ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สนทนาภาษาศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #3 : วิวัฒนาการทางภาษาของมนุษย์ (๒)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.14K
      1
      21 ก.ค. 48

    ภาษาเขียน  



              มนุษย์ใช้เสียงเป็นตัวสื่อความหมาย  เป็นเช่นนี้อยู่นานเท่าไรนับไม่ได้  จนเมื่อขอบเขตของสังคมเดิมเริ่มกว้างออกไป  ลำพังการติดต่อสื่อสารด้วยเสียงตะโกนไม่ประสบผล  และแม้จะเดินทางไปบอกก็ลำบากและไม่คุ้มค่า  หรือบางครั้งก็หลงลืมได้  จึงต้องมีรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อความสะดวกและทนนานกว่า  สิ่งนั้นก็คือภาษาเขียน  ซึ่งก็นานพอสมควรกว่าที่มนุษย์จะรู้จักพัฒนาจากภาษาพูดถ่ายทอดเป็นภาษาเขียน  และกว่าที่มนุษย์แม้ในกลุ่มสังคมเดียวกันจะเข้าใจได้อย่างเป็นแบบแผนตรงกัน



             ในเรื่องวิวัฒนาการภาษาในชั้นต้นของมนุษย์นี้  พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ได้ชี้แจงเป็นเบื้องต้นไว้ในภาคผนวกเรื่อง สามกรุง ความตอนหนึ่งว่า...



              “...มนุษย์มีสภาพเป็นสัตว์อยู่รวมหมู่เหมือน วัว แพะ แกะ ลิง ค่าง ช้าง ม้า  เป็นต้น  ซึ่งอยู่ด้วยกันเป็นฝูงเป็นโขลง  หรืออย่างน้อยก็เป็นสองสามตัว  แลอาจแสดงสัญลักษณ์ด้วยเสียงหรือโดยกริยาให้รู้ถึงกันได้  มนุษย์มีปัญญาพ้นระดับสัตว์ดิรัจฉาน  แม้อยู่ไกลเกินที่จะส่งสัญญาณถึงกันด้วยเสียงหรือโดยกริยา  ก็มีวิธีที่จะส่งเครื่องหมายให้รู้ถึงกันโดยประการอื่น  ในสมัยดึกดำบรรพ์ซึ่งฝรั่งเรียกว่า “ก่อนพงศาวดาร” นั้น  มนุษย์ชาวเถื่อนมีสำนักอาศัยอยู่ในที่ไม่มีสัตว์ร้าย  ถ้าคนไหนเห็นสัตว์ร้ายหากินล่วงล้ำเข้าไป  ก็ทำเครื่องหมายไว้ที่ก้อนหินหรือริมทางไปมา  คนอื่นไปเห็นเข้าก็ระวังตัวแลบอกต่อๆกันไป...”



              จากคำกล่าวข้างต้น  เป็นที่เข้าใจกันง่ายๆถึงวิวัฒนาการของภาษาสัญลักษณ์  การทำเครื่องหมายที่ว่านั้นต่อมาได้กลายเป็นตัวหนังสือ  เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาษาพูดถ่ายทอดเป็นภาษาเขียน  และเหตุที่มนุษย์ติดต่อสื่อสารกันด้วยภาษาเขียนก็เพราะไม่สะดวกที่จะพูด  จึงต้องมีการคิดค้นสัญลักษณ์บางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้แทนคำและความหมายที่เคยใช้พูดกัน



              พิจารณาถึงความสามารถทางสมองของมนุษย์ในการรับรู้และถ่ายทอด  ภาษาเขียนเป็นสิ่งที่รับรู้ผ่านทางตาแล้วจึงส่งสัญญาณไปตีความที่สมอง  การคิดค้นสัญลักษณ์ในช่วงต้นของการเขียนโดยมากจึงเป็นแบบรูปภาพ (อักษรภาพ)  คือการถ่ายทอดคำและความหมายผ่านทางสิ่งที่มองเห็นได้จริง  เช่น  การวาดรูปดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว สัตว์ต่างๆ เพื่อแทนสิ่งนั้นๆ  ถือเป็นแบบที่ง่ายที่สุดที่จะเข้าใจ  เห็นแล้วรู้ได้ทันที (ยกเว้นกรณีที่เขียนแล้วดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร)  ลักษณะอักษรแบบนี้พบได้ในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ  วัฒนธรรมจีน-ตะวันออกไกล  เป็นต้น  การเขียนภาพแทนความหมายแบบนี้  มีข้อดีคือเข้าใจง่าย  แต่มีข้อเสียคือ  ภาพใช้แทนได้ตรงกับสิ่งที่ตามองเห็น  เป็นรูปธรรม  แต่กับสิ่งที่ตามองไม่เห็นหรือเป็นนามธรรมนั้นค่อนข้างยากที่จะแทนและเข้าใจ



              ปัญหาเรื่องนี้  ถ้าหากจะกล่าวโทษก็คงต้องกล่าวโทษจินตนาการของมนุษย์ที่สมองมีการพัฒนาไปในขั้นสูง  ทำให้มนุษย์รับรู้และถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมผ่านทางภาษาพูดแต่ก็ไม่สามารถแทนเป็นรูปธรรมได้  การเขียนสัญลักษณ์แทนคำและความหมายจึงเกิดความยุ่งยาก  เมื่อเป็นเช่นนี้  หนทางแก้ไขภายใต้กฎเกณฑ์ของอักษรภาพก็คือ  พยายามสร้างภาพใหม่ขึ้นแทนสิ่งนามธรรมนั้นๆโดยอาศัยภาพของรูปธรรมที่มีอยู่เดิม  อักษรที่เกิดขึ้นใหม่อาจเป็นผลรวมของสิ่งเดิม  หรืออาจเป็นรูปแบบใหม่ก็ได้



              แต่บางเผ่าพันธุ์ก็ละทิ้งความพยายามหรือไม่ยอมรับที่จะแก้ไขปัญหา  ด้วยการโยนสิ่งที่เป็นนามธรรม  เช่น  ความดี ความชั่ว ความยุติธรรม เสรีภาพ ฯลฯ ให้กลายเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้  เป็นสิ่งเหนือความสามารถของมนุษย์ในการตีความ  และสูงส่งเกินกว่าที่จะนำมาเปรียบเทียบเป็นสัญลักษณ์รูปธรรมได้  หรือบางเผ่าพันธุ์แก้ปัญหาได้ด้วยการสร้างภาพเดิมขึ้นเป็นภาพใหม่  แต่กลับจูงภาพเดิมให้กลายเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติไปด้วย  เช่น กำหนดใช้ภาพดวงอาทิตย์ ๓ ดวง แทน “ความดี” จากเดิมที่เชื่อว่าความดีเป็นสิ่งสูงส่ง  ก็ยกดวงอาทิตย์ให้เป็นตัวแทนของความดี  บูชากราบไว้กันต่างๆนานา  และใช้ภาพดวงอาทิตย์มืด ๓ ดวง แทน “ความชั่ว” แล้วก็เชื่อกันไปว่าเมื่อดวงอาทิตย์ดับ เกิดสุริยุปราคา จะนำเอาความชั่วร้ายต่างๆมาสู่โลกมนุษย์  เป็นต้น



              บางที ความเชื่ออย่างนี้อาจเป็นที่มาของนิยายปรัมปราก็ได้  เช่น  ตำนานการกำเนิดโลก  อาจเชื่อ (ตีความกันไปเอง) ว่า  “เมื่อก่อนนี้มีดวงอาทิตย์อยู่ ๓ ดวง  ส่องแสงสุกสว่าง  บ้านเมืองสงบร่มเย็น  เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามในโลกมนุษย์  ครั้นเมื่อเวลาผ่านไป  บ้านเมืองเกิดกลียุค  ผู้คนมีกิเลศหนา ตัณหากลับ  ความดีงามเสื่อมสูญ ดวงอาทิตย์จึงดับไปทีละดวง  ความชั่วร้ายเข้าครอบงำทีละน้อย  จนเหลือให้เห็นในปัจจุบันเพียงดวงเดียว  และเมื่อใดที่ดวงอาทิตย์นี้ดับไป  โลกก็จะถึงกาลอวสาน”

    จึงกลายเป็นต้นแบบที่มาของศาสนา ลัทธิ พิธีกรรมประจำเผ่าพันธุ์ไป



              ในขณะที่อักษรภาพกำลังได้เกิดขึ้นในกลุ่มสังคมข้างต้น  ในอีกสังคมส่วนหนึ่งของโลกได้เกิดอักษรอีกแบบที่เรียกว่า “Alphabet” คือการใช้อักษรแทนเสียงแล้วผสมขึ้นเป็นคำ  พบได้ทั่วไปในโลก  เช่น  อักษรโฟนีเชียน โรมัน ไทย  ฯลฯ  อักษรกลุ่มนี้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางภาษาเขียนมาก  เพราะอาศัยสัญลักษณ์จำนวนที่จำกัดเพียงไม่กี่ตัว  สามารถถ่ายทอดเป็นภาษาเขียนได้มากมาย  ต่างกับอักษรภาพที่ต้องสร้างสัญลักษณ์ขึ้นใหม่ทุกครั้งที่มีคำเกิดขึ้น (อย่างในภาษาจีน  มีการรวบรวมตัวอักษรจีนไว้โดยนักศึกษาสมัยราชวงศ์ซ้อง ซึ่งรวบรวมได้มากที่สุดถึง ๕๓,๕๒๕ ตัวอักษร)  แต่กระนั้น  ลักษณะอักษรแทนเสียงก็มีข้อจำกัดอยู่ที่การเขียนคำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่คนละความหมาย  ถ้าหากเขียนเหมือนกันก็อาจเข้าใจผิดได้  จึงต้องมีการแก้ไขวิธีการเขียนให้เหมาะสม  เช่น  กำหนดวิธีลงการันต์  เป็นต้น



              รูปแบบพิเศษที่พบในการกำหนดอักษรแทนเสียง  คือการกำหนดลำดับตัวอักษร  เช่น ก ข ค หรือ A B C อย่างนี้  เข้าใจว่าคงเพื่อความสะดวกในการจดจำนำไปใช้  แต่เมื่อศึกษาวิวัฒนาการตรงนี้ให้ดีจะพบว่า  มีการเปลี่ยนแปลงลำดับตัวอักษรหลายครั้งด้วยเหตุผลบางประการ  ที่อาจเป็นความจำเป็นหรือไร้สาระก็ได้  เช่นในลำดับอักษรโรมัน  ดั้งเดิมเรียงลำดับอักษรตามแบบกรีก  สัญลักษณ์ที่ใช้อาจแตกต่างกัน  แต่ฐานเสียงตรงกันจึงได้จัดลำดับไว้เหมือนกัน  ต่อมาได้มีเพิ่มฐานเสียงใหม่เข้าไปบ้าง  มีการย้ายลำดับโดยกษัตริย์บางพระองค์ที่ต้องการให้ชื่อตนอยู่ในลำดับแรกบ้าง  หรือด้วยเหตุผลอื่นเบ็ดเตล็ด  จนได้ลำดับอย่างที่เห็นในปัจจุบัน



              ในภาษาไทย  ไม่แน่ใจว่ามีการจัดลำดับตัวอักษรเป็นครั้งแรกเมื่อไร  แต่อนุมานจากการจัดลำดับในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีได้ว่า คงจะมีการจัดลำดับคร่าวๆมาบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น  โดยอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากการจัดวรรคเสียงในภาษาบาลีสํสกฤตก็เป็นได้  แล้วปรับปรุงเพิ่มฐานเสียงเข้าไปให้เข้ากับลิ้นคนไทย  เป็นแบบฉบับเรื่อยมา



              ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปนับพันปี  วิวัฒนาการของภาษาก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นตามระดับสติปัญญาของมนุษย์  ทั้งคำและความหมายรวมทั้งสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นใหม่  มีผลต่อความเข้าใจโลก มีอิทธิพลต่อความเชื่อและการดำรงชีวิต ในขณะที่ภาษาช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในด้านต่างๆมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นต้นกำเนิดของความเชื่อ ศรัทธา ลัทธิพิธีกรรมต่างๆที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคมได้เช่นเดียวกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการรับมาใช้ของแต่ละสังคมด้วย

    แม้ในความคิดของคนไทยในปัจจุบัน  ก็คิดว่าภาษาอังกฤษนั้นฟังดูทรงภูมิทรงความรู้  แต่ภาษาบาลีสํสกฤตฟังดูลึกลับและศักดิ์สิทธิ์  นักวิชาการบางท่านใช่ศัพท์เทคนิคอย่างฟุ่มเฟือย  ชนิดไทยคำ อังกฤษ ๒ คำ ทั้งๆที่มีคำใช้ในภาษาไทยอยู่แล้ว  ก็เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ฟัง  หรือการที่พระสวดมนต์ด้วยภาษาบาลีก็เพื่อรักษารูปแบบดั้งเดิมของศาสนาและสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดขึ้นในใจของผู้ฟังอย่างนี้



              เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำความเข้าใจและเชื่อมโยงระบบภาษาเข้ากับทิศทางของประวัติศาสตร์วัฒนธรรม  เพราะวิวัฒนาการของภาษาจะเป็นตัวกำหนดระเบียบจารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ  ดังจะเห็นได้ชัดในสังคมศักดินาในอดีต  เมื่อจะทำการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชนชาติใด สมัยใด  ก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจระบบภาษาของชนชาตินั้นๆ สมัยนั้นๆ ให้ชัดเจน  จึงจะสามารถเข้าใจถึงเบื้องลึกของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมได้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×