คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #15 : - ออกทะเลทำไงดี !? -
- ออกทะเลทำไงดี !? -
ออกทะเลคืออะไร ? ออกทะเลเป็นศัพท์แสลงที่แปลได้ว่าออกนอกประเด็นจนกู่ไม่กลับ ดังนั้นการออกทะเลในการแต่งนิยาย คือการที่เรื่องของเราถูกแต่งจนออกนอกประเด็นเสียแบบไม่อาจจะกลับมาสู่เนื้อหาเดิมได้นั่นเอง
การออกทะเลเกิดขึ้นได้อย่างไร ? จากความเห็นส่วนตัวมีด้วยกันสองเหตุผลดังต่อไปนี้
ไม่ได้วางโครงเรื่อง หรือวางแล้วแต่ไม่ชัดเจนพอ เจอค่อนข้างบ่อยในนักเขียนมือใหม่... แม้แต่นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นก็ยังเป็น ด้วยการที่กำหนดจุดหมายของเรื่องไว้ไม่ดีพอจึงทำให้ผู้แต่งไม่ทราบได้ว่าเรื่องที่แต่งควรจะดำเนินไปตรงไหนและจะจบอย่างไร รวมถึงบางครั้งจุดต่อของเรื่องก็ยากเกินไปที่จะดำเนินให้ต่อไปถึงกันได้ ทำให้เวลาเขียนออกมากลับหลุดไปในแนวอื่นจนต่อไม่ติดกันแทน ดังนั้นเพื่อที่จะไม่ให้เรื่องออกทะเล โครงเรื่องที่แน่นเพียงพอจึงจะช่วยเหลือในตรงนี้ได้ และที่สำคัญจุดใดที่คิดว่าเชื่อมต่อถึงกันยากก็ลองเขียนอธิบายเนื้อเรื่องอย่างละเอียดเฉพาะตรงจุดนั้นก็ได้เพื่อที่จะให้เวลาเราเริ่มเขียนจริงจะได้ไม่ลืม และรู้ว่าวิธีการดำเนินเรื่องที่คิดเอาไว้จะพาไปถึงจุดหมายได้จริงแค่ไหน
สรุป: การวางโครงเรื่องเป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่ให้ออกทะเล การคิดเรื่องหนึ่งควรคิดคร่าว ๆ ตั้งแต่เริ่มไปถึงจบ และในเนื้อเรื่องส่วนที่เชื่อมต่อถึงกันได้ยาก อย่าลืมที่จะเขียนอธิบายไว้ให้ละเอียด เพราะหากไม่เขียนเวลาเขียนจริงอาจจะไม่สามารถหาทางต่อติดเอาได้
คุมความติสต์ของตัวเองไม่ได้ ส่วนนี้เจอในนักเขียนที่ได้ในทุกระดับ บางครั้งผู้เขียนต้องการเขียนออกนอกโครงเรื่องที่วางไว้โดยคิดว่าเรื่องที่ได้จะสนุกมากขึ้น ซึ่งมันก็ดี แต่การกระทำเช่นนี้บางครั้งมันจะทำให้ไม่สามารถดำเนินตามโครงเรื่องที่วางเอาไว้ได้ และเริ่มที่จะหลุดออกจากโครงเรื่องไปเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดกว่าจะรู้ตัวก็ออกนอกเรื่องไปเสียจนกู่ไม่กลับเสียแล้ว ดังนั้นทางทีดี ถ้าจะติสต์ขึ้นมาก็ควรจะเช็คโครงเรื่องอยู่ตลอดว่าพอจะสามารถกลับมาจุดเดิมที่วางไว้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็หาทางหยุดหรือไม่ก็ไปปรับโครงเรื่องที่เหลือซะ
สรุป: ระงับความติสต์ไว้บ้าง ถ้าระงับไม่ได้ ก็ช่วยไปแก้โครงเรื่องที่เหลือทั้งหมดด้วย ไม่งั้นหาทางกลับไม่เจอแน่
คุมตัวละครของตัวเองไม่ได้ ส่วนนี้เจอในนักเขียนที่เริ่มระดับสูงขึ้นไปแล้ว ซึ่งนักเขียนหลายคนจะให้ตัวละครโลดแล่นในโครงเรื่องด้วยตัวของมันเอง เขียนโดยอ้างอิงจากนิสัย หลังจากนั้นก็จับยัดเหตุการณ์ในโครงเรื่องเข้าไปหา ทว่าหลายครั้งปัญหาที่พบคือ... การตัดสินใจของตัวละคร มันไม่ยอมทำตามโครงเรื่องที่วางเอาไว้น่ะสิ ! เพราะถ้าทำแล้วมันจะไม่สมเหตุสมผล หรือไม่ก็ขัดกับนิสัยของตัวละครนั้น ซึ่งมันก็เป็นปัญหาที่ยากทีเดียว การจะป้องกันเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ การแค่วางโครงเรื่องให้ละเอียดไม่สามารถทำได้เสมอไป ดังนั้นอันนี้จึงต้องพึ่งจินตนาการของผู้เขียนแล้วว่าจะหาเหตุผลใดมายัดเยียดให้ตัวละครเดินตามไปทางนั้นได้ หากไม่เช่นนั้นก็ต้องแก้โครงเรื่องที่เหลือกันไปเลย
สรุป: การคุมตัวละครไม่อยู่ ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะผู้เขียนต้องใช้จินตนาการมากในการลากตัวละครให้กลับเข้าที่ บางทีอาจจะลองเปลี่ยนวิธีด้วยการปรับโครงเรื่องในจุดนั้นแทนก็ได้ หากหาวิธีพากลับไม่เจอจริง ๆ
หลังจากรู้สาเหตุไปแล้ว คราวนี้จะกลับฝั่ง (เข้าสู่โครงเรื่องเดิม) จะทำอย่างไร ?
สำหรับวิธีการกลับเข้าฝั่ง ก็คงต้องแล้วแต่ผู้เขียน ซึ่งจะยากจะง่ายก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เขียนรวมถึงการออกทะเลของเรื่องนั้น หากผู้เขียนยังไม่เก่ง และเรื่องนอกจากออกทะเลแล้วยังจะออกอ่าวไทยเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกแบบนั้น การที่จะวกเข้าฝั่งคงไม่มีทางทำได้ บางทีการรื้อตั้งแต่ตอนที่เริ่มออกทะเลอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดได้เช่นกัน ทว่าหากมีฝีมือสักหน่อยและยังออกทะเลไม่มาก ก็ลองย้อนกลับไปดูโครงเรื่องก่อน ดูว่าจุดไหนที่ยังพอแก้พอเชื่อมได้ ก็เริ่มแก้ตรงที่จุดนั้นนั่นแหละ
สรุป: การแก้ปัญหาหลังจากออกทะเลไปแล้วมีสองวิธีคือการเชื่อมโครงเรื่องกับเนื้อหาส่วนที่ออกทะเล ถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องดูว่าส่วนไหนที่เริ่มออก แล้วเริ่มเขียนใหม่ตั้งแต่จุดนั้นไปเลย
................
ความคิดเห็น