ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ลากกระเป๋าเดินทาง ลัดฟ้าสู่ดินแดนแห่งเบียร์

    ลำดับตอนที่ #16 : การศึกษาไทย - เยอรมัน แตกต่างกันยังไง?

    • อัปเดตล่าสุด 3 ธ.ค. 56


    วันนี้มายาว ขอพูดถึงระบบการศึกษา เปรียบเทียบไทย-เยอรมันหน่อย ขอเอาตามที่รู้แล้วกัน เผื่อใครคิดว่าอยากมาเรียนเยอรมันจะได้พิจารณาดีๆนะจ๊ะ

    ระบบการศึกษาเยอรมัน แบ่งเป็นลำดับดังนี้

    1.Kindergrippe (คินเดอร์กริปเพ่อ) หรือเตรียมอนุบาล
    2.Kindergarten (คินเดอร์การ์เท่น) หรืออนุบาล
    3.Grundschule (กรุนด์ชูเล่อ) หรือโรงเรียนประถม โดยจะมีตั้งแต่ Klasse (Grade) 1-4 หรือ ป.1-4

    พอจบ Grundschule ปุ๊บ เหล่าเด็กๆก
    ็ต้องเลือกชะตาชีวิตตัวเอง โดยจะมีแบ่งต่ออีก 4 โรงเรียน ดังนี้

    - Hauptschule (เฮ้าพ์ชูเล่อ) ถ้าแปลเป็นไทย ก็ประมาณโรงเรียนสายอาชีพ มีตั้งแต่ Klasse 5-10 เทียบเป็นไทยคือ ป.5-ม.4 โรงเรียนนี้จะเรียนวิชาเน้นปฏิบัติ ทฤษฎีไม่เยอะเท่า จบไปก็ฝึกงานในสายอาชีพ
    - Realschule (เรอัลชูเล่อ) แปลเป็นไทยคือโรงเรียนเทคนิคเฉพาะทาง อันนี้เป็นโรงเรียนปัจจุบันเราเอง โรงเรียนนี้จะเรียนเน้นสายคณิตศาสตร์ Informatik งี้ มี Klasse 5-10 เท่าเฮ้าพ์ชูเล่อ แต่พอเรียนจบแล้ว ก็จะต่อ Oberschule (โอแบร์ชูเล่อ) Klasse 11-12/13 หรือม.5-ม.6/7 แล้วแต่สายอาชีพ จบแล้วก็ไปฝึกงานจ้า
    - Gymnasium (กิมนาซิอุ้ม ไม่ใช่จิมเนเซี่ยม และไม่เกี่ยวกับกีฬา) นี่คือโรงเรียนมัธยมปกติ มีตั้งแต่ Klasse 5-12/13 หรือ ป.5-ม.6/7 แล้วแต่คน ก็ไม่รู้ว่าทำไมมี ม.7 ด้วย โรงเรียนนี้คือโรงเรียนเก่าเราที่เมืองเก่า เรียนเยอะมากกกกกกกกกกกกเว่อวี มีหมดจ้า วิทย์ คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลิกเรียนประมาณบ่ายสามกว่าๆหลายวัน 2-3 วันต่ออาทิตย์ได้มั้งรู้สึก เรียนโหด เด็กที่นี่คือของจริง พวกนางโหด จริงจัง ถึงขนาดว่าไม่มีเวลาไปเที่ยวด้วยอะคิดดู 55555555555 แต่เด็กโรงเรียนกิมนาซิอุ้ม รู้สึกว่าจะหน้าตาดีกว่านะ ไม่รู้ทำไม.. 
    #เหตุผลเดียวที่อยากกลับไปกิมนาซิอุ้ม สายนี้พอจบ Klasse 12/13 แล้ว ก็จะสอบสิ่งที่เรียกว่า Abitur (อบิทัวร์) เพื่อนำอบิทัวร์ไปต่อมหาลัย กิมนาซิอุ้มเป็นสายเดียวที่มีสิทธิ์ต่อมหาลัย หรือที่เรียกว่า Universität (อูนิเวอร์ซิแทท) นะจ๊ะ
    - Gesamtschule (เกซัมชูเล่อ) ถ้าแปลเป็นไทยจะเรียกว่าโรงเรียนบูรณาการณ์ คือรวมสามสายที่ผ่านมาเข้าด้วยกัน แต่จะเรียนน้อยกว่ากิมนาซิอุ้มนะ มีถึงเกรด 5-10 แต่ถ้าอยากจะต่อมหาลัยเหมือนเด็กกิม ต้องเรียนต่ออีก 3 ปีจ้ะ

    เท่าที่รู้มา เด็กๆจากกิมนาซิอุ้มและเรอัลชูเล่อ เมื่ออยู่ประมาณเกรด 9-10 ต้องไปฝึกงาน หรือที่เรียกว่า Praktikum นะ กิมนาซิอุ้มจะไปตอนเกรด 10 ประมาณสองอาทิตย์ ทุกคนต้องหาสถานที่เพื่อไปฝึกงานเอง แล้วเขียนรายงานว่าทำอะไรมาบ้าง น่าสนใจหรือไม่ อะไรยังไง ส่วนเรอัลชูเล่อไปตอนเกรด 9 ค่ะ ประมาณสองสัปดาห์ครึ่ง โรงเรียนอื่นไม่รู้ว่ามีมั้ย เราเคยเรียนแค่สองโรงเรียน
    ส่วนตัวคิดว่าการแยกสายตั้งแต่เด็กอยู่ ป.4 หรืออายุแค่ 9-10 ขวบนี่ โหดนะ เพราะการแยกสายมันเหมือนจะเป็นการกำหนดอนาคตเราเลยอะ แอบคิดว่าไวไปหน่อย.. ไม่ได้แยกสายมอปลายเหมือนที่ไทยด้วย ที่ไทยยังเปลี่ยนสายได้ช้ะ แต่ที่เยอรมันจะเปลี่ยนสายนี่ ยากนะ

    แล้วก็ เด็กเยอรมัน เวลาเค้าเข้าโรงเรียน จะเข้าแค่โรงเรียนในเขตของเค้าเท่านั้นนะ ห้ามไปโรงเรียนเขตอื่น ยกเว้นว่าจะย้ายบ้าน ดังนั้นไม่มีค่านิยมว่าจบมอต้นแล้วไปต่อมหิดล/เตรียมใหญ่/บดินทร์นะ ดังนั้นเด็กแต่ละคนจะรู้จักกันตั้งแต่เกิดเลยก็มี พ่อแม่เป็นเพื่อนบ้านกัน เอาลูกมาเป็นเพื่อนกันด้วย รู้จักกันตั้งแต่ประถมเลยอะไรงี

    อะ ขอแยกย่อยบ้าง ว่าไทยกับเยอรมัน บรรยากาศในโรงเรียนแตกต่างกันยังไง

    1.สภาพโรงเรียน
    เยอรมันโรงเรียนค่อนข้างต่างจากไทยมาก สภาพโรงเรียนจะเล็กกว่า ประชากรนักเรียนน้อยกว่า ไม่มีโรงอาหารใหญ่ๆ ไม่มีโต๊ะกินข้าว จะมีแค่ร้านขายขนมปังเล็กๆเท่านั้น เด็กที่นี่จะกินขนมปังกัน ไม่กิน Warm Essen (อาหารอุ่น,อาหารร้อนที่ทำใหม่ๆ) อาหารอุ่นเค้าจะกินกันกับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เด็กๆจะเตรียมขนมปังกันตอนเช้า คนละสามสี่แผ่น มีชีส เนย แล้วก็เนื้อที่จะเป็นคล้ายๆเนื้อรมควัน หน้าตาเหมือนเนื้อสดแต่กินได้เลย เค็มๆ อร่อยดี แต่เบื่อ หรือบ้างก็ใส่ผัก ใส่อะไรตามใจชอบ แล้วก็สามารถกินได้ตลอดเวลาพัก จะพักทุกคาบ ระหว่างคาบ 1 กับ 2 พัก 5 นาที, คาบ 2 กับ 3 พัก 15-20 นาที, คาบ 3 กับ 4 พัก 5 นาที คือทุกๆสองคาบจะเป็นเบรคใหญ่นั่นเอง ไม่งงช้ะ?
    ประชากรนักเรียนจะมีห้องละประมาณ 20 คน มีประมาณ 4 ห้องต่อ 1 เกรด เช่น 9a 9b 9c 9d แค่นี้ หนึ่งเกรดก็จะประมาณ 80 คน ถ้านับตั้งแต่เกรด 5 จนถึงเกรด 12 หรือโรงเรียนระดับกิมนาซิอุ้มและเกซัมชูเล่อ ก็จะประมาณ 600-700 คนได้ น้อยมาก ที่ไทยนี่ประมาณ 3000 คนเนาะ
    ห้องเรียนจะมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่นะ แต่โต๊ะเรียนจะใหญ่มาก นี่ถ้าได้โต๊ะแบบนี้ที่ไทยจะนอนแม่งเลย วางของใด้ครบ ไม่มีเบียดเสียดแน่นอน ห้องเรียนสะอาด ใช้กระดานดำ โรงเรียนหรูๆก็ใช้กระดานดำ เหตุผลคือมันไม่มีสารเคมี อันตรายน้อยกว่า แล้วก็ไม่มีปัญหาเหมือนไวท์บอร์ดเวลาแสงกระทบแล้วมันบลิ๊งๆ แสบตา อ่านไม่ออก ไม่มีปัญหาเรื่องผงชอล์กเพราะเค้าใช้ที่ลบกระดานเป็นก้อนฟองน้ำใหญ่ๆ มันจะซับผงชอล์กออกหมด โรงเรียนที่ไทย ยิ่งหรูยิ่งใช้ไวท์บอร์ดนะ.. นี่คือความแตกต่าง
    แล้วก็ในห้องจะมีอุปกรณ์บางอย่าง นึกถึงเวลาไปเรียนพิเศษคอร์สวิดิโอ ครูจะเอากระดาษวางบนเรื่อง แล้วมันจะฉายขึ้นทีวีช้ะ แต่ที่นี่มันจะฉายขึ้นกำแพง โดยใช้แค่ระบบแสงกับการสะท้อนกระจก แผ่นกระดาษจะเป็นกระดาษพลาสติกใสๆ เหมือนปกรายงานอะ แล้วก็เขียนเอา แสงจะฉายขึ้นบนกำแพงทำให้อ่านได้ทั่วถึงนะ
    แล้วอีกอย่างที่ประทับใจเรามาก คือเครื่องโปรเจคเตอร์ของห้องเรียน จะมีแค่พวกห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ พวกห้องเรียนหมวดๆงี้ มันจะเป็นแผ่นบอร์ดใหญ่ๆ แล้วโปรเจคเตอร์จะฉายบนบอร์ดช้ะ บอร์ดเลื่อนขึ้นลงได้ แล้วประเด็นคือ เค้าใช้กันแทนกระดานเว้ย คือมันจะมีปากกาพิเศษ ที่เขียนผ่านโปรเจคเตอร์ได้เลย เห้ยนี่มันเก๋มากเลยนะ! นี่มันเม้าส์ปากกา!! นี่ว้อนมาก อยากเอาไปให้ครูที่ไทยใช้ ครูจะได้ไม่ต้องลงทุนทำ Powerpoint นะคะ
    แล้วก็โรงเรียนจะมีระบบคอมพิวเตอร์นะ แบบนักเรียนทุกคนจะมี User เป็นของตัวเอง ถ้าจะใช้คอมพิวเตอร์ต้องล็อกอินด้วยยูสตัวเอง เวลาส่งงาน หรือดูงานของตัวเองก็จะมีในยูสตัวเอง อันนี้ดี น่าประทับใจสุดๆ ดูหรูหรา
    ที่ส่วนล็อบบี้ของโรงเรียน จะมีทีวีเครื่องนึงที่จะบอกว่า วันนี้ห้องไหนไม่มีเรียนคาบอะไรบ้าง, ครูอะไรจะเข้ามาแทน, ครูคนไหนป่วย อันนี้คือดี ชอบมาก
    แล้วก็ เด็ก/ครูที่นี่จะค่อนข้างตรงเวลา เข้าเรียนต้องตรง ครูเข้าสอนตรงเวลา ถ้าเลทไม่มีสอนเพิ่ม ออดหมดคาบดังคือทุกคนลุก เก็บของ เปลี่ยนห้องเลย ครูก็ต้องออกเหมือนกันนะจ๊ะ ไม่มีสิทธิ์รั้งเด็กให้อยู่ต่อ

    2.บุคลากรครู
    ครูเป็นหนึ่งในสิ่งที่แตกต่างกัน ครูที่นี่จะไม่ค่อยมีมาดครูเหมือนที่ไทยเท่าไหร่ ยกเว้นครูแก่ๆ ไม่ใช่ไม่น่านับถือนะ แต่ลุคของเค้าจะค่อนข้างเป็นกันเอง เข้าหาง่ายกว่า แต่ที่แปลกคือความใกล้ชิดระหว่างครูอาจารย์กับนักเรียนที่นี่ค่อนข้างห่างนะ เวลาเดินผ่านครูจะแค่พูดทักแล้วเดินผ่านเท่านั้น ไม่มีหยุดชวนคุยเยอะแยะเหมือนครูไทย นักเรียนไม่มีการกอดครู หยอกล้อกับครู คือเราว่าช่องว่างระหว่างครูไทยกับครูเยอรมันห่างกันตรงนี้ ที่ไทยสอนว่าครูคือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ต้องให้ความสำคัญ แต่ครูเยอ ครูคือผู้สอน จบ แล้วไงต่อ
    แต่ครูที่นี่แตกต่างจากครูที่ไทยตรงที่เค้าเก่ง เค้ามีความรู้จริงๆ ถามอะไรค่อนข้างตอบได้หมด มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่สอน มีศิลปะในการสอน เค้าจะไม่เขียนบนกระดานแล้วให้จดตาม ส่วนมากเค้าจะแจกชีท ให้นักเรียนอ่านเอง วิเคราะห์เอง อ่านจบก็ให้นักเรียนวิพากษ์วิจารณ์กัน ที่น่าประทับใจคือครูสามารถจำนักเรียนในห้องได้หมดด้วย จำได้ทั้งชื่อและนามสกุลเลยทีเดียว

    3.นักเรียน
    เด็กเยอรมัน โดยเฉพาะกิมนาซิอุ้ม (จำไม่ได้เลื่อนไปอ่านใหม่) ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเรียนมาก ป่วยให้ตายมันก็จะมาโรงเรียน ถ้าอยู่ในสภาพมาไหวนะ เวลาเรียนจะคุยกันน้อยมาก ส่วนมากจะกระซิบกระซาบกัน ทุกคนแทบไม่มีลอกงานหรือการบ้านกัน การบ้านทำเกือบทุกคนจริงๆ มีแค่สองสามคนไม่ทำ เวลาส่งการบ้านเราไม่ต้องส่งโต๊ะครูนะ ส่งในคาบ เด็กๆที่นี่จะเรียนกันจริงจัง โหดอลังการ แล้วทุกคนค่อนข้างเรียนเก่งกว่าเด็กไทย เพราะเค้าจะมีความรู้ความเข้าใจในบทเรียนจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะครูดีด้วย
    อีกเรื่องที่น่าประทับใจสำหรับนักเรียนคือ นักเรียนที่นี่ ทุกคนจะยกมือตอบหมด ครูจะถามเกือบตลอดเวลา นักเรียนส่วนมากจะยกมือตอบ ตอบผิดก็ไม่โดนดุ ตอบถูกก็ชื่นชม ยิ่งตอบเยอะคะแนนจิตพิสัยยิ่งดีตามไปด้วยนะจ๊ะ
    อย่างที่เคยบอกว่าเด็กที่นี่บางคนอาจจะรู้จักกันตั้งแต่เกิดเพราะบ้านใกล้กัน ทำให้เด็กสนิทกันมากๆ พ่อแม่รู้จักกัน ถึงขนาดว่าพ่อแม่เพื่อนดุเราแทนพ่อแม่เราได้เลยก็มี แต่ทำให้เด็กเกิดสังคมปิด ค่อนข้างจะรับเพื่อนเข้ามาในกลุ่มยาก กลุ่มนึงมี 2-5 คนเท่านั้น จะไม่มากไปกว่านี้ ในกลุ่มจะเรียกว่าเป็นเพื่อนแท้จริงๆ สนิทมาก ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ไม่ค่อยเปิดรับคนใหม่ๆเข้ามา และจะไม่สนใจคนอื่นๆเท่าไหร่นัก เพื่อนในห้องมีกันแค่ 20 คน ก็สนิทกันไม่หมดเท่าไหร่ ถ้าให้เทียบ เราว่าสังคมห้องเรียนไทยดูสนุกกว่า เพราะเด็กไทยมีกิจกรรมทำร่วมกันเยอะ อย่างกีฬาสีงี้ ต้องใช้ความสามัคคีเยอะมาก แต่เด็กที่เยอรมันความสามัคคีในห้องจะน้อยกว่านะ

    4.School Spirit ความเป็นหนึ่งเดียวของนักเรียนและโรงเรียน
    โรงเรียนสำหรับเด็กเยอรมันนั้น คือที่ที่เอาไว้หาความรู้ เรียน และพบปะเพื่อน โรงเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต แต่สำหรับนักเรียนไทย โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สอง เป็นสังคมขนาดใหญ่ นักเรียนไทยใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนมากกว่าอยู่บ้านในแต่ละวัน มีกฏร่วมกันเยอะแยะ ภายใต้เครื่องแบบและสัญลักษณ์ของโรงเรียน แบกความภาคภูมิใจของโรงเรียนไว้บนบ่า มีกิจกรรมร่วมกันมากมาย เด็กๆเรียน อยู่ กิน นอน(?) กันที่โรงเรียน ทำให้เกิดความรักและผูกพันกับเพื่อน ครูบาอาจารย์ และตัวสถานที่เรียน
    สิ่งนี้เองทำให้บรรยากาศในโรงเรียนของเยอรมันและไทยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เด็กนักเรียนไทยมีความภาคภูมิใจในสถาบันมากกว่าเด็กเยอรมัน ให้ความสำคัญกับชื่อโรงเรียนตัวเองมากกว่า มีความผูกพันระหว่างเพื่อนพี่น้องร่วมโรงเรียน เพราะเราเชื่อกันว่าเรามีสายเลือดเดียวกัน เราเป็นพี่น้องกัน และทำให้สังคมโรงเรียนน่าอยู่กว่าเยอะ

    จะว่าไปโรงเรียนเยอรมันและโรงเรียนไทย มีข้อดีข้อเสียต่างกัน สูสีกันนะ ด้านการศึกษา เยอรมันนำไทยไปเยอะมากๆ เด็กที่นี่เค้าเก่ง มีความรู้จริง แต่บรรยากาศการเรียนที่ไทยค่อนข้างดีกว่า เพราะสิ่งที่เรียกว่า School Spirit เนี่ยแหละ ต้องเรียกว่าดีกันไปคนละด้านเนอ

    แต่ส่วนตัว เราชอบบรรยากาศการเรียนแบบไทยๆมากกว่า สนุก มีความสุขกว่าเยอะ

    ชักภูมิใจในโรงเรียนไทย ยูนิฟอร์มไทย เข็มที่ปักอกซ้ายซะแล้วสิ..
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×