ลำดับตอนที่ #174
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #174 : คะนัง มหาดเล็กเงาะป่า
พลเสือป่า (หรือสะกดว่า คนัง) เป็นเงาะป่าที่มีชื่อเสียงด้วยได้รับการชุบเลี้ยงจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้อยู่ในพระบรมมหาราชวังเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เฝ้ารับใช้ใกล้ชิดถึงกับเรียกพระองค์ว่า “คุณพ่อ”
คนังได้เล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตของชาวซาไกถวายพระพุทธเจ้าหลวง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง "เงาะป่า" โดยให้ "คนัง" เป็นตัวเอกของเรื่อง
จากการเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชในปี 2448 ทางเมืองได้นำเงาะป่าจากพัทลุงมาถวายให้ทอดพระเนตรได้ทรงถ่ายภาพเงาะทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชายหญิงไว้หลายรูป
ร.๕ มีพระราชประสงค์จะได้ลูกเงาะมาชุบเลี้ยงไว้สักคนหนึ่ง โดยไม่ให้มีการบังคับจับกุม
จึงมีพระราชดำรัสสั่ง พระยาสุขุมนัยวินิต [เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)] สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ส่งลูกเงาะป่าไปถวายสักคนหนึ่ง
จากข้อมูลของ เงาะยัง ผู้นำเงาะให้ข้อมูลว่าในกลุ่มมีเงาะกำพร้าสี่คนซึ่งเป็นบุตรของดำขาวกับนางควาก แต่สองคนแรกคือ งอด และ แค เป็นหนุ่มและออกไปที่อื่นแล้ว เหลือเพียง ดิน กับ คนัง
และเสนออุบายให้จัดมโนราห์ให้เงาะชมจนหลับและค่อยอุ้มเด็กเงาะคนใดคนหนึ่งออกมาแต่เมื่อทำตามแผน คนังก็รู้สึกตัวไม่ยอมและร้องไห้งอแง จนต้องให้คนที่พูดภาษาซาไกได้ไปปลอบและเอาดอกไม้แดงให้จึงสงบลง
เมื่อพาคนังออกจากพัทลุงมายังเมืองสงขลา ก็ให้ ท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ) ทำการดูแล ทำการอบรมสั่งสอน คนังเองก็สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและเรียกเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงยมราชว่า "คุณพ่อ-คุณแม่ที่บ้าน" เมื่อนำตัวไปยังเมืองหลวงก็ใช้เวลาแรมเดือนระหว่างนั้นก็ทำการปลอบโยนไปด้วยจนกระทั่ง "เมื่อราบกว่าแต่ก่อนหย่อนตื่นเต้น" ก็พาเข้ากรุงเตรียมถวายตัว
เมื่อมาถึงวังหลวง มีพิธีทำขวัญคะนังกันอย่างเอิกเกริก คนังได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและเข้มงวดกวดขันในด้านสุขภาพ เพราะเกรงกันว่าจะเจ็บป่วยจากการผิดน้ำผิดอากาศที่เปลี่ยนจากป่ามาสู่เมือง มีพี่เลี้ยง 2 คนช่วยอาบน้ำแต่งตัว หัดให้ใช้ช้อนส้อมกินข้าวและภาษาพูด แต่คนังก็ไม่ได้เจ็บป่วยแต่อย่างใด
พระองค์เจ้าสายสวรีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ทรงเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนังด้วยความรัก ฝึกสอนให้รู้จักระเบียบต่างๆของราชสำนัก เพราะคนังจะต้องอยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระพุทธเจ้าหลวงในฐานะมหาดเล็กพิเศษ
ซึ่ง ร.5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงพระยาสุขุมนัยวินิต [เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)] เกี่ยวกับพระเมตตาของพระอรรคชายาที่มีต่อคะนังว่า
“...อ้ายคนังตั้งแต่มายังไม่เจ็บเลย เจ้าสาย (กรมพระสุทธาสินีนาฎ) นั้นหลงรักเหลือเกินทีเดียว เพราะมันไม่ได้ไปเที่ยวข้างไหนเลย อยู่แต่บนเรือน ช่างประจบด้วยความรู้ความประมาณตัวเองในสันดาน ทั้งถือตัวว่าเป็นลูก ก็พูดอยู่เสมอว่าลูกข้า ไม่ได้ไว้ตัวเทียบเจ้านายลูกเธอ รักแลนับถือไม่เลือกว่าใคร ไว้ตัวเองเสมอหม่อมเจ้า ไม่มีใครสั่งสอนเลย”
เมื่อได้รับการดูแลและพระเมตตาจากพระอรรคชายาเช่นนี้ คนังจึงเรียกท่านว่า “คุณแม่” เรียกพระเจ้าอยู่หัวว่า “คุณพ่อหลวง” และเรียกสมเด็จหญิงเล็ก หรือสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดลว่า “คุณพี่”
เครื่องแต่งตัวชุดมหาดเล็กพิเศษของคนังออกแบบใหม่โดยเฉพาะ เป็นสีแดงสด อันเป็นสีโปรดของเงาะทั่วไป คนังตามเสด็จฯไปทุกหนทุกแห่งจนเป็นที่สะดุดตา เพราะชุดสีแดงคนแต่งตัวดำ ยิ้มเห็นฟันขาว
พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “เงาะป่า” ขึ้นในปี 2448 ซึ่งในคำนำของบทละครเรื่องนี้ทรงอธิบายไว้ว่า
“...ส่วนศัพท์ภาษาก็อยู่ไล่เลียงจากอ้ายคนังทั้งนั้น แต่ไม่ใช่เลียงขึ้นสำหรับหนังสือเล่มนี้ ได้ชำระกันแต่แรกมาเพื่อจะอยากรู้รูปภาษาว่ามันเป็นอย่างไร แต่คำให้การนั้นได้มากแต่เรื่องนก หนู ต้นไม้ รากไม้ เพราะมันยังเป็นเด็ก...”
รัชกาลที่ 5 ทรงให้ โรเบิร์ต เลนซ์ (Robert Lenz) ถ่ายรูปคนังในเครื่องแต่งกายชุดต่างๆ ซึ่งคนังก็ชอบใจมากที่เห็นรูปของตัวเองและคิดถึงญาติพี่น้องในป่าที่จากมา อยากจะส่งรูปเหล่านี้ไปให้ดู เพื่อจะอวดว่าเดี๋ยวนี้เขาโตขึ้นและโก้ขึ้นมาก ทั้งไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเลย
พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงรับเป็นพระธุระจัดการให้มหาดเล็กคนโปรด โดยมีพระราชหัตถเลขาไปถึงพระยาสุขุมนัยวินิตพร้อมด้วยรูปของคนัง
“...ด้วยอ้ายคนังฝากรูปไปให้พี่น้อง ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ถ้ามีช่องทางที่ใครไปตรวจราชการที่นั้น ขอให้นำส่งให้มันด้วย...”
รูปของคนังได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมาก พระพุทธเจ้าหลวงจึงให้นำออกจำหน่ายเป็นการกุศลในงานประจำปีของวัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นงานใหญ่ในยุคนั้น ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราชในเรื่องนี้ว่า
"...บัดนี้ได้ส่งรูปอ้ายคนังที่ขายเมื่องานวัด (เบญจมบพิตร) มีคนชอบมาก เดิมพิมพ์ขึ้นไว้แค่ 230 เร่งกันให้พิมพ์ในเวลางาน กระดาษเหลือเท่าใดก็ได้พิมพ์อีกสัก 30-40 รูปขายไม่ทัน ยังหาซื้อกันเรื่อยอยู่จนเดี๋ยวนี้...
...อีกรูปหนึ่งนั้นได้ถ่ายในวันก่อนเริ่มงาน ด้วยนึกว่าฝรั่งจะไม่เข้าใจเรื่องเงาะ จึงได้ถ่ายรูปแต่งธรรมดาก็ถูกต้อง ฝรั่งชอบรูปนั้นมากกว่ารูปที่แต่งเป็นเงาะ ขายในเวลางานแผ่นละ 3 บาท ได้เงิน 1,000 บาทเศษ แบ่งออกเป็นสามส่วน ให้วัดส่วนหนึ่ง เป็นค่ากระดาษค่าน้ำยาส่วนหนึ่ง เป็นของอ้ายคนังส่วนหนึ่ง ได้เงินส่วนอ้ายคนังเกือบ 400 บาท เดี๋ยวนี้สมบัติอ้ายคนังมีกว่า 400 บาทขึ้นไปแล้ว ถ้าอยู่ไปจนแก่เห็นจะมีเงิน เพราะมันไม่ได้ใช้เลย....."
ต่อมายังทรงให้คนังถ่ายรูปในชุดตามเสด็จเต็มยศ อัดจำหน่ายในราคารูปละ 10 บาท ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารซื้อกันมาก เงินที่ได้โปรดฯให้นำไปบำรุงการกุศลวัดวาอารามต่างๆ
การมีส่วนร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลหาเงินเจ้าวัดด้วยการขายรูปตัวเองนี้ เป็นกุศลส่งให้คนังเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว ได้รับความรักใคร่เอ็นดูจากเจ้านายและข้าราชบริพารทั่วไป เป็นมหาดเล็กที่เด่นที่สุดของราชสำนัก ชีวิตของคนังได้รับความสุขความอบอุ่นอย่างที่ไม่เคยมีชาวป่าชาวดอยคนใดจะได้รับ
แม้พระพุทธเจ้าหลวงจะทรงโปรดคนังเพียงไร แต่เมื่อคนังอายุเข้า 14 ปีก็ไม่สามารถจะอยู่ในพระราชวังต่อไปได้ ต้องออกไปอยู่ข้างนอกเหมือนผู้ชายคนอื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวทรงฝากคนังไว้กับ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ให้เป็นผู้เลี้ยงดูต่อ โดยคนังจะต้องมาเข้าเวรมหาดเล็กเช่นเคย
โลกอิสระภายนอกวังทำให้ชีวิตคนังเปลี่ยนไปอีกแบบ ประกอบกับเริ่มเป็นหนุ่ม ทั้งยังมีฐานะการเงินระดับขุนนางทีเดียว คนังท่องราตรีไปตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้น คบเพื่อนประเภทเสเพล ที่สำคัญคือ เริ่มรักผู้หญิง
ชีวิตสนุกสนานนอกวังยามราตรี ทำให้คนังเพลิดเพลินลุ่มหลงจนถึงขั้นทิ้งการเข้าเวร พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วในความเหลวไหลของคนัง แม้จะทรงเมตตาอย่างไรแต่ก็ต้องได้รับโทษตามกฎระเบียบ คนังจึงถูกเฆี่ยนต่อหน้าข้าราชบริพาร เพื่อมิให้กระทำความผิดเช่นนี้อีก
หลังสิ้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับคนังไว้ในราชการเป็นพลเสือป่า กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ และประจำกรมพิณพาทย์หลวง และพระราชทานนามสกุลให้ด้วยว่า "กิราตกะ" เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2457
แต่เรื่องราวชีวิตหลังจากนี้ไม่ใคร่มีข้อมูลนัก แต่จากข้อเขียนของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล
ในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 เพฤศจิกายน 2505 ได้ความเพียงว่า
"...ก่อนสวรรคตราว 1 ปี คนังก็ออกไปอยู่กับพวกมหาดเล็กทางฝ่ายหน้า ถึงรัชกาลที่ ๖ ก็เลยหายสาบสูญไป ได้ยินแต่ว่าเพื่อนชวนเที่ยวจนเป็นโรคตาย... หมอไรท์เตอร์อธิบายว่า คนพวกนี้มักจะฉลาดเมื่อเล็ก ๆ แต่ปัญญาทึบเมื่อโตขึ้น
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น