ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #170 : ลำนำสักรวาหน้าพระที่นั่ง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 427
      10
      2 ก.ค. 62

    กลอนสักวา (อ่านว่า สัก-กะ-วา โบราณเขียนว่า สักรวา) เป็นชื่อของร้อยกรองประเภทกลอนลำนำชนิดหนึ่ง บทหนึ่งมี 4 คำกลอน ขึ้นต้นด้วยคำ สักวา และลงท้ายด้วยคำ เอย 


    ดังตัวอย่างที่กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

    สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน
    ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
    กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม
    อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม

    แม้ล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม
    ดั่งดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม
    ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์
    ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย



    การเล่นสักวาเป็นการละเล่นที่ต้องลงเรือไปเป็นคณะ อันประกอบด้วย ผู้แต่งบท นักร้องทั้งต้นบทและลูกคู่ มีโทน ทับ กรับ ฉิ่ง พร้อมสำรับ 


    การเล่นจะเล่นกันในหน้าน้ำ ประมาณเดือน 11 เดือน 12 ช่วงฤดูน้ำหลาก มักเล่นกันในโอกาสเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรือลอยเรือเที่ยวทุ่ง เมื่อพบเจอกันก็จะลอยเรือมารวมกันเล่นสักวา


    เมื่อพบกัน เจ้าของวงก็จะคิดบทกลอนสักวาให้นักร้องในวงของตนร้องลำนำ เนื้อเรื่องเป็นเชิงเกี้ยวพาราสีบ้าง นำมาจากวรรณคดีบ้าง หรืออาจตั้งเรื่องขึ้นมาเล่นกันเช่น แทงหวย ทอดผ้าป่า ฯลฯ


    การเล่นสักวานี้สันนิษฐานว่าเป็นที่นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณต่างๆ


    ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ นิยมเล่นสักวากันมากตั้งแต่ในรัชกาลที่ 1 มาจนตลอดรัชกาลที่ 3 ที่โปรดให้ขุดคลองมหานาคทำเป็นเกาะเกียนอะไรต่างๆ สำหรับจะให้เป็นที่ประชุมเล่นดอกสร้อยสักวากันตามฤดูกาล  แล้วก็เริ่มมาซาลงไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะเล่นปี่พาทย์กันมากแลเข้าใจว่า เพราะพระราชทานอนุญาตให้ใครๆ เล่นละครผู้หญิงได้ ไม่ห้ามดังแต่ก่อน ผู้มีบรรดาศักดิ์เล่นปี่พาทย์และละครกันเสียโดยมาก จึงไม่ใคร่มีใครเล่นสักวา 


    แล้วการเล่นสักวาก็กลับมาบูมอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังมีผู้ชำนาญบอกสักวามาแต่ในรัชกาลที่ ๓ อยู่บ้าง ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงทันพบ คือ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ…และ คุณพุ่มธิดา พระยาราชมนตรี (ภู่)


    สักวาเป็นการเล่นโต้ กลอนสด ของบรรดาผู้เล่นที่มีปฏิภาณกวี ประชันฝีปากกลอนกันอย่างเต็มความสามารถ 


    โดยเฉพาะคุณพุ่ม ที่กรมดำรงทรงเล่าถึงกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ซึ่งเป็นผู้มีชั้นเชิงทางกวีเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ว่าทรงเล่นสักวาเย้าคุณพุ่มซึ่งเป็นนักกลอนฝีปากกล้าในสมัยนั้นว่า

    สักรวาวันนี้พี่สังเกต
    เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
    มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา.....

    คุณพุ่มได้ยินตอบทันทีว่า

    สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม
    นี่หรือกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
    เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน
    เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กตำ


    แม้การเล่นสักวามีปรากฏมานานแล้ว แต่ตัวบทที่เก่าแก่ที่สุดเพิ่งมีบันทึกเป็นหลักฐานอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงการเล่นสักวาเรื่องอิเหนา 2 ครั้ง 

    ครั้งหนึ่งเป็นการร้องถวายหน้าพระที่นั่ง เล่นสักวาเรื่องอิเหนาตอน “ไปใช้บน” 
    อีกครั้งหนึ่งเป็นการร้องในงานฉลอง เล่นสักวาเรื่องอิเหนาตอน “นางจินตะหรา” 


    ซึ่งทั้งสองครั้งมีบทสักวาสืบทอดมาถึงปัจจุบัน


    ในสมัยรัชกาลที่ 5 อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของการเล่นสักวาอย่างมาก มีรูปแบบการเล่นหลากหลายทั้งแบบที่นำเรื่องจากวรรณคดีของเก่ามาเล่น เช่น 

    การเล่นสักวาเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ และ ตอนพระรามง้อนางสีดา 
    การเล่นสักวาเรื่อง อิเหนา ตอนชนไก่ และ ตอนสึกชี 
    การเล่นสักวาเรื่อง สังข์ทอง 
    การเล่นสักวาเรื่อง คาวี 
    การเล่นสักวาเรื่อง พระอภัยมณี  เป็นต้น 


    นอกจากนั้น ยังมีการเล่นสักวาที่มีที่มาจากการละเล่นพื้นบ้านทั่วไป เช่น การเล่นซ่อนหา การเล่นคลุมไก่ เป็นต้น สถิตย์ เสมานิล เรียกสักวาแบบนี้ว่า “สักวาเข้าเรื่อง”


    บทสักวาที่เล่นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หน้าพระที่นั่งนั้นรวมทั้งหมด 7 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ 

    ครั้งที่ 1 เล่นที่ พระที่นั่งสนามจันทร์ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2415 
    ครั้งที่ 2 เล่นที่พระที่นั่งสนามจันทร์ พ.ศ. 2415 
    ครั้งที่ 3 เล่นที่ท้องพรหมาศ เมืองลพบุรี พ.ศ. 2415 
    ครั้งที่ 4 เล่นที่พระราชวังบางปะอิน ในงานเฉลิมพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พ.ศ. 2419 
    ครั้งที่ 5 เล่นในสระพระราชวังบางปะอิน พ.ศ. 2420
    ครั้งที่ 6 เล่นในงานฉลองวัดบรมวงศ์อิศรวราราม พระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2420
    ครั้งที่ 7 เล่นในสวนศิวาลัย งานสมโภชราชสมบัติครบหมื่นวัน พ.ศ. 2439
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×