ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #149 : เมดเล่ย์วรรณคดีพระพุทธบาท

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 715
      10
      2 ก.ค. 62

    ความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทนั้นมีแต่ตั้งแต่สมัยโบราณ...


    กรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์ถึงคติการนับถือรอยพระพุทธบาทของไทยว่า รับสืบเนื่องมาจากชาวอินเดียและลังกา


    ถ้าหากจะพูดถึงรอยพระพุทธบาทที่มีชื่อเสียงที่สุดในสยามประเทศแล้วล่ะก็ หลายคนก็คงจะนึกถึง วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ อ.พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีกันใช่ม้า 


    และมีความเชื่อที่ว่า “ถ้าใครได้เดินทางมาสักการะรอยพระพุทธบาทนี้ครบ 7 ครั้งอานิสงส์ผลบุญก็จะส่งให้ได้ไปจุติในสรวงสวรรค์ แม้ในชาติภพนี้ก็จะมีชีวิตที่ดี สมหวังทุกประการ” เลยนะเออ


    การค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ต้องย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลพระเจ้าทรงธรรม 
    ครั้งนั้น พรานบุญได้ยิงเนื้อทรายตัวหนึ่ง และออกไล่ล่าจนมาถึงพุ่มไม้แห่งหนึ่ง แต่ปรากฎว่าเนื่อทรายตัวนั้นกลับวิ่งปรื๋อออกมาและหลบหนีไปได้


    พรานบุญจึงตามเข้าไปดูในพุ่มไม้ ก็พบรอยเท้าปรากฏอยู่ในศิลา ขนาดยาวประมาณสักศอกเศษ ตรงกลางมีลายกงจักรและมงคล 108 ภายในรอยนั้นมีน้ำขัง พรานบุญคิดว่าบาดแผลของเนื้อทรายหายเป็นวูฟเวอรีนได้เพราะน้ำในรอยนั้น จึงวักน้ำลองเอามาทาตัว บรรดาโรคผิวหนังต่างๆก็หายสิ้น


    เมื่อความนั้นทราบถึงพระเจ้าทรงธรรม ที่บังเอิญทราบในเมืองไทยนั้นมีรอยพระพุทธบาท 1 ใน 5 ตามตำนาน จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร และโปรดให้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ นอกจากนั้นทรงกำหนดเทศกาลสำหรับให้มหาชนขึ้นไปบูชารอยพุทธบาทเดือน 3 หนึ่งครั้ง และเดือน 4 อีกหนึ่งครั้งเป็นประเพณีตั้งแต่นั้นมา


    ทำให้เกิดวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับรอยพระพุทธบาทขึ้นมากมาย ดังนี้


    1. โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย 
    พระนิพนธ์ : เจ้าฟ้าอภัย 
    แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน 25 บท เนื้อหากล่าวถึงการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปทางลพบุรี และน่าจะเดินทางต่อไปยังพระพุทธบาทสระบุรี แต่เรื่องราวที่ปรากฏในโคลงมีเพียงเดินทางไปเซ่นสรวงบูชาที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง


    2. บุณโณวาทคำฉันท์ 
    โดย : พระมหานาค วัดท่าทราย 
    เป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทตามคัมภีร์ในพุทธศาสนา และ งานสมโภชรอยพระพุทธบาท สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประกอบด้วยฉันท์และกาพย์ประเภทต่าง ๆ


    3. โคลงนิราศพระพุทธบาท
    โดย : พระมหานาค วัดท่าทราย
    แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน 25 บท เริ่มด้วยบทพรรณนาถึงความเศร้าโศกที่ต้องจากนางผู้เป็นที่รัก กวีได้เข้าขอพรที่วัดตองปุ จากนั้นจึงเดินทางผ่านบ้านกระทุ่ม หนองคนที บ้านท้ายพิกุล บางโขมด และบ้านแม่ลา 


    4. กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
    พระนิพนธ์ : เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
    แต่งด้วยกาพย์ห่อโคลง (โคลงสี่สุภาพสลับกาพย์ยานี 11 ) จำนวน 108 บท และโคลงสี่สุภาพลงท้ายจำนวน 5 บท เนื้อความกล่าวถึงขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคของเจ้าฟ้ากุ้ง ตั้งแต่ขึ้นจากท่าเจ้าสนุก เดินทางรอนแรมไปในป่า จนถึงธารทองแดง ระหว่างการเดินทางกวีพรรณนาถึงสัตว์ป่า พืชและปลาต่างๆ


    5. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
    พระนิพนธ์ : เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
    ทรงพระนิพนธ์คราวเดียวกับกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปทรงนมัสการและสมโภชรอยพระทุทธบาท สระบุรี เดิมเรียกว่า นิราศพระบาท แต่งโดยกาพย์ห่อโคลงจำนวน 152 บท ขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพ 2 บท เนื้อหาพรรณนาความงามแต่ละส่วนของนาง จากนั้นก็คร่ำครวญ จบด้วยโคลงกระทู้ 3 บท

     
    6. นิราศพระบาท
    โดย : สุนทรภู่
    เป็นวรรณคดีนิราศที่รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่งขึ้นเมื่อปี 2350 คราวเมื่อตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาท แต่งด้วยกลอนสุภาพ 231 บท


    7. โคลงนิราศวัดรวก
    โดย : หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)
    แต่งขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ณ วันพุธ แรม 2 คํ่า เดือนอ้าย ปีระกา จุลศักราช 1247 (พ.ศ. 2428) แต่งขึ้นขณะเดินทางติดตามพระยาธรรมปรีชา (บุญ) อัญเชิญเครื่องพุทธบรรณาการของรัชกาลที่ 5 ไปบูชาพระพุทธบาท แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ จำนวน 252 บท ตอนต้นเรื่องมีร่ายสุภาพนำ 1 บท 


    8. นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
    โดย : นายจัด 
    มีระบุชื่อผู้แต่งว่าชื่อ “จัด” เพิ่งหัดเขียนโคลงกลอน สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นภายหลังจากนิราศพระบาทของสุนทรภู่ คิดน่าจะแต่งขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา


    9. โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
    พระนิพนธ์ : กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ 
    ทรงพระนิพนธ์เมื่อปี 2456 เพื่อถวายรัชกาลที่ 6 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกพระจุลมงกุฎเหนือพุ่มข้าวบิณฑ์ ณ ยอดพระมณฑปพระพุทธบาท แต่งด้วยร่ายดั้น โคลงดั้นวิวิธมาลี และวสันตดิลกฉันท์ 


    เนื้อหาในโคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทเล่าเรื่องตำนานพระพุทธบาทจากปุณโณวาทสูตร (Punnovadasuttam) จากนั้นกล่าวถึงการสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สืบมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงได้พบรอยพระพุทธบาท 


    ต่อมาบรรยายเหตุการณ์ที่พระมหากษัตริย์ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกือบทุกพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการรอยพระพุทธบาท 


    ลิลิตเรื่องนี้ผู้ทรงพระนิพนธ์มีพระวินิจฉัยรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีว่า แม้จะมีผู้เห็นว่าตำนานรอยพระพุทธบาทเป็นเพียงนิทาน โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่อินเดียและไม่เคยเสด็จมาเมืองไทย แต่รอยพระพุทธบาทก็เป็นเจดียสถานสำคัญที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ความเห็นคัดค้านจึงมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ในขณะที่ความเลื่อมใสศรัทธาในรอยพระพุทธบาทจะพาจิตน้อมสู่ธรรมะ น้อมนำให้ปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อไป


    โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทเป็นวรรณคดีที่รวบรวม ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธบาทสระบุรีไว้อย่างครบถ้วน โดยกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในแต่ละรัชกาลอย่างเป็นลำดับ และสอดแทรกประเพณีนิยมเรื่องการทำบุญนมัสการรอยพระพุทธบาทของคนไทย ร้อยเรียงด้วยคำประพันธ์ประเภทลิลิตดั้นและใช้อักขรวิธีที่เป็นลักษณะเฉพาะของกวี นับว่าเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าเรื่องหนึ่ง


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×