยได้ลาก
    พระศพของพระองค์ที่พาดบนหลังม้าโดยปราศจากผ้าคลุม   พระเจ้าริชาร์ดที่ 3
    ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษองค์สุดท้าย ที่สิ้นพระชนม์ในสนามรบและทรงเป็น
    กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ทรงใช้พระนามว่าริชาร์ดด้วย


    เลดี้เจน  เกรย์



    ฟรานเซส  เกรย์  มารดาผู้โหดร้าย


    พระเจ้าริชาร์ดที่  3



    กษัตริย์น้อย  เอ็ดเวิร์ดที่  5

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×