ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วรรณคดีสไตล์เกรียน

    ลำดับตอนที่ #138 : 9 รสวรรณคดีสันสกฤต

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 26.47K
      84
      18 พ.ย. 61

    นอกจากรสในวรรณคดีจะมี 4 รสตามสไตล์ไทย (เสาวรจนี , นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง , 
    สัลลาปังคพิสัย) แล้วนั้น ยังมีรสวรรณคดีสันกฤตอีกต่างหาก 


    รสของวรรณคดีสันสกฤตนั้นจะมีรสอะไรบ้าง เราไปทัศนาพร้อมกันเลย.....


    รส (Rasa) ในวรรณคดีสันสกฤนั้นปรากฏใน ตำรานาฏยศาสตร์ (Natya Shastra) ของภรตมุนี (Bharata Muni) ซึ่งกล่าวถึงคุณสมบัติของตัวละครสันสกฤตที่ดีต้องประกอบด้วยรส 9 รส คือ ศฤงคารรส หาสยรส กรุณารส รุทรรส วีรรส ภยานกรส พีภัตสรส อัพภูตรสและศานติรส โดยมีรายละเอียดดังนี้ 



    ๑) ศฤงคารรส (Sringara : รสแห่งความรัก) : พรรณาให้ผู้อ่านเกิดความรัก (ไม่ใช่แค่เฉพาะความรักของคนหนุ่มสาว) อาจทำให้เห็นคุณค่าของความรัก เทียบกับนารีปราโมทย์ 
    (บาลีเรียก รติ (Rati))

    ดวงเอยดวงยิหวา
    อุ่ยหน่าอย่าหักมือพี่
    รักนางจึงทำอย่างนี้
    มารศรีควรหรือมาถือใจ

    ก่นแต่โกรธขึ้งขึงขัด
    จะสะบิ้งสะบัดไปถึงไหน
    เมื่อได้แนบเนื้อแนมใน
    จงหยุดยั้งชั่งใจกัลยา

    (อิเหนา : รัชกาลที่ 2)



    ๒) หาสยรส (Hasya : รสแห่งความขบขัน) : พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความร่าเริง แลขบขัน อาจทำให้ยิ้มและลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ  (บาลีเรียก หาสะ (Hasya)

    มาจะกล่าวบทไป
    ถึงระเด่นลันไดอนาถา
    เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา
    ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์

    อยู่ปราสาทเสาคอยอดด้วน
    กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
    มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม
    คอยปราบปรามประจามิตรที่คิดร้าย

    (ระเด่นลันได : พระมหามนตรี (ทรัพย์))      



    ๓) กรุณารส (Karunya : รสแห่งความเมตตากรุณา) พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความเห็นอกเห็นใจในโชคชะตาของตัวละครนั้นๆ คอยส่งใจเชียร์เอาใจช่วยตัวละครนั้น 
    (บาลีเรียก โสกะ (Soka))  

    ท้าวค่อยแหวกช่องมองเขม้น
    แลเห็นเมียรักก็จำได้
    นิจจาเอ๋ยยากเย็นเข็ญใจ
    เขาใช้ตรากตรำตำข้าวปลา

    ผอมซูบรูปทรงก็แก่เฒ่า
    ผมเผ้ารุงรังเหมือนดังบ้า
    ยิ่งคิดสมเพชเวทนา
    พระฟูมฟายน้ำตาจาบัลย์

    (สังข์ทอง : รัชกาลที่ 2)



    ๔) รุทรรส/เราทรรส (Raudra : รสแห่งความโกรธ) : พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดขัดใจ หัวร้อน บางรายถึงกับขว้างหนังสือทิ้ง เทียบได้กับรสวรรณคดีไทยคือ พิโรธวาทัง 
    (บาลีเรียก โกธะ (Krodha))

    ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ
    ฟังจบแค้นคลั่งดังเพลิงไหม้
    เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ
    ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง

    จะว่ารักข้างไหนไม่ว่าได้
    น้ำใจจะประดังเข้าทั้งสอง
    ออกนั่นเข้านี่มีสำรอง
    ยิ่งกว่าท้องทะเลอันล้ำลึก

    (เสภาขุนช้าง - ขุนแผน)



    ๕) วีรรส (Vira : รสแห่งความกล้าหาญ) : พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความฮึกเหิม พึงพอใจการงานของตน อยากเป็นใหญ่ อยากมีชื่อเสียง (บาลีเรียก อุตสาหะ (Utsaha)

    พลอยพล้ำเพลียกถ้าท่าน     ในรณ 
    บัดราชฟาดแสงพล-              พ่ายฟ้อน 
    พระเดชพระแสดงดล              เผด็จคู่ เข็ญแฮ 
    ถนัดพระอังสางข้อน                ขาดด้าวโดยขวา

    (ลิลิตตะเลงพ่าย : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)



    ๖) ภยานกรส (Bhayanaka : รสแห่งความกลัว) : พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความหวาดกลัว รู้สึกขนลุกซู่ จนถึงกับต้องหยุดอ่าน (บาลีเรียก ภยา (Bhaya))


    งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม
    ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว
    ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย
    ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง

    (นิราศภูเขาทอง : พระสุนทรโวหาร (ภู่))

              
                       
    ๗) พีภัตสรส (Bibhatsa : รสแห่งความชิงชัง น่ารังเกียจ) : พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความชิงชัง รังเกลียดในการกระทำของตัวละครนั้นๆ (บาลีเรียก ชิคุจฉะ (Jugupsa))  

    เมื่อนั้น
    ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์
    เห็นนางสีดาวิลาวัณย์
    ตัวสั่นวิ่งร้องไม่สมประดี

    พญามารแย้มยิ้มพริ้มพราย
    ตาหมายจะจับนางโฉมศรี
    ไล่ลัดสกัดทันที
    อสุรีคว้าไขว่ไปมา ฯ

    (รามเกียรติ์ : รัชกาลที่ 1)



    ๘) อัพภูตรส (Adbhuta : รสแห่งความประหลาดใจ) : พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความแปลกใจ ประหลาดใจ ไม่คาดคิด ถึงกับอุทานว่า "อย่างงี้ก็ได้เหรอ...." (บาลีเรียก วิมหะยะ (Vismaya))

    รี้พลให้กลายเป็นโยธา
    ไอยราแปลงเป็นคชสาร
    พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ
    พระพรหมานแปลงเป็นท้าวธาดา

    ไกรสรให้แปลงเป็นสิงหราช
    สกุณชาติให้แปลงเป็นปักษา
    พระราเมศแปลงเพศเป็นรามา
    พยัคฆาแปลงเป็นพยัคฆี

    (อุณรุทร้อยเรื่อง : คุณสุวรรณ)


                              
    ๙) ศานติรส (Santa : รสแห่งความสงบ) : พรรณนาให้ผู้อ่านเกิดความสุขสงบภายในจิตใจ
    (บาลีเรียก สมะ (Sama)

    คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้
    ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
    ความตายหนึ่งพึงให้เห็นเป็นประธาน
    หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย

    (พระอภัยมณี : พระสุนทรโวหาร (ภู่))
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×