ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #160 : เกาะแก้วพิสดาร เกาะกลางทะเลอันดามัน

    • อัปเดตล่าสุด 2 ก.ค. 62


    ตามคติที่ผู้คนในประเทศประเทศหนึ่งในแถบสุวรรณภูมิมีความเชื่อกันฝังหัวว่า


    สุนทรภู่ = คนระยอง ฉะนั้นเกาะเสม็ดจึง = เกาะแก้วพิสดาร บอกเลยว่าความคิดนี้ "ผิด" ครับ


    เรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่นั้นเป็นวรรณคดีที่ "ออกทะเล" มากๆ โลเคชั่นส่วนใหญ่ของเรื่องจึงอยู่ทางทะเลเสียมากกว่า 


    ซึ่งทะเลในเรื่องนั้นไม่ใช่อ่าวไทย หรือ “ทะเลหน้าใน” แต่เป็น “ทะเลหน้านอก” ทางฟากตะวันตกของสยามประเทศ ซึ่งประกอบด้วยทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียต่างหาก! (มีรายละเอียดอยู่ในภูมิศาสตร์สุนทรภู่ ของ กาญจนาคพันธุ์) 


    จากตอนที่โอปป้าพระอภัยถูกเจ๊ผีเสื้อสมุทรจับไปอยู่ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ จนเกิดเป็นแผนการแหกคุกนรกขึ้นมานั้น ตาเงือกได้บอกกับโอปป้าว่า
    .
    .
    .
    ฝ่ายเงือกน้ำคำนับอภิวาท
    ข้าพระบาททราบสิ้นทุกถิ่นฐาน
    อันน้ำนี้มีนามตามบุราณ
    อโนมานเคียงกันสีทันดร

    เป็นเขตแคว้นแดนที่นางผีเสื้อ
    ข้างฝ่ายเหนือถึงมหิงษะสิงขร
    ข้างทิศใต้ไปจนเกาะแก้วมังกร
    หนทางจรเจ็ดเดือนไม่เคลื่อนคลา

    ไปกลางย่านบ้านเรือนหามีไม่
    สมุทรไทซึ้งซึกลึกหนักหนา
    แต่สำเภาชาวเกาะเมืองลังกา
    เขาแล่นมามีบ้างอยู่ลางปี
    .
    .
    .
    ซึ่งพอตีความได้ว่าเกาะทางละแวกนั้นน่าจะอยู่แถบทางทะเล "อันดามัน" ทั้งนั้น 


    จากตอนที่ท้าวสิลราชพานางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเลแล้วถูกพายุถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนนั้น เรือที่นั่งซัดไปไกลนักหนา ไม่รู้ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด” จึงตั้งพิธีเซ่นผีปู่เจ้าเพื่อถามทางหาโลเคชั่น ร่างทรงก็ได้แชร์โลออกมาว่า   
    .
    .
    .
    ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก
    ชื่อว่านาควารินทร์สินธุ์สมุทร 
    ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ
    ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย 

    จงตัดคลื่นฝืนไปทิศอิสาน
    จะพบพานผู้วิเศษข้างเพทไสย
    จึงซักถามตามประสงค์จำนงใจ
    จงรีบไปเถิดออเจ้าเราจะลา
    .
    .
    .
    ทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” นั้น อาจมาจาก หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar  Islands) ซึ่งอยู่กลางทะเลอันดามัน

    .
    .
    .
    ทะเลอันดามันนั้นมีหมู่เกาะใหญ่อยู่ 2 หมู่ที่ยาวต่อเนื่องกันคือ หมู่เกาะอันดามัน (Andaman  Islands) ทางตอนบน กับ หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar  Islands) ทางตอนล่าง 


    หมู่เกาะสองหมู่นี้ ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าสมัยโบราณระหว่างภูมิภาคอุษาคเนย์กับตะวันตก จึงมีเอกสารกล่าวถึงเสมอๆ  โดยเฉพาะหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “นาควารี” ชื่อนิโคบาร์นั้นเพี้ยนมาจากชื่อ “นาควาระ” อันหมายถึงถิ่นนาค หรืองู หรือคนเปลือย


    ในสมุดภาพไตรภูมิยังระบุถึงนาควารีเกาะคนเปลือยทุกฉบับ แสดงว่าเป็นสถานที่สำคัญระหว่างทางไปอินเดีย-ลังกา และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือครั้งนั้น 


    สรุปว่า  สุนทรภู่ได้ชื่อทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” มาจากชื่อเกาะนาควารีหรือนิโคบาร์ แล้วสมมุติให้ทะเลนาควารินทร์นี้กว้างไกลมหาศาล จึงอาจหมายถึงทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดก็ได้



    เมื่อท้าวสิลราชมุ่งไปทางทิศอิสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ก็ได้พบกับพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดารจริงๆ แสดงว่าเกาะแก้วพิสดารอยู่ในเขตทะเลอันดามันหรือที่ใดที่หนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ไม่ใช่ “เกาะเสม็ด” อย่างที่สยามแลนด์เข้าใจ
     

    ทะเลอันดามันไม่ได้มีเพียงหมู่เกาะนาควารี แต่มีหมู่เกาะอื่นๆ เป็นพืดยืดยาวตามแนวพม่าลงไปถึงเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียโน่น สุนทรภู่ก็กำหนดให้บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของพวกปีศาจยักษ์ นาครวมทั้งผีเสื้อยักษ์ 


    และดูเหมือนว่าเกาะอันเป็นถิ่นของนางผีเสื้อสมุทรจะอยู่ค่อนไปทางตอนบนแถบหมู่เกาะอันดามัน ซึ่งตามบันทึกของพระสงฆ์ที่เดินทางไปลังกาเมื่อปี 2298 นั้นยังบอกว่ามีมนุษย์กินคน [หนังสือ“เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” (พระนิพนธ์กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)]


    ดังปากคำของตาเงือก แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการค้าแถบทะเลอันดามันชัดเจน และบนเส้นทางนี้ยังมีเกาะแก้วพิสดารของพระฤๅษีอยู่ด้วย จึงมีแก๊งนานาชาติเรือแตกมาขอพึ่งใบบุญพระเจ้าตายู่มากนักแล


    เกาะแก้วพิสดารในจินตนาการของสุนทรภู่มีลักษณะ “อุดมคติสูง” มาก ดังกลอนว่า
    .
    .
    .
    อันเกาะแก้วพิสดารสถานนี้
    โภชนาสาลีก็มีถม
    แต่คราวหลังครั้งสมุทรโคดม
    มาสร้างสมสิกขาสมาทาน

    เธอทำไร่ไว้ที่ริมถูเขาหลวง
    ครั้นแตกรวงออกมาเล่าเป็นข้าวสาร
    ได้สืบพืชยืดอยู่แต่บูราณ
    จงคิดอ่านมาเคียวมาเกี่ยวไป
    .
    .
    .
    เรื่องโภชนาสาลีนี้ สุนทรภู่อาจจะอิงมาจากชาดกเรื่องพระสมุทรโคม [รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ตอนที่ 38 : พระสมุทโคดม : เปิดตำนานเกาะแก้วพิสดาร] 


    แต่กระนั้น “กาญจนาคพันธุ์” ได้สืบค้นนิทานปรัมปราของอินโดนีเซียเกี่ยวกับกำเนิดพันธุ์ข้าวในเกาะชวา เข้าใจว่าสุนทรภู่รู้นิยายปรัมปราของนี้ดีจึงสร้างเรื่องให้เกาะแก้วพิสดารมีข้าวเลี้ยงคนจำนวนมากได้ ข้าวปลาอาหารบนเกาะแก้วพิสดารที่อุดมสมบูรณ์นัก
     

    สรุปว่า  เกาะแก้วพิสดารในจินตนาการของสุนทรภู่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลอันดามันค่อนลงไปทางเกาะสุมาตรา (Sumatra island) กับ เกาะชวา (Java island) ของอินโดนีเซีย
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×