ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเทคนิคการเป็นนักเขียนออนไลน์

    ลำดับตอนที่ #29 : - จรรยาบรรณนักเขียน -

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.88K
      20
      4 พ.ค. 56

    จรรยาบรรณนักเขียน

     

    จรรยาบรรณคืออะไร ? จรรยาบรรณหมายถึงมาตรฐานความประพฤติรวมถึงศีลธรรมที่ใช้ตัดสินใจเพื่อกำหนดกรอบของการกระทำของเหล่าบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในบางอย่าง ว่าผิดถูก สมควรไม่สมควรหรือไม่อย่างไร

    ทว่านักเขียนไม่ใช่วิชาชีพ การกำหนดกรอบของจรรยาบรรณจึงไม่ถูกร่างออกมาอย่างแน่ชัดเหมือนกับสิ่งอื่น บทความนี้จึงเป็นการสรุปรวมสิ่งที่ต้องคำนึงในเรื่องของจรรยาบรรณด้วยตนเอง โดยไม่ได้มีหลักเกณฑ์อันเป็นทางการมากำหนดหรือตั้งเป็นมาตรฐานแต่อย่างใด

    โดยจรรยาบรรณสำหรับที่เห็นว่าควรมีสำหรับนักเขียน มีดังต่อไปนี้

    สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง ไม่แอบอ้างหรือหาประโยชน์จากผลงานของผู้อื่น – หรืออาจเรียกว่า อย่าลอก นั่นเอง ทว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดกับกรณีนี้ เพราะมันหมายถึงการที่ผู้เขียนไม่สมควรจะหยิบผลงานของผู้อื่น ไม่ว่าจะข้อมูล เนื้อหา ตัวละคร จากผู้อื่นมาใช้ใน จริงอยู่ที่ผลงานของผู้อื่นอาจจะสามารถนำมาเป็นตัวอย่างหรือแรงบันดาลใจได้ แต่ต้องไม่ให้ผลงานของเราที่มาจากสิ่งเหล่านั้นยังมีกลิ่นอายของผลงานเดิมอยู่ อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีของแฟนฟิค หรือเรื่องล้อเลียน ก็ต้องให้ผู้อ่านตระหนักว่ามันเป็นผลงานของใครโดยไม่แอบอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของไอเดียทั้งหมด แน่นอนว่ารวมถึงการหาประโยชน์ในเชิงธุรกิจจากผลงานที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้ให้อีกฝ่ายรับรู้และยินยอมถึงการกระทำนี้ด้วยเช่นกัน ทว่าสำหรับกรณีที่ผลงานต้นฉบับเป็นบุคคลสำคัญที่ล่วงลับไปนานแล้ว หรือเรื่องราวที่ถูกแต่งผ่านมาหลายยุคหลายสมัยจนถือว่าเป็นวรรณกรรมอมตะ สามารถที่จะหยิบมาใช้แบบโต้ง ๆ ได้ เพราะคนอ่านจะรับรู้ถึงเจ้าของที่แท้จริงในผลงานนั้น และไม่ได้เป็นหาประโยชน์ที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์อีกต่อไป

    สร้างสรรค์ผลงานที่เหมาะสมกับผู้อ่าน – หลายเรื่องไม่มีผิดไม่มีถูก เช่นเรื่องความรุนแรง เรื่องทางเพศ หรือเรื่องที่หมิ่นเหม่ศีลธรรม หากเขียนให้ดีอาจจะเป็นการสอนสั่งแทนที่จะกลายเป็นยาพิษได้ หรือไม่มันก็เป็นเพียงรสนิยมแขนงหนึ่งอันแตกต่างตามบุคคลและไม่มีผิดมีถูก ทว่ามันไม่จำเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะบางเรื่องแม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าเขียนไปเพื่อสั่งสอนหรือเป็นแค่รสนิยมอย่างหนึ่ง ทว่าบางครั้งสำหรับผู้ที่ไม่มีวิจารณญาณที่จะอ่านขาดในเรื่องเหล่านั้นก็อาจจดจำในเชิงลบอย่างเดียวได้ ตัวอย่างเช่นเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จริงอยู่ที่พวกเขาเหล่านั้นสามารถแยกผิดชอบชั่วดีได้ แต่พวกเขาก็ยังอ่อนแอเกินกว่าที่จะหลุดพ้นจากการซึมซับของยาพิษที่แทรกซึมเข้าไปทีละนิด ซึ่งแม้จะไม่เห็นผลวันนี้ก็หาใช่จะไม่มีวันบังเกิดผลขึ้นมาในภายหลังเลย ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงควรจะตระหนัก ว่าถึงแม้เรื่องที่ตนเองเขียนจะดีเพียงใด แต่ใช่ทุกคนจะแยกแยะว่าสิ่งไหนแย่หรือสิ่งไหนดีได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักเขียนที่จะต้องสร้างผลงานที่เหมาะกับผู้อ่าน เช่นไม่ลงเรื่องที่ไม่เหมาะสมยังวรรณกรรมสำหรับเด็กหรือเยาวชน หรือเผยแพร่วรรณกรรมแนวอิโรติกยังเว็บไซต์สำหรับเด็กเป็นต้น

    ไม่เขียนสิ่งที่กล่าวร้ายหรือทำให้สถาบันหรือบุคคลอื่นใดต้องเสื่อมเสีย – เป็นเรื่องที่สมควรตระหนักอย่างยิ่งว่าผลงานที่ได้สรรค์สร้างขึ้นมาจะต้องไม่ทำให้มีใครเสียหาย จริงอยู่ที่การเขียนถึงสถาบันบางอย่างเพื่อเสนอข้อเท็จจริงและแนะนำให้สิ่งนั้นได้พัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ดีและสามารถทำได้ แต่มันไม่ได้รวมถึงการกล่าวร้ายเพื่อให้เกิดความเกลียดชังด้วยเจตนาในเชิงลบ อีกทั้งไม่ว่าจะปรารถนาดีหรือไม่แต่ถ้ากรณีที่เกิดไม่ใช่สถาบัน หากเป็นตัวบุคคลโดยตรงอันไม่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับสถาบันอื่นหรือหน้าที่ความเป็นไปอื่นในเรื่องความเป็นไปอย่างส่วนตัวจะถือไม่สมควรในทุกกรณี เพราะการจะบอกเล่าให้คนผู้นั้นพัฒนาตนเองสามารถทำได้แบบส่วนตัว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาให้บุคคลอื่นต้องรับรู้ด้วย ทั้งนี้อาจรวมถึงการนำข้อมูลหรือเรื่องราวส่วนตัวของผู้อื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน ดังนั้นแค่เขียนจนทำให้รับรู้ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นใครก็ถือว่าผิดแล้ว

    ไม่มอบความรู้ที่ผิดเพี้ยนกับผู้อ่าน – ค่อนข้างเจอมากในวรรณกรรมหลายประเภท ที่มักจะใส่ความรู้บางอย่างเข้าไปในเรื่อง ทว่าความรู้ที่ใส่นั้นกลับเป็นสิ่งที่ผิดจากความเป็นจริง ซึ่งมักจะเกิดจากการนำความรู้ที่บอกต่อ ๆ กันมาเขียนอีกทีหนึ่ง โดยความรู้ในตรงนี้จะถ่ายทอดความรู้ที่ผิดเพี้ยนสู่คนอื่นอย่างไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นจึงสมควรที่จะค้นคว้าเสียก่อนว่าความรู้ที่เราเขียนมีข้อเท็จจริงเป็นแบบใด อย่างไรก็ตามหากไม่รู้จริงในความรู้นั้นก็ควรจะหลีกเลี่ยง หรือทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าความรู้ที่ตัวเองเขียนเป็นเรื่องสมมติที่ไม่ใช่เรื่องจริงอยู่เสมอ

    เขียนสิ่งที่ดีให้เป็นสิ่งที่ดี และสิ่งที่ไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ไม่ดี – นำมาจากคำพูดของสมาชิกผู้หนึ่งในบอร์ดนักเขียน เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความดีงามของศีลธรรมในเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เรื่องเลวร้ายไม่ใช่สิ่งที่เขียนไม่ได้ หากมันเขียนได้ แต่ต้องทำให้ผู้อ่านรับรู้เสมอว่ามันไม่ดีอย่างไร เช่นกันสำหรับเรื่องที่ดี การจะเขียนโดยให้ผู้อ่านรับรู้ว่าทำดีแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายจนทำให้ผู้อ่านไม่อยากทำดีก็ไม่สมควรจะเกิดขึ้น ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องตระหนักไว้เสมอ ว่าต้องเขียนสิ่งที่ดีให้ผู้อ่านรับรู้ได้ว่ามันคือสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่สมควรทำ กลับกันหากจะเขียนสิ่งที่ไม่ดีก็ต้องทำให้ผู้อ่านรับรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่สมควรทำด้วยเช่นกัน

    ใฝ่รู้และยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง – เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างยอมรับกัน ว่าความรู้ทั้งหมดทั้งมวลในโลกนี้มีมากเกินกว่าที่ชั่วชีวิตคนหนึ่งจะมีได้ทั้งหมด โดยยิ่งการที่มีความรู้มาก ก็จะสามารถทำให้มีเรื่องราวที่จะเขียนมาก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระตือรือร้นที่จะใฝ่รู้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อนักเขียน ทว่าไม่ใช่ทั้งหมด ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างผลงานหนึ่งขึ้นมาได้ หากยังประกอบกับแนวคิดและฝีมือในการเขียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถพัฒนาได้หากไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่รู้หรือแนวคิดที่แตกต่าง แม้จะตรงกันข้ามก็ไม่ควรปฏิเสธหากยอมรับและหลอมรวมสิ่งที่มีอยู่เดิมจนกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ กระนั้นก็ไม่ควรเชื่อสิ่งที่รีบรู้เข้ามาเสียทั้งหมดหากต้องผ่านวิจารณญาณว่าสิ่งไหนเชื่อได้หรือไม่ได้เสียก่อน จึงจะได้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่รับเข้ามาได้มากที่สุด

    ไม่โฆษณาตนเองหรืออวดอ้างผลงานให้ดูดีกว่าความเป็นจริง – อาจดูไม่สำคัญ แต่สำหรับวิชาชีพอื่นถือเป็นหลักสำคัญของจรรยาบรรณที่ต้องยึด เพราะคนทั่วไปอาจเข้าใจผิดในความสามารถและผลงานจนนำพาไปสู่การเลือกเสพและยกย่องผลงานที่ไม่มีคุณภาพแทนที่จะสนับสนุนผลงานอื่นที่มีคุณภาพดียิ่งกว่า จนนำพามาซึ่งปัญหาได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือนำเสนอด้วยการตลาดและตัวบุคคลแทนที่จะเป็นคุณภาพของตัวผลงานโดยตรง จึงถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ

    รักในภาษา – เป็นอีกสิ่งที่ควรจะตระหนัก นักเขียนใช้อักษรและภาษาในการสื่อสารเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องมีทั้งความเคารพและรักในภาษา จึงสามารถดึงความสามารถออกมาใส่ผลงานได้ดี รวมถึงการพัฒนาฝีมือในการเขียนให้สูงยิ่งขึ้นไปด้วย

    มีความรับผิดชอบต่อผลงาน – สิ่งสุดท้ายที่นักเขียนจำเป็นจะต้องตระหนัก เมื่อได้ทำอะไรหรือสร้างสรรค์ผลงานใดออกไปแล้ว ผู้แต่งจำเป็นจะต้องมีสำนึกในความรับผิดชอบต่อผลงานนั้น หากเริ่มเขียนออกไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนก็ควรอย่างยิ่งที่จะแต่งให้มันจบ หรือหากผลงานมีผลกระทบในทางใดต่อสังคมก็ควรจะรับผิดชอบสิ่งที่ทำลงไปอยู่เสมอ

    สรุป: จรรยาบรรณอาจจะไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นหลักและแนวทางปฏิบัติที่ทุกควรสมควรจะทำตาม

    ................

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×