ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เสื้อผ้าสตรี

    ลำดับตอนที่ #5 : การเลือกผ้าที่ใช้ในการตัดเย็บ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 21.06K
      27
      13 เม.ย. 52

    การเลือกผ้าเพื่อใช้ในการตัดเย็บ

    การเลือกผ้าเพื่อใช้ในงานตัดเย็บ มีความสำคัญต่อผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกหัดตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เอง เนื่องจากยังไม่มีทักษะและความชำนาญเพียงพอ ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อผ้าควรพิจารณาดังนี้

                    1.  ควรเลือกผ้าที่จับได้เต็มที่ขณะเย็บ เป็นผ้าทอเนื้อแน่น ไม่เบาบาง ไม่หนาหรือมีน้ำหนักมากเกินไป

                    2.  ควรเป็นผ้าสีพื้น ไม่ควรใช้ผ้าตา ผ้าลายทาง หรือมีลวดลายที่ต้องต่อให้แนบเนียน

                    3.  ควรเป็นผ้าที่ไม่ยับง่าย เพราะจะทำให้เสียเวลาในการรีด

                    4.  ควรเป็นผ้าที่สีไม่ตก และหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าสีสด เช่น แดง เขียว น้ำเงิน เป็นต้น

                    5.  ควรเป็นผ้าที่มีความคงทน ไม่เกิดขน ตะเข็บแตกง่าย และไม่ยืดหรือหดตัวเมื่อผ่านการซัก

                    6.  ควรเป็นผ้าที่สวมใส่แล้วสบายตัว ไม่ร้อนไม่ระคายเคืองผิวหนัง

                    7.  ควรเลือกผ้าตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ เช่น ผ้าที่ใช้ตัดชุดนอนควรเป็นผ้าเนื้อนิ่ม   ผ้าตัดกางเกงควรใช้ผ้าเนื้อหนาหน้ากว้าง เป็นต้น

                    8.  ไม่ควรเลือกใช้ผ้าราคาแพง เพราะถ้าหากตัดเย็บไม่สำเร็จจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

                    9.  พยายามหลีกเลี่ยงผ้าที่มีเชิงหัวท้าย เพราะจะสร้างความลำบากในการตัดเย็บ

    ประเภทของเส้นใย

                    ผ้าเป็นวัสดุที่ทำมาจากเส้นใยชนิดต่างๆ โดยการนำเส้นใยมาปั่นมาถักหรือทอเป็นผ้า ผ้าแต่ละชนิดมีคุณสมบัติตามลักษณะของเส้นใยที่ใช้ผลิต เราควรมีความรู้เรื่องเส้นใยที่นำไปผลิตผ้าเพื่อจะได้นำความรู้ไปเลือกใช้เสื้อผ้าได้อย่างเหมาะสม โดยทั่วไปเส้นใยที่นำมาทอผ้าเพื่อใช้ในการสวมใส่มี 2 ประเภท ดังนี้

    1. เส้นใยที่ได้จากธรรมชาติ

                    เส้นใยธรรมชาติเป็นเส้นใยที่ได้จากพืชและสัตว์ เช่น ฝ้าย ไหม ขนสัตว์ นอกจากนี้ยังมีเส้นใยที่ได้จากแร่ คือ เส้นใยที่ได้จากแร่ใยหิน มีคุณสมบัติเด่นคือไม่ติดไฟ ดังนั้นเส้นใยชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับทำผ้าทนไฟ เช่น เสื้อดับเพลิง ถุงมือกันความร้อน เป็นต้น เส้นใยธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้ทำเสื้อผ้ามีดังนี้

                    1.1  ฝ้าย ได้จากส่วนที่ห่อหุ้มเมล็ด เรียกว่าปุยฝ้าย มีลักษณะเป็นเส้นใยเส้นเล็กๆ นำมาปั่นเป็นเส้นด้ายและทอเป็นผืนผ้า

                    ฝ้ายมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำและความชื้นได้ดี ทนต่อการซักรีด ทนต่อกรดและด่าง แต่ยับง่าย นิยมนำมาทำเป็นเสื้อผ้าเพราะสวมใส่สบาย ดูดซับเหงื่อได้ดี ระบายความร้อนได้มาก ติดสีย้อมได้ดี ซักรีดได้ง่าย และราคาถูก

    1.2  ลินิน เป็นเส้นใยที่ได้จากส่วนลำต้นของต้นแฟล็กซ์ เมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้าเรียกว่าผ้าลินิน นิยมนำมาทำเสื้อผ้าและเครื่องใช้ประเภทผ้า

                    ลินินมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำ ความชื้นและดูดซับเหงื่อได้ดีเช่นเดียวกันกับผ้าฝ้าย แต่ลินินมีราคาแพงกว่าฝ้าย มีความเหนียวและเนื้อผ้าเป็นมันกว่าฝ้าย ทนต่อการซักรีด แต่ไม่ควรลงแป้งเพราะเนื้อผ้าแข็งตัวอยู่แล้ว

                    1.3  ป่าน เป็นเส้นใยที่ได้จากส่วนลำต้นของต้นป่านศรนารายณ์ เมื่อนำมาทอเป็นผ้าจะได้ผ้าสีน้ำตาลเข้มฟอกขาวได้ยาก ดังนั้นผ้าป่านจึงนิยมย้อมเป็นสีสดใส นิยมนำมาทำเป็นของใช้ของประดับตกแต่งบ้าน ทำกระสอบ และทำเสื้อผ้า

                    ป่านมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำและดูดความชื้นได้ดี ทนต่อการซักรีด ทนต่อมอด แต่ไม่ทนต่อรา

                    1.4  ไหม เป็นเส้นใยที่ได้จากรังไหมโดยการนำรังไหมไปต้ม และนำใยไหมออกจากรัง เรียกว่าการสาวไหม ผ้าที่ผลิตจากใยไหมมีความสวยงาม เป็นมัน หรูหรา ราคาแพง นิยมนำมาเป็นเสื้อผ้าได้ทุกชนิด เช่น เสื้อสูท กระโปรง กางเกง ชุดกลางวัน ชุดกลางคืน เป็นต้น

                    ไหมมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำและดูดความชื้นได้ดี มีลักษณะเรียบ เงามันเป็นประกาย อ่อนตัว แต่คงรูปได้ดี สวยงาม ให้ความสบายเมื่อสวมใส่ เมื่อถูกแสงแดดและเหงื่อไคลจะทำให้ความเหนียวลดลง เนื้อผ้ายับง่าย รีดให้เรียบได้ยาก

    2.  เส้นใยสังเคราะห์

    ใยสังเคราะห์เป็นเส้นใยที่ประดิษฐ์ขึ้นจากพืชเรียกว่าใยเซลลูโลส และเส้นใยที่ประดิษฐ์ขึ้นจากสัตว์เรียกว่าใยโปรตีน รวมทั้งจากสารเคมี เส้นใยสังเคราะห์มีมากหลายชนิด เช่น อะคลิลิก โพลีอะไมด์ วินยอน โพลีเอสเตอร์ เป็นต้น ในปัจจุบันนิยมใช้เส้นใยสังเคราะห์กันมาก โดยนำมาทำเป็นเสื้อผ้าและของใช้ต่างๆ

                    เส้นใยสังเคราะห์ที่นิยมนำมาทำเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนี้

                    2.1  ใยโพลีอะไมด์ เป็นเส้นใยสังเคราะห์จากสารเคมี นิยมใช้ทำพรม เต้นท์ ผ้าตัดชุดชั้นใน ชุดกีฬา ร่ม หรือนำไปทอผสมกับใยชนิดอื่น นอกจากนี้ยังนำมาทำแปรง ใช้ชื่อการค้าว่า ไนลอน

                    ใยโพลีอะไมด์ มีคุณสมบัติทนยับได้ดี มีความเหนียว แต่ไม่ทนต่อความร้อน

                    2.2  ใยโพลีเอสเตอร์ เป็นใยสังเคราะห์จากสารเคมีที่ทนยับและคงรูปได้ดี นิยมนำไปทอผสมกับใยฝ้ายและนำไปตัดเสื้อ ตัดกระโปรงหรือตัดกางเกงได้ดี เป็นที่นิยมรองจากฝ้าย

    ใยโพลีเอสเตอร์ เป็นใยสังเคราะห์จากสารเคมีที่มีคุณสมบัติทนยับได้ดี ดูแลรักษาง่าย เมื่อนำไปผสมกับใยชนิดอื่นก็จะเพิ่มคุณสมบัติให้ผ้านั้นไม่ยับ น่าใช้ ดูดซึมความชื้นได้น้อย

    การเลือกใช้เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย

    เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเป็นสิ่งที่ใช้ตกแต่งร่างกายให้สวยงาม ถ้าเลือกได้อย่างเหมาะสมจะช่วยเสริมบุคลิกภาพแก่ผู้สวมใส่ ได้แก่ เสื้อผ้า เข็มขัด กระเป๋า รองเท้า สร้อยคอ ตุ้มหู เข็มกลัดสิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาใช้ประกอบกัน จะทำให้เกิดความสวยงาม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยยึดหลักการดังนี้

                    1.  มีประโยชน์คุ้มค่ากับการใช้สอย ก่อนตัดสินใจซื้อควรพิจารณาว่าคุ้มค่ากับประโยชน์ใช้สอยหรือไม่เพียงใด เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใดที่มีความจำเป็นน้อย หรือสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งก็ไม่ควรลงทุนซื้อของราคาแพง เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายใดที่เป็นแฟชั่นหรืออยู่ในสมัยนิยม ก่อนตัดสินใจซื้อควรพิจารณาว่าจะใช้ในโอกาสใดได้บ้าง เหมาะสมกับบุคลิกของตนหรือไม่  เพราะถ้าซื้อไปแล้วไม่กล้าสวมใส่ก็นับว่าไม่คุ้มค่า สำหรับเสื้อผ้าชุดทำงานควรเลือกให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ เช่น ถ้าชุดทำสวน ทำนา ทำไร่ ควรเลือกสีคล้ำเพราะว่าจะช่วยพรางความสกปรก เลอะเทอะได้

                    2.   สวมใส่สะดวกสบาย ควรเลือกเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ให้ความรู้สึกสะดวกสบายเมื่อสวมใส่  ทั้งการสวมใส่ และการถอด เสื้อผ้าที่คับจนรู้สึกอึดอัดหรือหลวมเกินไปจนรุ่มร่าม หรือไม่สะดวกเมื่อเคลื่อนไหว ไม่ควรซื้อเสื้อผ้าที่หลวมมากเพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

                    3.   เหมาะสมกับวัยและบุคลิกภาพ บุคคลแต่ละวัยมีธรรมชาติต่างกัน เช่น วัยเด็กเป็นวัยไม่อยู่นิ่ง ชอบเล่น ดังนั้นเสื้อผ้าควรเป็นแบบที่ไม่รุ่มร่าม สวมใส่และถอดออกง่าย ไม่คับหรือหลวมเกินไป การใส่สร้อยคอและสวมกำไลหลายอันจะทำให้เด็กไม่สะดวกในการเล่น ส่วนวัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่สนใจตนเองเป็นพิเศษ เสื้อผ้าวัยรุ่นใช้ได้ทั้งสีอ่อนและสีสด ส่วนแบบเป็นไปตามลักษณะนิยมของแต่ละบุคคล แค่ควรเลือกให้เหมาะกับบุคลิกของตนเอง และเลือกแบบที่สุภาพไม่รัดรูปและไม่เน้นรูปร่างจนเกินไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยเมื่อสวมใส่ ส่วนเครื่องประดับควรให้เข้ากับแบบหรือสีของเสื้อผ้า

                    4.  เหมาะกับรูปร่าง รูปร่างของคนมีความแตกต่างกัน ควรใช้เสื้อผ้าพรางส่วนที่บกพร่องหรือเน้นจุดเด่นโดยการเลือกเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายให้เหมาะกับรูปร่าง ดังนี้

    รูปร่าง

    เสื้อผ้า

    เครื่องประกอบการแต่งกายและ

    เครื่องประดับ

    คนสูงมาก

    เลือกแบบและลวดลายที่ช่วยเสริมในทางกว้าง เช่น เสื้อปกกว้าง ปกใหญ่ ลายขวางลำตัว กระโปรงบาน

    รองเท้าส้นเตี้ย กระเป๋าใบใหญ่หูสั้น เข็มขัดใหญ่ ไม่ควรใส่ตุ้มหูแบบห้อยยาว สร้อยคอควรเป็นแบบสั้น

    คนเตี้ย

    เลือกแบบและลวดลายที่ช่วยเสริมในทางสูง เช่น ปกเสื้อไม่ใหญ่เกินไป เสื้อและกระโปรงควรเป็นสีเดียวกัน กระโปรงทรงตรงหรือบานเล็กน้อย

    รองเท้าส้นสูงจะช่วยให้ดูสูงขึ้น กระเป๋าไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เข็มขัดเส้นเล็ก สีเดียวกันกับเสื้อผ้าเครื่องประดับ

    คนอ้วน

    เลือกแบบเรียบ สีเข้ม ลวดลายไม่เด่นมาก เสื้อคอแหลม กระโปรงแคบเข้ารูป แต่ไม่รัดรูป

    รองเท้าส้นสูง กระเป๋า เข็มขัด

    แบบเรียบ

    คนผอม

    ใช้ผ้าสีอ่อน ปกตั้ง แขนพอง เสื้อตกแต่งด้วยลูกไม้ระบาย กระโปรงบานหรือย้วย

    ใช้ผ้าพันคอ สวมสร้อยข้อมือ สายสร้อยประดับแนบลำคอ รองเท้าส้นเตี้ย หรือสูงปานกลาง กระเป๋าหูสั้น

    คนไหล่กว้าง อกใหญ่ สะโพกเล็ก

    เสื้อสีแก่ แบบเรียบ ไม่ควรใส่เสื้อแขนพอง กระโปรงสีอ่อนกว่าเสื้อมีจีบหรือรูด

    เข็มขัดแบบเรียบ ไม่ควรใช้กระเป๋าหนีบที่แนบติดลำตัว รองเท้าส้นสูง

    คนไหล่แคบ สะโพกใหญ่

    เสื้อสีอ่อน แขนพอง มีจีบระบาย กระโปรงสีแก่กว่าเสื้อ ไม่จีบ หรือแบบเรียบทรงตรง

    ใช้กระเป๋าหนีบที่แนบติดลำตัว หรือกระเป๋าหูสั้น รองเท้าส้นเตี้ยหรือสูงปานกลาง

    5.  เหมาะสมกับโอกาสและกาลเทศะ ในการเลือกใช้เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ควรคำนึงถึงโอกาสและกาลเทศะในการใช้งาน ดังนี้

                                    5.1  สีของเสื้อผ้า เสื้อผ้าสำหรับใส่ไปงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด ควรจะเป็นสีที่สดใส เช่น สีแดง สีส้ม สีฟ้า และไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวและสีดำ เพราะเป็นสีที่นิยมใส่ไปงานศพ

                                    5.2  แบบของเสื้อผ้า ตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย สอนให้ผู้หญิงไทยรักนวลสงวนตัว การเลือกใช้เสื้อผ้าในทุกโอกาสควรเป็นแบบที่สุภาพ ถ้าเป็นเสื้อที่เปลือยไหล่ ควรมีผ้าคลุมไหล่เพื่อความสุภาพ ถ้าไปวัดควรใส่กระโปรงยาว เสื้อมีปกและมีแขน ส่วนเสื้อผ้าที่สวมใส่ไปเที่ยว ไปเล่นกีฬา ควรเลือกแบบที่เคลื่อนไหวได้สะดวกสบาย

                    6.  มีความทนทานต่อการใช้งาน เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายทุกชิ้นที่ซื้อควรคำนึงถึงความทนทานในการใช้งานโดยไม่เสื่อมสภาพ หรือไม่เก่าเร็ว สีไม่ลอกไม่ตก ลักษณะประกอบเป็นชิ้นงานมีความแน่นหนา ทนทานและดูแลรักษาทำความสะอาดได้ง่าย

                    7.  ราคาไม่แพงเกินไป ก่อนตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ควรสำรวจราคาจากหลายร้านแล้วเปรียบเทียบกัน ให้พิจารณาเลือกที่มีคุณภาพดีและราคาถูก แต่ถ้าสำรวจราคาแล้วทุกร้านมีราคาสูงเหมือนกันก็ควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องซื้อมากน้อยเพียงใด ไม่ควรซื้อของแพงหรือ ซื้อเพราะยี่ห้อดัง

    การคำนวณผ้าที่ใช้ในการตัดเย็บ

                    การคำนวณผ้าที่ใช้ในการตัดเสื้อ

     

     

    แบบของเสื้อ

    ความกว้างของผ้า

    จำนวนผ้าที่ใช้

    เสื้อไม่มีแขน

    36 นิ้ว

    ใช้ผ้า 2 เท่าของความยาวตัวเสื้อ + เผื่อพับชาย 10 เซนติเมตร

    เสื้อมีแขน

    36 นิ้ว

    ใช้ผ้า 2 เท่าของความยาวตัวเสื้อ + เผื่อพับ 10 เซนติเมตร                         + ความยาวแขน + เผื่อพับแขน 7 เซนติเมตร

     

                    การคำนวณผ้าที่ใช้ในการตัดกระโปรง

     

     

     

    แบบของกระโปรง

    ความกว้างของผ้า

    จำนวนผ้าที่ใช้

    กระโปรงทรงตรง

    36 นิ้ว

    ใช้ผ้า 2 เท่าของความยาวกระโปรง + เผื่อพับ 10 เซนติเมตร

    60 นิ้ว

    ใช้ผ้า 1 เท่าของความยาวกระโปรง + เผื่อพับ 10 เซนติเมตร

    กระโปรงประเภทจีบ

    36 นิ้ว

    ใช้ผ้า 3 เท่าของความยาวกระโปรง + เผื่อพับ 15 เซนติเมตร

    60 นิ้ว

    ใช้ผ้า 2 เท่าของความยาวกระโปรง + เผื่อพับ 10 เซนติเมตร

    กระโปรงครึ่งวงกลม

    46 นิ้ว

    ใช้ผ้าประมาณ 1.75 เมตร + เผื่อพับ 15 เซนติเมตร

    กระโปรงวงกลม

    46 นิ้ว

    ใช้ผ้า 2 เท่า ของกระโปรงครึ่งวงกลม

     

                    การคำนวณผ้าที่ใช้ในการตัดกางเกงเอวยางยืด

     

     

    กางเกงเอวยางยืด

    ความกว้างของผ้า

    จำนวนผ้าที่ใช้

    กางเกงขาสั้น

    46 นิ้ว

    ใช้ผ้า 2 เท่าของความยาวของกางเกง + เผื่อพับ 10 เซนติเมตร

    กางเกงขายาว

    46 นิ้ว

    ใช้ผ้า 2 เท่าของความยาวของกางเกง + เผื่อพับ 10 เซนติเมตร

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×