ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานอียิปต์ โอม...

    ลำดับตอนที่ #42 : ตอนที่ 4 : นักบวชและพิธีกรรม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.69K
      0
      18 ธ.ค. 49

    ตอนที่ 4 : นักบวชและพิธีกรรม

    เฮโรโดตุส นักปราชญ์ชาวกรีกคนแรก ซึ่งเป็นผู้สำรวจประวัติศาสตร์และการปกครองของชาวอียิปต์ยอมรับว่า ชาวอียิปต์โบราณเห็นจะเป็นชนชาติเดียว ที่มีชีวิตอยู่กับพิธีกรรมและพระเจ้าในศาสนาของตนมากที่สุด ชาวอียิปต์สร้างปฏิทินพิธีกรรมต่อพระเจ้าของตนขึ้นเป็นประจำวันประจำเดือนไม่มีเว้น ซึ่งไม่เพียงเห็นพิธีกรรมสำหรับหมู่คณะและบ้านเมือง ยังมีพิธีกรรมประจำตัวของบุคคลแต่ละคนอีก ที่เป็นดังนี้ เพราะอียิปต์มีศรัทธาแน่นแฟ้นว่า ดวงวิญญาณเป็นของไม่ตาย พิธีกรรมเพื่อดวงวิญญาณ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด

    คนชาติกรีก เป็นชาติที่มีพิธีกรรมมากที่สุดชาติหนึ่ง แต่เอาชนะชาติอียิปต์ไม่ได้ เรื่องดวงวิญญาณของชาวกรีกเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ไม่มาก แตจ่ชาวอียิปต์เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์อยู่ตลอดปีตั้งแต่เช้า เมื่อดวงอาทิตย์โคจรขึ้นถึงขอบฟ้า ชาวอียิปต์เริ่มรู้สึกว่าดวงวิญญาณของตนเรืองรองผ่องใสขึ้นมาด้วย ถึงเวลาดวงอาทิตย์แผดแสงแรงกล้า ชาวอียิปต์ก็ถือว่าชีวิตกล้าขึ้นมาตามความแรงกล้าของของดวงอาทิตย์ ครั้นดวงอาทิตย์โคจรอ่อนแสงลงจนถึงเวลาอัสดงเหลือแต่ความมืดชาวอียิปต์ก็มาคำนึงถึงชีวิตหรือดวงวิญญาณของตน ที่จะต้องมอดดับลงเช่นเดียวกัน

    อีกประการหนึ่ง ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าดวงอาทิตย์หมุนเวียนอยู่ในจักรวาล กลับไปกลับมาแต่ละคืนวัน หาที่สุดมิได้ เป็นเครื่องหมายความถาวร ดวงวิญญาณก็มีความถาวรเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ การนับถือเรื่องโคจรของวิญญาณ ฝังลึกลงไปในความประพฤติประจำวัน

    หลักฐานของนักปราชญ์ เฮโรโดตุส อ้างว่า ทุกวันทุกคืน อียิปต์มีพิธีกรรมเกี่ยวกับเทพเจ้าทั้งหมด เมื่อวันเริ่มปีใหม่ มีพิธีกรรมอยู่ 2 พิธี คือ ใน 12 วันแรกของเดือนแรกมีพิธีกรรมเกี่ยวกับดาวสุนัข(Dog’s Star) (เรียกในภาษาดาราศาสตร์ว่า Sothis) ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวอียิปต์เชื่อว่า คอยนำดวงวิญญาณไปสู่ที่พิพากษาโทษต่อหน้ามหาเทพโอสิริส และนำดวงวิญญาณนั้นไปสู่สุคติ หรือ ทุคติภายหลังคำพิพากษาโทษ อีกพิธีหนึ่ง เป็นพิธีบูชากลุ่มดาวที่สำคัญอื่นๆ เพื่อขอพรให้มาช่วยให้ข้าวกล้าในนางอกงาม และเพื่อการขึ้นลงของกระแสน้ำในแม่น้ำไนล์ด้วย

    ต่อไปมีพิธีตามประทีป (Feast of Lamp) เป็นเกียรติยศแก่เทพเจ้าพระองค์หนึ่งนามว่า Neith เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าของการสร้าง, พิธีกรรมเป็นที่ระสึกต่อความตายของเทพโอสิริส ซึ่งถูกประหาร, พิธีกรรมเพื่อเทพีไอสิส(ชายาของโอสิริส) เพื่อปลอบโยนพระทัยของพระนางให้สร่างโศกเพราะการตายของพระสวามี พิธีกรรมเหล่านี้ บางอย่างเป็นเรื่องของความเศร้า บางอย่างเป็นเรื่องความรื่นเริง พิธีกรรมใดเป็นไปเพื่อการรื่นเริงมักทำกันในลำแม่น้ำไนล์ มีคนเข้าขบวนแห่ไปตามลำน้ำถึง 7,000 - 8,000 คนก็มี มีกองทหารนำรูปเทพเจ้าแห่ไปยังวิหาร มีการจุดประทีป มีดนตรีเห่กล่อม เป็นที่สนุกสนาน

    พิธีเกี่ยวกับชีวิต บางอย่างเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ เป็นคำสอนของนักบวช ปรากฎคำในจารึกในแผ่นปาปิรุสว่า
    วันที่ 12 เดือนโจรัค (Chorak) ห้ามมิให้ใครออกนอกบ้าน เพราะถือว่าวันนั้นดวงวิญญาณของโอสิริสเสด็จเข้าไปสถิตในตัวนก Wennu จะต้องปล่อยให้ดวงวิญญาณเลื่อนลอยไปตามสะดวก
    วันที่ 14 เดือน โทบี (Tobi) คนทั้งหลายต้องร้องเพลงโศกเพื่อร่วมเศร้าใจกับพระนางไอสิสผู้ร่ำไห้อาลัยรักถึงพระสวามี
    วันที่ 3 เดือนเมคคี่ร์(Mechir) ห้ามมิให้ผู้ใดออกเดินทาง เพราะวันนั้นเป็นวันที่ เซ็ต(Set) เริ่มทำสงครามกับ โฮรุส(Horus) โอรสของพระนางไอสิส ต่อจากนั้นใครจะออกไปทางไหนก็ได้เพราะเทพโฮรุสมีชัยชนะต่อเทพเซตแล้ว และถือกันว่า ถ้าเด็กเกิดในวันที่โฮรุสชนะสงครามเด็กจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ต่อไปในภายหน้า (ณ ขณะที่พิมพ์หนังสือ....ชื่อเดือนของอียิปต์โบราณยังค้นไม่ได้ว่าตรงกับเดือนอะไร)

    พิธีกรรมเหล่านี้ต้องอาศัย นักบวชหรือพระเป็นผู้กระทำ คนต้องง้อนักบวช นักบวชอียิปต์จึงมีอำนาจมาก

    ประวัติศาสตร์ของชาวอียิปต์โบราณ ขึ้นอยู่กับอำนาจนักบวช นักบวชอียิปต์เป็นบุคคลพวกเดี่ยวที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย นักบวชอียิปต์เป็นผู้เขียนคำจารึกและจดหมายเหตุ ใครจะทำคำจารึกอันใด จะทำพิธีกรรมอย่างไหน เมื่อไร จะทำเองไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อถือ จะต้องขอให้นักบวชทำให้ ใครอยากจะจารึกคุณความดีของตนให้ปรากฏอยู่ ต้องทำใจให้ถูกใจนักบวชและขอให้จารึกเรื่องราวที่ต้องการ ถ้านักบวชจงเกลียดใคร คนนั้นก็เท่ากับตกนรกทั้งเป็น

    นักบวชอียิปต์ต้องได้รับการศึกษา และประจำอยู่ตามวิหารเทพเจ้า ไม่มีข้อจำกัดว่าบุคคลประเภทใดจะเป็นนักบวชได้หรือไม่ อย่างไร ครอบครัวใดที่มีญาติพี่น้องเคยเป็นนักบวชมาก็มักจะมีผู้สืบตระกูลเป็นนักบวชสืบต่อกัน นักบวชอาจมาจากตระกูลของทหาร ตระกูลของข้าราชการ ตระกูลของผู้พิพากษา ตระกูลสถาปัตย์ แต่ไม่เคยปรากฏว่านักบวชมาจากตระกูลชาวนา หรือชาวประมงเป็นการแสดงชั้นวรรณะอยู่

    นักบวชชาวอียิปต์มีครอบครัวได้ ลูกชายนักบวช ได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับลูกทหารได้ คนในตระกูลอื่น ถ้าไม่ใช่ลูกทหารแต่งงานกับลูกทหารไม่ได้ ลูกชายในครอบครัวนักบวช ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวชเสมอไป แยกไปประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ได้ ไม่ห้าม เฮโรโดตุส ยืนยันว่า แต่เดิมอียิปต์มีทั้งนักบวชผู้หญิงและนักบวชผู้ชาย

    ในหมู่นักบวชมีการแบ่งชั้นและตำแหน่ง ในวิหารของเทพเจ้าแห่งหนึ่งๆ มีนักบวชหัวหน้าทำหน้าที่ควบคุมผลประโยชน์ของวิหาร นักบวชบางคนมีหน้าที่ทำนาย บางคนมีหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ชำระความให้นักบวชและให้คน นักบวชที่มีหน้าที่ต่ำเห็นจะเป็นพวกอาบยาศพ และพวกภัณฑาคาริก คือพวกรักษาสิ่งของ

    เพราะเหตุที่นักบวชมีอำนาจมาก นักบวชจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีให้บ้านเมือง แต่บ้านเมืองต้องคอยจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้ในยามที่นักบวชต้องการ

    เมื่อนักบวชได้รับการยกเว้นภาษีอากรของบ้านเมือง นักบวชจึงต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองคือ การปฏิบัติพิธีกรรมให้แก่คนทั้งหลาย เช่นคอยแนะนำคนที่เข้ามาบูชาเทพเจ้าว่าควรใช้อะไรเป็นเครื่องสังเวยในเวลาใด แนะนำพิธีการทำศพและอื่นๆ และพิธีกรรมอื่นๆ นักบวชก็มีหน้าที่เข้าไปเป็นผู้แนะนำสั่งสอนด้วย

    มีข้อห้ามไม่ให้นักบวชอียิปต์โบราณทำอยู่หลายอย่าง ที่แปลกคือ กินเนื้อหมูเนื้อปลาไม่ได้ กินหอม กินกระเทียมไม่ได้ ถ้าเป็นถั่วยิ่งร้าย และต้องไม่ได้เลย แต่อนุญาตให้นำอาหารเหล่านี้สังเวยแก่เทพเจ้าได้ (เหตุผลอันนี้รู้ได้ยากเห็นอยู่อย่างเดียว คือต้องสงวนอาหารเหล่านั้นบูชาเทพเจ้า ส่วนเรื่องห้ามกินกระเทียมเหมือนวินัยทางภิกษุณีในพุทธศาสนา ซึ่งห้ามมิให้กินกระเทียมเหมือนกัน) แต่กลับไม่ห้ามเรื่องดื่มสุรา และมี ภรรยา

    นักบวชอียิปต์โบราณโกนศีรษะและโกนขนตามร่างกายส่วนอื่นทุกวัน ตามปรกติต้องอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง และ กลางคืนอีก 2 ครั้งทุกคืน มีกำหนดให้มีวันถือคือ ต้องอดอาหารทุกอย่างตั้งแต่ 7 วันถึง 42 วัน (ตามจำนวนของเทพเจ้าผู้นั่งพิพากษาดวงวิญญาณร่วมกับมหาเทพโอสิริส 42 องค์) ในระหว่างนั้นนักบวชต้องทำพิธีชำระ(ร่างกาย) เป็นงานใหญ่ปีละ 1 ครั้ง

    นักบวชอียิปต์โบราณครองผ้าขาวธรรมดา ส่วนมากใช้ผ้าลินินสีขาวคลุมลงไปบนผ้าซับในขาวบางอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต้องคลุมไปถึงข้อมือ มีหนังสือเครื่องหมายแห่งอำนาจติดอยู่บนแขนเสื้อ สวมหมวกปักขนนก 1 ขนบ้าง 2 ขนบ้าง ตามตำแหน่งสูงต่ำ

    นักบวชอียิปต์มีการงานต้องทำมาก ไม่ได้อยู่สบายอย่างเช่นนักบวชในศาสนาอื่น ต้องประกอบพิธีกรรมทำงานให้แก่ชาวบ้านเนื่องด้วยเรื่องของพระเจ้าตลอดวัน

    นักปราชญ์เฮโรโดตุสเขียนไว้ว่า ไม่ค่อยมีใครได้เห็นพระอียิปต์มาเดินเกะกะในที่สาธารณะ ถ้าจะดูพระอียิปต์ต้องเข้าไปดูในพระวิหาร หรือไปดูเวลาที่มีพิธีกรรมที่นักบวชทำให้แก่คนตามหมู่บ้าน

    เรื่องอนุญาตให้นักบวชแต่งงานได้ มีกฎว่าก่อนแต่งงานต้องเข้าพิธีสุหนัด (พิธีขลิบปลายอวัยวะเพื่อความสะอาด ซึ่งพวกอิสลามนำมาปฏิบัติในลัทธิของตน) เมื่อแต่งงานแล้วถือเป็นนักบวชผู้ใหญ่ ต้องมีงานมากขึ้น ต้องอุทิศชีวิตของตนให้แก่การศึกษา และทำพิธีกรรมให้แก่คนและเทพเจ้าซึ่งมีอยู่ทุกตำบลมากขึ้น

    นักบวชอียิปต์ต้องมีงานสอนหนังสือ สอนศิลปหัตกรรมให้แก่ประชาชน ตามโรงงานหัตถกรรม เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานทำหีบศพ และโรงงานที่สำคัญต้องมีนักบวชเป็นผู้ควบคุมดูแล คนงานและนายงานต้องเป็นลูกศิษย์นักบวช นักบวชจะสั่งให้ทำอะไรคนทั้งกลายจะต้องทำตามทุกอย่าง นักบวชควบคุมกิจการทุกอย่างไปจนกระทั่งการทำมาหากินของคน การทดน้ำ เพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการขนส่ง ต้องอยู่ในความควบคุมของนักบวชทั้งหมด เวลาพระเจ้าแผ่นดินจะออกไปรบทัพจับศึกที่ใด จะต้องเชิญนักบวชไปสวดมนต์อ้อนวอนเทพเจ้ามาอวยชัยให้พร ถ้านักบวชไม่ยอมทำพิธีเหล่านี้ให้ พวกทหารในกองทัพก็ไม่ยอมออกเดินทาง เรื่องจึงกลายเป็นว่า นักบวชมีอำนาจควบคุมไปจนกระทั่งถึงการเมือง การปกครอง

    ที่สุด ก็มีเรื่องที่นักบวชกลายเป็นผู้แทนเทพเจ้า และสามารถรู้ใจเทพเจ้าอย่างจริงจังขึ้นมา คือเรื่องกระแสน้ำขึ้นน้ำลงในแม่น้ำไนล์ นักบวชเป็นผู้จดหมายเหตุไว้ว่า วันเดือนปีใด ระดับน้ำเคยขึ้นสูงหรือลดลงเท่าใด กระแสน้ำขึ้นมาได้อย่างไร ลดลงไปเพราะอะไร นักบวชก็ใช้สติปัญญาคำนวณตามเหตุผลที่ใกล้เคียงจนกลายเป็นจดหมายเหตุถาวรยึดถือเป็นตำราได้ นักบวชสามารถบอกกับใครๆได้ว่า น้ำท่วมวันใด เวลาใด และจะลดลงวันใดเดือนใด ปีนี้น้ำจะมากหรือน้อยเท่าใด ก็บอกได้หมด นานๆเข้า นักบวชจึงกลายเป็นผู้วิเศษ กลายเป็นผู้ล่วงรู้ใจของเทพเจ้า(แม่น้ำไนล์) เทพเจ้าก็ไม่ยอมบอกคนอื่น นอกจากผู้แทนของพระองค์คือนักบวชเท่านั้น

    นักบวชอียิปต์กลายเป็นสถาบัน มีอำนาจ เป็นที่หวาดหวั่นพรั่นกลัวของประชาชน และบ้านเมือง อำนาจของนักบวชคลอบคลุมทางราชการบ้านเมืองทั้งหมด

    จดหมายเหตุของนักปราชญ์เฮโรโดตุส เขียนไว้ว่า ถึงอย่างไรนักบวชอียิปต์ก็เป็นนักบวชที่ดีมาก แม้จะมีอำนาจมากปานใด ก็มักไม่ยอมใช้อำนาจไปในทางที่ผิด

    นักบวชอียิปต์มีนิวาสสถานอยู่ในวิหาร ถ้าแต่งงานแล้วก็พาลูกพาเมียไปอยู่ด้วยกันที่วิหาร

    วิหารทุกแห่งที่มีแท่นบูชา บนแท่นบูชามีรูปเทพเจ้าแต่ละองค์ มีลูกประคำ มีดอกไม้ซึ่งโดยมากเป็นดอกบัว แผ่นปาปิรุส ผลองุ่น และผลมะเดื่อ สิ่งของเหล่านี้ใส่กระจาด และมีน้ำมันใส่หม้อดินไว้สำหรับจุดประทีปบูชา บางทีมีเครื่องประดับเพชรนิลจินดาซึ่งนักบวชเตรียมไว้เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าด้วย

    วิหารบางแห่งของเทพเจาบางองค์ เทพเจ้าคงต้องการเนื้อสัตว์เป็นเครื่องสังเวยบูชา จึงปรากฎว่าบนแท่นบูชามีเนื้อสัตว์ มีเลือด และ สุรายาเมาวางไว้เป็นเครื่องสังเวย โดยวิธีสวดเลือดและเทสุราอาบแท่นบูชาลงไป เพื่อให้เทพเจ้าได้กลิ่นคาวเลือดและกลิ่นสุราด้วย

    เวลาล่วงมา ชาวอียิปต์พวกหนึ่งมีปัญญามากขึ้น รู้เท่าทันการทำพิธีของพวกนักบวช คนเหล่านี้คือพวกราชวงศ์และพระเจ้าแผ่นดิน เห็นว่าพวกนักบวชทำพิธีสังเวยเทวดาเพื่อประโยชน์ของตนมากไป ก็พากันทำพิธีเหล่านั้นเสียเอง เป็นเหตุให้นักบวชอียิปต์ต้องเสื่อมอำนาจลงในตอนหลัง

    เทพนิยายและคำสอนในศาสนาของชาวอียิปต์โบราณ แยกประเภทออกได้เป็น 2 คือ ประเภทลึกลับซ่อนเร้นอยู่ภายใน บุคคลสามัญไม่สามารถมองเห็นและแตะต้องไม่ได้ นักบวชหรือผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าไปรู้เห็นได้ คำสอนประเภทนี้เท่ากับเป็นฝ่ายอภิธรรม เป็นแบบของเทพ นักบวชรู้เห็นกันระหว่างนักบวชกับเทพเจ้าเท่านั้น มนุษย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย

    อีกประเภทหนึ่งเป็นฝ่าย พระสูตร ไม่มีซ่อนเร้น มนุษย์สามัญเกี่ยวข้อง แตะต้องได้ มองเห็นได้ด้วยสายตา เช่นเรื่องเทพเจ้าโอสิริส และ ไอสิส เรื่องคำพิพากษาความผิดถูกของผู้ตาย เรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม เป็นแบบของสามัญชนทุกคนร่วมรู้เห็นได้ด้วยกันทั้งหมด

    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=mysmallroom&group=5
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×