ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #153 : 10 ประวัติศาสตร์ไทยใน "พระอภัยมณี"

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.06K
      12
      6 ก.พ. 63

    มีคำกล่าวไว้ว่า วรรณคดีคือการสะท้อนเรื่องราวและเหตุการณ์ในสมัยนั้นๆ เรื่องพระอภัยมณีก็เช่นกัน สุนทรภู่ได้รจนาพระอภัยมณีเอาไว้ยุคที่สยามกำลังเผชิญหน้ากับ "การล่าอาณานิคม" ของชนชาติตะวันตก โดยเฉพาะชาติ "อังกฤษ" ที่ยึดครองพม่า อินเดีย ศรีลังกา มลายู สิงคโปร์

    #วรรณคดีTOPTEN วันนี้ เราจะพาไปดูกันว่า มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ใดบ้างที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง พระอภัยมณี ถ้าพร้อมกันแล้ว เราไปชมพร้อมกันเลยขอรับ 
    .
    .
    .
    1. สงครามเก้าทัพ - พ.ศ. 2328
    สงครามครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างพระเจ้าปดุง (Bodawpaya) แห่งเมืองพม่า กับ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (King Rama I) แห่งกรุงสยาม

    โดยฝั่งพม่าได้ยกทัพมาถึง 9 ทัพ รวมกำลังพลมากถึง 144,000 นาย ในขณะที่สยามมีกำลังไพล่พลเพียงแค่ 70,000 นายเท่านั้น (น้อยกว่าฝั่งพม่าถึง 2 เท่า) แต่สุดท้าย สยามก็สามารถเอาชนะและขับไล่กองทัพผู้รุกรานไปได้

    ถ้าพูดถึงสงครามเก้าทัพแล้ว ในพระอภัยมณีมีตอนหนึ่งที่มีชื่อว่าศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก ซึ่งเจ๊ละเวงของเราได้อัญเชิญเหล่ากษัตริย์จากเมืองต่างๆไปตีเมืองผลึกเพื่อล้างแค้นให้ป๊ะป๋าและพี่ชายสุดเลิฟ อยู่หลายเมืองด้วยกัน ดังนี้

    Gen 1 : ละมาน
    Gen 2 : มะหุ่ง, กรุงเตน, กุเวน, วิลาศ, สำปะลี (สำปะหลัง), เงาะ, เกาะวลำ, ชวา, วิลยา (ลยา), ฉวี
    [สามเมืองหลังหนีมาตั้งหลักก่อนจะรวมกับ Gen เก้าทัพ]
    Gen เก้าทัพ : ละเมด, มลิกัน, สำปันหนา, กรุงกวิน, จีนตั๋ง, อังคุลา [รวมกับ ชวา วิลยา และ ฉวี]
    Gen 4 : มะหุด (โอรสเจ้าฝรั่ง), เซ็นระด่ำ (โอรสเจ้าแขก)
    .
    .
    .
    2. เจ้าอนุวงศ์ - พ.ศ. 2370
    ขอโทษพี่น้องชาวลาวมา ณ ที่นี่ด้วยนะเด้อ 
    หลังจากที่เจ้าอนุวงศ์ (Anouvong) ทำการประกาศอิสรภาพไม่สำเร็จ ก๊วนเมืองเวียงจันทน์จึงถูกกวาดต้อนมาอยู่กรุงเทพมหานคร หลวงท่านโปรดให้ประจานที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ 

    โดยทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับใส่เจ้าอนุ มีกรงน้อยๆ สำหรับใส่บุตรหลานภรรยาถึง 13 กรง ราษฎรชายหญิงทั้งในกรุงนอกกรุงพากันมาดู พวกที่ญาติพี่น้องตายในสงครามก็มานั่งบ่นด่าแช่งทุกวัน เหมือนเหตุการณ์ประจานเจ้าละมาน

    หามมาส่งกรงตารางที่ข้างใน
    เที่ยวริบไพร่พลซ้ำทำประจาน

    จนกระทั่งเจ้าอนุป่วยเป็นโรคลงโลหิตก็ตาย (กระอักเลือดดั่งจิวยี่) เหมือนที่อุศเรนตาย

    ชักชะงากรากเลือดเป็นลิ่มลิ่ม
    ถึงปัจฉิมชีวาตม์ก็ขาดหาย
    เป็นวันพุธอุศเรนถึงเวรตาย
    ปีศาจร้ายร้องก้องท้องพระโรง
    .
    .
    .
    3. น้ำท่วมปีเถาะ - พ.ศ. 2374
    ในปีเถาะนั้น น้ำมากทั่วพระราชอาณาจักร มากกว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 ซะอีก [ในสมัยรัชกาลที่ 1 น้ำลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว (ประมาณ 4 เมตรกับ 25.4 ซม)] โดนหมดไม่ว่าจะเป็นพม่า สยามหรือญวน ในกำแพงพระนครก็ต้องไปด้วยเรือ มีการทอดผ้าป่าตามธรรมเนียมกันสนุกสนาน 
    เพราะปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก
    ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ
    .
    .
    .
    4. สงครามสามแผ่นดิน - พ.ศ. 2376–2390
    ในสมัยรัชกาลที่ 3 (King Rama III) มีสงครามกับเพื่อนบ้านหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะศึกอานัมสยามยุทธ (สยามรบกับญวน ต่างฝ่ายหมายชิงดินแดนลาวกับเขมร) สุนทรภู่คงจะได้แรงบันดาลใจจากการสู้รบนี้มาผูกเป็นฉากในเรื่องพระอภัยมณีอยู่หลายตอน เช่น

    - การเผาเสบียงเพื่อเป็นการตัดน้ำเลี้ยงข้าศึก
    แล้วจุดเผาข้าวปลาพาหญิงชาย
    หนีไปฝ่ายทะเลลมยมนา

    - กลศึกแพไฟของญวน
    จึงขับไพร่ให้ล้อมเลียบหาดทราย
    แล้วตัดสายสมอใหญ่จุดไฟโพลง
    ผลักกำปั่นหันกลับทับปะทะ
    ล้วนเกะกะปะกันควันโขมง

    - กลศึกรูปหุ่นของญวน
    เอารูปแปลงแต่งเป็นเช่นกษัตริย์
    มาผูกมัดห้อยแขวนขึงแขนขา
    พระอภัยศรีสุวรรณเรียงกันมา
    ทั้งลูกยาสินสมุทรสุดสาคร

    - การพระราชทานข้าวเกลือไปเลี้ยงกองทัพของรัชกาลที่ ๓
    คราวสงครามสามทัพคนนับโกฏิ
    ต้องจ่ายโภชนาปรนพลขันธ์
    .
    .
    .
    5. ผ่าตัดครั้งแรกในสยาม - พ.ศ.2379
    ครั้นวันศุกรเดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ [13 มกราคม] เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยูรวงศ์ ไฟพะเนียงเกิดระเบิด พระมรณภาพ 1 รูป เสียชีวิตอีก 7 ศพ หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) จำต้องตัดแขนพระสงฆ์รูปหนึ่งที่บาดเจ็บเพื่อรักษาชีวิต ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่มียาสลบและยาชา

    ซึ่งสุนทรภู่ก็ได้สอดแทรกเก็ดประวัติศาสตร์ตอนนี้ไว้กับนางสุวรรณมาลี ซึ่งในคราวนั้นเจ๊แกได้รับบาดเจ็บจากเกาทัณฑ์ ต้องหามไปให้หมอรักษา

    ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีสวัสดิ์
    ถึงปรางค์รัตน์เร้ารวดปวดอังสา
    ให้หมอแก้แผลกำซาบซึ่งอาบยา
    เอามีดผ่าขูดกระดูกที่ถูกพิษ

    เป่าน้ำมันกันแก้ตรงแผลเจ็บ
    เอาเข็มเย็บยุดตรึงขี้ผึ้งปิด
    ทั้งข้างนอกพอกยาสุรามฤต
    ให้ถอนพิษผ่อนปรนพอทนทาน
    [หลายคนอาจจะมองว่า อาจจะนำมาจากฉากในสามก๊ก ตอนหมอฮัวโต๋รักษากวนอู]
    .
    .
    .
    6. แผ่นดินไหว - พ.ศ. 2382
    ครั้นวันศุกรเดือน 5 ขึ้น 7 ค่ำ [22 มีนาคม] เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 8 ทุ่ม (2.00) ที่เมืองพม่าเองก็ไหว แต่กรุงเทพนั้นไหวไปสิ้นเพียงแม่น้ำบางปะกง ตามที่เคยมีปรากฏบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

    ในเรื่องพระอภัยมณีจะได้มีการกล่าวถึงตอนนางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร

    นางเสาวคนธ์ค้นเพชรพบเตร็จงอก
    ดูดังดอกบุษบงไม่สงสัย
    ค่อยสั่นคลอนถอนหลุดหลากสุดใจ
    แผ่นดินไหวเลื่อนลั่นเสียงครั่นครื้น

    ทวีปวังลังกาสุธาหย่อน
    เหมือนจะคลอนโคลงคว่ำน้ำเป็นคลื่น
    ทุกแถวทางหว่างถนนผู้คนยืน
    ถลาลื่นล้มลุกสนุกจริง
    .
    .
    .
    7. ดาวหาง - พ.ศ. 2385
    ในเดือน 10 ปีขาลนั้น เกิดดาวหางขึ้นทางทิศตะวันตก ซึ่งก็ไปปรากฎในพระอภัยมณี
    ครั้นกลางวันควันมัวทั่วบุรี
    กลางคืนมีดาวหางเป็นลางเมือง
    .
    .
    .
    8. รูปวาดเจ้าวิลาศ - พ.ศ. 2387

    หลังจากที่ควีนวิกตอเรีย (Queen Victoria) แห่งอังกฤษเสวยราชสมบัติแล้ว พระนางได้เชิญวินเตอร์ฮอลเตอร์ (Winterhalter) จิตรกรฝีมือดีชาวเยอรมันมาวาดพระรูปถวาย

    ต้นแบบของพระรูปที่เขาวาดก็คือพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดเต็มพระองค์ ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อควีนมีพระชนมายุ 18 พรรษา ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ภายในพระราชวังบังกิ้งแฮม (Buckingham Palace)
     
    ต่อมา นายวินเตอร์ฮอลเตอร์ได้นำต้นแบบไปทำซีร๊อคด้วยกรรมวิธี “พิมพ์หิน” (Lithography) เพื่อพระราชทานไปให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และทูตานุทูตจากโพ้นทะเล จนกระทั่งมาถึงแดนสยาม

    พระยาไทรบุรี ตนกูดายี (สุลต่านไซนัล ราซิด อัลมุดซัม ชาห์ที่ 1 - Sultan Zainal Rashid Al-Mu'adzam Shah I) นำเข้ามาถวาย เรียกขานกันว่า "รูปจ้าววิลาศ"

    รัชกาลที่ 3 ทรงมีบัญชาให้ติดไว้ภายในท้องพระโรงกลางของพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยเพื่อประดับพระบารมี ปัจจุบันเก็บรักษาและเปิดให้คนเข้าชมได้ภายใน “ห้องของเล่น” ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ

    นี้แล คือต้นกำเนิดของนางละเวงวัณฬา
    .
    .
    .
    9. เรือกำปั่นไฟ - พ.ศ. 2387
    ในยุคสมัยก่อนนั้น เวลาจะเดินทางไปไหนต่างบ้านต่างเมืองก็ต้องอาศัยเรือสำเภากันทั้งนั้น กระทั่งพ.ศ. 2349 โรเบิร์ต ฟุลตัน (Robert Fulton) ประดิษฐ์เรือกลไฟขึ้นมา และก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

    กระทั่งนายห้างหันแตร (โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter)) นำเรือกลไฟ "เอ็กสเปรส" (Express) ภายใต้การบัญชาของกัปตันปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) จากเมืองท่าลิเวอร์พูล (Liverpool ก้าบๆ) 

    ความใหญ่โตของมันสร้างความโกลาหลให้แก่เรือเล็กเรือน้อยในแม่น้ำนี้อย่างมาก ส่วนพละกำลังของเรือก็ทำให้ชาวบ้านพากันแตกตื่น แม้คนไทยในเวลานั้นจะฮือฮาเพราะไม่เคยเห็น "เหล็กลอยน้ำได้" อย่างเช่นเรือกลไฟมาก่อน แต่นายห้งหันแตรได้เสนอขายในราคา 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 1,200 ชั่ง) ซึ่งทางไทยมองว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบธรรม เพราะเรือมันเก่าและขึ้นสนิม

    ประกอบกับพฤติกรรมของนายห้างที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว กร่าง กวนตีน หันแตรประกาศว่าจะนำไปขายให้ญวนแทน จึงได้เนรเทศหันแตรให้ออกนอกราชอาณาจักรและห้ามกลับเข้ามาอีกตลอดชีวิต

    เรือกลไฟเป็นแรงบันดาลใจให้สุนทรภู่รจนา "สำเภายนต์" กับ "กำปั่นโจรสุหรั่ง" ในพระอภัยมณี
    .
    .
    .
    10. เมื่อเจ้านายหัดภาษาฝรั่ง
    เมื่อครั้นเจ้าฟ้ามงกุฎ (King Mongkut) ทรงผนวช และประทับอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) นั้น ท่านได้พบกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) ณ วัดคอนเซ็ปชัญ ต่างชักชวนแลกเปลี่ยนภาษาและวิชาความรู้แก่กันและกัน 

    ท่านบาทหลวงได้ถวายการสอนภาษาละติน ภาษาอังกฤษ รวมไปถึงความคิดและวิทยาการของชาวตะวันตกให้กับพระองค์ ในขณะที่รัชกาลที่ ๔ ทรงสอนภาษาไทย ภาษาบาลี และขนบธรรมเนียมไทยให้กับพระสังฆราชอีกด้วย

    ซึ่งสุนทรภู่ก็ได้สอดแทรกอยู่ในพระอภัยมณี โดยให้พระอภัยมณี กับสินสมุทรร่ำเรียนภาษาต่างๆ จากแก๊งเกาะแก้วพิศดาร จนสามารถตรัสได้หลายภาษา

    จะกล่าวถึงพระอภัยมณีนาถ
    กับองค์ราชกุมารชาญสนาม
    หัดภาษาฝรั่งทั้งจีนจาม
    ราวกับล่ามพูดคล่องทั้งสององค์ 
    .
    .
    .
    พระอภัยมณีจึงเป็นวรรณคดีการเมืองที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมของอังกฤษ โดยพระเอกวัยรุ่นฮิปปี้ ต่อต้านความรุนแรงด้วยปัญญาและสันติภาพนี้แล

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×