ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ผลงานการเรียนของ smile girl

    ลำดับตอนที่ #4 : เรียงความเรื่อง ประชาธิปไตยในโรงเรียน

    • อัปเดตล่าสุด 21 ก.ย. 56


    เรียงความเรื่อง ประชาธิปไตยในโรงเรียน

    นางสาวกัญญารัตน์  ดีขุนทด  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕/๑ โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ

                ก่อนจะพูดถึงประชาธิปไตยในโรงเรียนขอย้อนกลับไปยังเนื้อหาของความหมาย รูปแบบ และหลักการของระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย เพื่อเป็นการทบทวนความจำให้กับทุกท่าน

                การให้ความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย นั้น อาจมีทั้งในความหมายกว้าง ความหมายแคบ และความหมายในแง่ของการเมืองการปกครอง สำหรับประชาธิปไตยในความหมายกว้าง หมายถึง การดำเนินชีวิตของประชาชนที่มีการยอมรับสิทธิและเสรีภาพ  ความสำคัญ และประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน โดยมีเหตุผลเป็นเครื่องนำทางเพื่อความผาสุกร่วมกัน  ส่วนในความหมายแคบประชาธิปไตย หมายถึง การที่ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเอง คือ การมีส่วนร่วมของประชนในการเข้าร่วมกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในการปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชน และในแง่การเมืองการปกครองนั้น ประชาธิปไตย หมายถึง ระบบการเมืองที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เพื่อให้เกิดการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

                การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น มีรูปแบบที่สำคัญ ๒ ประการคือ

    ๑.      ประชาธิปไตยทางตรง  คือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครอง

    โดยตรง อย่างเช่นที่เคยปรากฏในสมัยนครรัฐกรีกโบราณ

    ๒.    ประชาธิปไตยทางอ้อม หมายถึง การที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ปกครอง

    ประเทศแทนประชาชน ซึ่งตัวแทนเหล่านี้จะเข้าไปทำหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยในทางต่าง ๆ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาก็จะใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีก็จะใช้อำนาจบริหารแทนประชาชน บางประเทศอาจมีประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายบริหาร เพื่อใช้อำนาจบริหารประเทศแทนประชาชนด้วย เช่นในสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยเรานั้นจะมีรูปแบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยทางอ้อม เพราะมีอาณาเขตที่กว้างขว้างและมีประชากรมาก

                ระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ทุกคนจะต้องยึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตยและจะต้องนำหลักการนั้นมาใช้ในทางปฏิบัติ ทั้งในส่วนการปกครองของรัฐบาลและการยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งหลักการของระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สำคัญ ได้แก่

                หลักความเสมอภาค หมายถึง ความเท่าเทียมกันของคนในสังคมในเรื่องของการเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทุกคนในสังคมมีความเสมอภาคตามกฎหมายเท่าเทียมกันเพราะรัฐออกกฎหมายบังคับและคุ้มครองทุกคนมิใช่เพียงคนใดคนหนึ่งในรัฐ มีความเสมอภาคในทางการเมืองทั้งในเรื่องของการออกเสียงเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง การตั้งพรรคการเมือง การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการรวมกลุ่มในทางการเมือง มีความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจที่จะประกอบอาชีพโดยเสรีและสุจริต มีความเสมอภาคในด้านโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการศึกษา การประกอบอาชีพ การใช้ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการสร้างฐานะทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความรับผิดชอบของตนให้สูงขึ้น

                หลักสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ทุกคนที่อยู่ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่เป็นของตนเอง สิทธิ หมายถึง อำนาจหรือประโยชน์ของบุคคล ซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลซึ่งเป็นประชากรของรัฐ เสรีภาพ หมายถึง โอกาสที่บุคคลเลือกปฏิบัติได้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนมากที่สุด โดยจะถูกควบคุมน้อยที่สุด และไม่ละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น เมื่อนำมารวมกัน สิทธิและเสรีภาพก็คือ สิ่งที่มนุษย์แต่ละคนพึงมีโดยชอบ เช่น สิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิต สิทธิและเสรีภาพในร่างกาย  สิทธิและเสรีภาพในทรัพย์สินของตน ส่วนหน้าที่ หมายถึง สิ่งที่บุคคลต้องปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ประเทศ สังคม อยู่ร่วมกันได้ สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่เป็นของควบคู่กันไม่มีใครมีสิทธิและเสรีภาพโดยไม่มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และไม่มีใครมีหน้าที่โดยไม่มีสิทธิและเสรีภาพ ฉะนั้น ทุกคนจึงควรรักษาให้รู้ว่าตนเองมีสิทธิและหน้าที่อย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ไม่กระทำการก้าวก่ายสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน การปกครองระบอบประชาธิปไตยก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น

                หลักนิติธรรม หมายถึง การยึดถือกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์กติกาของประเทศ เท่ากับทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำให้มีการรักษาประโยชน์ส่วนรวมเพื่อความถูกต้อง สงบเรียบร้อยและยุติธรรม หลักแห่งกฎหมายเป็นหลักสำคัญในกรปกครองระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคใด ๆ จะไม่เป็นจริงหากไม่มีกฎหมายเป็นหลักประกันคุ้มครองประชาชนอย่างเสมอภาคกัน และหลักแห่งกฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

                หลักการยอมรับเสียงข้างมาก ในทุก ๆ สังคมเมื่อมีคนอยู่รวมกันมาก ๆ ย่อมมีการขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งอาจระงับได้โดยการใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบและในระบอบประชาธิปไตยนั้นได้นำเอาวิธีการตกลงโดยใช้เสียงข้างมากมาใช้ในการยุติปัญหาหรือเพื่อการตกลงใจดำเนินการต่าง ๆ และจะต้องไม่กระทำเพื่อละเมิดสิทธิของเสียงส่วนน้อย เพราะเราต้องให้การยอมรับในสิทธิของคนส่วนน้อยด้วยเช่นกัน

                หลักอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อประชาชนเลือกรัฐบาลให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ รัฐบาลที่ดีจึงต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชน จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เสมือนหัวหน้าครอบครัว รับผิดชอบต่อความผาสุก ความอยู่ดีกินดีของสมาชิกในครอบครัว และประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้านการกระทำของรัฐบาลหากรัฐบาลไม่พยายามแก้ไขหรือเพิกเฉยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ประชาชนก็มีสิทธิที่จะไม่สนับสนุนรัฐบาลนั้นด้วยการไม่เลือกเข้าสู่ตำแหน่งอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

                หลักแห่งการใช้เหตุผล ระบอบประชาธิปไตยมีหลักความเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถและมีสติปัญญาในการดูแลปกครองตนเอง สามารถใช้เหตุผลตัดสินปัญหา และกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ซึ่งหลักการใช้เหตุผลนี้ เราสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ใช้อารมณ์ เมื่อเกิดความไม่เข้าใจกัน ควรหาทางออกด้วยเหตุผล ด้วยน้ำใจไมตรีต่อกัน

                จะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ ในโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษาใด ๆ ก็ตาม มักจะมีประชาธิปไตยเกิดขึ้นอยู่เสมอ

    ประชาธิปไตยในโรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การเลือกตั้งประธานสภานักเรียน การเลือกประธานคณะสี การเลือกประธานชมรม การเลือกหัวหน้าห้อง การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม การฟังเสียงข้างมากในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ฯลฯ  ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งประธานสภานักเรียนที่ผ่านมา ในปีนี้ทางโรงเรียนจัดให้มีการรับสมัครประธานนักเรียน มีทีมผู้สมัครทั้งหมด ๒ ทีม เมื่อได้หมายเลขของทีมแล้วก็ให้ออกหาเสียง โดยการแนะนำสมาชิกในทีมและบอกนโยบายในการทำงานของทีมว่าหากได้เป็นประธานนักเรียนแล้วจะช่วยพัฒนาโรงเรียนในด้านใด จะทำประโยชน์อะไรให้กับนักเรียนและโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนร่วมทั้งคณะครูอาจารย์ ได้รับทราบถึงนโยบายของแต่ละทีม เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกทีมใดทีมหนึ่งเข้ามาเป็นประธานสภานักเรียน เมื่อถึงเวลาการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งแบบสากล คือ มีทะเบียนรายชื่อให้ตรวจสอบรายชื่อตนเอง มีคูหาให้ลงคะแนน มีหีบใส่บัตรคะแนน และเมื่อลงคะแนนเสร็จเรียบร้อย ก็มีการนับคะแนนแบบเปิดเผย คือ ทุกคนรับทราบในขั้นตอนของการนับคะแนนและคอยลุ้นว่าทีมใดจะได้เป็นประธานนักเรียน ซึ่งบรรยากาศในวันนั้นคล้าย ๆ กับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีผิด เพราะผู้สมัครก็ลุ้นว่าตนจะได้เป็นประธานนักเรียนหรือไม่ ผู้ลงคะแนนเองก็ลุ้นว่าจะใช่ทีมที่ตนเชียร์อยู่หรือไม่ และการเลือกตั้งในวันนั้นคะแนนค่อนข้างจะสูสีกันมากจึงทำให้ผู้ที่คอยลุ้นและเชียร์อยู่หายใจหายคอไม่ค่อยทัน จนในที่สุดก็ได้ประธานนักเรียนซึ่งมาจากการเลือกของนักเรียนทั้งโรงเรียน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกถึงการใช้ประชาธิปไตยในโรงเรียน และแสดงให้เห็นว่าทุกคนรู้จักประชาธิปไตย สามารถใช้อำนาจอธิปไตยของตนได้อย่างเหมาะสม ทั้งสิทธิและความเสมอภาคในการสมัครรับการเลือกตั้งเป็นประธาน สิทธิและความเสมอภาคในการออกเสียงเลือกตั้งประธาน และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ

    การสอนเรื่องประชาธิปไตยให้กับนักเรียนทั้งด้านทฤษฎี คือ การเรียนรู้จากในหนังสือ และทางด้านปฏิบัติ คือ การสมัครรับเลือกตั้งประธานต่าง ๆในโรงเรียน  การไปลงคะแนนในการเลือกตั้งประธานนักเรียน  การแสดงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือในห้องเรียน เป็นการปลูกฝังให้นักเรียนมีความรู้ในเรื่องของประชาธิปไตย  รู้คุณค่าของประชาธิปไตย เมื่อโตขึ้นหรือเมื่อถึงเวลาที่นักเรียนจะต้องไปทำหน้าที่พลเมืองดีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งอื่น ๆ จะได้มีองค์ความรู้ที่จะสามารถนำไปพิจารณาเลือกคนดีเข้ามาทำหน้าที่แทนตัวเองในการบริหารบ้านเมือง หรือนักเรียนอาจเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักเรียนจะต้องบริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คอร์รัปชันบ้านเมือง เพราะนักเรียนเป็นผู้มีความรู้มีการศึกษา ย่อมจะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองจะได้ไม่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

    ประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ฉะนั้นประชาชนจึงต้องมีความรู้ในเรื่องของประชาธิปไตย ตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตย รู้จักปฏิบัติตนตามกฎหมายที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ มีความสมัครสามัคคี ปองดองซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบสุขของสังคมไทย เพราะประเทศไทยมีระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    ประชาธิปไตย                    ศึกษาไว้จักเกิดผล

    อำนาจในมือตน                                บันดาลดลให้เกิดมี

    พรรคการเมืองใด ๆ         ให้เข้าไปทำหน้าที่

    ใช้อธิปไตยในทางดี                         ชาติสุขีชนสุขใจ

               

                

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×