ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สนทนาภาษาศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #5 : ภาษากับวิทยาศาสตร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.5K
      4
      11 พ.ย. 48

    ภาษากับวิทยาศาสตร์



            ทุกครั้งที่กล่าวถึงประโยชน์ของภาษา  นอกจากประโยชน์ที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่สำคัญของมนุษย์แล้ว  อีกข้อที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ การที่ภาษาเป็นตัวกำหนดขอบเขตของภูมิสังคม  เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำหน้าที่ตีกรอบความคิดของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปในทางเดียวกัน  รับรู้และอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มๆได้



            ภาษาทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งภาษาที่ทำหน้าที่ดังกล่าว  นั่นคือ เป็นตัวแปรที่กำหนดขอบเขตการรับรู้ให้อยู่ภายในเฉพาะกลุ่มของผู้ที่ศึกษาวิทยาศาสตร์  ทั้งวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์รวมทั้งวิชาที่แตกแขนงไปจากวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย  เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจความหมายจากผู้ส่งสารได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายซ้ำๆหลายครั้ง  และป้องกันการเข้าใจผิดได้อย่างชะงัดนัก



            ตรงกันข้าม  สำหรับผู้ที่อยู่นอกวงการวิทยาศาสตร์แล้ว  ย่อมจะไม่เข้าใจภาษานั้นเลย



            ภาษาทางวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของภาษาภูมิภาคยุโรป  ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส เยอรมนี  ฯลฯ  ตามแต่วิทยาการนั้นๆจะมาจากประเทศใด  ความหลากหลายเหล่านี้เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่า  ความแตกต่างของสาขาภาษาในแต่ละประเทศนั้น ล้วนมาบรรจบที่พื้นฐานเดียวกัน นั่นคือภาษากรีกและละติน  ทั้งสองภาษานี้ถือเป็นรากศัพท์สำคัญในระบบภาษาภูมิภาคยุโรปทั้งหมด  เปรียบได้กับภาษาบาลีและสํสกฤตซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในภาษาไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์  ดังนั้นการศึกษาวิทยาการจากภูมิภาคยุโรป  จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสองภาษาดังกล่าว  และเพื่อที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์ให้ได้อย่างถ่องแท้และไม่ตกหลุมพรางของภาษา  จึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงความหมายของศัพท์โดยอาศัยพื้นฐานทางภาษากรีกและละตินเป็นอย่างดี



            แต่การศึกษาของไทยในปัจจุบันยังบกพร่องในเรื่องนี้  จนถึงขนาดมีคนกล่าวว่า  “ผู้ที่เก่งภาษาศาสตร์จะไม่เก่งวิทยาศาสตร์”  ซึ่งผิดถนัด !!!



            หากจะศึกษาวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ  การเรียนรู้ภาษาที่เป็นพื้นฐานของสังคมวิทยาศาสตร์  เรียนภาษาให้เข้าใจและสร้างภาพคำศัพท์นั้นๆในสมองได้  เหมือนกับการเรียนภาษาไทยปกติ



            ไม่เช่นนั้นแล้ว  การเรียนของผู้เรียนก็ไม่ต่างจากการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างผู้ที่อยู่นอกวงการ !!!



            ความจริงแล้ว ศัพท์ต่างๆที่เข้ามากับวิทยาการยุโรปล้วนตั้งต้นจากความเข้าใจง่ายๆของผู้ค้นพบหรือผู้ตั้งชื่อ  และโดยที่ชาวยุโรปให้ความสำคัญกับภาษากรีกและละติน  อย่างที่คนไทยให้ความสำคัญกับภาษาบาลีและสํสกฤต  เมื่อจะตั้งชื่อสิ่งต่างๆที่ค้นพบจึงมักใช้ภาษากรีกและละตินเป็นหลัก  แต่เพราะความที่ชื่อนั้นต้องผ่านการเดินทางทั้งระยะทางและเวลา รวมถึงความไม่เข้าใจพื้นฐานของภาษาแม่แบบ  ทำให้ผู้เรียนเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยความเชื่อผิดๆ  คือเรียนอย่างท่องจำ  ไม่ได้สร้างภาพความเข้าใจในสมองอย่างแท้จริง  การเรียนอย่างท่องจำนี้  ในชั้นแรกอาจเป็นวิธีที่ดีเพราะง่ายและเป็นที่นิยม  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  การท่องจำจะเป็นวิธีที่ด้อยประสิทธิภาพที่สุดหากผู้เรียนท่องจำโดยมิได้เข้าใจสิ่งนั้นๆอย่างถ่องแท้  ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่เด็กไทยสามารถร้องเพลงภาษาอังกฤษได้จบเพลง  แต่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ร้องนั้นเลย  



            ยกตัวอย่างเช่น  กล้ามเนื้อมัดหนึ่งอยู่บนแผ่นหลัง   มีชื่อว่า Latissimus dorsi   ชื่อนี้หากผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการท่องก็คงพอจำได้  แต่ถ้ารู้จักความหมายของคำศัพท์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชื่อกล้ามเนื้อนี้ด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้ผู้เรียนรับรู้ถึงลักษณะของกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น และจะไม่สับสนหากเจอกล้ามเนื้อที่หลังอีกมัดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Longissimus



            สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน และต้องถือเป็นหัวใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ก็คือ  ชื่อต่างๆที่ตั้งขึ้นมานั้น  ย่อมไม่ได้ตั้งขึ้นมาอย่างลอยๆโดยไร้เหตุผล  ทุกอย่างต้องมีที่มา  มีเหตุ  มีผล  มีปัจจัยต่างๆประกอบเข้ากัน  ดังเช่นชื่อกล้ามเนื้อ Latissimus dorsi นั้น ก็มาจากลักษณะของกล้ามเนื้อที่แผ่เป็นมัดกว้างแบนอยู่บนแผ่นหลัง  (latis = แบน,  simus = กว้าง,  dorsi = ด้านหลัง) และเมื่อเจอกล้ามเนื้อ Longissimus ก็บอกได้ทันทีว่ากล้ามเนื้อนี้มีลักษณะกว้างยาว (longis = ยาว)  การเรียนรู้อย่างนี้จะขยายผลต่อเนื่องได้  เมื่อเจอคำศัพท์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น



            ในบางครั้งการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเกิดจากอารมณ์ขันของผู้ตั้งชื่อ  แต่ผู้เรียนไม่รู้  เมื่อไม่รู้ก็เรียนอย่างเป็นทุกข์  หารู้ไม่ว่าคำๆนั้นน่ารักเพียงไร  เช่น  คำว่า Nexus ซึ่งภาษาทางวิทยาศาสตร์นั้นให้ความหมายว่า เป็นช่องทางแคบๆที่เซลล์ใช้ในการติดต่อส่งสารซึ่งกันและกัน  แต่เมื่อศึกษาถึงความหมายของคำ nexus โดยแท้แล้ว  จะพบว่าคำ  nexus ในภาษาละตินยุคคลาสสิกนั้น แปลว่า พันธะสัญญาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้  ซึ่งผูกพันกันมาก  หนีจากกันไม่พ้น  รู้ดั่งนี้แล้วย่อมจะช่วยสร้างภาพ Nexus ให้เห็นเด่นชัดขึ้นว่า  จะต้องเป็นช่องที่แคบจริงๆ



            ลักษณะอย่างนี้พบได้ทั่วไปในศัพท์วิทยาศาสตร์ !!!



            การเรียนรู้และเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์ต่างๆทางวิทยาศาสตร์นั้น  นอกจากจะทำให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว  ยังช่วยสร้างภาพความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสมองของผู้เรียนและสามารถเข้าใจถึงความหมายของสิ่งที่เรียนได้อย่างแจ่มชัด  ไม่สับสน



            และที่สำคัญคือ  ผู้เรียนได้จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวิทยาศาสตร์จริงๆ



    ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



            สิ่งที่อยากจะฝากไว้ตรงนี้  สำหรับผู้เรียนวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย  คือ  ขอให้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างรู้เท่าทัน  ไม่ตกหลุมพรางของภาษา  และไม่หลงอยู่กับความแปลกใหม่ทรงภูมิของภาษายุโรปจนหลงลืมความสำคัญของภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่  จงตระหนักเสมอว่า  ถึงแม้การเรียนวิทยาศาสตร์จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศมากเพียงไรก็ตาม  แต่สำหรับคนไทยแล้วไซร้  ภาษาไทยย่อมเป็นภาษาที่มีค่าและมีความสำคัญมากที่สุด  และไม่มีใครเปลี่ยนแปลงความจริงข้อนี้ได้
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×