ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #33 : พระสนมเอกในรัชกาลที่ 3

    • อัปเดตล่าสุด 6 มิ.ย. 52


     

    พระสนมเอกที่มีความสำคัญในรัชกาลที่ ๓ อีกท่านหนึ่งคือ เจ้าจอมมารดาอึ่ง

    เจ้าจอมมารดาอึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุล กัลยาณมิตร

    เจ้าพระยานิกรบดินทร์ เป็นข้าหลวงเดิมใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังดำรงพระยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ ๒ บิดาของท่านชื่อเดิมชื่อ นายมัน แซ่อึ๋ง ซึ่งในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็น หลวงพิชัยวารี

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี) พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอึ่ง (ท้าวสมศักดิ์) ในภาพทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน พร้อมเครื่องยศกล่องหมากลงยาราชาวดีและกระโถนทองคำ

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงรับพระราชกิจบังคับบัญชาราชการในกรมท่า (เทียบกับสมัยปัจจุบัน คือ กระทรวงต่างประเทศและพาณิชย์รวมกัน ทว่าการค้าขายในสมัยนั้นส่วนมากเป็นการค้าขายกับจีน แต่งสำเภาบรรทุกสินค้าเข้า-ออกอยู่ในระหว่างกัน)

    เพราะเหตุนี้พระองค์จึงทรงรู้จักสัมพันธ์กับบรรดาพ่อค้าชาวจีนอย่างกว้างขวาง หลวงพิชัยวารี (มัน) ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทรงสนิทสนมด้วย บุตรชายคนใหญ่ของหลวงพิชัยวารีจึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์ และได้เป็นพระพิชัยวารี (โต) ในรัชกาลที่ ๒ นั้น

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกพระพิชัยวารี (โต) มาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นพระพิชัยวารีว่า เจ้าสัวโตบางครั้งก็รับสั่งเรียกว่า เจ้าสัวเหยียบหัวตะเภาเพราะพระพิชัยวารี (โต) ได้เป็นผู้มีสิทธิเหยียบหัวตะเภาเรือสินค้าคือเมื่อเรือสินค้าเข้าเทียบท่า ได้เป็นผู้เลือกซื้อสินค้าก่อนผู้อื่นเข้าใจว่า คงเกิดจากการประมูลเพื่อให้ได้สิทธิเป็นผู้เหยียบหัวตะเภา มากกว่าจะเป็นอภิสิทธิ์

    (หากท่านผู้ใดทราบเรื่องเหยียบหัวตะเภาละเอียดจะกรุณาเขียนส่งมาให้ความรู้แก่ผู้อื่นบ้างก็จะเป็นพระคุณ)

    ตั้งแต่ครั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังทรงดำรงพระยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประทับ ณ วังท่าพระนั้น พระพิชัยวารี (โต) แต่ครั้งยังเป็นเจ้าสัวโต ได้เป็นผู้ทำเกาเหลาเลี้ยงเจ้านายขุนนางซึ่งเมื่อกลับออกมาจากเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ แล้วส่วนมากจะแวะที่วัง พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนจะกลับสู่เคหสถานทั้งนี้เนื่องด้วยในสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกว่าราชการตอนค่ำ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้นเวลาประมาณ ๒๑,๐๐ น. จะเร็วหรือช้ากว่านี้บ้างก็ไม่มากนัก วังและเคหสถานบ้านเรือนเจ้านายขุนนางในสมัยก่อนส่วนมากมักอยู่ในริมแม่น้ำ หรือยังต้องข้ามฟากไป อาศัยเรือเป็นพาหนะการเดินทางมิได้รวดเร็วสะดวกสบาย เมื่อเลิกเข้าเฝ้าฯออกมาก็มักจะกำลังหิวโหย จึงได้อาศัยพักและรับประทานอาหาร เครื่องว่างที่วังท่าพระของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่นี้

    อนึ่ง เนื่องด้วยทรงคุ้นเคยกับพ่อค้าเจ้าสัวชาวจีนมากมาย ในวันตรุษจีนจึงมีพ่อค้าขุนนางชาวจีนเข้าเฝ้าถวายหมูเห็ดเป็ดไก่ ฯลฯ ตามประเพณีมากมาย รวมทั้งเจ้าสัวโตของพระองค์ เล่ากันว่าโรงทานหน้าวังสำหรับเลี้ยงยาจกวนิพพกก็เกิดขึ้นจากของถวายเหล่านี้จึงทรงพระมหากรุณาเลี้ยงดูไม่เฉพาะแต่วันตรุษ หากแต่ทุกวันมิได้ขาดตลอดเวลาที่ทรงดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วก็โปรดฯให้ตั้งโรงทานหลวงเลี้ยงดูยาจกวนิพพกต่อไปอีกตลอดรัชกาล

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ นั้น มีผู้ทราบพระราชานุกิจประจำวันของพระองค์กันน้อยมาก เนื่องด้วยเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นเดือนพระราชสมภพ จึงเห็นว่าน่าจะเล่าถึงพระราชานุกิจเป็นการเฉลิมพระเกียรติ

    พระราชานุกิจของพระองค์ เป็นดังนี้

    ตอนเช้าเสด็จลงทรงบาตร ถวายภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง เจ้านายเข้าเฝ้าฯ และช่วยปฏิบัติพระสงฆ์ขณะฉัน พระสงฆ์กลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลรายงานการเงินของแผ่นดิน การจ่ายเงิน

    แล้วเสด็จขึ้นพระแท่น ออกขุนนาง

    ข้าราชการกรมพระตำรวจเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานชำระฎีกา เบิกขุนนางเข้าเฝ้าฯ ประภาษด้วยอรรถคดีต่างๆ

    ๑๒.๐๐ น. เสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหาร

    เพลาบ่ายจากนั้น เป็นเวลาสำหรับประภาษราชกิจฝ่ายใน แต่มักจะทรงการช่าง และสำราญพระราชอิริยาบถ เสด็จออกประทับที่เฉลียงท้องพระโรง ทรงรับรายงานการก่อสร้างต่างๆ บ้าง โปรดฯให้เบิกกวีเข้าเฝ้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครบ้าง

    หลังเสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว เวลา ๑๙.๐๐ น. เสด็จออกทรงธรรม สดับพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ และทรงฟังรายงานต่างๆ เช่น พระอาการป่วยของเจ้านาย อาการป่วยของขุนนางผู้ใหญ่และพระราชาคณะ ฯลฯ

    แล้วจึงเสด็จออกขุนนางอีกครั้งหนึ่ง เสด็จออกในท้องพระโรงบ้าง บางวันก็เสด็จออกพระที่นั่งสนามจันทร์ ซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่

    เสด็จขึ้นประมาณ ๒๑.๐๐ น. แล้วทรงสำราญพระราชอิริยาบถฝ่ายใน เช่น ทอดพระเนตรละคร หรือเสด็จลงสวนขวา แล้วแต่พระราชอัธยาศัย

    พระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๒ เป็นดังนี้เสมอทุกวัน

    แต่ตอนปลายรัชกาล เมื่อทรงพระชรา พระราชภารกิจต่างๆ ในการบริหารบ้านเมืองเพลาลงเป็นอันมาก เพราะ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงรับพระราชภารกิจน้อยใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระราชบิดา

    เมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีข้าหลวงเดิมถวายความจงรักภักดีอย่างมั่นคงในพระองค์หลายท่าน รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เคยเป็นหนุ่มมาด้วยกันรับราชการสนิทสนมกันมา ท่านเหล่านี้ได้เป็นกำลังสำคัญในรัชกาลที่ ๓ เช่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สมเด็จเจ้าพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ซึ่งในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก) เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (นามเดิมบุญศรี ต้นสกุล บุรณศิริในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระยาพิพัฒนโกษา) ฯลฯ

    รัชกาลของพระองค์จึงเป็นรัชกาลที่มีทั้งขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนนางที่ปรีชาสามารถมากหลาย

    เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) หรือเจ้าสัวโต มีชื่อปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ หลายตอน

    ครั้งหนึ่งมีผู้ฟ้องร้องว่า นายสนิท หุ้มแพร (แสง) บุตรชายของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ลักลอบขายฝิ่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงสั่งให้จับบุตรชายมามัดมือมัดเท้าโยงหลักปักคาเพื่อจะลงอาญาเฆี่ยน ๑๐๐ ครั้ง ตามโทษานุโทษ

    เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) นั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ท่านเด็ดขาด ดุร้ายยิ่งนัก แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ว่ายังทรงคร้ามน้ำใจเจ้าพระยาบดินทรเดชาขุนพลแก้วของพระองค์ท่าน

    เมื่อได้ข่าวว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จะเฆี่ยนบุตรชายของท่าน ๑๐๐ ที บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งสนิทชิดชอบกันกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา รวมทั้ง นายสนิท หุ้มแพร เห็นว่าเป็นโทษหนักนัก เกรงว่านายสนิท หุ้มแพร จะสิ้นชีวิตคาหวาย จึงพากันไปจะขอโทษแทน

    ประกอบด้วย พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (ทัด บุนนาค ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สมเด็จองค์น้อย) พระยาราชนิกุล (เสือ ต่อมาคือเจ้าพระยาธรราธิกรณ์) พระยาอภัยโนริด (บุนนาค ต่อมาคือเจ้าพระยายมราช ตะเฆ่าทับ) พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มักตรัสเรียกว่าเจ้าศรีทองเพ็ง)

    รวมทั้ง เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาราชสุภาวดี (โต) ก็ได้ไปด้วย

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระบรมราชโองการดำรัสถามทุกท่านที่ไปพยายามขอโทษให้ นายสนิท หุ้มแพร ทุกท่านก็กราบบังคมทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อาจขอโทษให้นายสนิทหุ้มแพรได้

    ทรงมีพระราชดำรัสถาม พระยาราชสุภาวดี (โต) ว่า

     เจ้าสัวเหยียบหัวตะเภาก็ไปกับเขาด้วยหรือ

    เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ได้กราบบังคมทูลสนองพระราชดำรัสว่า

     หลวงนายสิทธิ์ ไปพูดจาว่ากล่าวอ้อนวอนข้าพระพุทธเจ้า ให้มาขอโทษนายสนิทน้องชายด้วย ข้าพระพุทธเจ้าขัดไม่ได้ก็ต้องไป ขอลองดูตามบุญตามกรรม แต่คิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่าคงขอไม่ได้ แต่พอมาถึงจวนเจ้าคุณผู้ใหญ่ๆ ก็พูดว่าดังนี้

     เราเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ ต่างพระเนตรพระกรรณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เราเห็นว่าผู้ใดเป็นเสี้ยนหนามหลักตอต่อทางราชการแผ่นดินแผ่นทราย ประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว เรามีอำนาจอันชอบธรรมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้ เช่นครั้งนี้อ้ายแสงประพฤติผิดกฎหมายลักลอบขายฝิ่นที่เป็นของต้องห้ามตามพระราชประสงค์นั้น เราจึงจะลงโทษเฆี่ยนหลังอ้ายแสง ๑๐๐ ที ตามมีในพระราชบัญญัติในรัชกาลปัจจุบันนี้ ถ้าผู้ใดไม่เป็นคนทนสาบานต่อน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้ว คงจะไม่มาเกี่ยวข้องขัดขวางทางที่จะลงโทษอ้ายแสงนี้ ถ้าผู้ใดเป็นใจร่วมคิดด้วยอ้ายแสงผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้นั้นคงจะมากีดขวางขัดข้องด้วยการจะลงโทษอ้ายแสงนี้บ้าง

    เจ้าคุณผู้ใหญ่พูดเท่านี้แล้วจึงมีบัญชาสั่งให้ราชมัลทะลวงฟัน ลงมือเฆี่ยน นายสนิท หุ้มแพร ๑๐๐ ที ข้าพระพุทธเจ้าก็นั่งดูอยู่ที่นั้นจนครบ ๑๐๐ ที หาได้พูดจาว่ากล่าวขอร้องประการใดไม่ด้วยเป็นการจนใจด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

    ( หลวงนายสิทธิ์คือ เจ้าพระยามุขมนตรี (เกด สิงหเสนี) เป็นพี่ชายของ นายสนิท หุ้มแพร ขณะนั้นรับราชการตำแหน่งนายเวรเป็นหลวงสิทธินายเวร เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงนาย)

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า

     เจ้าสัวพูดไม่ออก พี่บดินทร์แกฉลาดล้นเหลือ แกพูดเผื่อแผ่กีดกันกั้นกางเสียก่อนหมดแล้ว

    ทรงมีพระราชดำรัสเท่านี้แล้วก็ทรงพระสรวล แล้วมีพระบรมราชโองการดำรัสให้หา นายสนิท หุ้มแพร เข้าไปเฝ้าใกล้ๆ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ท้ายพระแท่นบรมราชอาสน์ ทอดพระเนตรเห็นแผลที่หลังเป็นรอยยับเหมือนสับฟากสับเขียง (เวลานั้นข้าราชการเข้าเฝ้าฯไม่สวมเสื้อ) ทรงสังเวชสลดพระราชหฤทัยทรงพระเมตตาที่นายสนิท หุ้มแพร ได้รับอาญาตามโทษานุโทษ แล้วโดยน้ำมือบิดาซึ่งหาได้เข้าด้วยความผิดของบุตรชายไม่ ทว่าเป็นโทษที่รุนแรงหนักหนา ถึงกับสลบไปเมื่อเฆี่ยนได้เพียง ๘๔ ที แม้สลบไปแล้วก็ยังสั่งให้เฆี่ยนต่อและแม้บุตรเขยจะทักท้วงว่า หากเฆี่ยนอีก ๑๖ ที คงจะตายอยู่ในคา ท่านบิดาก็ยังมีบัญชาว่า ตายก็ช่างมันเถิด จะได้ไปเกิดใหม่ให้เป็นคนดีๆ

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระมหากรุณาแก่ นายสนิท หุ้มแพร มหาดเล็กของพระองค์ จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งขุนธนศักดิ์ (ม่วง) ว่า

     อ้ายธนศักดิ์ มึงเอาเงิน ๕ ชั่ง ในคลังให้แก่อ้ายแสงมันไปเจียดยามารักษาแผลที่หลังมันด้วย

    เสมือนโปรดเกล้าฯพระราชทานทำขวัญให้นั่นเอง เพราะเงิน ๕ ชั่ง ในครั้งกระโน้นก็มิใช่น้อยๆ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×