ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเทคนิคการเป็นนักเขียนออนไลน์

    ลำดับตอนที่ #23 : - ความเห็นส่วนตัว: ภาษาวิบัติ -

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 745
      6
      27 พ.ค. 55

    ความเห็นส่วนตัว: ภาษาวิบัติ

     

    ภาษาวิบัติคืออะไร ? สำหรับคำนี้ยังค่อนข้างมีความหมายที่คลุมเครือซึ่งทำให้ไม่อาจจะชี้วัดได้ว่าคำใดที่เข้าข่ายภาษาวิบัติอย่างแท้จริง แต่ในความเห็นส่วนตัว ภาษาวิบัติคือคำที่มีลักษณะผิดหลักภาษาหรืออาจเพื่อให้ดูแปลกตา รวมไปถึงเพื่อหลีกเลี่ยงการคัดกรองของซอฟต์แวร์ดักจับคำหยาบคาย ดังนั้นอะไรบ้างที่เป็นภาษาวิบัติ ? หากคิดตามคำนิยามก่อนหน้า คำเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นภาษาวิบัติ ซึ่งได้แก่ นู๋(หนู) จัย(ใจ) จิง(จริง) คร๊(ค่ะ)’ ‘เปงรัย(เป็นไร) ‘iทพ(เทพ)’ ‘กุ(กู) เป็นต้น

    แล้วอะไรบ้างที่ไม่ถือว่าเป็นภาษาวิบัติ ? ในส่วนตัวคิดว่า คำที่เลียนเสียงพูด ใช้เพื่ออรรถรสในการสื่อความหมาย แต่ไม่ผิดหลักของภาษา จะไม่ถือว่าเป็นภาษาวิบัติ เช่น มหาลัย(มหาวิทยาลัย) ชั้น(ฉัน) เมิง(มึง) ว้าย เธอว์(เธอ) งุงิ นอกจากนี้การเขียนคำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ พลั้งเผลอ หรือเข้าใจผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นภาษาวิบัติด้วยเช่นกัน เพราะทุกคนยอมรับว่าคำนั้นเป็นคำที่ผิด และหากคนเขียนได้รับรู้ถึงความผิดพลาดนั้นจนได้เขียนหรือแก้ไขใหม่ก็ย่อมไม่เขียนแบบเดิมอย่างแน่นอน

    แล้วภาษาวิบัติมันไม่เหมาะสมอย่างไร ?

    เรื่องนี้มักจะมีข้ออ้างจากกลุ่มคนที่สนับสนุนภาษาวิบัติว่า ภาษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีภาษาวิบัติเกิดขึ้น แต่นั่นเป็นข้ออ้างที่ผิด ! เพราะภาษาที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากความไม่รู้ของผู้ใช้ รวมไปถึงการต้องการพัฒนาภาษาโดยผู้ชำนาญจริงทางด้านภาษา สำหรับกรณีที่เกิดจากความไม่รู้นั้น ข้ออ้างนี้ควรจะเลิกล้มไปได้แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้มีการสังคายนาภาษาอยู่เสมอ เช่นราชบัณฑิตยสถานที่จัดทำพจนานุกรมให้สามารถอ้างอิงศัพท์ที่ถูกต้องได้ง่าย ดังนั้นการจำคำผิดเพราะจากความไม่รู้จึงไม่สมควรจะเกิดขึ้น ส่วนกรณีของการดัดแปลงภาษาโดยเหล่าผู้ชำนาญการเองก็ได้แก่บรรดาเอกกวีชั้นครูทั้งหลายที่ประดิษฐ์คำใหม่เพื่อใช้ในการแต่งลงในกาพย์ โคลง กลอน ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองทั้งหลายให้มีความลื่นไหลและสวยงามกลับกันก็ยังถูกหลักภาษาอยู่เสมอ ทว่าภาษาวิบัติในปัจจุบันสร้างโดยผู้ที่น่านับถือเหล่านั้นและสาเหตุที่สมควรเหล่านั้นหรือไม่ ? ส่วนใหญ่เป็นการดัดแปลงที่ไม่ได้คิดอะไรทั้งสิ้น เพียงแค่ความมักง่าย ไร้ซึ่งความรู้ และขาดความคิดอย่างรอบคอบเพียงเท่านั้น และอย่าลืมว่าแม้ภาษาจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่มันก็เปลี่ยนได้สองทางคือเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง เจริญขึ้นจะถูกเรียกว่าวิวัฒน์ เสื่อมลงจะเรียกว่าวิบัติ นั่นจึงไม่แปลกอะไรที่ภาษาเหล่านี้จะถูกเรียกว่าวิบัติ เพราะไม่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์เดิมที่มีมาของหลักภาษา สร้างขึ้นมาโดยไม่จำเป็น ทั้งยังไร้ประโยชน์นั่นเอง

    แล้วแบบนี้ ภาษาวิบัติสมควรใช้หรือไม่ ?

    คำตอบคือใช้ให้ถูกที่และถูกทาง หากจะพูดเป็นการส่วนตัว หรือไม่ใช่ทางการจะใช้ก็ไม่ว่า แต่อย่าลืมว่าภาษาวิบัติหลายครั้งจะสื่อสารให้ตรงประเด็นได้ยาก การใช้ภาษาวิบัติทำให้อีกฝ่ายต้องแปลภาษาไทยเป็นไทยอีกรอบ ไหนจะสามารถสื่อถือความไม่จริงจังและขาดความรู้ของผู้ใช้ได้โดยง่าย หากต้องการพูดแบบให้อีกฝ่ายเชื่อถือ ภาษาวิบัติไม่สมควรใช้ หากต้องการให้อีกฝ่ายเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่ออย่างตรงประเด็น ภาษาวิบัติก็ไม่ควรมี นอกจากนี้แม้แต่การพูดเล่นเองก็เช่นกัน หากใช้มากไปก็สามารถทำให้อีกฝ่ายรำคาญได้เพราะอ่านสิ่งที่เราพิมพ์ไม่ออก และหากเป็นที่สาธารณะเช่นเว็บบอร์ดก็ไม่สมควรใช้โดยไม่จำเป็น ใช้ได้บางคำเพื่อสื่ออารมณ์ แต่หากใช้จนมากเกินไปจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อผู้อื่น อาจทำให้มีคนจำไปใช้อย่างผิด ๆ ซึ่งตรงส่วนนี้ควรระวังอยู่เสมอ นอกจากนี้หากใช้บ่อยจนเกินไปก็อาจจะทำให้ชินจนเผลอติดมันมาโดยไม่จำเป็นได้เช่นกัน

    แล้วภาษาวิบัติสมควรใช้ในนิยายหรือเปล่า ?

    คำตอบคือไม่ควรใช้แม้แต่น้อย ! สนพ.ทุกแห่งล้วนแต่ต่อต้านภาษาวิบัติทั้งนั้น หากใช้ ต้นฉบับนั้นจะไม่ผ่านอย่างแน่นอน นอกจากนี้มันยังสื่ออารมณ์ได้ยาก เพราะผู้อ่านต้องแปลไทยเป็นไทยก่อนแทนที่จะเสพอารมณ์จากศัพท์ที่ตรงตัวเข้าสู่สมองโดยตรง หรือแม้กระทั่งฉากเคร่งเครียด หากมีภาษาวิบัติโผล่มาก็จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกตลก (ในตัวผู้เขียน) ได้ในทันที และไม่เพียงแค่ภาษาวิบัติเท่านั้น พวกภาษาพูดทั้งหลาย ในหลายสนพ.เอง ยังไม่ให้ใช้ในนิยายเลยด้วยซ้ำ ทว่าสำหรับส่วนตัวแล้วสามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้ในบทพูดหรือบทบรรยายความคิดของตัวละครเท่านั้น หากเป็นบทบรรยายเหตุการณ์หรือการกระทำ แม้แต่ภาษาพูดเองก็ไม่สมควรใช้

    สรุป: สำหรับภาษาวิบัติสมควรที่จะใช้ให้น้อยที่สุด เพราะมันไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร และหากจะเขียนนิยายแล้ว ภาษาวิบัติเป็นสิ่งที่สมควรจะหลีกเลี่ยงอย่างสิ้นเชิง

    ................

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×