ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #205 : "กัญชา" ในวรรณคดีไทย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.07K
      18
      2 ก.ค. 62

    * คามเตือน : กรุณาเสพบทความนี้อย่างมีสติ และอย่าคิดที่จะไปริลองโดยเด็ดขาด เพราะกัญชาบ้านเรายังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายยุ่ เอี๊ยก ๕๕๕๕๕ *


    ทุกอารยธรรมหลักของโลก ตั้งแต่เมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีก อาหรับไปจนถึงอินเดีย ล้วนมีเรื่องเล่าของกัญชาที่เข้าไปมีส่วนร่วมในตำนานต่างๆ


    ในยุคพระเวท เรียกกัญชาว่า “โอสถพระศิวะ” ด้วยบิ๊กบอสได้เนรมิตพืชพันธุ์ดังกล่าวขึ้นมาเพื่อรักษาคอของตนในตอนที่ดื่มพิษเมื่อคราวอีเว้นท์กวนเกษียรสมุทร ทำให้ในพิธีมหาศิวะราตรี (Maha Shivaratri) พวกนักบวชและนักแสวงบุญทั้งหลายจะมารวมตัวกันสูบกัญชามาราธอน 1 วัน 1 คืนเต็มๆ เพื่อถวายแก่บิ๊กบอส


    ที่บ้านเรา ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ลาลูแบร์ได้บันทึกถึงอุปกรณ์สูบยาของแขกมัวร์ที่ชาวสยามนิยมใช้เรียกว่า "มอระกู่" แต่ถึงอย่างนั้น กัญชาก็ไม่ได้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินอย่างเดียว ยังใช้เป็นยาในตำรับยาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือที่เรียกว่า "โอสถพระนารายณ์" อีกด้วย


    ในตำราโอสถพระนารายณ์ พบว่าตำรับยาทิพเกศใช้ใบกัญชา 16 ส่วน ผสมฝิ่น การบูร พิมเสน กระวาน ฯลฯ โดยระบุให้กินพอสมควร จะแก้อาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ ตกเลือด 


    ส่วนอีกตำรับคือยาสุขไสยาสน์ ชื่อบอกตรงตัวว่าเป็นยาที่กินเพื่อให้นอนอย่างเป็นสุข สูตรนี้ใช้ใบกัญชา 12 ส่วน ผสมใบสะเดา การบูร สหัสคุณเทศ สมุนแว้ง เทียนดำ โกฐกระดูก ลูกจันทน์ ตำรวมกันเป็นผงละลายน้ำผึ้ง


    นอกจากนี้ กัญชายังปรากฎในตำรายาสืบต่อๆ มาอีกหลายเล่ม เช่น ยาโทสันทะฆาฏ และยาธรณีสันทะฆาฏ จากตำรายาเกร็ด ของกรมหลวงวชิรญาณวงศ์, ยาสุขไสยาสน์ ตำรับยาของหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) ขณะที่ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 มียาที่มีส่วนผสมของกัญชาถึง 11 ตำรับ


    และเราจะมาพูดถึง 5 วรรณคดีสายเขียวกันนะฮะท่านผู้อ่าน



    รามเกียรติ์ :
    อันนี้มีให้เห็นเป็นภาพจิตรกรรมเลยฮ่ะ ลิงสูบกัญชาขณะกำลังเข้าเวรรักษาพระราม

    บ้างนอนบ้างนั่งเป็นเหล่าเหล่า
    หยอกเย้ากันเล่นหัวเราะร่า
    บ้างล้อมกันสูบกัญชา
    บ้างหลับตาผิงอัคคี 
    .
    .
    .
    .
    .
    ระเด่นลันได : 
    พูดถึงขอทานลันไดที่เมากัญชาเพลินๆ รวมถึงนางประแดะอยู่บ้านสวยๆก็ยังบรรจงหั่นกัญชาไว้คอยท่านายประดู่
     
    พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์
    ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่  
    บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี
    ภูมีซบเซาเมากัญชา
    .
    .
    .
    .
    .
    นิราศเมืองแกลง :
    ท่านสุนทรภู่ได้บรรยายถึงนายแสง คนแจวเรือที่ติดกัญชา จนสุนทรภู่เขียนถึงอยู่หลายครั้ง

    ทำซมเซอะเคอคะมาปะขา
    แต่โดยเมากัญชาจนตาขวาง
    แกไขหูสู้นิ่งไปตามทาง
    ถึงพื้นล่างแลลาดล้วนหาดทราย

    ต่างโหยหิวนิ่วหน้าสองขาแข็ง
    ในคอแห้งหอบรนกระกนกระหาย
    กลืนกระเดือกเกลือกกลิ้นกินน้ำลาย
    เจียนจะตายเสียด้วยร้อนอ่อนกำลัง
    .
    .
    .
    .
    .
    ขุนช้างขุนแผน :
    เนื่องจากขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่สะท้อนสภาพสังคม จึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นกัญชาปรากฎอยู่มากมาย 

    แต่ตอนที่พีคที่สุดก็ตอนที่จมื่นศรีกับพลายชุมพลปลอมตนเป็นแขกเข้าไปหาเถรขวาด ทั้งสองนำของบางอย่างมาให้นั้นคือตุ้งก่า (หม้อสูบกัญชาของโบราณ) และกัญชา จนเถรขวาดอยากลองดูสักครั้ง แต่ก็...

    สองแขกก็ยัดกัญชาส่ง
    เถรชักคอก่งไม่ทนได้
    แสบคอเป็นจะตายหงายหน้าไป
    กูไม่เอาแล้วอย่าส่งมา
    .
    .
    .
    .
    .
    เพลงยาวตำนานหวยของนายกล่ำ :
    ได้บรรยายถึงประวัติของ 36 ตัวละครในหวย กข ต่างๆ ซึ่งตัว บ แจหลี มีประวัติดังนี้

    ขรัวแจลี่หลวงพี่ตะพาบน้ำ
    ชักประคำกัญชาจนตาเหลือง
    ต่อเมื่อไรอยากเหล้าจึ่งเข้าเมือง
    กินเสียเฟื้องแล้วก็กลับมาฉับพลัน


    ก็จบกันไปสำหรับ 5 วรรณคดีสายเขียวนะฮะ เตือนอีกครั้ง บทความนี้เป็นแค่การอธิบายความรู้เฉยๆ อย่าริอาจไปริลองเชียวเป็นอันขาด สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×