ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเทคนิคการเป็นนักเขียนออนไลน์

    ลำดับตอนที่ #28 : - แนะ: แต่งนิยายอย่างไรให้มันจบ -

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 842
      9
      18 เม.ย. 56

    แนะ: แต่งนิยายอย่างไรให้มันจบ

     

    สิ่งหนึ่งที่มีปัญหาสำหรับนักเขียนหน้าใหม่เป็นอย่างมากคือการที่ตั้งใจจะเขียนนิยายเรื่องหนึ่งแล้ว แต่กลับไม่สามารถเขียนได้จนจบสักที สำหรับบทความนี้จะเป็นการแนะนำวิธีที่สามารถเขียนนิยายจนจบเรื่องได้

    โดยวิธีการเขียนนิยายให้จบ ให้ทำตามสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    หลีกเลี่ยงมหากาพย์ – หนึ่งในปัญหาสำคัญที่นักเขียนหน้าใหม่ต้องพบเจอ เพราะหลายคนไม่เคยแม้แต่จะแต่งเรื่องสั้นจนจบแต่ก็ตั้งใจจะให้เรื่องแรกของตนเป็นมหากาพย์ที่ยาวมากกว่าสามภาคขึ้นไปเป็นจำนวนที่ไม่น้อย อย่าหวังเช่นนั้นจะดีกว่า ! การตั้งใจเขียนเรื่องให้เป็นมหากาพย์เป็นสิ่งที่ยากมากในตัวของมันเอง อย่างแรกคือความยาวของมัน อย่างที่สองคือระยะเวลาที่ใช้กับมัน รวมถึงการวางพล็อตและโครงเรื่องที่จะหลวมเป็นอย่างมาก ดังนั้นแทนที่จะคิดมหากาพย์ก็ลองยัดทุกอย่างให้มันจบในภาคเดียวดู ความจริงทำได้นะ และเนื้อหาจะดูแน่นมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่สิ่งที่แนะนำอยู่ดี มหากาพย์จะเป็นสิ่งที่มีเนื้อเรื่องซับซ้อนในระดับหนึ่ง ดังนั้นหากยังไม่เคยมีประสบการณ์ที่เขียนนิยายจบก็ควรที่จะพยายามหลีกเลี่ยงมันไปก่อน ทางที่ดีควรคิดพล็อตที่ง่ายไม่ซับซ้อนและจบลงด้วยการผ่านเหตุการณ์ใหญ่เพียงเหตุการณ์เดียวจะดีกว่า ด้วยการตั้งเป้าว่าจะให้มันสิ้นสุดภายใน 100 – 120 หน้า

    ทำไมต้องมีจำนวนหน้าเท่านี้ ? ก็เพราะมันเป็นจำนวนหน้าที่สนพ.ชอบกำหนดน่ะสิ !

    วางพล็อตให้แน่นหนา – ความจริงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น นักเขียนมืออาชีพหลายคนมักจะปล่อยให้ตัวละครของตนดำเนินเรื่องด้วยตนเองแล้วนักเขียนค่อยเก็บเกี่ยวผลลัพธ์ในภายหลัง แต่สำหรับมือใหม่พยายามอย่าทำอย่างนั้น และอย่าด้นสดด้วย ก่อนจะเริ่มลงมือเขียนให้กำหนดพล็อตและวางโครงเรื่องอย่างละเอียดลงไป ให้รู้หมดว่า What Who Where When Why How หรือ5W1H ไม่เพียงแค่นั้น แม้พล้อตกับโครงเรื่องจะเป็นสิ่งที่เขียนอย่างคร่าว ๆ แต่หากเขียนถึงช่วงคลายปมของเรื่อง ก็ควรที่จะลงรายละเอียดให้กับมันด้วย เพราะจะได้รู้ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ และไม่เพียงเท่านั้นถ้าเป็นไปได้เขียนพล็อตของแต่ละตอนที่จะเขียนลงไปด้วยเลย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้รู้ได้ว่าแต่ละตอนที่เขียนมีเนื้อหาหรือไม่ และสามารถคาดคะเนจำนวนหน้าของนิยายที่กำลังเขียนได้ระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน

    หากทำเช่นนี้รับรองว่าอาการตันหรือออกทะเลจะน้อยลงอย่างแน่นอน ยังไม่รวมถึงการปันใจไปเรื่องใหม่ด้วย เพราะหากคิดพล็อตให้แน่นหนา ยังไงเวลาคิดพล็อตใหม่ก็คงไม่ค่อยอยากละไปเขียนเรื่องนั้นที่มักจะคิดได้แค่ไม่กี่บรรทัดหรอก เพราะยังไงก็อยากเขียนที่อุตส่าห์คิดจนละเอียดเช่นนี้ต่อมากกว่า

    แต่งเรื่องราวให้สนุก – เป็นสิ่งหนึ่งที่นักเขียนทุกคนปรารถนาจะให้เป็นอยู่แล้ว แต่... ในที่นี้พูดถึงความสนุกของตัวนักเขียนไม่ใช่นักอ่าน ! อันนี้สำคัญหากคนเขียนไม่สนุกแล้วคนอ่านจะสนุกได้อย่างไร ? ทว่าที่นี้มีสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการทำให้นักเขียน รู้สึกอยากที่จะเขียน และผูกพันกับเรื่องที่เขียนมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการคิดหาพล็อตใหม่ที่น่าสนใจเข้าไป การคิดหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหรือมุกตลกต่าง ๆ ซึ่งก็แล้วแต่วิธีการที่จะทำให้นักเขียนรู้สึกไปกับเนื้อเรื่องที่ตนเองแต่ง

    โดยหากรู้สึกสนุกกับเรื่องที่กำลังเขียนอยู่ได้ เรื่องขี้เกียจเขียนจะไม่มีแน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็อาจจะอยากเขียนแต่ลงมือเขียนไม่ได้ ทว่านั่นไม่ใช่ปัญหาสักเท่าไหร่ เช่นกันเรื่องของไม่มีเวลาด้วย หากใจอยากจะเขียนยังไงก็หาเวลาได้อยู่ดี เช่นเจียดจากเวลานอนเป็นต้น

    พยายามลงมือเขียน – อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นปัญหา เพราะหลายคนไม่อาจจะสร้างอารมณ์ร่วมที่จะเริ่มเขียนนิยายได้ หรือไม่พยายามเขียนแล้ว แต่กลับไม่สามารถเขียนได้ดีดั่งที่ควรจะเป็น ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาคือ ลงมือเขียน ! โดยอาจจะเริ่มจากการคิดพล็อตวางพล็อต หรือสรรหาเรื่องสนุกที่ต้องการจะใส่ลงไปในเรื่องก็ได้ ขอเพียงได้เขียนลงไป หรือจะทำการวางทรีตเมนต์ (พล็อตเรื่องระดับละเอียด) ในเนื้อเรื่องก่อน เพื่อเป็นการนำทาง หลังจากนั้นก็เขียนซ้ำอีกที หรือไม่ก็แค่วลีของบทพูดหรือบทบรรยายสั้น ๆ โดยเขียนไปก่อนแล้วเรื่องอื่นค่อยว่าทีหลัง เพราะสิ่งนี้จะเป็นวิธีการที่ทำให้มีอารมณ์เขียนได้มากที่สุด

    หนีไกลการรีไรท์ – ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่นักเขียนหน้าใหม่มักจะวนลูปราวกับติดอยู่ใน Endless Eight เพราะเขียนไปสักพักก็กลับมารีไรท์ใหม่ วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากปัญหาไม่ได้มาจากพล็อต พยายามอย่ารีไรท์ใหม่จะดีที่สุด เขียนไปก่อนให้มันจนจบ แล้วเว้นวรรคช่วงโตเพื่อกลับมารีไรท์ใหม่อีกรอบก็ยังไม่สาย ซึ่งส่วนใหญ่การรีไรท์มักจะเกิดจากการที่นักเขียนไม่สามารถวางพล็อตได้แน่นหนาจนเกิดออกทะเลหรือตันขึ้นมา ไม่เช่นนั้นก็วางพล็อตเป็นมหากาพย์ไปจนเขียนนานเข้าฝีมือก็เริ่มพัฒนา พอกลับมาดูตอนแรก ๆ ก็เห็นจุดด้อยแล้วกลับมารีไรท์ใหม่ ซึ่งฝีมือมันจะพัฒนาเรื่อย ๆ นั่นแหละ ยิ่งช่วงเริ่มเข้าสู่การเป็นนักเขียน ฝีมือก็ค่อนข้างพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากกังวลเรื่องนี้ก็จะทำให้กลับมารีไรท์บ่อย ๆ จนกระทั่งเริ่มเบื่อและเลิกเขียนไปในที่สุด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ พยายามอย่ารีไรท์จะดีกว่า

    ไม่ขึ้นกับจำนวนนักอ่าน – เป็นปัญหาหนึ่งที่เจอกันมาก ไม่มีนักอ่านเลยงอนไม่เขียนต่อ ซึ่งบางคนร้ายหนัก เพราะแค่เขียนเกริ่นก็ตั้งหน้าตั้งตารอคนอ่านและด่าทอนักอ่านเงาเสียแล้ว ...อย่าทำเช่นนั้น ! สนใจเรื่องของนิยายเพียงอย่างเดียวก็พอ อย่าพึ่งสนนักอ่าน หากเขียนไประดับหนึ่งนักอ่านจะตามมาเอง ซึ่งเพราะการที่เป็นเรื่องสั้นเขียนจบได้เร็วบางทีอาจจะเขียนจบโดยไม่มีคนเข้ามาดูสักเท่าไหร่ก็เป็นได้ แต่อย่าน้อยใจ ! เพราะนักเขียนที่หลงเข้ามาดูในช่วงแรกนี่แหละจะกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเราและติดตามเราไปเรื่องใหม่อีก ซึ่งเมื่อเรื่องใหม่คนอ่านเยอะขึ้น หน้าใหม่ก็จะเข้ามาเสริมเอง ดังนั้นอย่าสนจำนวนนักอ่านมากนักจะดีกว่า เขียนเรื่องของเราไปเรื่อย ๆ ก็พอ

    นอกจากนี้ การที่สนจำนวนคนอ่านมากกว่าเรื่องที่เขียน แปลว่าเรายังมีความผูกพันกับเรื่องของเราน้อยอยู่นั่นเอง หากมีความผูกพันมาก ถึงคนอ่านจะน้อยก็ยังเขียนต่อ แต่หากคนอ่านน้อยแล้วหยุดเขียน แปลว่าเรายังทุ่มเทกับนิยายของเราไม่มากพอนั่นเอง

    สรุป: หากอยากเขียนให้จบ อย่าวางพล็อตให้เป็นมหากาพย์ แต่วางโครงเรื่องให้แน่นหนาและแต่งเรื่องให้สนุก พยายามเขียนโดยไม่รีไรท์ และอย่าสนใจจำนวนนักอ่าน

    ................

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×